การฝังเข็มแบบจีนกับแบบตะวันตกแตกต่างกันอย่างไร ?


HDmall สรุปให้

ขยาย

ปิด

  • การฝังเข็มแบบจีนได้รับการรับรองจากองค์การอนามัยโลก (WHO) แล้วว่า สามารถช่วยลดการอักเสบ รักษาโรคได้หลายกลุ่ม รวมทั้งช่วยกระตุ้นการไหลเวียนโลหิต ปรับสมดุลการทำงานของอวัยวะต่างๆ ในร่างกาย ส่วนการฝังเข็มแบบตะวันตกจะเน้นการรักษากลุ่มอาการเจ็บปวดที่กล้ามเนื้อ
  • ผลลัพธ์การฝังเข็มแบบจีน ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของอาการและควรต้องบำบัดอย่างต่อเนื่อง ส่วนการฝังเข็มแบบตะวันตกทั่วไปอาการเจ็บปวดกล้ามเนื้อจะหายไปตั้งแต่การฝังเข็มครั้งแรก แต่หากเป็นอาการเจ็บปวดเรื้อรังก็ต้องเข้ารับการบำบัดต่อเนื่อง
  • ด้วยเทคนิคการฝังเข็มแบบตะวันตกซึ่งต้องฝังที่ Trigger Point ซึ่งไวต่อความเจ็บปวดและการกระตุ้นเท่านั้น การฝังเข็มแบบตะวันตกจึงมีความเจ็บปวดมากกว่าการฝังเข็มแบบจีนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และยังมีความอักเสบ ระบมหลังการฝังเข็มอีกราว 3-4 วัน
  • หากต้องการให้การบำบัดรักษาด้วยการฝังเข็มทั้งสองแบบนี้ได้ผลดีในระยะยาว ควรดูแลรักษาสุขภาพให้แข็งแรง ด้วยการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ พักผ่อนให้เพียงพอ หลีกเลี่ยงปัจจัย อิริยาบถที่ก่อให้เกิดอาการเจ็บปวดและอาการผิดปกติ
  • เปรียบเทียบราคาและแพ็กเกจครอบแก้ว หรือแอดไลน์ @hdcoth

ศาสตร์การฝังเข็มนั้นไม่ได้มีเพียงแค่การฝังเข็มแบบจีน หรือการฝังเข็มแบบตะวันออกที่เราคุ้นเคยกันเท่านั้น แต่ยังมีการฝังเข็มแบบตะวันตกบ้างก็เรียก “การฝังเข็มแบบฝรั่ง” หรือ “เข็มสะกิด” อีกด้วย

การฝังเข็มแบบจีนกับแบบตะวันตกมีความแตกต่างกันอย่างไร แต่ละแบบมีจุดเด่น จุดด้อยอย่างไร ควรเลือกแบบไหนให้เหมาะกับอาการของเรา HDmall.co.th จะพาไปชี้คำตอบแบบชัดๆ

การฝังเข็มแบบจีนกับแบบตะวันตกแตกต่างกันอย่างไร

การฝังเข็มแบบจีน (Chinese Acupuncture) และการฝังเข็มแบบตะวันตก (Dry Needling puncture) มีความแตกต่างกันในหลายๆ ด้าน สรุปได้ดังนี้

วิธีฝังเข็มและกลไก

การฝังเข็มแบบจีน

คือ การใช้เข็มขนาดเล็กและบางมากๆ ฝังลงที่จุดฝังเข็มตามแนวลมปราณหลักและย่อย เพื่อให้เกิดการกระตุ้นไปยังอวัยวะที่บกพร่อง หรือทำงานผิดปกติ ให้ทำงานได้ดีขึ้น รวมทั้งช่วยปรับสมดุลร่างกายซี่ให้สมดุลระหว่างหยิน หยาง เลือดลมในร่างกายไหลเวียนดีไม่ติดขัด

การฝังเข็มแบบจีนนี้ยังสามารถหวังผลการฝังเข็มได้ทั้งในระยะใกล้คือ มุ่งตรงไปที่อวัยวะเดียว และการหวังผลในระยะไกล คือ มุ่งตรงไปอวัยวะและเนื้อเยื่อที่ไกลออกไป

การฝังเข็มแบบตะวันตก

คือ การฝังเข็มเฉพาะที่ เดิมทีใช้เข็มสำหรับฉีดยาปักลงผิวหนังไปทำมุมรอบๆ ปมกล้ามเนื้อที่มีอาการปวด หดเกร็ง เป็นก้อน หรือที่เรียกกันว่า “จุดปวด (Trigger Point)” เพื่อให้ปมกล้ามเนื้อที่หดเกร็ง เกิดการกระตุกและคลายตัวออก อาการปวดกล้ามเนื้อบริเวณนั้นๆ ก็จะดีขึ้นตามลำดับ ต่อมาในปัจจุบันจึงเปลี่ยนมาใช้เข็มสำหรับฝังเข็มแทน

