ระบาดวิทยาคืออะไร ป้องกันโควิด-19 ได้ไหม?


ระบาดวิทยา, ชุด PPE, ชุดหมี, สาธารณสุข, โควิด19, COVID-19

HDmall สรุปให้!

ขยาย

ปิด

  • ระบาดวิทยา (Epidemiology) คือ การศึกษาเกี่ยวกับธรรมชาติการเกิดโรค การกระจายของโรค และองค์ประกอบที่มีผลต่อการกระจาย จนส่งผลต่อภาวะทางสุขภาพต่างๆ ต่อประชาชน
  • การศึกษาโควิด-19 ในทางระบาดวิทยา ทำให้เราทราบทั้งปัจจัยที่ทำให้เกิดโควิด ระยะต่างๆ ของโรคโควิด วิธีกระจายเชื้อ และผู้ที่ไวต่อโรคซึ่งควรระวังเป็นพิเศษ
  • หน่วยงานสาธารณสุข หรือบุคลากรทางการแพทย์จะใช้ข้อมูลเหล่านี้มาออกเป็นมาตรการต่างๆ เพื่อควบคุมโรคระบาดทั้งในระยะสั้นและระยะยาว
  • หากสงสัยว่าตัวเองอาจติดโควิด หรือเสี่ยงติดโควิด สามารถเปรียบเทียบราคาตรวจโควิด-19 ได้ที่ HDmall.co.th หรือสอบถามแอดมินได้ที่ @hdmall.support


ช่วงการระบาดของโควิด-19 (COVID-19) ทำให้หลายคนคุ้นหูกับคำว่า “ระบาดวิทยา” ซึ่งก่อนหน้านี้อาจไม่เคยได้ยินมาก่อน ในบทความนี้จะพามาดูความหมายและความสำคัญของคำว่าระบาดวิทยากัน


เลือกหัวข้อเกี่ยวกับระบาดวิทยาที่สนใจได้ที่นี่

  • ระบาดวิทยาคืออะไร?
  • ระบาดวิทยา กับ โควิด-19 เกี่ยวข้องกันอย่างไร?
  • การสอบสวนโรคเป็นอย่างไร?

  • ระบาดวิทยาคืออะไร?

    ระบาดวิทยา (Epidemiology) คือ หลักการศึกษาเกี่ยวกับธรรมชาติการเกิดโรค การกระจายของโรค และองค์ประกอบที่มีผลต่อการกระจาย จนส่งผลต่อภาวะทางสุขภาพต่างๆ ต่อประชาชน

    แนวทางการศึกษาอาจครอบคลุมประเด็นหลักๆ ต่อไปนี้

    • ศึกษาธรรมชาติการเกิดโรคตั้งแต่เกิดขึ้น จนกระทั่งถึงการจบลงของโรค
    • ศึกษาขอบเขตการเกิดโรคในประชากร
    • ศึกษาสาเหตุและปัจจัยเสี่ยงของโรค
    • ศึกษาวิธีป้องกันและเฝ้าระวังโรค

    โดยข้อมูลเหล่านี้จะถูกนำไปใช้ในการประเมินศักยภาพของกระทรวงสาธารณสุข เช่น การป้องกัน การชะลอการระบาด และการรักษา ก่อนจะออกนโยบายป้องกันสำหรับแนะนำประชาชนนั่นเอง

    แม้โควิด-19 จะเป็นโรคที่เกิดขึ้นใหม่ แต่จากการศึกษาระบาดวิทยาในช่วงที่ผ่านมา ทำให้ทราบข้อมูลเกี่ยวกับโควิด-19 ในประเด็นหลักๆ ดังนี้

    1. ทราบปัจจัยที่ทำให้เกิดโรคโควิด-19

    โควิด-19 มีปัจจัยที่ทำให้เกิดโรคหลักๆ ดังนี้

    • การสูดดม หรือรับละอองฝอย (Droplet) จากผู้ติดเชื้อ
    • การจับหรือสัมผัสวัตถุที่มีการปนเปื้อนเชื้อ และเผลอนำเข้าสู่ร่างกาย
    • การรับละอองลอย (Aerosol) ที่มีความเข้มข้นสูงขึ้นเมื่ออยู่ในพื้นที่ปิด

    จากการทราบปัจจัยที่ทำให้เกิดโรคต่างๆ นี้ ทำให้หน่วยงานสาธารณสุขสามารถกำหนดมาตรการป้องกันได้ เช่น การสวมหน้ากากลดการกระจาย การใช้ยาฆ่าเชื้อเช็ดตามพื้นผิวต่างๆ เพื่อลดการสะสมของเชื้อบนพื้นผิว

