paracetamol

Paracetamol (พาราเซตามอล)

พาราเซตามอล (Paracetamol หรือ Acetaminophen) คือ ยาสามัญประจำบ้าน ที่ใช้รักษาอาการปวด และลดไข้ได้ โดยมากจะใช้สำหรับอาการปวดระดับน้อยถึงปานกลาง เช่น อาการปวดศรีษะ ปวดฟัน และลดไข้ เป็นต้น ยาพาราเซตามอลจะถูกแนะนำให้ใช้เป็นอันดับแรก เนื่องจากมีผลข้างเคียงต่ำ

สรรพคุณและข้อบ่งใช้ของยาพาราเซตามอล

  • บรรเทาอาการปวด: ใช้ในการบรรเทาอาการปวดระดับเล็กน้อยถึงปานกลาง เช่น ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ ปวดฟัน ปวดข้อ ปวดประจำเดือน และอาการปวดอื่นๆ ที่เกิดจากการบาดเจ็บหรือโรคต่างๆ
  • ลดไข้: ใช้ในการลดไข้ที่เกิดจากการติดเชื้อ เช่น ไข้หวัด ไข้จากการอักเสบ และไข้จากสาเหตุอื่นๆ

กลไกการออกฤทธิ์ของพาราเซตามอล

Paracetamol ทำงานโดยการยับยั้งเอนไซม์ cyclooxygenase (COX) ในสมองซึ่งเป็นเอนไซม์ที่มีบทบาทในการสร้างสารเคมีที่เรียกว่า prostaglandins ที่ทำให้เกิดอาการปวดและไข้ การยับยั้ง COX ในสมองช่วยลดการสร้าง prostaglandins ซึ่งส่งผลให้ลดอาการปวดและไข้

ชนิดของยาพาราเซตามอล

ท่านสามารถซื้อยาพาราเกือบทุกชนิดได้จากร้านสะดวกซื้อทั่วไป หรือ ร้านยา โดยยาพาราเซตามอลมีทั้ง ชนิดเม็ด แคปซูล แบบน้ำ (สำหรับเด็ก) แบบฉีด (ใช้ในโรงพยาบาล) และบางชนิดเป็นยาชนิดผสมที่มีตัวยามากกว่า 1 ชนิดอยู่ในเม็ด เช่น ยาลดอาการหวัด เป็นต้น

วิธีการใช้ยาพาราเซตามอล

แม้จะเป็นยาที่ซื้อได้ตามร้านสะดวกซื้อทั่วไป แต่ท่านต้องอ่านฉลากยาก่อนทุกครั้งและกินยาตามที่ฉลากแนะนำ หรือตามที่แพทย์แนะนำเท่านั้น

ปริมาณที่ท่านสามารถใช้ได้อย่างปลอดภัยนั้น ขึ้นอยู่กับน้ำหนัก อายุและชนิดของยาพาราเซตามอลที่ท่านใช้ เช่น ในผู้ใหญ่สามารถใช้ได้ในขนาด 500 มก. ครั้งละ 1-2 เม็ด ทุก 4-6 ชม. แต่ไม่ควรใช้เกินวันละ 4 ก. หรือ 8 เม็ด  ในเด็กที่อายุน้อยกว่า 16 ปีจำเป็นต้องลดขนาดการใช้ลง ขึ้นอยู่กับอายุและน้ำหนัก โดยสามารถอ่านได้ที่ฉลากยาของผลิตภัณฑ์นั้นๆ หรือสอบถามเภสัชกร

ยาพาราเซตามอลควรออกฤทธิ์หลังจากใช้ภายใน 1 ชม. และจะออกฤทธิ์ยาว 3-4 ชม. และไม่ควรใช้ยาเกินขนาดที่แนะนำ ควรปรึกษาแพทย์หากอาการไม่ดีขึ้น หลังจากกินยามากกว่า 3 วัน

การใช้ยาพาราเซตามอลร่วมกับยาอื่น อาหาร และแอลกอฮอล์

การใช้ยาพาราเซตามอลร่วมกับยาอื่นอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงเพิ่มขึ้นได้ ดังนั้นจึงไม่ควรใช้ร่วมกับยาอื่น ดังนี้

  • ยาสูตรผสม ที่มีส่วนผสมของพาราเซตามอลอยู่
  • คาร์บามาซีปีน (carbamazepine) ยารักษาอาการลมชัก
  • คอเลสไทรามีน (colestyramine) ใช้ลดอาการคันที่เกิดจากโรคตับอักเสบ
  • อีมาทินิบและบูซัลฟาน (imatinib, busulfan) ยาสำหรับรักษามะเร็งบางชนิด
  • คีโคนาโซล (ketoconazole) ยาฆ่าเชื้อรา
  • เมโทโคลพราไมด์ (metoclopramide) ยาต้านอาเจียน
  • ฟีโนบาร์บิทอล (phenobarbital) ฟีไนตอย (phenytoin) พริมิโดน (primidone) เป็นยากลุ่มยากันชัก
  • วาฟาริน (warfarin) ยากันเลือดแข็งตัว

ดังนั้นควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ยาเสมอหากท่านมีโรคประจำตัว หรือยาที่ใช้ประจำ

ด้านอาหารหรือปริมาณแอลกอฮอล์ ยังไม่มีหลักฐานที่ชัดเจนว่ามีผลต่อการทานยาพาราเซตามอล ยาชนิดนี้จึงสามารถทานร่วมกันได้กับอาหารกับเครื่องดื่มทั่วไปได้ แต่หากมีข้อสงสัยหรือพบอาการผิดปกติ สามารถปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรได้

ผลข้างเคียงของการใช้ยาพาราเซตามอล

  • อาการแพ้ยา โดยอาจมีอาการ ผื่นแดง บวมแดง ความดันโลหิตต่ำ และหัวใจเต้นแรงได้
  • โรคเลือด เช่น เกล็ดเลือดต่ำ (thrombocytopenia) และ เม็ดเลือดขาวต่ำ (leukopenia)
  • ทำลายตับและไต หากใช้ยาเกินขนาด หรืออาจทำให้เสียชีวิตได้

ข้อควรระวังของยาพาราเซตามอล

คนส่วนใหญ่สามารถใช้ยาพาราเซตามอลได้อย่างปลอดภัย แม้แต่ หญิงตั้งครรภ์ หญิงให้นมบุตร เด็กอายุมากกว่า 2 เดือน

ควรปรึกษาแพทย์และเภสัชกรก่อนใช้ยา ถ้าหากท่านมีปัญหา ดังนี้

  • เป็นโรคตับ หรือ ไต
  • ดื่มแอลกอฮอล์มาเป็นเวลานาน
  • น้ำหนักน้อยกว่าเกณฑ์อย่างมาก
  • มียาที่ต้องใช้ประจำตัว
  • มีประวัติแพ้ยาพาราเซตามอล

การใช้ยาพาราเซตามอลเกินขนาด

การใช้ยาพาราเซตามอลเกินขนาดอาจก่อให้เกิดอันตรายเป็นอย่างมากได้ ถ้าพบผู้ใดใช้ยาเกินขนาดควรนำส่งโรงพยาบาลทันที ในบางรายอาจมีอาการคลื่นไส้อาเจียน หรือ ปวดท้อง ในบางรายอาจยังไม่มีอาการในช่วงแรก แต่อย่างไรก็ตามให้นำส่งโรงพยาบาลให้เร็วที่สุดถึงแม้จะไม่มีอาการ

Scroll to Top