โรคซิฟิลิส รู้ทัน ป้องกัน รักษาได้


โรคซิฟิลิส

โรคซิฟิลิสเป็นโรคที่สามารถติดต่อกันได้ทุกเพศทุกวัย และมักจะไม่แสดงอาการอย่างชัดเจนในระยะแรกๆ จึงทำให้ไม่รู้ตัวว่าได้ติดเชื้อมาแล้ว โดยหากปล่อยไว้โดยไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง อาจเกิดอาการที่รุนแรงขึ้นจนทำให้เสียชีวิตได้ แต่อย่างไรก็ตามโรคนี้สามารถรักษาและป้องกันได้ ดังนั้น การมีความรู้ความเข้าใจถึงสาเหตุและอาการของโรคจึงเป็นสิ่งสำคัญ HDmall.co.th ได้รวบรวมข้อควรรู้อย่างละเอียดของโรคซิฟิลิสมาฝากกัน


ที่มาของข้อมูล

ขยาย

ปิด


โรคซิฟิลิสคืออะไร?

ซิฟิลิส (Syphilis) เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรียทรีโพนีมา แพลลิดัม (Treponema Pallidum) ที่กระจายไปตามกระแสเลือด ซึ่งจะทำให้เกิดผื่นหรือแผลตามผิวหนังและเยื่อบุต่างๆ ของร่างกาย หากไม่ได้รับรักษาก็จะทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่มีอาการรุนแรงจนทำให้เสียชีวิตได้

สาเหตุของโรคซิฟิลิส?

สาเหตุของโรคซิฟิลิสเกิดจากการได้สัมผัสกับผู้ที่ติดเชื้อในลักษณะดังต่อไปนี้

  • มีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ได้ป้องกัน ซึ่งเป็นสาเหตุส่วนใหญ่ที่ทำให้เกิดโรคซิฟิลิส
  • การมีเพศสัมพันธ์ทางปาก
  • การจูบ
  • การให้เลือด
  • ติดเชื้อซิฟิลิสผ่านทางบาดแผล
  • ติดเชื้อซิฟิลิสผ่านทางเยื่อบุตา
  • ใช้เข็มฉีดยา เข็มสัก หรือเข็มเจาะตามผิวหนังร่วมกัน
  • ติดเชื้อซิฟิลิสจากแม่สู่ลูก โดยผ่านทางรกและการคลอด
ตรวจซิฟิลิส ราคาประหยัด

โรคซิฟิลิสติดต่ออย่างไร?

โรคซิฟิลิสสามารถติดต่อกันได้ผ่านทางสารคัดหลั่งที่ออกมาจากร่างกายของผู้ที่ติดเชื้อดังต่อไปนี้

  • เลือด
  • น้ำเหลือง
  • น้ำตา
  • น้ำลาย
  • น้ำมูก
  • เสมหะ
  • น้ำอสุจิ
  • ตกขาว
  • น้ำเมือกที่ไหลออกทางทวารหนักพร้อมกับอุจจาระ

อย่างไรก็ตาม เชื้อแบคทีเรียนั้นไม่สามารถมีชีวิตอยู่นอกร่างกายมนุษย์ได้นาน ดังนั้น การทำกิจกรรมร่วมกันที่ไม่ได้สัมผัสเชื้อโดยตรง เช่น การรับประทานอาหารจานเดียวกัน การใช้สระว่ายน้ำ การใช้ห้องน้ำ การใช้สิ่งของร่วมกัน เช่น ใส่เสื่อผ้า ใช้โถสุขภัณฑ์ ใช้อ่างอาบน้ำ ใช้ช้อนส้อมหรือภาชนะ จับลูกบิดประตู หยิบแก้วน้ำ จะไม่สามารถทำให้โรคซิฟิลิสติดต่อกันได้

อาการของโรคซิฟิลิส

อาการของโรคซิฟิลิสจะแตกต่างกันออกไปตามระยะของโรค ซึ่งแบ่งออกเป็น 4 ระยะดังต่อไปนี้

โรคซิฟิลิสระยะที่หนึ่ง (Primary Syphilis)

ระยะฟักตัวกว่าที่เชื้อจะแสดงอาการออกมาประมาณ 2-4 สัปดาห์ หรือในบางกรณีอาจนานถึงประมาณ 3 เดือน ซึ่งระยะแรกจะพบว่าผิวหนังมีแผลขนาดเล็กหรือที่เรียกว่าแผลริมแข็ง (Chancre) 