    2. ทราบระยะของโรคโควิด-19

    จากการศึกษาระบาดวิทยาของโควิด-19 ทำให้พอกำหนดระยะของโรคได้ ดังนี้

    • ระยะก่อนมีอาการ เป็นระยะที่ยังไม่มีอาการแต่สามารถทราบว่าติดโรคได้จากการตรวจคัดกรอง เช่น วันแรกที่เพิ่งรับเชื้อโควิด-19 มา อาจยังไม่มีอาการ แต่หากตรวจด้วย RT-PCR หรือการ Swab จมูก ก็อาจเจอเชื้อ
    • ระยะฟักตัว เป็นระยะที่อยู่ระหว่างวันที่รับเชื้อเข้าร่างกาย จนกระทั่งถึงวันที่มีอาการ ในกรณีโควิด-19 คือ 2-14 วัน
    • ระยะมีอาการ เป็นช่วงที่หน้าที่เกิดความผิดปกติของโรคขึ้น เช่น ไอ หายใจหอบถี่ จมูกไม่ได้กลิ่น ในผู้ป่วยโควิด-19 ทำให้บุคลากรจัดเตรียมเครื่องช่วยหายใจ หรืออุปกรณ์อื่นๆ ที่จำเป็นได้ทัน

    การศึกษาระยะของโควิด-19 ช่วยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องแจ้งกับประชาชนในการป้องกัน และสังเกตอาการของตัวเองได้ รวมถึงมาตรการกักตัว 14 วันเพื่อรอดูระยะฟักตัวของโรค

    3. ทราบวิธีการกระจายเชื้อ

    การแพร่กระจายเชื้อของโควิด-19 นั้นสามารถส่งต่อโรคผ่านระบบทางเดินหายใจด้วยละอองฝอย และละอองลอยเป็นหลัก เมื่อรวมกับข้อมูลระยะของโรค ก็จะทำให้ทราบด้วยว่าแม้ในระยะฟักตัวที่ไม่มีอาการก็แพร่กระจายเชื้อได้เช่นกัน

    การทราบวิธีกระจายเชื้อ ช่วยให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขออกมาตรการควบคุมโรคให้กับประชาชนได้ เช่น การสวมหน้ากาก หลีกเลี่ยงการสัมผัสใกล้ชิด และพื้นที่ชุมชน รวมถึงการสอบสวนโรคเพื่อหาที่มาการระบาด เพื่อระบุเป้าหมายและกลุ่มเสี่ยงนั่นเอง

    แต่ในโรคอื่นๆ นอกจากการติดต่อผ่านทางระบบทางเดินหายใจแล้ว ก็มีการติดต่อทางอื่นมากมาย เช่น ทางอุจจาระ กระแสเลือด เพศสัมพันธ์ และปรสิตต่างๆ

    4. ทราบว่าผู้ใดมีความเสี่ยงมากหากติดโรคโควิด-19

    หลายคนที่ติดโควิด-19 ไม่แสดงอาการออกมาแต่อย่างใด หรืออาจมีอาการเพียงเล็กน้อย แต่หากมีปัจจัยอื่นๆ แล้วติดโควิด-19 ก็จะส่งผลกระทบค่อนข้างมาก ปัจจัยต่างๆ ที่ทำให้โควิด-19 รุนแรง อาจมีดังนี้

    • เป็นโรคมะเร็ง
    • เป็นโรคเกี่ยวกับไต
    • เป็นโรคเกี่ยวกับปอด
    • เป็นโรคหัวใจ
    • เป็นโรคที่ส่งผลต่อระบบภูมิคุ้มกัน
    • เป็นโรคอ้วน
    • เป็นโรคเบาหวาน
    • เป็นผู้สูงอายุ

    อย่างไรก็ตาม โควิด-19 ยังคงเป็นโรคที่เกิดขึ้นใหม่ ทำให้ยังคงต้องศึกษาต่อไปเรื่อยๆ แต่จากการศึกษาระบาดวิทยา ก็ทำให้สามารถป้องกันกลุ่มคนที่มีความเสี่ยงสูงได้

    การสอบสวนโรคเป็นอย่างไร?