ประโยชน์ของการฝังเข็ม

การฝังเข็มแบบจีน

ได้รับการรับรองจากองค์การอนามัยโลก (WHO) ว่า สามารถช่วยลดการอักเสบ รักษาโรคได้หลายกลุ่ม เช่น กลุ่มโรคระบบประสาท อาการปวดและโรคระบบกล้ามเนื้อ กลุ่มโรคระบบทางเดินหายใจ โรคระบบทางเดินอาหารและลำไส้ กลุ่มโรคระบบต่อมไร้ท่อและโรคเกี่ยวกับฮอร์โมนต่างๆ

กระตุ้นการไหลเวียนโลหิต ปรับสมดุลการทำงานของอวัยวะต่างๆ ในร่างกาย ปรับการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน ปรับการหลั่งฮอร์โมนต่างๆ ช่วยเรื่องความงาม เช่น กระชับผิว ลดสิว ลดความอ้วน แก้ไขภาวะทางสุขภาพ เช่น วิตกกังวล เครียด

ระยะเวลาการเห็นผลลัพธ์: ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของอาการและควรต้องบำบัดอย่างต่อเนื่อง ราว 5-7 ครั้งขึ้นไป

การฝังเข็มแบบตะวันตก

เน้นการรักษาอาการปวดกล้ามเนื้อของโรคและภาวะผิดปกติ เช่น กลุ่มโรคกล้ามเนื้ออักเสบเรื้อรัง (Myofascial Pain Syndrome, MPS) ออฟฟิศซินโดรม บาดเจ็บอย่างรุนแรงและเฉียบพลัน การบาดเจ็บไม่รุนแรงแต่เรื้อรัง โรคเรื้อรังต่างๆ

ระยะเวลาการเห็นผลลัพธ์: ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของอาการ แต่ทั่วไปอาการเจ็บปวดกล้ามเนื้อจะหายไปตั้งแต่การฝังเข็มครั้งแรก แต่หากเป็นอาการเจ็บปวดเรื้อรังก็ต้องเข้ารับการบำบัดต่อเนื่องอีก 3-5 ครั้ง

ระยะเวลาในการฝังเข็ม

การฝังเข็มแบบจีน

ฝังตามจุดฝังเข็มลงบนผิวหนังราว 5-20 เล่ม แพทย์อาจใช้มือหมุนเข็มเพื่อกระตุ้นเส้นลมปราณเล็กน้อย แต่ไม่ได้ขยับเข็มให้กล้ามเนื้อเกิดการกระตุกและคลายตัวออกแบบการฝังเข็มแบบตะวันตก

นอกจากการใช้มือหมุนเข็มเพื่อกระตุ้นเส้นลมปราณแล้ว แพทย์ยังอาจใช้เครื่องกระตุ้นไฟฟ้า หรือเครื่องอบความร้อน ช่วยกระตุ้นอีก 10-15 นาที

สำหรับระยะเวลาการฝังเข็มทั้งนี้ขึ้นอยู่กับอาการของผู้ป่วย โดยทั่วไปการฝังเข็มแบบจีนจะใช้เวลาประมาณ 20-30 นาที แล้วจึงถอนเข็มออก ทั้งนี้ระยะเวลาอาจจะสั้น หรือนานกว่า ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรคในผู้เข้ารับการบำบัดแต่ละราย

การฝังเข็มแบบตะวันตก

ฝังเข็ม หรือปักเข็มลงไปยังปมกล้ามเนื้อที่มีอาการปวด หดเกร็ง เป็นก้อนหรือจุดปวด (Trigger Point) จนกว่ากล้ามเนื้อจะเกิดการกระตุกและคลายตัวออก แพทย์จึงจะเริ่มขยับเข็มบริเวณรอบๆ เพิ่มจนกว่ากล้ามเนื้อส่วนนั้นจะไม่กระตุกอีกแล้วจึงถอนเข็มออก เฉลี่ยใช้เวลาฝังเข็มตำแหน่งละ 5-10 นาที บางรายอาจนานกว่านั้นหากแพทย์พบว่ามี Trigger Point หลายจุด

ฝังเข็มแบบไหนเจ็บกว่ากัน?

