Acetylcysteine (อะเซทิลซิสเทอีน)

อะเซทิลซิสเทอีน (Acetylcysteine) หรือที่รู้จักกันในอีกชื่อ คือ “เอ็น-อะเซทิลซิสเทอีน” (N-acetylcysteine) เป็นยาที่ใช้ในการรักษาภาวะพิษจากการใช้ยาพาราเซตามอลเกินขนาด และใช้เป็นยาเพื่อลดความเหนียวของเสมหะในผู้ป่วยซิสติกไฟโบรซิส (Cystic Fibrosis) หรือในผู้ป่วยปอดอุดกั้นเรื้อรัง (COPD)

สรรพคุณของยา Acetylcysteine

  • ละลายเสมหะ: ทำให้เสมหะบางลงและขับออกได้ง่ายขึ้น ทำให้มีประสิทธิภาพในการรักษาโรคที่มีเสมหะข้นเหนียว เช่น หลอดลมอักเสบเรื้อรัง โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง (COPD) และโรคซิสติกไฟโบรซิส
  • รักษาพิษจากการกินยาเกินขนาด: ใช้ในการรักษาพิษจากการกินยาอะเซตามิโนเฟน (acetaminophen) เกินขนาด โดยช่วยป้องกันความเสียหายต่อเซลล์ตับ
  • เพิ่มระดับกลูตาไธโอนในร่างกาย: ช่วยเพิ่มการผลิตกลูตาไธโอน ซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่สำคัญในร่างกาย ทำให้ช่วยปกป้องเซลล์จากความเสียหาย
  • รักษาอาการทางเดินหายใจ: ใช้ในรูปแบบยาพ่นเพื่อรักษาอาการทางเดินหายใจ เช่น หลอดลมอักเสบเฉียบพลันและเรื้อรัง
  • ลดการทำลายของเนื้อเยื่อ: มีคุณสมบัติในการลดการทำลายของเนื้อเยื่อในบางสภาวะ เช่น โรคหัวใจและหลอดเลือดบางชนิด

กลไกการออกฤทธิ์ของยา Acetylcysteine

กลไกการออกฤทธิ์ของยา Acetylcysteine คือ เป็นยาในกลุ่มยาละลายเสมหะ ออกฤทธิ์โดยในโครงสร้างของอะเซทิลซิสเทอีน มีหมู่ซัลไฮดริลอิสระเป็นองค์ประกอบ ซึ่งสามารถเปิดพันธะไดซัลไฟด์ของมิวโคโปรตีน (Mucoprotein) ของเสมหะ ส่งผลให้ความข้นหนืดของเสมหะลดลง

นอกจากนี้ ยา Acetylcysteine ยังสามารถใช้เป็นยาแก้พิษของพาราเซตามอล โดยทำหน้าที่เพิ่มจำนวน และทดแทนสารกลูตาไธโอน (Glutathione) ซึ่งออกฤทธิ์เป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่คอยปกป้องตับ และเพิ่มการรวมตัวของเซลล์ กับตัวยาพาราเซตามอลให้ได้เป็นสารที่ไม่เกิดพิษ

ยา Acetylcysteine มีทั้งในรูปแบบยาฉีดเข้าหลอดเลือดดำ และแบบยารับประทาน อีกทั้งยา Acetylcysteine ยังเป็นอนุพันธ์ของกรดอะมิโน แอลไลซีน (L-lysine) ซึ่งเป็นสารตั้งต้นในการผลิตกลูต้าไธโอน (glutathion) ซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระภายในร่างกาย

ข้อบ่งใช้ของยา Acetylcysteine

ข้อบ่งใช้สำหรับละลายเสมหะ ยาในรูปแบบยารับประทาน ยาอม ยาแกรนูล ยาเม็ดฟู่ 

  • ขนาดการใช้ยาในเด็กอายุ 1 เดือนถึง 2 ปี ให้ใช้ยาขนาด 100 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง
  • ขนาดการใช้ยาในเด็กอายุ 2 ถึง 7 ปี ให้ใช้ขนาด 200 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง อายุมากกว่า 7 ปี ใช้ขนาดยาแบบเดียวกับในผู้ใหญ่
  • ขนาดการใช้ยาในผู้ใหญ่ ให้ใช้ยาขนาด 600 มิลลิกรัม วันละครั้ง หรือแบ่งรับประทาน 3 ครั้ง

