ฟันคุด คือ ฟันที่ไม่สามารถโผล่พ้นเหงือกออกมาเรียงตัวกับฟันซี่อื่นๆ ได้ตามปกติ หรืออาจโผล่ขึ้นมาได้เพียงบางส่วน สาเหตุเนื่องจากมีฟัน เนื้อเยื่อ หรือกระดูกปิดขวางอยู่
ฟันซี่ที่มักพบว่า เป็นฟันคุดบ่อยๆ คือ ฟันกรามล่างแท้ซี่ที่สาม (lower third molar) โดยปกติแล้วฟันซี่นี้จะโผล่พ้นเหงือกออกมาในช่วงอายุ 16–21 ปี
นอกเหนือจากฟันกรามซี่นี้แล้วก็อาจพบได้ในฟันกรามบนซี่ที่สาม ฟันกรามน้อย และฟันเขี้ยว ทั้งนี้หากเป็นฟันกรามน้อย หรือฟันเขี้ยวที่ฝังอยู่ในกระดูกทั้งหมด อาจเรียกว่า "ฟันฝัง"
จะรู้ได้อย่างไรว่า คุณมีฟันคุด?
รู้ได้จากการตรวจช่องปากว่า ฟันกรามแท้ซี่นี้โผล่พ้นเหงือกออกมาหรือยัง แต่หากฟันกรามยังฝังตัวอยู่ใต้เหงือก ต้องมีการเอ็กซเรย์ช่องปากเพื่อดูว่า มีฟันกรามแท้ซี่นี้ฝังคุดอยู่หรือไม่
บางครั้งการงอกของฟันคุดมักทำให้รู้สึกถึงแรงดัน ตึง หรือปวดบริเวณหลังของฟันกรามแท้ซี่ที่ 2 หากมีอาการปวดควรไปพบทันตแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยช่องปากและเอ็กซเรย์ก่อน
จากนั้นจึงสามารถประเมินมุมของการงอกและระยะการเติบโตของฟันคุดเพื่อทำการรักษาต่อไป
ต้องถอนฟันคุดออกหรือไม่?
หากมีฟันคุดแล้วไม่ถอนออกอาจเกิดอันตรายได้ เช่น ส่งผลให้เหงือกบริเวณนั้นอักเสบ บวมแดง และหากปล่อยให้อักเสบอย่างเรื้อรังก็อาจทำให้เกิดหนองและการติดเชื้อลุกลามได้ในที่สุด
นอกจากนี้ฟันคุดยังทำให้เกิดสิ่งต่างๆ ต่อไปนี้ได้
- เกิดฟันซ้อนเก หมายความว่า ฟันคุดไปดันฟันซี่ข้างเคียง ทำให้เกิดฟันซ้อนเกได้
- เกิดถุงน้ำรอบฟันคุด หมายความว่า เนื้อเยื่อรอบฟันคุดอาจเจริญเติบโตเป็นถุงน้ำ ทำให้ฟันเคลื่อนผิดไปจากตำแหน่งเดิม และละลายกระดูกรอบฟันซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อฟันและเหงือกรอบๆ ได้
- เกิดกลิ่นปากหมายความว่า หากฟันคุดซี่สุดท้ายขึ้นชนฟันกรามที่ติดกันมักทำให้เศษอาหารเข้าไปติด เมื่อทำความสะอาดไม่ทั่วถึงมักทำให้เกิดกลิ่นปากได้
กรณีเหล่านี้มีวิธีแก้ไขทางเดียวคือ การถอนฟันคุดออก หรือผ่าตัดฟันคุดออก
อย่างไรก็ตาม หากทันตแพทย์ประเมินแล้วว่า ฟันคุดซี่นี้สามารถงอกออกจากเหงือกได้ตามปกติเพียงแต่อาจต้องใช้เวลา ฟันคุดซี่นั้นก็อาจไม่จำเป็นต้องถอนออก
สัญญาณและอาการของฟันคุดที่ติดเชื้อมีอะไรบ้าง?
