นิ่วในถุงน้ำดี คืออะไร? ข้อมูลโรค อาการ รักษา


อาการนิ่วในถุงน้ำดี หรือโรคนิ่วในถุงน้ำดี (Cholelithiasis หรือ Gall stone) ถือเป็นโรคที่พบบ่อยมาก โดยเฉพาะในผู้หญิง และผู้ที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป นิ่วที่เกิดขึ้นจะมีขนาดใหญ่เล็กแตกต่างกันไป และบางคนอาจมีนิ่วในถุงน้ำดีเกิดขึ้นเพียงก้อนเดียว ในขณะที่บางคนก็เกิดก้อนนิ่วหลายก้อน 

ทำความรู้จักอาการนิ่วในถุงน้ำดี

ถุงน้ำดีมีลักษณะเป็นถุงกระเปาะที่มีไว้เพื่อเก็บ น้ำดี ซึ่งเป็นสารที่ตับสร้างขึ้นมา หลังจากที่เรารับประทานอาหาร ถุงน้ำดีจะบีบตัวและปล่อยน้ำดีเข้าไปยังลำไส้เพื่อช่วยในการย่อยอาหาร อาการนิ่วในถุงน้ําดีจะเกิดขึ้นเมื่อมีสารประกอบบางอย่างที่ทำให้น้ำดีเริ่มขุ่นข้นและก่อตัวขึ้นเป็นก้อนนิ่ว ซึ่งมักจะเป็นสารจำพวกของเสียอย่างบิลิรูบิน หรือคอเลสเตอรอล

นิ่วในถุงน้ำดีมักจะฝังตัวอยู่ในถุงน้ำดีเพียงเท่านั้นและไม่สร้างปัญหาใดๆ แต่บางครั้งก็ไปปิดกั้นทางออกของถุงน้ำดี หรือที่เรียกว่าท่อถุงน้ำดี โดยเมื่อไหร่ก็ตามที่เกิดภาวะนี้ขึ้น ถุงน้ำดีจะเข้าสู่ภาวะกระตุกและเริ่มอักเสบ เรียกว่าภาวะถุงน้ำดีอักเสบ (Cholecystitis) ซึ่งอาการอาจหายไปได้เอง หรืออาจรุนแรงกว่าเดิม เนื่องจากถุงน้ำดีที่อักเสบเกิดการติดเชื้อแบคทีเรีย

สาเหตุและปัจจัยของอาการนิ่วในถุงน้ำดี

มีปัจจัยหลายอย่างที่ทำให้เกิดอาการนิ่วในถุงน้ําดีได้ ซึ่งปัจจัยเหล่านั้นได้แก่

  • มีสารบิลิรูบิน (Bilirubin) ส่วนเกินในน้ำดี
  • มีคอเลสเตอรอลส่วนเกินในน้ำดี
  • มีสิ่งอุดตันอื่นที่ไม่ใช่นิ่วมาปิดกั้น ทำให้ไม่สามารถถ่ายเทน้ำดีได้อย่างเหมาะสม
  • ความเข้มข้นของน้ำดีต่ำ หรือที่เรียกว่า เกลือน้ำดี (Bile salt)

กลุ่มเสี่ยงเกิดอาการนิ่วในถุงน้ำดี

บุคคลที่มีปัจจัยต่อไปนี้ อาจมีความเสี่ยงเกิดอาการนิ่วในถุงน้ําดีได้มากกว่ากลุ่มอื่นๆ

  • เพศหญิง
  • อายุมากกว่า 40 ปี
  • มีบุตรหลายคน
  • คนในครอบครัวเคยเป็นโรคนิ่วในถุงน้ำดี
  • ใช้ยาลดระดับคอเลสเตอรอล  
  • เป็นเบาหวาน
  • น้ำหนักลดลงอย่างมากในเวลาอันรวดเร็ว
  • รับประทานยาคุมกำเนิดหรือฮอร์โมนทดแทน
  • ตั้งครรภ์
  • เป็นโรคอ้วน (มีดัชนีมวลกาย BMI มากกว่า 25)
  • รับประทานอาหารที่มีไขมันและมีแคลอรี่สูง กากใยอาหารน้อย

อาการของนิ่วในถุงน้ำดี

ไม่ใช่เรื่องแปลกที่ผู้ป่วยโรคนิ่วในถุงน้ำดีจะไม่แสดงอาการใดๆ ให้เห็น และอาจตรวจพบนิ่วโดยบังเอิญจากการตรวจคัดกรองหรือการตรวจปัญหาสุขภาพอื่นๆ มากกว่า อย่างไรก็ตาม หลายคนที่เป็นโรคนิ่วในถุงน้ำดีก็อาจแสดงอาการออกมาได้เช่นกัน ได้แก่

  • ปวดบีบๆ บริเวณช่องท้องด้านบนขวา
  • ปวดหลัง ร้าวไปถึงสะบักขวา
  • ปวดใต้สะบักขวา โดยจะเกิดอาการขึ้นอย่างรวดเร็ว และมีอาการหนักขึ้นไปอีกอย่างน้อย 30 นาที หรืออาจเป็นติดต่อกัน 2-3 ชั่วโมงเลยทีเดียว
  • เป็นไข้หนาวสั่น
  • อาเจียนและคลื่นไส้
  • โรคดีซ่าน (ผิวและตาขาวมีสีออกเหลือง)
  • อุจจาระสีซีด ปัสสาวะเข้ม
  • อาการปวดเกิดขึ้นหลังจากกินอาหารที่มีไขมันสูง
  • อาหารไม่ย่อย ท้องอืด มีแก๊สในกระเพาะอาหาร

