
สรุปการรีวิว
ปิด
ปิด
- ผมต้องการทำเลสิกครับ เพราะมีค่าสายตาสั้นทั้ง 2 ข้างถึง 500 เลย ต้องใส่แว่นสายตาตลอดเวลา ซึ่งก่อนที่จะทำเลสิกต้องมีการตรวจสุขภาพตาโดยละเอียดก่อน
- คุณหมอแจ้งว่า ผมมีผิวตาแห้ง ต้อลมอักเสบ ขั้วประสาทตากว้าง ตาข้างขวามีรอยแห้งกับรอยถลอกที่ขอบกระจกตาเล็กน้อย และมีเม็ดไขมันอุดตันที่ขอบเปลือกตา (Meibomian Gland Dysfunction) ลักษณะจะเป็นจุดขาวเหลืองเล็กๆ ซึ่งอาจกระทบกับการทำเลสิกเล็กน้อย
- แต่เนื่องจากผมอยากทำเลสิกในวันนี้เลย คุณหมอจึงให้ตรวจขั้วประสาทตาเพิ่ม และเพื่อให้แน่ใจว่า ไม่ได้เสี่ยงเป็นโรคต้อหินก่อนทำเลสิก
- ผลตรวจสรุปว่าผมเริ่มมีภาวะสายตายาวตามอายุด้วย ซึ่งการทำเลสิกจะช่วยให้มองระยะไกล หรือภาวะสายตาสั้นให้หายได้ แต่ไม่ได้ครอบคลุมถึงภาวะสายตายาวที่เปลี่ยนแปลงตามอายุ ในอีกประมาณ 5 ปีผมอาจต้องใช้แว่นอ่านหนังสือ ซึ่งเป็นแว่นสำเร็จรูปสำหรับการเพ่งมองระยะใกล้ ซื้อได้ตามร้านหนังสือหรือร้ายขายแว่นทั่วไป
- รีวิวนี้เป็นการชำระค่าบริการเอง
- ดูรายละเอียด ทำเลสิกไร้ใบมีด (FEMTO LASIK) ที่ รพ. พญาไท 3
- ดูรายละเอียด โปรแกรมทั้งหมดจาก รพ. พญาไท 3 บน HDmall.co.th
- สอบถามแอดมินเพิ่มเติมเกี่ยวกับแพ็กเกจได้ที่ไลน์ @HDcoth
สารบัญ
- ขั้นตอนการตรวจสุขภาพตาก่อนทำเลสิก
- ผลตรวจค่าสายตาและสุขภาพตา ที่ รพ. พญาไท 3
- บทความที่ HDmall.co.th แนะนำ
การตรวจสุขภาพตาก่อนทำเลสิก (LASIK) เป็นกระบวนการที่สำคัญมากๆ ถึงแม้การทำเลสิกในปัจจุบันจะใช้เวลาไม่นาน มีเครื่องมือที่ทันสมัย แต่ถ้าเราไม่ตรวจคัดกรองความผิดปกติของสุขภาพตาอย่างละเอียดเสียก่อน ก็อาจจะส่งผลกระทบกับดวงตาหลังทำเลสิกได้
ผมเองก็เป็นหนึ่งในผู้ที่ต้องการทำเลสิกครับ เพราะมีค่าสายตาสั้นทั้ง 2 ข้างถึง 500 เลย ต้องใส่แว่นสายตาตลอดเวลา
เมื่อเร็วๆ นี้ผมได้ซื้อแพ็กเกจทำเลสิกด้วยเทคนิค Femto Lasik ที่โรงพยาบาลพญาไท 3 ผ่านทาง HDmall.co.th ใครที่อยากรู้รายละเอียดการรีวิวทำเลสิก FEMTO LASIK ก็คลิกไปอ่านที่นี่ได้เลย
ส่วนในรีวิวนี้ จะมาอธิบายขั้นตอนการตรวจสุขภาพตากันอย่างละเอียดเลยครับ
ขั้นตอนการตรวจสุขภาพตาก่อนทำเลสิก
เนื่องจากผมต้องการตรวจสุขภาพตาและทำเลสิกภายในวันเดียวกันเลย ผมเลยต้องเดินทางมาที่โรงพยาบาลแต่เช้าเพื่อตรวจสุขภาพตาโดยละเอียดด
เมื่อมาถึงโรงพยาบาล ข้อมูลในคูปองจาก HDmall.co.th ก็ระบุให้ผมไปติดต่อที่ศูนย์เลสิก ชั้น 14 จากนั้นก็ทำประวัติผู้ป่วยกับเคาน์เตอร์ด้านหน้าสักครู่ครับ
พอเข้ามาที่ศูนย์เลสิก ก็แจ้งชื่อนามสกุลกับเจ้าหน้าที่ก่อนแล้วนั่งรอที่โซฟาที่ถูกจัดเตรียมเอาไว้ตามจุดต่างๆ บรรยากาศของที่นี่ค่อนข้างส่วนตัวครับ มีการเว้นระยะห่างกันอย่างชัดเจน และตกแต่งโทนสบายตา