    หลายคนอาจเคยได้ยินจากการแถลงสถานการณ์โควิด-19 ว่ามีผู้ที่อยู่ในระหว่างการสอบสวนโรคจำนวนมาก จนเกิดการสงสัยว่าสอบสวนโรคคืออะไร

    การสอบสวนโรค คือการสอบข้อมูลการเดินทาง อาการ และประวัติสุขภาพต่างๆ ของผู้ติดเชื้อ หรือผู้ที่สงสัยว่าอาจติดเชื้อ เพื่อยืนยันการระบาดของโรครวมถึงย้อนเส้นทางที่ผู้ถูกสอบสวนอาจแพร่เชื้อในรอบหลายวันที่ผ่านมา

    โดยขั้นตอนการสอบสวนโรคทางระบาดวิทยา มีด้วยกัน 10 ขั้นตอนดังต่อไปนี้

    1. จัดทีมบุคลากรทางการเพทย์ โดยในทีมอาจประกอบไปด้วย แพทย์ นักระบาดวิทยา พยาบาล นักวิชาการควบคุมโรค และเจ้าหน้าที่ห้องปฎิบัติการ จึงเป็นสาเหตุให้การสอบสวนโรคใช้เวลานาน เนื่องจากต้องใช้ผู้ชำนาญการหลายคน
    2. ยืนยันการระบาดของโรค โดยสังเกตสถานการณ์ต่างๆ เช่น ประชาชน สื่อ และข้อมูลจากห้องปฎิบัติการ
    3. ยืนยันการวินิจฉัยโรค เป็นขั้นตอนที่ตรวจผู้ติดเชื้อเพื่อยืนยันว่าเป็นโรคชนิดใดกันแน่
    4. กำหนดนิยามผู้ป่วย ร่วมกับค้นหาผู้ป่วยเพิ่มเติม โดยการกำหนดว่าผู้ป่วยคือใคร มาจากไหน จากนั้นจึงค้นหาผู้ป่วยเพิ่มเพื่อให้เห็นภาพการระบาด
    5. ศึกษาระบาดวิทยาเชิงพรรณา เป็นการให้รายละเอียดเกี่ยวกับการระบาดตามแต่ละบุคคล เช่น สถานที่ที่มีอัตราผู้ป่วยสูง ระยะเวลาที่เกิดการระบาด เพื่อนำไปตั้งสมมติฐาน
    6. สร้างสมมติฐานการเกิดโรค เป็นการนำข้อมูลทั้งหมดที่ได้ก่อนหน้านี้มาสร้างสมมติฐานในการระบาด เช่น ข้อมูลประชากร สถานที่ที่เกี่ยวข้อง ระยะเวลาที่เกิดการระบาด
    7. ศึกษาระบาดวิทยาเชิงวิเคราะห์ เป็นการนำสมมติฐานดังกล่าว มาทำการวิเคราะห์ความเป็นไปได้อย่างละเอียด
    8. ศึกษาเพิ่มเติม เช่น นำตัวอย่างเชื้อเข้าห้องปฎิบัติการ หรือการตรวจสอบสภาพแวดล้อมที่เกิดการระบาด
    9. ออกมาตรการควบคุมและป้องกันโรค เพื่อป้องกันการระบาดในระยะยาว
    10. นำเสนอผลการสอบสวนโรค เพื่อให้สามารถนำไปใช้ต่อไป

    อย่างไรก็ตาม ขั้นตอนดังกล่าวอาจมีการเปลี่ยนแปลงไปตามแต่ประเภทของโรค สิ่งสำคัญคือการให้ข้อมูลที่เป็นความจริง จะช่วยให้ทีมสอบสวนโรคสามารถระบุความชัดเจนได้ง่ายขึ้น

    หากสงสัยว่าตนเองป่วยเป็นโควิด-19 หรือมีประวัติไปพื้นที่เสี่ยง สามารถเข้ารับการตรวจเชื้อแบบ RT-PCR ได้ที่ HDmall.co.th ศูนย์รวมบริการสุขภาพ ทำฟัน และความงามที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย

    สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมกับแอดมินได้ที่ไลน์ @hdmall.support หรือให้แอดมินจองคิวตรวจกับ รพ. ก็สามารถแจ้งได้เลย

    ที่มาของข้อมูล

    นพ. ยงเจือ เหล่าศิริถาวร, หลักระบาดวิทยา, (http://www.ppho.go.th/webppho/dl_strat/F20170616074630.pdf).

    คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลับมหิดล, การสอบสวนการระบาดของโรค (Outbreak investigation), (https://med.mahidol.ac.th/commed/sites/default/files/public/4.Outbreak%20Investigation.pdf).

    @‌hdcoth line chat