royal jelly

นมผึ้ง (Royal jelly)

นมผึ้ง (Royal jelly) คือ สารคัดหลั่งขุ่นข้นที่ผลิตโดยผึ้งงาน ประกอบด้วย น้ำประมาณ 60-70% โปรตีน 12-15% น้ำตาล 10-12% ไขมัน 3-7% วิตามิน เกลือแร่ และกรดอะมิโนอีก 2-3% โดยองค์ประกอบของนมผึ้งจะแตกต่างกันออกไปตามภูมิประเทศ คำว่า Royal jelly มาจากการที่นมผึ้งถูกใช้เป็นอาหารสำหรับพัฒนา และเลี้ยงดูผึ้งราชินี

ประโยชน์ของนมผึ้ง

นมผึ้งมาใช้เพื่อบรรเทาอาการของโรคต่างๆ ตามสรรพคุณสารอาหารในนมผึ้ง

  • โรคหอบหืด (Asthma)
  • ไข้ละอองฟาง (Hay fever)
  • ตับอ่อนอักเสบ (Pancreatitis)
  • เบาหวานชนิดที่ 2 และแผลที่เท้าจากเบาหวาน
  • ภาวะนอนไม่หลับ (Insomnia)
  • ความเหนื่อยล้า
  • มะเร็งชนิดทุติยภูมิ
  • กลุ่มอาการก่อนมีประจำเดือน (Premenstrual syndrome: PMS)
  • ภาวะมีบุตรยาก
  • อาการหมดประจำเดือน
  • แผลในกระเพาะอาหาร
  • โรคไต
  • กระดูกเปราะ
  • ภาวะผิวหนังผิดปกติ
  • คอเลสเตอรอลสูง

นอกจากนี้ ยังมีการใช้นมผึ้งเพื่อเป็นยาบำรุงกำลัง ต่อสู้กับผลจากการแก่ตัว กระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันร่างกาย หรือนำมาทาบนผิวหนังเพื่อเป็นยาบำรุง หรือทาบนหนังศีรษะเพื่อกระตุ้นการเติบโตของเส้นผมอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม นมผึ้งเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหารให้แก่ร่างกาย ไม่ใช่ยารักษาโรคโดยตรง หากต้องการรักษาโรคบางอย่างหรือต้องทานยาประจำตัว ควรปรึกษาแพทย์ก่อนทานนมผึ้ง

นมผึ้งออกฤทธิ์อย่างไร

ปัจจุบัน ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับผลของนมผึ้งยังมีอยู่จำกัด แต่สำหรับสัตว์ทั่วไปแล้ว นมผึ้งอาจช่วยกระตุ้นการเติบโตของเนื้องอก และลดการเกิดภาวะหลอดเลือดแดงแข็งได้

ประสิทธิภาพของการใช้นมผึ้งรักษาภาวะต่างๆ 

1. ภาวะหมดประจำเดือน (Menopausal symptoms)

งานวิจัยชิ้นหนึ่งได้แสดงให้เห็นว่า การรับประทานนมผึ้งและเกสรดอกไม้นาน 3 เดือนขึ้นไป ช่วยลดอาการจากภาวะหมดประจำเดือน และเพิ่มความรู้สึกเกี่ยวกับอารมณ์ของผู้หญิงวัยหมดประจำเดือน

และยังสามารถเพิ่มคอเลสเตอรอลชนิดดี (High Density Lipoprotein: HDL) รวมทั้งลดคอเลสเตอรอลชนิดไม่ดี (low-density lipoprotein: LDL) ในผู้หญิงวัยหมดประจำเดือนได้

นอกจากนี้ การรับประทานน้ำผึ้งที่มีส่วนผสมของน้ำมันดอกพริมโรส แดมเมียนา (Damiana) และโสม ก็สามารถช่วยลดอาการจากวัยหมดประจำเดือนได้เช่นกัน

การทานมผึ้งในช่องคลอด อาจช่วยลดปัญหาทางเพศ และช่วยลดอาการอักเสบในช่องคลอดในผู้หญิงวัยหมดประจำเดือนได้ คล้ายกับการฉีดฮอร์โมนเอสโตรเจน (Estrogen) เข้าช่องคลอด

อย่างไรก็ตาม การทาฮอร์โมนเอสโตรเจน (Estrogen) ในช่องคลอดสามารถลดการอักเสบของช่องคลอดในผู้หญิงวัยหมดประจำเดือนได้ดีกว่าการใช้นมผึ้ง

2. กลุ่มอาการเริ่มต้นของการมีประจำเดือน (Premenstrual syndrome: PMS)

กลุ่มอาการเริ่มต้นของการมีประจำเดือน เช่น อาการปวดท้องน้อย ปวดหัว อารมณ์แปรปรวน หงุดหงิดง่าย เป็นอาการทางกาย พฤติกรรม และอารมณ์ที่เกิดขึ้นก่อนการมีประจําเดือน

อาจมีอาการได้ถึง 2 สัปดาห์ก่อนการมีประจําเดือน อาการจะดีขึ้นและหมดไปเมื่อประจําเดือนมา 2–3 วัน