รอไม่เกิน 5 นาที เจ้าหน้าที่พยาบาลก็เดินเข้ามาขอสอบถามประวัติสุขภาพคร่าวๆ กับผมก่อนครับ โดยเบื้องต้นจะสอบถามเกี่ยวกับโรคภูมิแพ้ต่างๆ ไม่ว่าจะแพ้ยาหรือแพ้อาหาร ซึ่งโดยส่วนตัวผมมีปัญหาแพ้กุ้งครับ และถามประวัติการเป็นแผลเป็นคีย์ลอยด์ด้วย ซึ่งผมก็ไม่เคยเป็นคีลอยด์เลยครับ
หลังจากสอบถามประวัติสุขภาพคร่าวๆ แล้ว พยาบาลก็จะนำเอกสารรับทราบเกี่ยวกับการทำเลสิกมาให้ผมเซ็น รวมถึงให้ผมกรอกประวัติส่วนตัวเล็กน้อยพร้อมเซ็นชื่อกำกับ
ในระหว่างนั้นทางพยาบาลก็จะสอบถามอีกครั้งว่า ผมต้องการทำเลสิกไปพร้อมกันในวันนี้เลยมั้ย ซึ่งผมก็ยืนยันตามนั้นครับ แต่พยาบาลก็แจ้งก่อนว่า คุณหมอจะเป็นคนพิจารณาอีกครั้งว่าสามารถทำเลสิกได้ในวันนี้หรือไม่ หากสุขภาพตาของผมไม่มีอะไรผิดปกติ ก็สามารถทำเลสิกได้ภายในวันนี้เลย
เมื่อได้ข้อสรุปคร่าวๆ ในกระบวนการวันนี้ พยาบาลก็อธิบายเกี่ยวกับขั้นตอนการตรวจสุขภาพตาและพาไปตรวจตามลำดับครับ
1. ชั่งน้ำหนัก วัดส่วนสูง วัดความดันโลหิต
ขั้นตอนแรกเหมือนกับการตรวจสุขภาพทั่วไปครับ ขึ้นไปยืนบนแท่นชั่งน้ำหนักในพยาบาลกรอกน้ำหนักตามจริงของเรา แล้วจะสอบถามเรื่องส่วนสูงอีกครั้ง ซึ่งผมสูง 180 เซนติเมตร จากนั้นก็นั่งเก้าอี้แล้วเริ่มวัดความดันโลหิตกับวัดไข้ครับ

ตอนวัดความดันโลหิต เครื่องวัดก็แสดงออกมาว่า ผมความดันค่อนข้างสูง น่าจะเพราะผมตื่นเช้ามากๆ เพราะกลัวมาโรงพยาบาลไม่ทันด้วยครับ
2. เช็กค่าแว่นสายตาที่ใส่ พร้อมกับตรวจระดับการมองเห็น
ตรงเก้าอี้ที่นั่งวัดความดัน ก็จะมีกล่องไฟขนาดกลางแปะอยู่บนผนังอีกฟาก ซึ่งบนกล่องนั้นจะมีตัวเลขตั้งแต่ขนาดใหญ่ไปจนถึงเล็กเรียงลงไปให้ผมได้ลองอ่านครับ

พยาบาลจะให้ผมอ่านตัวเลขที่อยู่บนกล่องไฟตรงหน้า ซึ่งห่างออกไปประมาณ 2 เมตรกว่าๆ โดยให้เริ่มต้นอ่านแบบใส่แว่นสายตาก่อน จากนั้นค่อยลองถอดแว่นแล้วอ่านด้วยตาทั้ง 2 ข้าง จากนั้นพยาบาลก็จะให้ผมใช้ไม้ปิดตามาปิดตาทีละข้างแล้วลองอ่านตัวเลขอีกครั้ง