โดยลักษณะของแผลจะเป็นตุ่มนูนมีขนาดเล็กประมาณ 2-4 มิลลิเมตร อาจจะใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ จนมีขนาดประมาณ 1-2 เซนติเมตร มีขอบแข็ง ตื้น เรียบ มีน้ำเหลือง แต่ไม่มีอาการเจ็บหรือปวดใดๆ โดยจะเกิดแผลริมแข็งเพียงแค่จุดเดียวเท่านั้นตามบริเวณอวัยวะต่างๆ เช่น อวัยวะเพศชาย ริมฝีปาก ลิ้น หัวนม ต่อมน้ำเหลืองบริเวณขาหนีบโต ภายในช่องคลอด หรือทวารหนัก

อาการเหล่านี้จะหายไปเองประมาณ 1-8 สัปดาห์ จึงทำให้ไม่รู้ตัวว่าติดเชื้อ และอาจไม่ได้ไปพบแพทย์ตั้งแต่แรกเพื่อรักษาอาการของโรค ซึ่งในระยะนี้อาจตรวจพบผลเลือดเป็นบวก ซึ่งสามารถติดต่อโรคให้กับบุคคลอื่นได้

โรคซิฟิลิสระยะที่สอง (Secondary Syphilis)

เป็นระยะที่แสดงอาการออกมาหลังจากติดเชื้อและหายจากระยะแรกมาแล้วประมาณ 2-3 สัปดาห์ ในบางกรณีอาจจะหายมาแล้วประมาณ 1-6 เดือน โดยเป็นระยะที่เชื้อซิฟิลิสได้แพร่กระจายเข้าสู่กระแสเลือด จึงส่งผลทำให้เกิดผื่นหรือตุ่มนูนหลายจุดหรือเกิดไปทั่วตามผิวหนังของร่างกาย แต่ไม่มีอาการคัน โดยจะเกิดที่บริเวณภายในช่องปาก คอ ฝ่ามือ ฝ่าเท้า ขาหนีบ ทวารหนัก อวัยวะเพศ อาจจะมีไข้กับปวดตามข้อร่วมด้วย เนื่องจากแผลเกิดอักเสบเป็นหนอง

ในบางกรณีก็จะไม่แสดงอาการใดๆ ออกมาเลย มีเพียงแค่เป็นไข้ เจ็บ คอ อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อหรือกระดูก น้ำหนักลด คลื่นไส้อาเจียน ต่อมน้ำเหลืองโต หรือผมร่วงเป็นหย่อม บางกรณีจะมีขนคิ้วร่วง นอกจากนี้ อาจพบอาการอื่นร่วมด้วย เช่น ม่านตาอักเสบ เยื่อหุ้มสมองอักเสบ เส้นประสาทสมองเสื่อม ตับอักเสบ ม้ามโต เยื่อหุ้มกระดูกอักเสบ กรวยไตอักเสบ เป็นต้น

โดยอาการทั้งหมดที่เกิดขึ้นจะค่อยๆ หายไปเองภายในประมาณ 1-3 เดือน แต่ก็สามารถกลับมาเป็นซ้ำได้อีก ซึ่งระยะนี้จะพบผลเลือดเป็นบวก และสามารถแพร่เชื้อไปยังบุคคลอื่นได้

โรคซิฟิลิสระยะแฝง (Latent Stage)

เป็นระยะที่ไม่แสดงอาการใดๆ ออกมา ซึ่งอาจนานถึงประมาณ 2-30 ปีเลยทีเดียว แต่ยังคงมีเชื้อซิฟิลิสอยู่ในร่างกายและมีผลเลือดเป็นบวก จึงอาจทำให้คิดว่าหายแล้ว จึงไม่ได้พบแพทย์ติดตามอาการอย่างต่อเนื่อง หรือไม่ได้รักษาเลย จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้โรคซิฟิลิสระยะนี้สามารถแพร่เชื้อและติดต่อทางการมีเพศสัมพันธ์กันมากที่สุด หากเป็นสตรีที่กำลังตั้งครรภ์อยู่เกิดติดเชื้อขึ้นมา ก็อาจจะทำให้ทารกในครรภ์ติดเชื้อได้เช่นกัน

โรคซิฟิลิสระยะสาม (Tertiary Syphilis)