การอักเสบเป็นหนองของเหงือกที่คลุมฟันเป็นสาเหตุหลักที่ต้องถอนฟันคุดออกอย่างเร่งด่วน
การติดเชื้อที่เกิดขึ้นจะส่งผลให้มีอาการแดง เหงือกบวม มีกลิ่นปาก เจ็บปวด และมักโดนฟันคู่สบกัดบ่อยครั้ง บางกรณีก็อาจมีหนองออกจากบริเวณนั้นด้วย
บางครั้งการติดเชื้อก็ทำให้เนื้อเยื่อ เหงือก แก้ม หรือบริเวณโดยรอบของกรามข้างที่มีอาการบวมออก ซึ่งการบวมนี้จะทำให้เกิดแรงดันที่อาจลามไปยังหูจนก่อให้เกิดอาการปวดหูรุนแรงอีกด้วย
นอกจากนี้บางครั้งการติดเชื้อที่หู หรือไซนัส ก็สามารถก่อให้เกิดอาการปวดลงฟันได้เช่นกัน ทำให้จำเป็นต้องตรวจร่างกายเพื่อมองหาสัญญาณต้องสงสัยของการติดเชื้อด้วย
จะทำอย่างไรถ้าคุณเจ็บฟันคุดและไม่สามารถถอนออกได้ทันที?
หากมีอาการบวม ติดเชื้อ กลืนอาหารลำบาก มีกลิ่นปาก มีไข้ หรือรู้สึกเจ็บปวดอย่างรุนแรง อาจเกิดจากเหงือกอักเสบเฉียบพลัน
การรับประทานยาแก้ปวดนับว่า เป็นวิธีการบรรเทาอาการเฉพาะหน้าได้ แต่วิธีที่ดีที่สุดคือ การไปพบทันตแพทย์โดยเร็วเพื่อตรวจวินิจฉัย ประเมินอาการแล้วให้การรักษาอย่างถูกต้องต่อไป
การถอนฟันคุดทำอย่างไร?
เมื่อทันตแพทย์ตรวจและวินิจฉัยแล้วว่า ต้องถอนฟันคุดออก ทันตแพทย์จะใช้ยาชาเฉพาะที่ในการถอนฟันเพื่อไม่ให้คนไข้รู้สึกเจ็บปวด
แต่หากฟันคุดอยู่ลึกลงไปใต้เนื้อเยื่อของเหงือกก็จำเป็นต้องมีการผ่าตัดขนาดเล็กขึ้นเพื่อให้นำฟันออกมาจากเบ้าฟันได้ หลังการถอนฟันแพทย์จะเย็บแผลด้วยไหมเย็บเพื่อให้เหงือกเข้าที่เป็นปกติเร็วขึ้น
หลังผ่าตัดครบ 7 วัน ทันตแพทย์จะนัดดูแผลและตัดไหมออก
วิธีปฏิบัติตัวหลังการถอนฟันคุด
- หลังผ่าตัดเสร็จกัดผ้าก๊อซให้แน่นราว 2 ชั่วโมงแล้วค่อยเอาออก ถ้าเลือดยังไม่หยุด ให้ใช้ผ้าก๊อซสะอาดผืนใหม่ วางบนแผลและกัดให้แน่นตามเดิม ใน 24 ชั่วโมงแรกหลังผ่าตัดอาจมีเลือดออกจากบริเวณที่ถอนฟันเล็กน้อยก็นับว่าเป็นเรื่องปกติ จากนั้นเลือดจะออกลดลง แต่หากเลือดออกเป็นลิ่มเป็นก้อน มีปริมาณมาก ควรพบทันตแพทย์โดยด่วน
- เมื่อยาชาหมดฤทธิ์อาจมีอาการปวดตึง เปิดปากลำบาก และมีความเจ็บปวดบ้าง ทันตแพทย์จึงมักจ่ายยาแก้ปวดมาบรรเทาอาการหลังผ่าตัด ร่วมกับการประคบเย็นในวันแรกและประคบอุ่นในวันต่อๆ มา
- หลังผ่าตัดสามารถแปรงฟันเพื่อทำความสะอาดได้ แต่วันแรกต้องระมัดระวังไม่ให้โดนแผลผ่าตัด
- ไม่จำเป็นต้องงดอาหารใดๆ เพื่อคงสภาพร่างกายให้สมบูรณ์และส่งเสริมการฟื้นตัวให้เร็วขึ้น
- 2-3 วันแรกหลังผ่าตัด ต้องรับประทานอาหารอ่อนๆ เช่น น้ำผลไม้ปั่น โยเกิร์ต โจ๊ก ซุป พุดดิ้ง
- หลีกเลี่ยงอาหารที่มีรสเผ็ด อาหารร้อนจัด หรืออาหารที่ไม่สะอาด สุกๆ ดิบๆ
- ไม่ควรดื่มน้ำผ่านหลอด เพราะทำให้กล้ามเนื้อช่องปากออกแรงดูดมากอาจทำให้ลิ่มเลือดหลุดและมีเลือดออกได้
- เมื่ออาการปวดลดลงสามารถกลับไปรับประทานอาหารตามปกติที่ต้องใช้การเคี้ยวได้
- ห้ามสูบบุหรี่และดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
- หลีกเลี่ยงการออกกำลังกายหนักๆ
- พักผ่อนให้มากๆ
- ต้องปฏิบัติตามคำแนะนำหลังการผ่าตัดจากทันตแพทย์อย่างเคร่งครัด เพื่อลดความเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนต่างๆ
- สำหรับเหงือกนั้น การฟื้นตัวเองให้สมบูรณ์อาจต้องใช้เวลาประมาณ 3-4 สัปดาห์
การถอนฟันคุดมีความเสี่ยงและภาวะแทรกซ้อนอะไรบ้าง?