ซึ่งก็อย่างที่แจ้งไปว่า สายตาผมสั้นถึง 500 เลย จึงอ่านตัวเลขได้ไม่ถูกครบหมดทุกบรรทัดครับ และระหว่างนั้นพยาบาลก็จะเอาแว่นสายตาผมไปใส่ไว้กับเครื่องตรวจค่าเลนส์ที่แว่นตาของผมด้วย

3. ตรวจวัดค่าสายตาด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์และตรวจความดันลูกตา
ขั้นตอนการตรวจวัดค่าสายตาด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์และตรวจความดันลูกตา พยาบาลจะพาเราย้ายไปในอีกห้องนึงครับ ในห้องนี้มีเครื่องตรวจตาอยู่ 2 เครื่อง
เครื่องแรกจะเป็นเครื่องตรวจวัดค่าสายตา พยาบาลแจ้งว่า เป็นการตรวจค่าสายตาคร่าวๆ ก่อน ผลจากเครื่องนี้อาจยังไม่ถูกต้องตามค่าสายตาจริงของผม เพราะก่อนหน้านี้ได้ใช้สายตาเพ่ง มอง หรือจ้องสิ่งรอบตัวมาก่อน พฤติกรรมเหล่านี้ทำให้ค่าสายตาออกมาไม่ตรงตามความจริงซึ่งเป็นเรื่องปกติครับ

ผมจึงสอบถามเพิ่มว่า แล้วเราจะรู้ค่าสายตาจริงๆ ได้ตอนไหนกันล่ะ? พยาบาลก็เลยอธิบายว่า หลังจากหยอดยาขยายม่านตาจะมีการวัดค่าสายตาอีกครั้ง ซึ่งผลค่าสายตาตอนนั้นจะมีความแม่นยำกว่าในครั้งนี้ครับ

วิธีตรวจก็เหมือนกับการตรวจตาด้วยเครื่องมือทั่วไปๆ เลย เอาคางไปวางบนแท่นเล็กๆ แล้วจ้องเข้าไปในเครื่อง จากนั้นเครื่องจะปรินท์เป็นแผ่นกระดาษเล็กๆ ระบุค่าสายตาของผมออกมาให้พยาบาลเก็บไว้ครับ

ต่อไปก็เป็นการตรวจความดันลูกตา ซึ่งลักษณะเครื่องก็คล้ายๆ กับเครื่องแรก แต่ในเครื่องนี้พยาบาลแจ้งว่า จะมีแรงดันลมเบาๆ ปล่อยมาที่ลูกตาของผมทั้ง 2 ข้าง อาจทำให้ตกใจได้แต่ให้นั่งนิ่งๆ ไว้เหมือนเดิม
จากนั้นพอพยาบาลให้สัญญาณว่าตรวจเสร็จแล้ว ก็เอาศีรษะออกได้เลย ใช้เวลาอยู่ในห้องนี้ประมาณไม่เกิน 10 นาทีก็เสร็จเรียบร้อย
4. ถ่ายภาพวิเคราะห์พื้นผิวกระจกตา ตรวจความโค้งและความหนาของกระจกตา ตรวจชั้นน้ำตา
ต่อด้วยการตรวจความโค้ง ความหนาของกระจกตาและชั้นน้ำตากันครับ ลักษณะเครื่องจะดูแปลกใหม่สักหน่อย เครื่องที่ใช้ตรวจมีชื่อว่า “เครื่อง Schwind Sirius” เป็นเครื่องหัวกลมๆ ลายขาวดำที่มีจุดอยู่ตรงกลาง

สิ่งผมต้องทำก็คือ เอาคางไปวางบนแท่นหน้าเครื่องนี้ เพื่อให้เจ้าหน้าที่สแกนตรวจโครงสร้างกระจกตาของผมทั้งหมด ซึ่งจะมีการคุมเครื่องด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์ด้านหลังอีกที

ในระหว่างการตรวจจะต้องปิดไฟห้องทั้งหมดด้วยนะครับ แล้วตรงหัวกลมๆ ของเครื่องก็จะฉายแสงสีแดงขึ้นมาเพื่อตรวจดูกระจกตา โดยผมจะยังไม่ทราบผลการตรวจจากเครื่องนี้ในทันที แต่เจ้าหน้าที่จะส่งข้อมูลจากเครื่องไปให้จักษุแพทย์เป็นผู้อ่านค่าและอธิบายผลตรวจให้ผมฟังครับ
การตรวจความโค้งและความหนาของกระจกตาผมต้องนั่งเพ่งมองเครื่องนี้อยู่ระยะหนึ่งประมาณ 10 นาที ระหว่างตรวจเลยรู้สึกแสบตาและมีน้ำตาไหลนิดหน่อยครับ แต่ก็อยู่ในระดับทนได้ และเจ้าหน้าที่ก็จะมีช่วงพักเบรกให้ผมได้กระพริบตาครู่หนึ่งก่อนจะตรวจต่อ

