ฝังเข็ม การรักษาแผนจีนสารพัดประโยชน์

“ฝังเข็ม” เป็นศาสตร์การแพทย์แผนจีนโบราณที่ขึ้นชื่อเรื่องการรักษาโรค ฟื้นฟูสุขภาพ ปรับสมดุลร่างกาย มายาวนาน ยิ่งล่าสุดองค์การอนามัยโลก (WHO) ให้การรับรองว่า “การฝังเข็มสามารถรักษาโรคได้จริง” โดยให้ผลดีเทียบเท่า หรือมากกว่าการใช้ยาด้วยซ้ำ ยิ่งทำให้หลายคนเริ่มสนใจการฝังเข็มมากยิ่งขึ้น

ฝังเข็ม คืออะไร?

ฝังเข็ม (Acupuncture) หรือการฝังเข็มแบบจีน (Chinese Acupuncture) คือ การใช้เข็มฝังลงตาม “จุดฝังเข็ม” ซึ่งเรียงอยู่บนแนวเส้นลมปราณ (Meridian System) ซึ่งแบ่งออกเป็นเส้นลมปราณหลักและเส้นลมปราณย่อย เพื่อปรับสมดุลร่างกายซี่ให้สมดุลระหว่างหยิน หยาง และรักษาโรค ความผิดปกติ ที่อวัยวะต่างๆ

สำหรับเข็มที่ใช้จะเป็นเข็มสแตนเลส ไม่เป็นสนิม ขนาดเพียง 0.1-0.3 มิลลิเมตร ซึ่งเล็กกว่าเข็มฉีดยาทั่วไปประมาณ 6-8 เท่า และมีความยาวเพียง 2-3 เซนติเมตร ตัวเข็มไม่กลวง ปลายเข็มไม่ตัดจึงเหมือนเข็มฉีดยา มีความแหลมคมมาก รวมทั้งมีความยืดหยุ่น ไม่หัก หรือเปราะแตกง่าย

ความสัมพันธ์ของเส้นลมปราณกับการฝังเข็ม

เส้นลมปราณทำหน้าที่เชื่อมโยงระบบต่างๆ ทั่วทั้งร่างกายมนุษย์ให้ทำงานสอดคล้องกัน หากอธิบายให้เข้าใจง่ายขึ้น เส้นลมปราณก็คือ ศูนย์รวมเส้นประสาทของร่างกาย และเป็นทางไหลเวียนของเลือดและซี่นั่นเอง

แพทย์แผนจีนจะใช้เส้นลมปราณที่สัมพันธ์กับอวัยวะ หรือระบบต่างๆ เป็นช่องทางในการฝังเข็มเพื่อกระตุ้นการทำงานของอวัยวะนั้นๆ เมื่ออวัยวะนั้นได้รับการกระตุ้น มีการปรับตัว การทำงานก็จะดีขึ้น

ส่วนจุดฝังเข็มบนร่างกายเพื่อการรักษานั้นจะแบ่งออกเป็น 3 ประเภทได้แก่

  • จุดฝังเข็มในระบบ หรือจุดในเส้นลมปราณ ทั่วร่างกายมีจุดฝังเข็มทั้งสิ้น 670 จุด โดยเป็นจุดหลักในการฝังเข็ม
  • จุดฝังเข็มนอกระบบ หรือจุดนอกเส้นลมปราณ ทั่วร่างกายมีจุดฝังเข็มประมาณ 48 จุด โดยเป็นจุดที่มีสรรพคุณในการรักษาเฉพาะโรค หรือใช้ร่วมกับจุดในเส้นลมปราณเพื่อรักษาก็ได้
  • จุดกดเจ็บ เป็นจุดที่ไม่มีตำแหน่งแน่นอน เป็นจุดที่มักใช้รักษาอาการปวดต่างๆ

การเลือกฝังเข็มแบบใดนั้นขึ้นอยู่กับอาการของโรคและจุดประสงค์ในการรักษา

ส่วนสรรพคุณในการรักษาโรคด้วยการฝังเข็มจะแยกย่อยไปอีก ได้แก่

  • การรักษาโรคใกล้ หมายถึง รักษาโรคของเนื้อเยื่อและอวัยวะบริเวณรอบจุดฝังเข็ม
  • การรักษาโรคไกล หมายถึง รักษาโรคของเนื้อเยื่อและอวัยวะซึ่งอยู่ไกลจากจุดฝังเข็ม

ฝังเข็ม รักษาโรคอะไรได้บ้าง?

