ในกลุ่มของวิตามินบีหรือบีรวมประกอบไปด้วยสาร 11 ชนิด ที่ร่วมกันทำงานในการดูแลสุขภาพของหัวใจ วิตามินบีสำคัญที่ช่วยส่งเสริมสุขภาพหัวใจ ได้แก่ โฟเลต วิตามินบี 2 บี 6 และ บี 12
การกินอาหารที่มีวิตามินบีเพียงพอจึงเป็นสิ่งสำคัญต่อการทำงานของหัวใจ
อาหารธรรมชาติ 11 ชนิดที่ช่วยลดคอเลสเตอรอล
ผลการศึกษาล่าสุดจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด (Harvard University) ระบุว่า อาหารในธรรมชาติสามารถลดคอเลสเตอรอลได้แตกต่างกันออกไป อาหารที่มีใยอาหารชนิดละลายน้ำได้จะทำงานโดยจับกับคอเลสเตอรอลและขับคอเลสเตอรอลออกจากร่างกายก่อนที่จะเข้าไปในกระแสเลือด อาหารบางชนิดมีกรดไขมันไม่อิ่มตัวหลายตำแหน่งช่วยลดแอลดีแอลคอเลสเตอรอลโดยตรงได้ บางชนิดมีสารสเตอรอลและสตานอลจากพืช ซึ่งมีโครงสร้างคล้างคอเลสเตอรอล แต่มีฤทธิ์ยับยั้งการดูดซึมคอเลสเตอรอล
อาหารช่วยลดคอเลสเตอรอล
- ข้าวโอ๊ต ข้อมูลการวิจัยแนะว่า การบริโภคใยอาหารรวมวันละ 20-35 กรัม โดยที่มีใยอาหารละลายน้ำได้อย่างน้อยที่สุด 5-10 กรัม จะช่วยลดคอเลสเตอรอลได้ สำหรับคนไทยอาจผสมข้าวโอ๊ตในข้าวต้มทำเป็นโจ๊ก หรือผสมกันหมูบด ไก่บด เพื่อเพิ่มใยอาหารชนิดที่ละลายน้ำได้
- ข้าวบาร์เลย์ และ เมล็ดธัญพืชไม่ขัดสี มีใยอาหารที่ละลายน้ำได้เช่นเดียวกับข้าวโอ๊ต
- ถั่วเมล็ดแห้ง เช่น ถั่วแดง เลนทิล ถั่วลูกไก่ ถั่วลาย เป็นอาหารที่มีใยอาหารละลายน้ำได้สูงมาก ใช้เวลานานขึ้นในการย่อยทำให้อิ่มนาน จึงช่วยในการลดน้ำหนักเช่นกัน นอกเหนือจากการลดคอเลสเตอรอล
- มะเขือยาว และ ฝักกระเจี๊ยบ เป็นแหล่งที่ดีเยี่ยมของใยอาหารละลายน้ำได้ และมีพลังงานต่ำ
- ถั่วเปลือกแข็ง งานวิจัยมากมายยืนยันว่า ถั่วอัลมอนด์ วอลนัท ถั่วลิสง และถั่วเปลือกแข็งชนิดอื่นส่งเสริมสุขภาพหัวใจโดยพบว่าการบริโภคถั่วเปลือกแข็งวันละ 60 กรัมช่วยลดแอลดีแอลคอเลสเตอรอลได้ถึง 5 เปอร์เซ็นต์ ถั่วมีสารอาหารที่ดี เช่น สารไฟโตสเตอรอล ช่วยลดคอเลสเตอรอล
- น้ำมันพืช การใช้น้ำมันพืชซึ่งปราศจากคอเลสเตอรอลในธรรมชาติ เช่น น้ำมันรำข้าว น้ำมันมะกอก น้ำมันเมล็ดทานตะวัน น้ำมันดอกคำฝอย และน้ำมันเมล็ดชา เพื่อใช้แทนเนย เนยขา น้ำมันหมูหรือน้ำมันวัวในการปรุงอาหาร จะช่วยลดแอลดีแอลคอเลสเตอรอลได้
- แอ๊ปเปิ้ล องุ่น สตรอว์เบอร์รี่ ผลไม้ตระกูลส้ม มีใยอาหารละลายน้ำได้ในรูปสารเพกทินสูง มีฤทธิ์ช่วยลดคอเลสเตอรอล
- ผลิตภัณฑ์อาหารเสริมสารสเตอรอล และ สตานอล ซึ่งสกัดจากพืช จะช่วยดูดซับคอเลสเตอรอลจากอาหาร จึงมีการนำสารทั้งสองชนิดเติมลงในอาหารชนิดต่างๆ เช่น มาร์การีน กราโนลาบาร์ น้ำส้มคั้น ช็อคโกแลต ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร งานวิจัยแนะนำให้บริโภคสารสเตอรอลและสตานอลจากพืชวันละ 2 กรัม จะสามารถลดแอลดีแอลคอเลสเตอรอลได้ประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์