หลังจากตรวจไปได้สักพัก เจ้าหน้าที่ผู้คุมเครื่องก็แจ้งว่า ตรงดวงตาของผมมีหนังตาด้านบนเลื่อนลงมาบังขอบตาดำครับ เครื่องจึงไม่สามารถถ่ายและอ่านค่ากระจกตาของผมได้ทั้งหมดพยาบาลอีกคนเลยเอาก้านสำลีมาเปิดเปลือกตาผมให้กว้างขึ้นอีก เพื่อให้เครื่องได้ตรวจกระจกตาผมใหม่ ผ่านไป 15 นาที ก็ตรวจเสร็จครับ

การตรวจความโค้งและความหนาของกระจกตา ทำให้ผมได้ข้อมูลใหม่ๆ ว่า เครื่องนี้มันต้องใช้เวลาอยู่พอสมควรทุกคนเลย ไม่ใช่แค่ผมคนเดียว หากผู้ที่เข้าตรวจมีปัญหาโครงสร้างดวงตาต่างๆ ที่ทำให้การอ่านค่าของเครื่องมีปัญหา เจ้าหน้าที่จะต้องตรวจสแกนใหม่อีกครั้ง
เจ้าหน้าที่เล่าให้ผมฟังว่า บางคนถึงกับต้องถ่ายถึง 20-30 ครั้งจนท้อและต้องขอพักเบรกก่อนก็มีครับ แต่ทั้งนี้เพื่อความแม่นยำของการตรวจสุขภาพตา จึงต้องให้ผู้เข้ารับบริการทุกคนตรวจผ่านเครื่อง Schwind Sirius กันหมดไม่มีข้อยกเว้นครับ
นอกจากจะช่วยตรวจเรื่องความโค้งและความหนาของกระจกตาได้แล้ว เครื่อง Schwind Sirius ตัวนี้คำนวณภาพที่ถ่ายและแปลผลด้วยโปรแกรมคอมพิวเตอร์ จะช่วยคุณหมอคัดกรองโรคและความผิดปกติต่างๆ ของดวงตาได้อีก และการอ่านค่าของเครื่องนี้มันก็ยังมีผลไปถึงการตั้งค่าเลเซอร์เมื่อถึงเวลาทำเลสิกด้วยนะครับ
5. พบจักษุแพทย์เพื่อตรวจวัดค่าสายตา และตรวจสุขภาพตา
ลำดับต่อไปก็ได้พบคุณหมอละครับ โดยคุณหมอจะทำการตรวจวัดค่าสายตาให้ก่อนอีกครั้ง วิธีการตรวจก็คล้ายเวลาที่เราไปตรวจเพื่อทำแว่นสายตาครับ คือจะเป็นการนั่งอ่านค่าตัวเลขและตัวอักษรต่างๆ บนเก้าอี้
การอ่านค่าครั้งนี้จะไม่ใช่แค่การอ่านด้วยตาเปล่าแล้วนะครับ แต่คุณหมอจะมีเครื่องวัดกำลังสายตา (Digital Phoropter)ช่วยอ่านมาทาบอยู่หน้าดวงตาเราทั้ง 2 ข้างในระหว่างอ่านค่าตัวเลขไปด้วย

การอ่านค่าในบรรทัดแรกหรือเวลาที่ขนาดตัวเลขยังขนาดใหญ่จนถึงปานกลางก็ยังง่ายอยู่บ้างครับ แต่เมื่อถึงตัวที่ขนาดเล็กมากๆ หรือตรงบรรทัดล่างๆ ผมก็เริ่มจะอ่านลำบากแล้ว แต่คุณหมอก็บอกว่า ไม่เป็นไร ขอแค่ให้ผมลองอ่านจนจบหมดก็พอ หรือถ้าไม่เห็นและอ่านไม่ออกจริงๆ ก็แจ้งได้เลย

