the

เบื่ออาหาร สาเหตุ อาการ วิธีรักษาป้องกัน โรคที่เกี่ยวข้อง

ภาวะเบื่ออาหาร คือ ภาวะที่ผู้ป่วยไม่อยากรับประทานอาหารใดๆ หรือสูญเสียความสนใจในอาหาร ที่เกิดจากภาวะผิดปกติทางสุขภาพอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง

มีคำถามเกี่ยวกับ เบื่ออาหาร? สอบถามฟรีทาง LINE รับคำตอบได้ทันที ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อความสบายใจของคุณ

สาเหตุของภาวะเบื่ออาหาร

ภาวะเบื่ออาหาร เป็นภาวะที่สามารถพบได้บ่อย มักจะเกิดจากความผิดปกติทางสุขภาพจึงทำให้ความอยากอาหารหายไป โดยสาเหตุของภาวะเบื่ออาหารที่สามารถพบได้บ่อย ได้แก่

  • โรคซึมเศร้า (Depression) : ในช่วงที่มีอาการซึมเศร้า ผู้ป่วยมักจะไม่สนใจอาหารหรือลืมรับประทานอาหารให้ตรงมื้อ ทำให้น้ำหนักผู้ป่วยลดลง ซูบผอม และขาดสารอาหารที่จำเป็น ขณะเดียวกัน ผู้ป่วยบางคนอาจรับประทานอาหารมากเกินจำเป็นในระยะที่เป็นโรคซึมเศร้า
  • โรคมะเร็ง : มะเร็งระยะลุกลามสามารถทำให้ความอยากอาหารลดลงได้ เมื่อเข้าสู่มะเร็งระยะสุดท้าย ร่างกายจะเริ่มเก็บพลังงานไว้ไม่นำออกมาใช้ ทำให้ร่างกายไม่สามารถย่อยและดูดซึมอาหารและของเหลวได้อย่างดีเช่นเคย จึงทำให้รู้สึกเบื่ออาหาร นอกจากนี้ ผลข้างเคียงที่เกิดจากการรักษามะเร็งชนิดต่างๆ เช่น การได้รับรังสีรักษาและเคมีบำบัดอาจส่งผลต่อความอยากอาหารได้อีกด้วย
  • โรคตับอักเสบซี (Hepatitis C) : การติดเชื้อนี้เกิดจากไวรัสตับอักเสบซี หากไม่รีบรักษาอาจทำให้ตับเกิดความเสียหายรุนแรง ทำให้เกิดอาการคลื่นไส้และอาเจียนซึ่งมีผลต่อความอยากอาหาร ไม่ใช่แค่ไวรัสตับอักเสบซีเท่านั้น การติดเชื้อไวรัสตับอักเสบชนิดอื่นๆ ก็สามารถทำให้เบื่ออาหารได้เช่นเดียวกัน
  • โรคไตวาย (Kidney failure) : ผู้ป่วยโรคไตวายมักจะเกิดอาการที่เรียกว่า ยูรีเมีย (Uremia) คือภาวะที่มีโปรตีนส่วนเกินในเลือดมากเกินไป ภาวะนี้สามารถทำให้ผู้ป่วยไตวายรู้สึกคลื่นไส้และไม่อยากทานอาหาร บางครั้งก็ทำให้รับรสชาติอาหารเดิมเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม จึงทำให้รู้สีกเบื่ออาหาร
  • โรคหัวใจล้มเหลว (Heart failure) : ผู้ป่วยโรคหัวใจล้มเหลวสามารถสูญเสียความอยากอาหารได้เช่นกันเนื่องจากเลือดไปเลี้ยงระบบทางเดินอาหารได้น้อยลง ทำให้เกิดปัญหากับการย่อยอาหาร ภาวะดังกล่าวอาจทำให้ผู้ป่วยรู้สึกทรมานและไม่อยากทานอาหารใดๆ
  • การติดเชื้อเอชไอวี / โรคเอดส์ (HIV/AIDS) : ภาวะเบื่ออาหารเป็นหนึ่งในอาการของการติดเชื้อเอชไอวีที่พบได้ทั่วไป รวมถึงในผู้ป่วยโรคเอดส์ระยะสุดท้าย ทั้งสองโรคนี้มักทำให้เกิดแผลเจ็บปวดตามปากและลิ้น ทำให้ผู้ป่วยบางคนไม่อยากทานอาหาร หรือเบื่ออาหารไปเลยโดยสิ้นเชิง
  • โรคอัลไซเมอร์ (Alzheimer’s disease) : ผู้ป่วยหลายคนที่เป็นโรคอัลไซเมอร์มักมีอาการเบื่ออาหาร เนื่องจากบางคนอยู่ในช่วงภาวะซึมเศร้า นอกจากนี้ โรคอัลไซเมอร์ยังทำให้ผู้ป่วยสื่อสารถึงความเจ็บปวดของตนเองได้ลำบาก เป็นผลให้ผู้ป่วยที่มีอาการเจ็บปวดในช่องปากหรือกลืนลำบาก ไม่ได้รับการรักษา และนำมาสู่ภาวะเบื่ออาหารต่อไป