- ถั่วเหลือง อาหารถั่วเหลือง หรือ ผลิตภัณฑ์ถั่วเหลือง เช่น เต้าหู้และนมถั่วเหลืองช่วยลดคอเลสเตอรอลได้ งานวิจัยรายงานว่า การกินโปรตีนถั่วเหลืองวันละ 25 กรัม (เท่ากับเต้าหู้ 300 กรัมหรือนมถั่วเหลืองวันละ 750 มิลลิลิตร) สามารถลดแอลดีแอลได้ 5-6 เปอร์เซ็นต์
- ปลาทะเล ควรบริโภคสัปดาห์ละ 2-3 ครั้ง แทนการบริโภคเนื้อสัตว์ใหญ่ซึ่งมีไขมันอิ่มตัวสูง ช่วยลดคอเลสเตอรอลได้ นอกจากนี้กรดโอเมก้า-3 ในปลาทะเลยังช่วยลดไขมันไตรกลีเซอไรด์ในเลือดและป้องกันความผิดปกติในการเต้นของหัวใจ
- ใยอาหารเสริม มีใยอาหารชนิดละลายน้ำได้ในปริมาณมากช่วยลดแอลดีแอลคอเลสเตอรอล เช่น ผลซิลเลียม (Psyllium) วันละ 2 ช้อนชา ให้ใยอาหารละลายน้ำได้ถึง 4 กรัม
นักวิจัยแนะนำให้บริโภคอาหารที่ช่วยลดคอเลสเตอรอลในรายการข้างต้นในชีวิตประจำวัน เพื่อลดความเสี่ยงโรคหัวใจ
ใช้ยีนในการควบคุมโรคหัวใจ
ในยุคนี้จะเห็นว่าคนเราให้ความสนใจกับการตรวจสุขภาพประจำปีมากขึ้น โดยเฉพาะการตรวจระดับไขมันในเลือดที่จำเป็นต้องตรวจพลาดไม่ได้ หากตรวจสุขภาพชุดใหญ่ ไขมันที่ตรวจได้แก่ คอเลสเตอรอลรวม แอลดีแอลคอเลสเตอรอล (ไขมันวายร้าย) เอชดีแอลคอเลสเตอรอล (ไขมันดี) และไตรกลีเซอไรด์
หากผลการตรวจไขมันออกมาสูงผิดปกติ ยกเว้นค่าเอชดีแอลคอเลสเตอรอลซึ่งยิ่งมีสูงเท่าไหร่ยิ่งดี คุณจะได้รับคำแนะนำให้ติดตามดูแลสุขภาพโดยปรับพฤติกรรมการกินและการออกกำลังกาย ข้อแนะนำที่จะได้รับจากนักกำหนดอาหารนั้นจะแตกต่างกันออกไป ขึ้นกับไลฟ์สไตล์ของแต่ละคน บางคนถ้าระดับไขมันสูงมากๆ รวมทั้งดูมีทีท่าจะไม่ยอมเปลี่ยนพฤติกรรมการกิน คุณหมออาจตัดสินใจให้กินยาลดไขมันเพื่อป้องกันหลอดเลือดตีบหรือโรคหัวใจในอนาคต แต่ก็มีบางคนเหมือนกันที่เต็มใจเปลี่ยนพฤติกรรมการกินเพราะไม่อยากใช้ยา
แต่ในการเปลี่ยนพฤติกรรมก็ไม่ใช่ว่าจะได้ผลเต็มร้อยเสมอไปหากแต่เป็นส่วนน้อย ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับยีนของแต่ละคน ปัจจุบันในประเทศที่เทคโนโลยีทางการแพทย์ก้าวไปไกลจะมีการยีนก่อน เพื่อดูว่าคนนั้นมียีนแบบใด และควรปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกินอย่างไรให้ได้ผลแน่นอน