หลังจากอ่านค่าเสร็จ คุณหมอก็แจ้งว่า ผมน่าจะมีปัญหาสายตายาวตามอายุแล้วล่ะ เพราะด้วยอายุ 40 ปี ถือว่ามีโอกาสจะเกิดปัญหานี้ตามเกณฑ์อายุที่มากขึ้น
คุณหมอก็ถามว่าผมเคยเพ่งมองภาพแล้วมองเห็นไม่ชัดเวลาที่เหนื่อยหรือตาล้าบ้างมั้ย ซึ่งเวลาที่ใช้ตามาเยอะมากๆ ผมจะเริ่มมองทุกอย่างเป็นภาพซ้อนกัน
หลายครั้งที่ใช้ตามาเยอะๆ ผมจะเพ่งมองระยะใกล้ได้ไม่ชัด การตรวจครั้งนี้จึงเป็นการยืนยันชัดแล้วล่ะครับว่า ผมมีทั้งภาวะสายตาสั้นและสายตายาวตามวัยคู่กัน
ลำดับต่อมาจะเป็นการตรวจตาเด่นตาด้อยครับ คุณหมอจะให้ผมลองเอามือสองข้างมาทาบทับกันให้เกิดเป็นช่องเล็กๆ แล้วเปิดรูปดอกไม้สีขาวดำตรงจอด้านหน้าให้ผมลองเพ่งมองดู
จากนั้นจะสอบถามว่า ผมเห็นภาพดอกไม้ตรงหน้ามั้ย โดยหลังจากลองเพ่งมองแล้วตอบคำถามคุณหมอ คุณหมอจึงแจ้งว่าตาข้างซ้ายผมเป็นข้างที่ถนัด ซึ่งนั่นหมายถึงตาซ้ายของผมเป็นตาเด่น (Dominant Eye) เพราะจะมีการมองเห็นภาพระยะไกลได้คมชัดกว่าครับ

ตอนแรกผมงงกับการตรวจนี้นิดหน่อย เพราะไม่เคยได้ยินเรื่องตาเด่นตาด้อยมาก่อนเลย แต่ที่จริงแล้วมันเป็นเรื่องที่พบได้ปกติในดวงตาของมนุษย์ทั่วไปครับ แค่ไม่ค่อยมีใครตรวจกันเท่านั้นเอง
ลำดับต่อมาเราก็เริ่มตรวจสุขภาพตากันครับ ขั้นตอนนี้ผมไม่ต้องอ่านค่าบนจออะไรแล้ว แค่เอาคางไปวางบนเครื่องตรงหน้าเหมือนเดิม แล้วกลอกตาตามที่คุณหมอบอกเฉยๆ ใช้เวลาตรวจส่วนนี้อยู่ 10 นาทีก็เสร็จ

ผลตรวจค่าสายตาและสุขภาพตา ที่ รพ. พญาไท 3
หลังจากตรวจค่าสายตาและตรวจสุขภาพตากันเสร็จเรียบร้อย คุณหมอจะเริ่มอธิบายผลการตรวจที่ผ่านมาให้ฟังครับ โดยคุณหมอจะเปิดรูปภาพดวงตาของผมให้เห็นจากทีวีขนาดใหญ่ภายในห้องประกอบการอธิบายด้วย
อย่างแรกคุณหมอสอบถามก่อนว่า มีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคต้อหินมั้ย ผมจึงแจ้งว่า ไม่มี แต่มีคนในครอบครัวเป็นโรคต้อกระจกซึ่งพบได้ในผู้สูงอายุ หลังจากนั้นก็เริ่มเข้าสู่ประเด็นเกี่ยวกับปัญหาสุขภาพตาของผมกันแล้ว

ปัญหาเกี่ยวกับดวงตาของผม คุณหมอแจ้งว่า อย่างแรกคือ ผิวดวงตาแห้ง มีอาการต้อลมอักเสบ มีอาการขั้วประสาทตากว้าง ตาข้างขวามีรอยแห้งกับรอยถลอกที่ขอบกระจกตาเล็กน้อย และมีเม็ดไขมันอุดตันที่ขอบเปลือกตา (Meibomian Gland Dysfunction) ลักษณะจะเป็นจุดขาวเหลืองเล็กๆ