แพทย์แผนจีนเชื่อว่า การฝังเข็มสามารถรักษาโรคได้ทั่วร่างกายหากฝังเข็มได้ถูกต้องตามแนวเส้นลมปราณ แต่นั่นก็ไม่คำกล่าวเกินจริงแต่อย่างใด เพราะปัจจุบันมีหลายงานวิจัยพบว่า การฝังเข็มให้ผลการรักษาที่ดีเทียบเท่ากับการใช้ยา หรือมากกว่าในหลายๆ โรค

กลุ่มโรคที่ได้รับการกล่าวถึงว่า การฝังเข็มมีประสิทธิภาพในการรักษา แก่

  • กลุ่มโรคระบบประสาท เช่น อาการชาปลายมือปลายเท้า หมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท
  • กลุ่มอาการปวดและโรคระบบกล้ามเนื้อ เช่น ปวดหลัง ปวดต้นคอ ออฟฟิศซินโดรม
  • กลุ่มโรคระบบทางเดินหายใจ เช่น หวัดเรื้อรัง หอบหืด ภูมิแพ้
  • กลุ่มโรคระบบทางเดินอาหารและลำไส้ เช่น โรคกระเพาะอาหาร กรดไหลย้อน
  • กลุ่มโรคระบบต่อมไร้ท่อ เช่น ความดันโลหิตสูง เบาหวาน
  • กลุ่มโรคเกี่ยวกับฮอร์โมนต่างๆ เช่น ประจำเดือนมาไม่ปกติ ปวดประจำเดือน วัยทอง
  • แก้ไขภาวะทางสุขภาพ เช่น วิตกกังวล เครียด
  • ช่วยเรื่องความงาม เช่น กระชับผิว
  • ปรับสมดุลภูมิต้านทานในร่างกาย

กลไกการฝังเข็ม เป็นอย่างไร?

การศึกษาในปัจจุบันยังมีรายละเอียดอีกว่า การรักษาด้วยการฝังเข็มให้ผลจากการกระตุ้นระบบประสาทอัตโนมัติ (Autonomic Nervous System) ทำให้เพิ่มการหลั่งสารสื่อประสาทที่ออกฤทธิ์ต่อประสาทส่วนกลาง (ไขสันหลัง)

สิ่งที่เกิดขึ้นในร่างกายหลังจากการฝังเข็มได้แก่

  • การบรรเทา หรือยับยั้งความเจ็บปวด
  • ช่วยในการหดเกร็งของกล้ามเนื้อ
  • ลดการอักเสบ
  • กระตุ้นการไหลเวียนโลหิตให้ไม่ติดขัด
  • ปรับสมดุลการทำงานของอวัยวะต่างๆ ในร่างกาย
  • ปรับการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน
  • ปรับการหลั่งฮอร์โมนต่างๆ เช่น เอนโดรฟิน

ยิ่งปัจจุบันมีการนำเครื่องกระตุ้นไฟฟ้า หรือเครื่องอบด้วยความร้อน มาเพิ่มประสิทธิภาพ การฝังเข็มยิ่งได้ผลดีมากขึ้น

วิธีการฝังเข็ม

หลังจากแพทย์ตรวจวินิจฉัยอาการของผู้ป่วย ตรวจร่างกายเสร็จ แพทย์จีน หรือแพทย์ฝังเข็มจะทำหน้าที่ตรวจชีพจรบริเวณข้อมืออีกครั้ง พร้อมทั้งอธิบายจุดที่ต้องฝังเข็มอย่างละเอียด ก่อนเริ่มขั้นตอนการฝังเข็ม