ข้อบ่งใช้สำหรับแก้พิษของยาพาราเซตามอล ยาในรูปแบบยารับประทาน 

  • ขนาดการใช้ยาทั้งเด็ก และผู้ใหญ่ ความเข้มข้นของยา 5% ขนาดยาเริ่มต้น 140 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ตามด้วยขนาด 70 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ทุก 4 ชั่วโมง ปริมาณการรับประทานทั้งหมด 17 โดส

สำหรับยาในรูปแบบฉีดเข้าหลอดเลือดดำ 

  • ขนาดการใช้ยาในเด็กน้ำหนักตัวน้อยกว่า 20 กิโลกรัม
    • ขนาดเริ่มต้น 150 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ในตัวทำละลาย 3 มิลลิลิตรต่อกิโลกรัม ระยะเวลาให้ยา 60 นาที
    • จากนั้นตามด้วยขนาด 50 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ในตัวทำละลาย 7 มิลลิลิตรต่อกิโลกรัม ระยะเวลาให้ยา 4 ชั่วโมง
    • และสุดท้าย ตามด้วยยาขนาด 100 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ในตัวทำละลาย 14 มิลลิลิตรต่อกิโลกรัม ระยะเวลาให้ยา 16 ชั่วโมง
  • เด็กที่มีน้ำหนักตัว 20 ถึง 40 กิโลกรัม
    • ขนาดยาเริ่มต้น 150 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ในตัวทำละลาย 100 มิลลิลิตร ระยะเวลาให้ยา 60 นาที
    • จากนั้นตามด้วยขนาด 50 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ในตัวทำละลาย 250 มิลลิลิตร ระยะเวลาให้ยา 4 ชั่วโมง
    • จากนั้นให้ยาขนาด 100 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ในตัวทำละลาย 500 มิลลิลิตร ให้ยา 16 ชั่วโมง
  • ขนาดการใช้ยาในผู้ใหญ่ และเด็กน้ำหนักตัวมากกว่า 40 กิโลกรัม
    • ให้ใช้ยาขนาดเริ่มต้นที่ 150 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ในตัวทำละลาย 200 มิลลิลิตร ระยะเวลาให้ยา 60 นาที
    • จากนั้นให้ตามด้วยยาขนาด 50 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ในตัวทำละลาย 500 มิลลิลิตร ระยะเวลาให้ยา 4 ชั่วโมง
    • และสุดท้าย ให้ยา 100 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ในตัวทำละลาย 1 ลิตร ระยะเวลาให้ยา 6 ชั่วโมง

ข้อปฏิบัติเมื่อลืมรับประทานยา Acetylcysteine

  • หากลืมรับประทานยาตามเวลาปกติที่รับประทาน ถ้าปกติรับประทาน 1 เม็ด ให้รับประทานยาทันทีที่นึกได้จำนวน 1 เม็ดโดยไม่ต้องเพิ่มขนาดยาเป็น 2 เม็ดแทนเม็ดที่ลืมรับประทาน
  • ในกรณีลืมรับประทานยาใกล้กับเวลารับประทานถัดไป ให้รับประทานยาในมื้อถัดไปในขนาด 1 เม็ด โดยข้ามยาในมื้อที่ลืมไป และไม่ต้องเพิ่มขนาดยาเป็น 2 เม็ด

ข้อควรระวังของการใช้ยา Acetylcysteine

  • ระวังการใช้ยานี้ในผู้ป่วยโรคหืด หรือมีประวัติภาวะหลอดลมเกร็งตัว
  • ระวังการใช้ยานี้ในผู้ป่วยที่มีประวัติเป็นโรคแผลในกระเพาะอาหาร
  • ระวังการใช้ยานี้ในสตรีมีครรภ์ และสตรีให้นมบุตร
  • ยานี้อาจก่อให้เกิดอาการมองเห็นภาพไม่ชัด หากผู้ป่วยรู้สึกถึงอาการดังกล่าวไม่ควรขับขี่ยานพาหนะ หรือทำกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการใช้เครื่องจักร
  • ไม่ควรใช้ยานี้ในผู้ป่วยที่สวมคอนแทคเลนส์ชนิดอ่อน

ผลข้างเคียงอันไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา Acetylcysteine