จริงๆ ผมมีไฝที่ลูกตาด้วยนะครับ แต่ในส่วนนี้ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อการทำเลสิก เพราะไม่ได้อยู่ในพื้นที่กระจกตา แต่คุณหมอก็ขอให้ผมคอยสังเกตขนาดของมันเอาไว้ หากขนาดไฝไม่ได้โตขึ้น ก็ไม่ต้องไปเอาออกครับ
ส่วนสาเหตุของอาการต้อลมอักเสบ คุณหมอเสริมว่า การนอนพักผ่อนน้อยก็มีส่วนทำให้เกิดได้เหมือนกัน แต่มักเกิดจากสิ่งแวดล้อมมากกว่า โดยเฉพาะแสงแดด ลม ฝุ่น และหากผมมีภาวะตาแห้ง ไม่เคยหยอดน้ำตาเทียมมาก่อน มันก็ยิ่งเพิ่มความเสี่ยงมากขึ้นไปอีก
ส่วนความหนาของกระจกตาอยู่ในระดับที่หนาเพียงพอ แต่กระจกตาแบนเล็กน้อย ซึ่งก็ไม่ได้เป็นปัญหาอะไร และสามารถทำเลสิกได้

หลังจากแจ้งปัญหาด้านสุขภาพตาของผมจนหมดแล้ว คุณหมอแนะนำว่า หากผมไม่ได้รีบ ก็อยากให้ผมรับยาหยอดตาไปหยอดเตรียมผิวตาใหม่ที่บ้านประมาณ 1 สัปดาห์ก่อน จากนั้นค่อยกลับมาทำเลสิกใหม่ครับ เพราะจะทำให้แผลที่กระจกตาของผมเรียบร้อยมากกว่า
แต่เนื่องจากผมอยากทำเลสิกในวันนี้เลย คุณหมอจึงขอให้ตรวจขั้วประสาทตาเพิ่มสักหน่อย เพราะตาของผมมีปัญหาขั้วประสาทตากว้างและยังมีแกนประสาทตาลึก ซึ่งพบได้ปกติในคนสายตาสั้นนั่นแหละครับ แต่ลักษณะอาจเหมือนโรคต้อหิน คุณหมอจึงอยากตรวจให้แน่ใจว่า ผมไม่ได้เสี่ยงเป็นโรคต้อหินจริงๆ ก่อนทำเลสิก
การตรวจในส่วนนี้จะมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นมาจากในแพ็กเกจของทาง HDmall.co.th นะครับ โดยอยู่ที่ประมาณ 1,200 บาทครับ
6. หยอดยาขยายม่านตา ตรวจความเสี่ยงโรคต้อหิน โรคเกี่ยวกับจอประสาทตา
พูดคุยกับคุณหมอเสร็จเรียบร้อย ผมก็กลับเข้ามาที่ห้องโถงรับรองของศูนย์เลสิกอีกครั้ง เพื่อให้พยาบาลหยอดยาขยายม่านตาให้ผมครับ

หลังจากหยอดยาแล้วผมต้องนั่งหลับตาและไม่ใช้สายตาใดๆ เลย โดยในศูนย์เลสิกจะมีโซฟารับรองให้ผมได้เอนตัวหลับตาได้สบายๆ และระหว่างนั้นพยาบาลก็จะนำผ้าห่มมาห่มให้ผมด้วยครับ

นอนหลับตาได้ประมาณ 10 นาที พยาบาลก็พาผมไปเข้าเครื่องสแกนขั้วประสาทตาที่ชั้น 4 ตัวเครื่องจะคล้ายๆ กับเครื่องตรวจสายตาที่ชั้น 14 แต่จะมีสายไฟ 3 สายที่บิดงอได้อยู่บนกรอบเครื่องด้วย
วิธีตรวจคือ ผมต้องเอาคางไปวางบนแท่นแล้วกระพริบตา จ้องนิ่ง หลับตา ทำแบบนี้วนไปเรื่อยๆ ระหว่างนั้นพยาบาลจะเอาสายไฟที่ตรงส่วนปลายจะมีไฟสีแดงมาส่องที่ตาผม

ข้อดีของสายไฟนี้ก็คือ จะช่วยให้ภาพดวงตาของผมที่เครื่องถ่ายออกมาคมชัดมากขึ้นครับ เพราะระหว่างตรวจด้วยเครื่องนี้ ทางพยาบาลต้องปิดไฟในห้องทั้งหมด