หากคุณมีอาการเหล่านี้ ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจรักษา เพราะไม่บ่อยนักที่อาการนิ่วในถุงน้ำดีจะส่งสัญญาณล่วงหน้า ซึ่งก็ถือเป็นเรื่องที่ดี เนื่องจากผู้ที่ป่วยเป็นนิ่วในถุงน้ำดีจะมีความเสี่ยงเป็นโรคมะเร็งถุงน้ำดีได้ แม้จะเกิดขึ้นได้น้อยก็ตาม 

การวินิจฉัยอาการนิ่วในถุงน้ำดี

หากสอบถามอาการและประวัติทางสุขภาพเบื้องต้นแล้วสงสัยว่าผู้ป่วยอาจเป็นนิ่วในถุงน้ำดี แพทย์จะตรวจด้วยการฉายภาพเพิ่มเติม โดยอาจใช้การอัลตราซาวด์ การตรวจอีกหนึ่งวิธีที่ใช้บ่อยคือการตรวจถุงน้ำดีโดยให้ผู้ป่วยรับประทานยาที่มีสารย้อมทึบรังสี (Oral cholecystogram หรือ OCG) ก่อนใช้รังสีเอกซเรย์ฉายไปที่ถุงน้ำดี เพื่อช่วยให้เห็นภาพชัดเจนยิ่งขึ้น วิธีนี้มักใช้ในผู้ป่วยที่อัลตร้าซาวด์อย่างเดียวได้ยาก เช่น อ้วน ผนังหน้าท้องหนามาก และอีกวิธีหนึ่งมีชื่อว่า HIDA Scan ซึ่งเป็นการฉีดสารกัมมันตรังสีที่ไม่เป็นอันตรายเข้าร่างกายในปริมาณเล็กน้อย แต่บางครั้งอาการนิ่วในถุงน้ำดีก็ตรวจพบโดยบังเอิญในกระบวนการตรวจอื่นๆ เช่น CT scan เป็นต้น

การรักษาอาการ นิ่วในถุงน้ำดี

การรักษาอาการนิ่วในถุงน้ำดีมีทางเลือกหลายวิธี ขึ้นอยู่กับอาการและความรุนแรงของนิ่วของผู้ป่วยแต่ละรายด้วย วิธีที่แพทย์อาจนำมาใช้รักษา มีดังนี้ 

เปลี่ยนการบริโภคอาหาร

แพทย์อาจแนะนำให้คุณเปลี่ยนไปรับประทานอาหารเพื่อสุขภาพและอาหารที่มีไขมันต่ำมากยิ่งขึ้น เพื่อช่วยบรรเทาอาการจากโรคนิ่วในถุงน้ำดี

การใช้ยา

ยาที่ใช้รักษาอาการนิ่วในถุงน้ำดีมีไม่มาก เช่น เกลือน้ำดี ที่จะช่วยบรรเทาความเจ็บปวดและอาการของโรคด้วยการเข้าไปทำลายนิ่วขนาดเล็กอย่างช้าๆ อย่างไรก็ตาม การรักษาด้วยวิธีนี้ไม่ได้เหมาะกับผู้ป่วยทุกราย

การบดนิ่ว (Lithotripsy)

วิธีนี้เป็นการใช้คลื่นเสียงที่มีพลังสูงตรงเข้าทำลายนิ่วให้เป็นเศษเล็กๆ และหลังจากนั้นมักจะมีการใช้ยาเพื่อสลายเศษนิ่วที่เหลือด้วย

การผ่าตัด

เป็นวิธีการผ่าตัดถุงน้ำดีออก แต่ส่วนใหญ่แล้วจะใช้กับผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง ซึ่งจากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่มากขึ้น ก็ทำให้มีวิธีการผ่าตัดถุงน้ำดีที่เรียกว่า Laparoscopic cholecystectomy หรือการผ่าตัดเอาถุงน้ำดีออกโดยการส่องกล้อง โดยเป็นการผ่าตัดผ่านกล้อง (Laparoscopic technology) ที่จะช่วยให้แผลผ่าตัดมีขนาดเล็ก หายเร็วขึ้น และไม่จำเป็นต้องพักที่โรงพยาบาลหลังการผ่าตัด

อย่างที่บอกไปว่า ก้อนนิ่วในถุงน้ำดีสามารถทำให้เกิดอาการแทรกซ้อนที่รุนแรงตามมา เช่น การอักเสบของถุงน้ำดี การอุดตันของถุงน้ำดี หรือกระทั่งโรคร้ายแรงอย่างมะเร็งถุงน้ำดี คุณจึงควรหมั่นสังเกตอาการผิดปกติ และเข้ารับการตรวจสุขภาพเป็นประจำ ซึ่งไม่เพียงแต่จะป้องกันอาการนิ่วในถุงน้ําดีเท่านั้น แต่ยังเป็นการระวังโรคภัยทั้งหลายที่อาจก่อตัวขึ้นได้โดยไม่มีสัญญาณเตือน


เปรียบเทียบราคาแพ็กเกจตรวจสุขภาพ


บทความแนะนำ


ที่มาของข้อมูล

ขยาย

ปิด

@‌hdcoth line chat