เป็นระยะที่การติดเชื้อซิฟิลิสต่อเนื่องมาจากการที่ไม่ได้รับการรักษาโรคอย่างถูกต้อง จะทำให้เชื้อซิฟิลิสเข้าสู่ระยะสุดท้าย โดยเชื้อได้แพร่กระจายไปยังไขสันหลัง ซึ่งจะไปทำลายอวัยวะต่างๆ ภายในร่างกาย ทำให้อวัยวะเกิดความผิดปกติ เช่น หลอดเลือด ระบบประสาท สมอง หัวใจ ตา ตับ หรือกระดูกและข้อต่อ อีกทั้งยังทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนขึ้น และอาจส่งผลทำให้เสียชีวิตได้ นอกจากนี้ หากเป็นสตรีที่กำลังตั้งครรภ์อยู่ อาจทำให้ทารกพิการ หรือเสียชีวิตตั้งแต่ช่วงอยู่ในครรภ์จนถึงช่วงหลังคลอดได้

ตรวจซิฟิลิส ราคาประหยัด

อาการแทรกซ้อนที่อาจเกิดจากโรคซิฟิลิส

อาการที่เกิดจากภาวะแทรกซ้อนของโรคซิฟิลิส มีดังต่อไปนี้

  • หูหนวก
  • ปวดตา ตาแดง ตาสู้แสงไม่ได้ ตาบอด
  • ปวดศีรษะ
  • สมองเสื่อม
  • อารมณ์แปรปรวน
  • ไร้สมรรถภาพทางเพศ
  • กระดูกเสื่อม แตกหักได้ง่าย
  • กระดูกอักเสบ
  • มีผิวหนังเป็นก้อนนูนแตกเป็นแผล
  • ใบหน้าผิดรูป
  • อัมพฤกษ์ อัมพาต
  • หลอดเลือดหัวใจอักเสบ
  • หลอดเลือดใหญ่โป่งพอง
  • ลิ้นหัวใจรั่ว
  • หัวใจล้มเหลว

การตรวจโรคซิฟิลิส

ในการตรวจโรคซิฟิลิสนั้นมีหลายวิธี และต้องเข้ารับการตรวจโดยแพทย์ผู้ชำนาญการเท่านั้น เพื่อที่จะได้ผลตรวจที่ถูกต้องแม่นยำ โดยมีการตรวจที่มักจะใช้กัน 3 วิธีดังต่อไปนี้

  1. การตรวจด้วยกล้องจุลทรรศน์ (Dark Field Examination) เป็นการนำน้ำเหลืองจากแผลหรือผื่นที่สงสัยไปตรวจส่องกล้องเพื่อหาตัวเชื้อ
  2. การตรวจเลือดแบบรู้ผลเร็ว (Immunochromatography Test) เป็นการตรวจเลือดเพื่อคัดกรองหาค่าภูมิคุ้มกันต่อเชื้อซิฟิลิส ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 วิธีคือ การตรวจเลือดเพื่อหาภูมิคุ้มกันแบบไม่เฉพาะเจาะจงต่อเชื้อซิฟิลิส เป็นชุดตรวจสำเร็จจำพวก Rapid Test เช่น การตรวจ VDRL (Venereal Disease Research Laboratory Test) หรือ RPR (Rapid Plasma Reagin) กับการตรวจเลือดเพื่อหาภูมิคุ้มกันแบบเฉพาะเจาะจงต่อเชื้อซิฟิลิส เป็นการตรวจเพื่อยืนยันผลตรวจ เช่น การตรวจ FTA-ABS (FluorescentTreponemal Antibody Absorption Test) หรือ การตรวจ MHA-TP (MicrohemagglutinationTreponema Pallidum) ซึ่งการตรวจทั้ง 2 วิธีนี้ผู้ที่เคยติดเชื้อซิฟิลิสมาก่อนถึงจะรักษาหายแล้ว ก็อาจจะพบผลเลือดเป็นบวกได้ แม้ไม่เป็นโรคซิฟิลิสในขณะนั้นก็ตาม
  3. การตรวจน้ำไขสันหลัง (Cerebrospinal Fluid Test ) เป็นการตรวจในกรณีที่สงสัยว่ามีการติดเชื้อในระบบประสาท

โรคซิฟิลิสรักษาอย่างไร?