สำหรับตัวเข็มที่ใช้ฝังนั้น เดิมทีการฝังเข็มแบบตะวันตกจะใช้เข็มสำหรับฉีดยาในการฝัง หรือปัก ซึ่งเข็มนี้มีขนาดใหญ่กว่าเข็มสำหรับฝังเข็มราว 6-8 เท่า จึงมีความเจ็บปวดมากกว่าการฝังเข็มแบบจีน แม้จะมีการฝังเข็มจำนวนน้อยกว่ามาก

ต่อมาแม้ว่าการฝังเข็มแบบตะวันตกจะเปลี่ยนมาใช้เข็มสำหรับฝังเข็ม ซึ่งเป็นเข็มสแตนเลสขนาดเล็กมาก แหลมคมมาก แต่ก็มีความยืดหยุ่น ไม่หัก หรือเปราะแตกง่าย เมื่อแทงผ่านผิวหนังแทบจะไม่ทำให้เจ็บเลย

แต่ด้วยเทคนิคการฝังเข็มแบบตะวันตกซึ่งต้องฝังที่ Trigger Point ซึ่งไวต่อความเจ็บปวดและการกระตุ้นเท่านั้น การฝังเข็มแบบตะวันตกจึงมีความเจ็บปวดมากกว่าการฝังเข็มแบบจีนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และยังมีความอักเสบ ระบมหลังการฝังเข็มอีกราว 3-4 วัน

เลือกการฝังเข็มแบบไหน ให้เหมาะสม?

จะเห็นได้ว่า การฝังเข็มแบบจีนกับการฝังเข็มแบบตะวันตกมีความแตกต่างอย่างชัดเจน แต่อาจสรุปได้สั้นๆ ดังนี้

  • หากคุณมีอาการเจ็บปวดกล้ามเนื้อ มีโรคเกี่ยวกับกล้ามเนื้อ ต้องการการรักษาที่เห็นผลอย่างรวดเร็ว และสามารถอดทนกับความเจ็บปวดที่จะตามมาได้ ก็อาจจะเหมาะกับการฝังเข็มแบบตะวันตก ที่เน้น “จบไว แต่ต้องยอมเจ็บตัว”
  • หากคุณมีอาการเจ็บปวดกล้ามเนื้อ หรือกลุ่มโรคอื่นๆ เช่น ระบบประสาท ระบบทางเดินอาหาร ทางเดินหายใจ ลดความอ้วน ลดสิว บำรุงผิวพรรณ ต้องการปรับสมดุลร่างกาย ระบบภูมิคุ้มกันต่างๆ มีเวลาในการบำบัดมากกว่า 1 ครั้ง และไม่สามารถอดทนกับความเจ็บปวดในระดับมากๆ ได้ ก็อาจจะเหมาะกับการฝังเข็มแบบจีน “ต้องใช้เวลาสักหน่อย แต่เจ็บน้อยมากๆ หรือไม่เจ็บเลย”

อย่างไรก็ตาม หากต้องการให้การบำบัดรักษาด้วยการฝังเข็มทั้งสองแบบนี้ได้ผลดีในระยะยาว ควรดูแลรักษาสุขภาพให้แข็งแรง ด้วยการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ พักผ่อนให้เพียงพอ

หากมีโรคเรื้อรังก็ควรควบคุม หรือเข้ารับการรักษาอย่างต่อเนื่อง ควรหลีกเลี่ยงปัจจัย อิริยาบถที่ก่อให้เกิดอาการเจ็บปวดและอาการผิดปกติ เช่น การนั่งอยู่กับที่นานๆ การเล่นโทรศัพท์มือถือนานๆ

หากสนใจเข้ารับการบำบัดด้วยการฝังเข็ม สามารถเปรียบเทียบราคาล่าสุดและแพ็กเกจการฝังเข็มได้ที่นี่เลย หรือที่ไลน์ @hdcoth โดยจะมีแอดมินใจดีคอยให้บริการข้อมูล สั่งซื้อแพ็กเกจ และจองคิวนัดหมายทุกวัน ตั้งแต่เวลา 9 โมงเช้าถึงตีหนึ่ง! แอดเลยไม่ต้องรอ

ที่มาของข้อมูล

Adem Dirican, MD,c Pankina Ekaterina, MD,d and Sevket Ozkaya, MDe, A case with iatrogenic pneumothorax due to deep dry needling (https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC6148831/), 19 February 2021.

Cleveland Clinic, Dry Needling (https://my.clevelandclinic.org/health/treatments/16542-dry-needling), 19 February 2021.

Kimberly Holland, Dry Needling vs. Acupuncture: Which Is Right for You? (https://www.healthline.com/health/dry-needling-vs-acupuncture), 19 February 2021.

PD Dr. med. Stefan Bachmann, Dr. med. Fernando Colla, Dr. med. Peter Reilich, MA and others, Swiss Guidelines for safe Dry Needling Version 1.7. / November 21st 2014 / ©DVS(https://www.dryneedling.ch/fileadmin/documents/Swiss_Guidelines_for_safe_1.7_Dry_Needling_01.pdf) , 19 February 2021.

@‌hdcoth line chat