ยานี้อาจก่อให้เกิดอาการอันไม่พึงประสงค์ ได้แก่

  • หลอดลมหดเกร็ง
  • อาการบวม
  • เกิดผื่น ผิวหนังแดง
  • ความดันโลหิตผิดปกติ
  • คลื่นไส้ อาเจียน
  • มีไข้
  • เกิดอาการวูบ
  • เหงื่อออก
  • ปวดข้อ
  • มองเห็นภาพไม่ชัด
  • รบกวนการทำงานของตับ
  • เลือดเป็นกรด
  • อาการชัก
  • หัวใจหยุดเต้น
  • ระบบทางเดินหายใจล้มเหลว
  • น้ำมูกไหล

ข้อมูลการใช้ยา Acetylcysteine ในสตรีมีครรภ์ และสตรีให้นมบุตร

สำหรับการใช้ยาในสตรีมีครรภ์ ตัวยาจัดอยู่ในกลุ่ม Category B คือ ยาค่อนข้างมีความปลอดภัยในการใช้ยาในสตรีมีครรภ์

ประเภทของยาตามองค์การอาหารและยา ประเทศไทย

ยาจัดอยู่ในกลุ่มยาทั่วไป (NDD)

ข้อมูลการเก็บรักษายา Acetylcysteine

เก็บที่อุณหภูมิต่ำกว่า 25 องศาเซลเซียส ยาในรูปแบบยาน้ำ เก็บที่อุณหภูมิระหว่าง 2 ถึง 8 องศาเซลเซียส และใช้ยาภายใน 96 ชั่วโมง

สิ่งที่ควรแจ้งแพทย์ เภสัชกร และพยาบาลในการสั่งใช้ยา

แพทย์ และเภสัชกรสามารถให้ข้อมูลการใช้ยาอย่างปลอดภัย ผู้ป่วยควรแจ้งข้อมูลเหล่านี้แก่แพทย์ หรือเภสัชกรเพื่อประโยชน์ต่อผู้ป่วย และลดความเสี่ยงในการเกิดอันตรายจากการใช้ยา

  • แจ้งข้อมูลการใช้ยารักษาโรคประจำตัว ยาที่เพิ่งรับประทานก่อนหน้านี้ ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่รับประทาน (รวมถึงวิตามิน และสมุนไพร) ในกรณีมียาประจำตัวจำนวนมาก ให้พกยาเพื่อให้แพทย์หรือเภสัชกรช่วยตรวจสอบก่อนสั่งจ่ายยาใหม่ ไม่ให้เกิดอันตรกิริยาระหว่างยาที่จะได้รับใหม่และยาที่เดิมที่ผู้ป่วยใช้อยู่
  • แจ้งประวัติการแพ้ยา หรืออาการแพ้ที่เกิดขึ้นเมื่อใช้ยา ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร หรือแพ้อาหารชนิดใดอยู่ เนื่องจากยาบางชนิดมีส่วนประกอบของไข่ขาว นม ยีสต์ นอกจากนี้ คุณต้องแจ้งอาการที่เกิดขึ้นเมื่อแพ้ยาด้วย เช่น อาการบวม เกิดผื่น หายใจลำบาก หรือให้นำบัตรแพ้ยา พกติดตัวและแสดงบัตรนี้แก่แพทย์ และเภสัชกรก่อนเข้าใช้บริการสุขภาพทุกครั้ง
  • แจ้งข้อมูลในกรณีที่มีการตั้งครรภ์ หรือมีแผนที่จะตั้งครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เนื่องจากยาบางชนิดส่งผลอันตรายต่อเด็กในครรภ์ หรือสามารถขับออกทางน้ำนมได้
  • แจ้งข้อมูลที่จะส่งผลต่อการรับประทานยา เช่น มีปัญหาการกลืนลำบาก มีปัญหาด้านการมองเห็นหรืออ่านฉลากยา วิธีการรับประทานยา เพื่อแพทย์หรือเภสัชกรจะได้ช่วยแก้ไขปัญหาได้อย่างถูกต้อง

ยาทุกตัวที่คุณรับเข้าร่างกายล้วนส่งผลข้างเคียงที่ร้ายแรงได้หากใช้อย่างไม่เหมาะสม ดังนั้นคุณจึงควรให้แพทย์ หรือเภสัชกรเป็นผู้จ่ายยาให้ และคุณต้องสอบถามวิธีการใช้ยาอย่างถูกต้อง เพื่อให้ยารักษาอาการป่วยได้อย่างมีประสิทธิภาพ และปลอดภัย

Scroll to Top