โรคซิฟิลิสสามารถรักษาให้หายขาดได้ หากรักษาตั้งแต่แรก ถ้าปล่อยไว้การรักษาจะยากขึ้นตามระยะของโรคจนอาจถึงขั้นรักษาไม่ได้ ซึ่งแพทย์จะวินิจฉัยโรคและทำการรักษาด้วยวิธีดังต่อไปนี้

  • ฉีดยาปฏิชีวนะในกลุ่มเพนิซิลลิน (Penicillin) เข้ากล้ามเนื้อ เช่น ยาเพนิซิลลิน จี (Penicillin G) ยาเบนซาธีน เพนิซิลลิน จี (Benzathine Penicillin G) ยาเอเควียส เพนิซิลลิน จี (Aqueous Penicillin G) หรือฉีดโปรเคน เพนิซิลลิน (Procaine Penicillin) ร่วมกับรับประทานยาโพรเบเนซิด (Probenecid) ทั้งนี้ จะขึ้นอยู่กับระยะของโรค
  • ฉีดยาเซฟไตรอะโซน (Ceftriaxone) ในกรณีที่แพ้ยาเพนิซิลลินและยังไม่มีตัวยาชนิดที่ใช้ทดแทนกันได้ ก็จะใช้การฉีดยาเซฟไตรอะโซน (Ceftriaxone) แทน หรือจะให้ยาชนิดอื่นรับประทาน เช่น ยาอีริโทรมัยซิน (Erythromycin) ยาด็อกซีไซคลิน (Doxycycline) ร่วมกับยาเตตราไซคลีน (Tetracycline)
  • ตรวจเลือด หลังจากรักษาแล้ว 6 เดือน และต้องตรวจเลือดซ้ำเป็นประจำทุกปี เพื่อติดตามการรักษา
ตรวจซิฟิลิส ราคาประหยัด

โรคซิฟิลิสป้องกันได้ไหม?

โรคซิฟิลิสสามารถป้องกันได้ โดยการปฏิบัติและดูแลตัวเองดังต่อไปนี้

  • หลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์ที่เสี่ยงต่อติดเชื้อซิฟิลิส
  • หลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์กับผู้ที่เป็นโรคซิฟิลิส
  • หลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์ทางปาก
  • หลีกเลี่ยงการดื่มสุราและยาเสพติด เพราะจะทำให้ขาดสติและทำให้มีเพศสัมพันธ์แบบเสี่ยงได้
  • ใช้ถุงยางอนามัยแบบเรียบก่อนมีเพศสัมพันธ์ทุกครั้ง
  • รักษาความสะอาดบริเวณอวัยวะเพศและร่างกายอยู่เสมอ
  • หลีกเลี่ยงการใช้อุปกรณ์ที่เสี่ยงติดเชื้อร่วมกัน เช่น การใช้เข็มฉีดยา เข็มที่ใช้สัก เข็มเจาะหู
  • ควรพบแพทย์ทุกครั้ง เมื่อเกิดแผลบริเวณอวัยวะเพศ โดยเฉพาะหลังมีเพศสัมพันธ์ หรือเมื่อสงสัยว่ามีความเสี่ยงจากการมีเพศสัมพันธ์ เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยหาสาเหตุได้อย่างถูกต้อง
  • สตรีที่ตั้งครรภ์ในช่วงระหว่างสัปดาห์ที่ 8-12 ต้องตรวจเลือดคัดกรองโรคซิฟิลิส เพื่อป้องกันการติดเชื้อของทารกในครรภ์

การหมั่นดูแลและคอยใส่ใจสุขอนามัย รวมถึงสุขภาพร่างกายอยู่เสมอเป็นสิ่งสำคัญ ควรตรวจสุขภาพอย่างน้อยปีละครั้ง และหลีกเลี่ยงความเสี่ยงใดๆ ที่จะก่อให้เกิดการติดเชื้อได้ โดยเฉพาะการมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ได้ป้องกันด้วยการใช้ถุงยางอนามัย เพียงเท่านี้ก็สามารถป้องกันและห่างไกลจากโรคซิฟิลิสได้แล้ว

เช็กราคาตรวจโรคซิฟิลิส จากคลินิกและโรงพยาบาลต่างๆ พร้อมบริการเช็กคิวทำนัดให้ฟรี โดยแอดมินของ HDmall.co.th


บทความที่เกี่ยวข้อง


ที่มาของข้อมูล

ขยาย

ปิด

  • Syphilis – CDC Basic Fact Sheet, (https://www.cdc.gov/std/syphilis/stdfact-syphilis.htm), February 10, 2022.
  • Syphilis, (https://www.nhs.uk/conditions/syphilis/), May 25, 2022.
  • Syphilis, (https://www.webmd.com/sexual-conditions/syphilis#1).
  • Syphilis: Symptoms, Diagnosis, Treatment, and Prevention, (https://www.healthline.com/health/std/syphilis), April 28, 2022.
  • Suzanne Falck, M.D., FACP, Secondary Syphilis, (https://www.healthline.com/health/syphilis-secondary#symptoms), January 23, 2023.
  • Syphilis, (https://www.ncbi.nlm.nih.gov/books/NBK534780/), November 28, 2022.
@‌hdcoth line chat