วิธีรับประทานอาหารแบบง่ายๆ ในขณะที่คุณมีภาวะเบื่ออาหาร

ภาวะเบื่ออาหารอาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น การสูญเสียน้ำหนักตัวโดยไม่ได้ตั้งใจ หรือโรคขาดสารอาหาร (Malnutrition) แม้ว่าคุณจะไม่รู้สึกหิวหรือไม่อยากทานอาหารใดๆ แต่ก็ควรพยายามรักษาน้ำหนักตัวที่เหมาะสม และได้รับสารอาหารเพียงพอเข้าสู่ร่างกายของคุณ โดยใช้วิธีต่อไปนี้

  • แบ่งอาหารออกเป็นมื้อเล็กๆ วันละ 5-6 มื้อ แทนการรับประทาน 3 มื้อที่อาจทำให้อิ่มเกินไป เน้นทานให้ครบ 5 หมู่
  • จดจำเวลาคุณรู้สึกหิวมากที่สุดและรับประทานซ้ำในเวลานั้นทุกวัน
  • รับประทานขนมขบเคี้ยวที่มีแคลอรี่และโปรตีนสูงทุกครั้งที่รู้สึกหิว เช่น ผลไม้แห้ง โยเกิร์ต ถั่ว เนยถั่ว เนยแข็ง ไข่ ธัญพืชแบบแท่ง เป็นต้น
  • รับประทานอาหารในสิ่งแวดล้อมที่ผ่อนคลายและสบายใจ
  • รับประทานอาหารอ่อน เช่น มันบดหรือข้าวต้ม ในกรณีที่คุณเบื่ออาหารเนื่องจากเจ็บปวดในปาก
  • ใส่เครื่องเทศหรือซอสเพิ่มขึ้น เพื่อให้น่ารับประทานและเพิ่มพลังงานมากขึ้น
  • ดื่มน้ำหลังรับประทานอาหารเสร็จ เพื่อไม่ให้อิ่มเร็วเกินไป
  • ปรึกษานักโภชนาการเพื่อวางแผนมื้ออาหารที่เหมาะสมให้กับคุณ

เมื่อใดควรเข้าพบแพทย์หากมีอาการเบื่ออาหาร

ไม่ใช่เรื่องผิดปกติหากคุณมีอาการเบื่ออาหารเป็นครั้งคราว แต่ถ้าภาวะเบื่ออาหารทำให้น้ำหนักตัวคุณลดลงไปมาก หรือมีสัญญาณของโรคขาดสารอาหาร เช่น อ่อนแรง ปวดศีรษะ หรือเวียนศีรษะ คุณควรรีบไปพบแพทย์ทันที เพราะการขาดสารอาหารจะทำให้ร่างกายของคุณทำงานได้ไม่ดีเช่นเคย และอาจทำให้สูญเสียมวลกล้ามเนื้อทั่วร่างกาย

เนื่องจากอาการเบื่ออาหาสามารถเกิดได้จากหลายสาเหตุ แพทย์จึงอาจถามคำถามหลายข้อเกี่ยวกับสุขภาพปัจจุบันของคุณ เช่น

  • คุณกำลังรับประทานยาใดอยู่หรือไม่ และรับประทานเพื่อรักษาโรคอะไร
  • น้ำหนักของคุณเมื่อเร็วๆ นี้มีการเปลี่ยนแปลงหรือไม่
  • เคยเกิดอาการเบื่ออาหารมาก่อนหรือเปล่า
  • ก่อนหน้านี้มีเหตุการณ์อะไรบ้างที่ทำให้คุณอารมณ์เสีย

การตรวจเพิ่มเติม เช่น การถ่ายภาพเอกซเรย์ การทำเอ็มอาร์ไอ จะช่วยให้แพทย์วินิจฉัยอาการได้แม่นยำขึ้น เพราะการตรวจดังกล่าวสามารถตรวจสอบบริเวณที่มีการอักเสบ หรือมีเซลล์มะเร็งได้ ในบางครั้งแพทย์อาจเจาะเลือดหรือตรวจปัสสาวะเพื่อตรวจการทำงานของตับและไตเพื่อดูว่ามีความผิดปกติหรือไม่

แนวโน้มของภาวะเบื่ออาหารในอนาคต

การรักษาภาวะเบื่ออาหารที่ดีที่สุด คือ การจัดการสาเหตุของอาการเบื่ออาหาร นอกจากนี้แพทย์อาจแนะนำให้ปรึกษานักโภชนาการ เพื่อขอคำแนะนำเกี่ยวกับการวางแผนอาหารและโภชนาการที่เหมาะสม แต่ถ้าอาการยังไม่ดีขึ้น คุณอาจปรึกษากับแพทย์เพื่อขอยาสเตียรอยด์สำหรับกระตุ้นความอยากอาหารได้

มีคำถามเกี่ยวกับ เบื่ออาหาร? สอบถามฟรีทาง LINE รับคำตอบได้ทันที ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อความสบายใจของคุณ

หากคุณติดตั้ง LINE บนคอมพิวเตอร์ของคุณแล้ว ระบบจะเปิดบัญชีทางการ LINE ของ Jib AI ผู้ช่วยสุขภาพ โดยอัตโนมัติ

หากคุณยังไม่ได้ติดตั้ง LINE บนเดสก์ท็อป โปรดสแกน QR โค้ดด้วย LINE บนโทรศัพท์มือถือของคุณเพื่อเริ่มแชทกับ Jib AI ผู้ช่วยสุขภาพ