ตัวอย่างเช่น พลเป็นคนที่ขยันออกกำลังกาย แต่มีความดันโลหิตสูงและคอเลสเตอรอลสูงมาก เขากลัวที่จะต้องพบกับปัญหาหลอดเลือดตีบ แต่ไม่อยากกินยาลดไขมัน ด้วยความที่พลชอบกินอาหารเค็ม เขาจึงคาดว่าถ้าลดการกินเค็มก็จะลดความดันโลหิตได้เมื่อดูผลการตรวจยีนแล้วพบว่าพลไม่มียีนไวต่ออาหารเค็ม จึงไม่จำเป็นต้องลดอาหารเค็ม ทำให้พลยิ้มออกได้ แต่ผู้เชี่ยวชาญเห็นว่าการควบคุมอาหารไขมันอิ่มตัวและคอเลสเตอรอลจะช่วยได้ พลจึงลองวิธีปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกินดู 3 เดือน
ดังนั้น หากพลไม่ได้ตรวจยีน แต่รู้ว่ามีประวัติทางพันธุกรรมพลก็ต้องลดอาหารเค็มร่วมด้วย เพราะไม่อาจรู้ว่าพลมียีนที่ไวต่ออาหารเค็มหรือไม่
เจนจิรา ภรรยาของพล ได้รับการตรวจยีนเช่นเดียวกัน แต่ผลการตรวจพบว่าเจนจิรามียีนที่ไวต่ออาหารเค็ม และทำให้ความดันโลหิตสูงได้ ฉะนั้นเจนจิราจึงได้รับแนะนำให้ลดอาหารเค็ม นอกจากนี้ผลการตรวจยีนยังพบว่าเจนจิราควรกินอาหารต้านการอักเสบและวิตามินบี โดยเฉพาะโฟเลต เพื่อช่วยป้องกันโรคที่เกิดจากการอักเสบ
เจนจิรามีนิสัยติดบุหรี่และไม่ยอมเลิก เมื่อผลการตรวจยีนชี้ให้เห็นว่ายีนของเธอมีความเสี่ยงต่อการสะสมสารพิษ คราวนี้เจนจิรายอมหันหลังให้กับการสูบบุหรี่ตลอดกาล
นอกจากนี้เธอยังได้รับคำแนะนำให้ออกกำลังกาย เพราะเธอมียีนที่ชอบการนั่งๆ นอนๆ ซึ่งจะสร้างปัญหากับหัวใจ พลเองเคยพยายามชักชวนให้เจนจิราไปวิ่งออกกำลังกายกับเขามานานแล้ว แต่ไม่สำเร็จเขาจึงต้องขอบใจการตรวจยีน เพราะเจนจิราตัดสินใจจะออกกำลังกายโดยที่เขาไม่ต้องขอร้องเธออีกต่อไป
จากตัวอย่าง จะเห็นว่าในอนาคตข้างหน้ายีนจะมีบทบาทในการปรับเปลี่ยนอาหารและไลฟ์สไตล์ทำให้สามารถป้องกันโรคได้อย่างมาก
โรคหัวใจป้องกันได้ด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมต้านอาหาร การออกกำลังกาย ใส่ใจกับสุขภาพหัวใจแต่เนิ่นๆ แล้วคุณจะห่างไกลโรคเรื้อรังอีกหลายๆ โรคตลอดชีวิตที่เหลือ
บทความแนะนำ
- ค่าการเต้นของหัวใจสูงสุด
- คุณมีความเสี่ยงต่อการเสพติดแอลกอฮอล์มากแค่ไหน
- เท้าบวมเบาหวาน การบวมส่วนปลายเบาหวาน
- ดื่มแอลกอฮอล์ก่อนรู้ว่าตั้งครรภ์ อันตรายต่อเด็กแค่ไหน
- อาการแพ้ท้อง ดูแลอย่างไร ควรพบแพทย์เมื่อไหร่
ที่มาของข้อมูล
ปิด
ปิด
- Can vitamins help prevent a heart attack?. Mayo Clinic. (https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/heart-disease/expert-answers/prevent-heart-attack/faq-20058253)
- How to Prevent a Heart Attack: Vitamins, Exercise, Diet Tips. MedicineNet. (https://www.medicinenet.com/vitamins_and_exercise/article.htm)
- Heart Beat: Heart failure tough on B vitamins. Harvard Health. (https://www.health.harvard.edu/newsletter_article/heart-failure-tough-on-b-vitamins)