what disease hpv vaccine can provent scaled

วัคซีน HPV ป้องกันโรคอะไรได้บ้าง?

คนส่วนใหญ่รู้จักวัคซีน HPV ในฐานะวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก เนื่องจากไวรัส HPV สายพันธุ์ 16 และ 18 เป็นสาเหตุของโรคมะเร็งปากมดลูกถึง 70% ของมะเร็งปากมดลูกเกิดจากเชื้อนี้ แต่ความจริงวัคซีน HPV ยังช่วยป้องกันเชื้อ HPV ซึ่งเป็นสาเหตุให้เกิดโรคอื่นๆ ได้ด้วย รวมถึงโรคในเพศชาย มาดู 4 โรคที่มีการติดเชื้อ HPV เป็นสาเหตุสำคัญกันเลย

1. มะเร็งปากมดลูก

มะเร็งปากมดลูกหรือก้อนเนื้อร้ายบริเวณมดลูก ช่องคลอด และปากมดลูก ข้อมูลจากสถาบันมะเร็งแห่งชาติ กรมการแพทย์ พ.ศ. 2562 ระบุว่า มะเร็งปากมดลูกนั้นพบบ่อยเป็นอันดับ 3 ในบรรดาโรคมะเร็งทั้งหมดที่เกิดในเพศหญิง

สาเหตุใหญ่ที่สุดเกือบ 99% ของโรคนี้มาจากเชื้อไวรัส HPV นอกจากนั้นยังมีปัจจัยที่ส่งเสริมการเกิดโรค ได้แก่ การสูบบุหรี่ ภูมิคุ้มกันในร่างกายบกพร่อง การติดเชื้อหนองในเทียม ฯลฯ

มะเร็งปากมดลูกในระยะแรกๆ มักไม่แสดงอาการ เมื่อมีอาการเมื่อโรคเข้าสู่ระยะรุนแรงแล้ว อาการแสดงได้แก่ มีเลือดหรือชิ้นเนื้อออกจากช่องคลอด โดยไม่ใช่ช่วงมีประจำเดือน มีเลือดออกหลังมีเพศสัมพันธ์ มีอาการเจ็บปวดอย่างรุนแรงตามส่วนต่างๆ ของร่างกาย เกิดจากมะเร็งลุกลามไปในช่องท้อง

2. มะเร็งทวารหนัก

มะเร็งทวารหนักมีสาเหตุหนึ่งจากการติดเชื้อ HPV จากการมีเพศสัมพันธ์ทางทวารหนักโดยไม่ได้ป้องกัน โดยเฉพาะในผู้ชายที่ติดเชื้อ HIV และมีเพศสัมพันธ์กับผู้ชาย

มีการประมาณว่า ผู้ป่วยมะเร็งทวารหนักประมาณ 88% มีความเกี่ยวข้องกับการติดเชื้อ HPV

อย่างไรก็ตาม ในคนที่ไม่ได้มีเพศสัมพันธ์ทางทวารหนัก ก็อาจติดเชื้อ HPV ที่ทวารหนักได้อยู่ดี เพราะเชื้ออาจเดินทางมาจากอวัยวะส่วนอื่น เช่น ช่องคลอด ก็ได้

3. หูดหงอนไก่

หูดหงอนไก่มีลักษณะเป็นติ่งเนื้อ ลักษณะคล้ายดอกกะหล่ำ มักขึ้นที่อวัยวะเพศและทวารหนัก เป็นได้ทั้งหญิงและชาย ส่วนใหญ่มักมีอาการคัน ไม่เจ็บปวด ถ้าก้อนมีขนาดใหญ่ อาจทำให้มีเลือดออก และดูไม่ดีได้

มักพบรอยโรคหูดหงอนไก่ในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย และพบว่าเกิดซ้ำ 30-70% หลังจากหยุดรักษาไป 6 เดือน

หูดหงอนไก่ไม่ได้ทำให้เกิดมะเร็ง แต่เวลาติดเชื้อ HPV แล้ว โดยธรรมชาติอาจติดเชื้อได้หลายสายพันธุ์พร้อมกัน ดังนั้นอาจจะติดทั้งสายพันธุ์ที่ทำให้เกิดหูดหงอนไก่และมะเร็งปากมดลูกในเวลาเดียวกัน จากนั้นค่อยมีการแสดงออกมาพร้อมๆ กันหรือต่างเวลากันก็ได้ ดังนั้นผู้ป่วยที่มีหูดหงอนไก่ ควรรับการตรวจมะเร็งปากมดลูก และฉีดวัคซีน