  • แพทย์ฝังเข็มจะใช้เข็มขนาดเล็กมาก ฝังตามจุดฝังเข็มลงบนผิวหนังราว 5-20 เล่ม การฝังเข็มแต่ละเล่ม แพทย์อาจใช้มือหมุนเข็มเพื่อกระตุ้นเล็กน้อย หรือใช้เครื่องกระตุ้นไฟฟ้า หรือเครื่องอบความร้อน ช่วยกระตุ้น ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับอาการของผู้ป่วย เนื่องจากเข็มที่ใช้ในการฝังมีความบางและแหลมคมมาก เมื่อแทงผ่านผิวหนังจึงแทบไม่รู้สึกเจ็บเลย
  • เมื่อฝังเข็มครบให้ผู้เข้ารับการฝังเข็มอยู่ในอิริยาบถผ่อนคลายประมาณ 15-20 นาที หรือจนกว่าจะถอนเข็มออก (โดยทั่วไปใช้เวลาฝังเข็มประมาณ 20-30 นาที) ทั้งนี้ระยะเวลาอาจจะสั้น หรือนานกว่า ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรคในผู้เข้ารับการบำบัดแต่ละราย
  • โดยทั่วไป ควรฝังเข็มประมาณสัปดาห์ละ 1-2 ครั้ง ต่อเนื่องกันอย่างน้อย 8-10 ครั้ง หรือ ขึ้นกับดุลยพินิจของแพทย์ หรืออาการของผู้ป่วย

ระหว่างการฝังเข็ม ผู้เข้ารับการฝังเข็มจะรู้สึกปวดหน่วงๆ นิดๆ หรือรู้สึกชาเล็กน้อยถือเป็นเรื่องปกติ แต่หากปวดมาก มีอาการหน้ามืดใจสั่นจะเป็นลมให้รีบแจ้งแพทย์ฝังเข็มทันที เพื่อแพทย์จะได้ปรับองศาของเข็ม หรือลดแรงกระตุ้นไฟฟ้า หรือลดความร้อนลง เพื่อลดความเจ็บปวดที่เกิดขึ้น

ฝังเข็มอันตรายไหม?

ก่อนเข้ารับการฝังเข็มควรรับประทานอาหารก่อนอย่างน้อย 1-2 ชั่วโมง เพื่อป้องกันการอ่อนเพลีย หิว เป็นลม หรือแน่นท้อง จากนั้นก็ปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ฝังเข็ม

แม้การฝังเข็มจะค่อนข้างมีความปลอดภัย แต่ก็มีข้อยกเว้นสำหรับบุคคลต่อไปนี้ ซึ่งควรปรึกษาแพทย์ผู้ดูแลก่อนเข้ารับการบำบัด เพื่อป้องกันอันตรายที่อาจตามมา

  • ผู้หญิงตั้งครรภ์เพราะอาจกระตุ้นครรภ์ส่งผลต่อลูก หรือการแท้งได้
  • ผู้ป่วยที่ใส่เครื่องกระตุ้นหัวใจเพราะอาจเกิดการกระตุ้นที่หัวใจ
  • ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดที่มีความผิดปกติเรื่องการแข็งตัวของเลือด
  • ผู้ที่มีภาวะเลือดออกผิดปกติ
  • ผู้ป่วยโรคมะเร็งที่ยังไม่ได้เข้ารับการรักษา
  • ผู้ป่วยโรคติดเชื้อต่างๆ
  • ผู้ป่วยที่ต้องการเข้ารับการรักษาโรคด้วยการผ่าตัดต่อไป
  • ผู้สูงอายุ หรือผู้ป่วยที่มีอาการอ่อนแอ

หากมีอาการผิดปกติเกิดขึ้นภายหลังการฝังเข็ม เช่น หน้ามืด ใจสั่น วิงเวียน ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยโดยเร็ว

โดยทั่วไปเข็มสำหรับฝังเข็ม จะได้รับการทำความสะอาดแบบปลอดเชื้อมาจากโรงงานผลิตและบรรจุภัณฑ์ในรูปแบบสำหรับใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง ไม่นำกลับมาใช้อีก เพื่อป้องกันโรคติดต่อทางสารคัดหลั่งเช่น โรคติดเชื้อ HIV โรคไวรัสตับอักเสบบี

อย่างไรก็ตาม เพื่อความมั่นใจในเรื่องความสะอาดปลอดเชื้อ ก็ควรเลือกใช้บริการสถานพยาบาล หรือคลินิกที่ได้รับมาตรฐาน มีแพทย์แผนจีน หรือแพทย์ฝังเข็มที่มีความรู้ความสามารถในการตรวจรักษา


เปรียบเทียบราคาล่าสุดและแพ็กเกจการฝังเข็ม

Scroll to Top