กลุ่มอาการดังกล่าวจัดอยู่ในระดับไม่รุนแรงถึงรุนแรงปานกลาง โดยทั่วไปจะไม่ส่งผลกระทบต่อหน้าที่การงาน แต่บางรายอาจมีอาการขั้นรุนแรงได้

โดยจากการวิจัยพบว่าผู้รับประทานนมผึ้งมีความรุนแรงของกลุ่มอาการเริ่มต้นของการมีประจำเดือนที่ลดลง

3. เบาหวานประเภทที่ 2

ผลจากงานวิจัย พบว่าการรับประทานนมผึ้งอาจทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดลดลง ในผู้ที่เป็นเบาหวานประเภทที่ 2 ที่รับประทานนมผึ้ง 8 สัปดาห์

อย่างไรก็ตามต้องมีการศึกษาวิจัยเพิ่มเติมต่อไป

4. การรักษาบาดแผล

นมผึ้งช่วยในการเร่งกระบวนการสมานแผลได้ โดยอาจช่วยเพิ่มการเคลื่อนที่ของเซลล์สร้างเส้นใย (fibroblasts) ไปสู่แผล ซึ่งมีบทบาทมากในการสร้างเนื้อเยื่อเพื่อสมานแผล

ภาวะที่นมผึ้งไม่สามารถรักษาได้

ไข้ละอองฟาง (Hay fever) เป็นโรคภูมิแพ้ชนิดหนึ่งที่เกิดจากการตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกันต่อละอองเกสรหรือสิ่งแปลกปลอมอื่นๆ เช่น ฝุ่น ไรฝุ่น น้ำหอม เชื้อรา ขนสัตว์ เป็นต้น

จากการวิจัย พบว่าการรับประทานนมผึ้ง (Bidro) เป็นระยะเวลา 3-6 สัปดาห์ อาจไม่ได้ผลในการรักษาไข้ละอองฟาง

ผลข้างเคียงและความปลอดภัยของนมผึ้ง

นมผึ้งถูกจัดว่าค่อนข้างปลอดภัยสำหรับคนส่วนมากที่บริโภคในปริมาณที่เหมาะสม แต่อาจพบการเกิดปฏิกิริยาตอบสนองไวเกินหรือปฎิกิริยาแพ้รุนแรง อาการแพ้ ได้แก่ อาการหืด อาการหลอดลมหดเกร็ง หลอดเลือดบวม ความดันโลหิตต่ำ เยื่อบุตาอักเสบ ผื่นคัน

นมผึ้งยังถูกใช้ทาบนผิวหนังได้อย่างปลอดภัยเมื่อใช้ในปริมาณที่เหมาะสม แต่ก็อาจทำให้เกิดปฏิกิริยาแพ้ เช่น ทำให้หนังศีรษะอักเสบ และผื่นภูมิแพ้ได้

คำเตือนและข้อควรระวังเป็นพิเศษ

  • เด็ก นมผึ้งถูกจัดว่าค่อนข้างปลอดภัยเมื่อรับประทานนาน 6 เดือน
  • สตรีมีครรภ์และสตรีให้นมบุตร ขณะนี้ยังคงขาดแคลนข้อมูลที่น่าเชื่อถือเกี่ยวกับความปลอดภัยจากการใช้นมผึ้งในกลุ่มผู้หญิงที่ต้องให้นมบุตร หรือมีครรภ์ ดังนั้นคนในกลุ่มดังกล่าวควรเลี่ยงการใช้นมผึ้งเพื่อความปลอดภัย
  • หอบหืดหรือภูมิแพ้ หากคุณเป็นโรคหอบหืดหรือภูมิแพ้ ไม่ควรใช้นมผึ้งเด็ดขาด เนื่องจากอาจทำให้เกิดปฏิกิริยาแพ้รุนแรงจนถึงเสียชีวิตได้
  • ผู้ที่เป็นโรคผิวหนังอักเสบ (Dermatitis) นมผึ้งอาจทำให้อาการของโรคผิวหนังอักเสบทรุดลงได้
  • ความดันโลหิตต่ำ หากคุณมีความดันโลหิตต่ำ การรับประทานนมผึ้งอาจทำให้ความดันตกลงกว่าเดิมได้

การใช้นมผึ้งร่วมกับยาชนิดอื่น

ไม่ควรรับประทานยาต้านการแข็งตัวตัวของเลือด หรือยา Warfarin (Coumadin) ร่วมกับนมผึ้ง เพราะนมผึ้งอาจเพิ่มฤทธิ์ของยา โดยจะส่งผลให้เกิดความเสี่ยงต่อการฟกช้ำหรือเลือดออกได้มากขึ้น

หากต้องการรับประทานนมผึ้ง ควรปรึกษาแพทย์ หรือเภสัชกรก่อนใช้ยา โดยเฉพาะในเด็ก ผู้หญิงที่กำลังตั้งครรภ์ ผู้ป่วยโรคภูมิแพ้ โรคผิวหนังอักเสบ และโรคความดันโลหิตต่ำ เพราะอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงรุนแรงได้

Scroll to Top