ปัญหาที่พบได้หลังการถอนฟันคุดคือ กระดูกเบ้าฟันแห้ง หรือกระดูกเบ้าฟันอักเสบ ภาวะนี้จะเกิดขึ้นเมื่อลิ่มเลือดที่อยู่ในบริเวณผ่าตัดเกิดหลุดออกโดยไม่ตั้งใจจนเผยให้เห็นกระดูกข้างใต้
หากเกิดเช่นนี้ขึ้น กระดูกรอบเบ้าที่ถอนจะเกิดการอักเสบได้ซึ่งจะสร้างความเจ็บปวดอย่างมาก ภาวะนี้มักจะเกิดขึ้นหลังการถอนฟัน 2-5 วัน และจะทำให้มีกลิ่นปากพร้อมกับอาการปวดรุนแรงต่อเนื่อง ควรติดต่อทันตแพทย์ทันทีที่ประสบกับอาการข้างต้น
สำหรับภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นได้ เช่น การบาดเจ็บของเส้นประสาท inferior alveolar nerve
สำหรับการถอนฟันคุด ไซนัสทะลุสำหรับการถอนฟันคุด ความเสียหายที่ฟันใกล้เคียง มีอาการชาต่อเนื่อง หรือความรู้สึกที่ลิ้น ริมฝีปาก หรือเหงือกเปลี่ยนแปลงไป หรือปัญหากับข้อต่อขากรรไกรที่เกิดมาจากการอ้าปากกว้างเป็นเวลานาน
ทั้งนี้ทันตแพทย์จะเป็นผู้ประเมินความเสี่ยงเหล่านี้ก่อนเริ่มถอนฟัน หากมีปัญหาใดๆเกิดขึ้น ควรแจ้งให้ทันตแพทย์เจ้าของเคสทราบ
การถอนฟันคุดออกในช่วงวัยรุ่นจะส่งผลดีมากกว่าการถอนฟันในช่วงวัยผู้ใหญ่ เนื่องจากวัยรุ่นจะมีการฟื้นตัวได้เร็วกว่า
อย่างไรก็ตาม หากคุณมีอาการของฟันคุดควรปรึกษาทันตแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยและวางแผนการรักษาอย่างถูกต้อง เพื่อช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนต่างๆ ได้
บทความที่เกี่ยวข้อง
รีวิว ผ่าฟันฝัง ที่ ทันตกรรมตรงข้ามพาต้า เจ็บไหม? เช็กเลย | HDmall
รีวิว ถอนฟันคุด ที่ Deezy Dental Home สาขาเมืองเอกรังสิต | HDmall
รีวิวถอนฟันคุด ที่ Deezy Dental Home | HDmall
เปรียบเทียบราคาและแพ็กเกจผ่าฟันและถอนฟันคุด
ที่มาของข้อมูล
ปิด
ปิด
- ถอนฟันคุดดีไหม ไม่ผ่าฟันคุดได้ไหม?, (https://hdmall.co.th/c/wisdom-tooth-removal).
- Julie Ryan Evans, Identifying and Treating Impacted Teeth (https://www.healthline.com/health/dental-and-oral-health/impacted-teeth), 1 September 2020.
- ทพญ.ธนพร ทองจูด, มารู้จักฟันคุดกับเถอะ (https://med.mahidol.ac.th/dental_division/th/article/02122014-0023-th), 30 พฤษภาคม 2562.