4. มะเร็งในช่องปากและลำคอ

การมีเพศสัมพันธ์ทางปาก (Oral sex) และการจูบนั้นสามารถส่งผ่านเชื้อ HPV จากคนหนึ่งไปยังอีกคนหนึ่งได้ ซึ่งเชื้อนี้เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดมะเร็งปากและลำคอที่พบบ่อยที่สุด

เชื้อ HPV สามารถทำให้เกิดมะเร็งบริเวณด้านหลังลำคอ รวมถึงบริเวณโคนลิ้นและต่อมทอนซิล หรือที่เรียกว่า มะเร็งคอหอยส่วนบน (Oropharyngeal cancer) โดยในสหรัฐอเมริกานั้น คาดกันว่า 70% ของการเกิดมะเร็งชนิดนี้มีสาเหตุจากเชื้อ HPV นี่เอง

อาการแสดงของมะเร็งช่องปากและลำคอ ได้แก่ เจ็บคอเรื้อรัง ปวดหู เสียงแหบ มีต่อมน้ำเหลืองโต กลืนน้ำลายแล้วเจ็บคอ น้ำหนักลดอย่างไม่รู้สาเหตุ อย่างไรก็ตาม บางคนที่เป็นมะเร็งปากและลำคออาจไม่มีอาการอะไรเลย

HPV เป็นเชื้อที่ติดต่อจากการสัมผัสกันของเนื้อเยื่อ ดังนั้นวิธีป้องกันจึงได้แก่

  • เลี่ยงพฤติกรรมมีเพศสัมพันธ์กับผู้ที่เราไม่รู้ว่าเขามีเชื้อหรือเปล่าหรือเปลี่ยนคู่นอนบ่อยๆ
  • สวมถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์

แต่ถึงจะใส่ถุงยางอนามัยแต่ก็ยังมีโอกาสถ่ายทอดเชื้อ HPV ระหว่างกันได้ เพราะเชื้อสามารถกระจายได้ทั่ว ตั้งแต่รอบทวารหนัก ฝีเย็บ หัวหน่าว ซึ่งถุงยางอนามัยครอบคลุมไม่ถึง

ดังนั้นการฉีดวัคซีน HPV ป้องกันไว้จึงเป็นสิ่งที่ควรทำไว้ก่อนเพื่อลดความเสี่ยง โดยจะให้ได้ผลดีที่สุดนั้นควรจะฉีดเข็มแรกตั้งแต่เด็กหรือก่อนมีเพศสัมพันธ์ครั้งแรก อย่างไรก็ตาม อย่าลืมว่าถึงจะเป็นสาเหตุใหญ่ แต่เชื้อ HPV ไม่ใช่สาเหตุเดียวที่ทำให้เกิดทั้ง 4 โรคข้างต้น

ถ้ารู้ตัวว่าอยู่ในกลุ่มเสี่ยงตรวจคัดกรองโรคทางเพศสัมพันธ์ และหากมีอาการผิดปกติต่างๆ เช่น คลำพบเนื้อนูน บุ๋ม น้ำหนักลด หรืออื่นๆ ที่กล่าวไปแล้วข้างต้น ควรปรึกษาแพทย์ทันที


ตรวจสอบความถูกต้องโดย พญ. นิศารัตน์ สุนทราภา แพทย์เฉพาะทางด้านสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา/เวชศาสตร์การเจริญพันธุ์ โรงพยาบาลนครธน


ที่มาของข้อมูล

  • Centers for Disease Control and Prevention, HPV and Oropharyngeal Cancer (https://www.cdc.gov/cancer/hpv/oropharyngeal-cancer.html), 14 March 2018.
  • ศูนย์มะเร็งตรงเป้า โรงพยาบาลจุฬารัตน์ 9 แอร์พอร์ต, มะเร็งปากมดลูก คืออะไร (http://www.chularatcancercenter.com/?p=201&lang=th).
  • ผศ. พญ. เจนจิต ฉายะจินดา, “หูดหงอนไก่ ไม่ถึงตาย แต่ (อาจ) ทำลายชีวิตคู่” (https://www.si.mahidol.ac.th/th/healthdetail.asp?aid=1289), 26 มิถุนายน 2560.
  • สถาบันมะเร็งแห่งชาติ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข, โปสเตอร์ให้ความรู้เกี่ยวสถาการณ์โรคมะเร็ง เนื่องในวันต่อต้านโรคมะเร็งแห่งชาติ, 4 ธันวาคม 2562.
Scroll to Top