ใช้เวลาอยู่ในห้องตรวจนี้ 10 นาที เราก็กลับขึ้นไปชั้น 14 อีกครั้งครับ เพราะผลตรวจจากเครื่องนี้จะอ่านโดยคุณหมอท่านเดิม ซึ่งผมจะได้รับผลตรวจกลับไปเก็บไว้ที่บ้านอีกฉบับด้วยนะครับ สำหรับใช้ในการตรวจสุขภาพตาในอนาคตอีกครั้ง ถือเป็นโบนัสที่ได้จากการทำเลสิกที่คุ้มค่าดีเหมือนกันครับ
7. ตรวจวัดค่าสายตากับจักษุแพทย์อีกครั้ง เพื่อยืนยันการทำเลสิก
เมื่อกลับขึ้นมาด้านบน ผมก็ได้วัดสายตาด้วยเครื่องตรวจวัดสายตาตัวแรกอีกครั้ง เพราะจนถึงตอนนี้ยาขยายม่านตาที่หยอดไปก่อนหน้านี้ได้ออกฤทธิ์เต็มที่แล้ว
เจ้าหน้าที่จะปิดไฟในห้องเพื่อถ่ายภาพจอประสาทตา โดยลักษณะอุปกรณ์คล้ายกับปืนสีขาวๆ โดยตรงปลายจะเป็นจอภาพเล็กๆ ซึ่งจะแสดงภาพประสาทตาของเราขึ้นมาหลังจากถ่ายเสร็จแล้ว

แล้วผมก็เข้าไปพบกับคุณหมออีกครั้ง เพื่อทำการวัดค่าสายตาผมอีกเป็นครั้งสุดท้ายครับ ซึ่งในครั้งนี้คุณหมอจะได้ค่าสายตาที่แม่นยำที่สุด เพื่อนำไปวางแผนการตั้งค่าเลเซอร์เข้าโปรแกรมการแก้ไขสายตาเฉพาะบุคคล และส่งข้อมูลไปยังเครื่องเลเซอร์ในห้องผ่าตัดครับ

หลังจากตรวจวัดค่าสายตาเสร็จหมดแล้ว คุณหมอก็แจ้งผลการตรวจขั้วประสาทตาและจอประสาทตาของผมว่า อยู่ในเกณฑ์ปกติครับ ไม่เสี่ยงเป็นโรคต้อหิน แต่ควรกลับไปตรวจเช็กกับจักษุแพทย์ปีละ 1 ครั้งด้วย เพื่อดูความเสี่ยงเพิ่มเติมอีกครั้งในอนาคต

โดยสรุปก็คือ ผมสามารถทำเลสิกได้ครับ! แต่…มันยังไม่จบเท่านั้นครับทุกคน เพราะจากผลตรวจ ผมมีภาวะสายตายาวแล้ว คุณหมอจึงจำเป็นต้องแจ้งให้ผมเข้าใจก่อนว่า การทำเลสิกจะช่วยในส่วนของการมองระยะไกลให้ชัดขึ้น หรือภาวะสายตาสั้นให้หาย แต่ไม่ได้ครอบคลุมถึงภาวะสายตายาวตามอายุ ที่จะเปลี่ยนแปลงมากขึ้นตามอายุเป็นธรรมชาติของผู้ที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป
ดังนั้นในอีกประมาณ 5 ปีข้างหน้า ผมมีโอกาสที่จะต้องซื้อแว่นอ่านหนังสือมาใส่อยู่ดี แต่ผมไม่เข้าใจว่า “แว่นอ่านหนังสือ” หมายถึงอะไร
คุณหมอจึงอธิบายว่า แว่นอ่านหนังสือเป็นแว่นสำหรับการช่วยมองระยะใกล้ สำหรับผู้ที่อายุ 40 ปีขึ้นไป ความสามารถของกล้ามเนื้อตาจะทำงานลดลง สามารถซื้อได้ตามร้านหนังสือหรือตามร้านขายแว่นทั่วไป ผมไม่จำเป็นต้องไปตัดให้สิ้นเปลืองเงิน เพราะผมทำเลสิกแล้ว
สายตาต้องการเพียงแว่นที่มีค่าเลนส์เป็นบวกเท่านั้น ต่างจากคนที่ไม่ได้ทำเลสิกแล้วอายุประมาณผมซึ่งมักจะมีสายตาสั้นและยาวอยู่ในดวงตาทั้ง 2 อย่าง ซึ่งในกรณีนี้จะต้องไปตัดแว่นสายตา Progressive ที่ร้านตัดแว่นเท่านั้นครับ
สิ่งที่คุณหมอต้องการจะแจ้งก็คือ ถึงแม้จะทำเลสิกไปแล้ว ผมก็ยังต้องกลับไปพึ่งพาสิ่งที่เรียกว่า “แว่น” สำหรับการทำงานระยะใกล้อยู่ดี ซึ่งเกินครึ่งของผู้ที่มาทำเลสิก ผมเชื่อว่าก็เพื่อให้ตนเองไม่ต้องกลับไปใส่แว่นอีก ผมก็นั่งคิดหนักอยู่สักพักครับ เพราะข้อมูลนี้เป็นข้อมูลใหม่ที่ผมไม่รู้มาก่อนเลย
แต่ผมก็ได้ถามคุณหมอซ้ำอีกว่า การทำเลสิกมันก็ยังคุ้มค่าในส่วนของการใช้ชีวิตประจำวันแบบผมอยู่ใช่มั้ย เพราะผมเป็นเทรนเนอร์ออกกำลังกาย และมีกิจการยิมออกกำลังกายเป็นตนเอง การออกกำลังกายโดยใส่แว่นบางทีมันก็ทำให้ลำบากอยู่ไม่น้อย
และผมยังชอบขับมอเตอร์ไซค์ด้วย การใส่แว่นแล้วใส่หมวกกันน็อคมันก็เกะกะ ซึ่งคุณหมอก็แนะนำว่า ในส่วนของกิจกรรมทั้ง 2 อย่างนี้ การทำเลสิกจะทำให้ชีวิตของผมง่ายขึ้นแน่นอน การมองเห็นระยะไกลเวลาขับมอเตอร์ไซค์ก็จะดีขึ้นกว่าเดิมเยอะเลย
ผมจึงสอบถามเพิ่มว่าที่ผ่านมามีคนที่อยู่ในช่วงอายุแบบผมมาทำเลสิกกันเยอะมั้ย คุณหมอก็บอกว่าเยอะ บางคนอายุห้าสิบเข้าแล้วเพิ่งมาทำก็มี แต่คุณหมอก็จำเป็นต้องพูดความจริงให้ฟังว่า กิจกรรมที่เราทำกันอยู่บ่อยๆ อย่างการอ่านหนังสือ การอ่านข้อความบนหน้าจอมือถือ สำหรับเคสของผมนั้น ในอีก 3-5 ปีข้างหน้าอาจจะต้องเริ่มพึ่งแว่นสายตาเข้ามาช่วยแล้วครับ เพราะจัดเป็นการมองเห็นระยะใกล้ที่เป็นข้อจำกัดของการทำเลสิกในผู้ที่อายุมากกว่า 40 ปี
หลังจากพูดคุยกับคุณหมอได้สักพัก ผมก็ยืนยันว่าอยากจะทำเลสิกครับ คุณหมอจึงรับทราบและเริ่มให้คำแนะนำในการดูแลตนเองหลังจากทำเลสิกต่อไป ซึ่งในขั้นตอนต่อไปก็จะเป็นการหยอดน้ำยาก่อนผ่าตัด และรับยาแก้อักเสบเพื่อเตรียมตัวสำหรับเข้าห้องผ่าตัดต่อไปครับ ใครที่อยากอ่านรีวิวเต็มๆ ก็ไปอ่านได้ที่ รีวิวทำเลสิก FEMTO LASIK ที่ โรงพยาบาลพญาไท 3
สำหรับใครที่อยากทำเลสิกด้วยเทคนิค FEMTO LASIK ที่โรงพยาบาลพญาไท 3 แบบผม ก็สามารถจองคิวทำนัดผ่าน HDmall.co.th ได้เลยนะครับ ได้ทั้งส่วนลดและบริการที่น่าประทับใจดีมากๆ เลยครับ
ข้อมูล โรงพยาบาลพญาไท 3
ปิด
ปิด
- วันเวลาทำการ: วันจันทร์-อาทิตย์ (ทุกวัน) 08.00-17.00 น.
- วิธีการเดินทาง: MRT สถานีบางไผ่ (ทางออก 2) เดินต่อ 300 เมตร BTS สถานีบางหว้า (ทางออก 5) ต่อวินมอเตอร์ไซค์ 700 เมตรศูนย์เลสิก ชั้น 14
- สถานที่ตั้ง: 111 ศูนย์เลสิก ชั้น 14 โรงพยาบาลพญาไท 3 ถ. เพชรเกษม แขวงปากคลองภาษีเจริญ เขตภาษีเจริญ กรุงเทพมหานคร 10160 ดูแผนที่
- ดูแพ็กเกจจาก โรงพยาบาลพญาไท 3 ได้ที่นี่