เมื่อเกิดปัญหาฟันคุด หรือฟันที่ไม่งอกพ้นเหงือกบริเวณขากรรไกร หลายคนจึงต้องเผชิญกับอาการเจ็บปวดเหงือกบริเวณดังกล่าวจนต้องเข้ารับการถอน หรือผ่าฟันคุดเพื่อกำจัดฟันซี่นั้นๆ
โดนการผ่า หรือถอนฟันคุดของผู้เข้ารับบริการแต่ละราย ทางทันตแพทย์จะใช้วิธีการที่แตกต่างกันไป รวมถึงระยะเวลาในการทำด้วย ขึ้นอยู่กับลักษณะฟันที่งอก หรืออยู่ใต้เหงือก
อย่างไรก็ตาม ผู้ที่ต้องถอน หรือผ่าฟันคุดส่วนมากมักต้องเผชิญกับอาการเจ็บปวดแผล แก้มบวม เคี้ยวอาหารไม่ได้ และต้องทุกข์ทรมานจากการผ่า หรือถอนฟันคุดไปอีกเกือบ 1 สัปดาห์เต็มๆ
เราจึงควรรู้วิธีดูแลตนเองหลังผ่าฟันคุดว่า เป็นอย่างไร แล้วจะรู้ได้อย่างไรว่า ฟันที่ขึ้นในช่องปากเป็นฟันคุด หรือฟันปกติกันแน่
ความหมายของฟันคุด
ฟันคุด (Wisdom teeth) เป็นฟันที่โผล่พ้นเหงือกมาในลักษณะผิดปกติ ทำให้เกิดปัญหาฟันเก ล้ม หรือเอียง หรือฟันไม่โผล่พ้นเหงือกขึ้นมาตามการเรียงตัวแบบฟันซี่อื่นๆ
สาเหตุของการเกิดฟันคุด สันนิษฐานว่า ในอดีต มนุษย์สมัยโบราณนั้นมีกระดูกขากรรไกรที่ใหญ่ ทำให้เมื่อฟันขึ้นก็จะขึ้นเต็มขนาด และความยาวของเหงือกไปจนถึงบริเวณกระดูกขากรรไกรด้านใน และไม่มีฟันคุดเกิดขึ้น
จนกระทั่งวิวัฒนการการเจริญเติบโตของร่างกายมนุษย์มีการเปลี่ยนแปลง รูปร่าง ขนาด และส่วนสูงของมนุษย์ค่อยๆ เล็กลง กระดูกขากรรไกรจึงมีขนาดเล็กลงตามขนาดตัวของมนุษย์ด้วย ในขณะจำนวนซี่ และขนาดของฟันยังเท่าเดิม
ดังนั้นขนาดกระดูกขากรรไกรจึงไม่พอดีกับซี่ฟันที่ขึ้นมาพ้นเหงือก และทำให้ฟันไม่สามารถขึ้นเรียงตัวได้พอดีกับความยาวรวมถึงขนาดของมัน (Long axis) จึงทำให้เกิดฟันคุดขึ้นมา
ฟันซี่ที่มักกลายเป็นฟันคุดในภายหลัง
โดยฟันซี่ที่เกิดฟันคุดได้ มักเป็นฟันกรามซี่ที่ 3 ซึ่งจะขึ้นในช่วงอายุประมาณ 17-21 ปี จัดเป็นฟันกรามซี่สุดท้ายที่จะขึ้นบริเวณปลายแถวของเหงือก และอยู่บริเวณกระดูกขากรรไกรพอดี
ลักษณะของฟันคุดที่เห็นจากภายนอกจะแตกต่างกันไปในแต่ละคน ขึ้นอยู่กับลักษณะการเอียงล้ม และความยาวของฟันที่ผิดปกติ บางรายอาจเห็นเนื้อฟันโผล่ขึ้นมาจากเหงือกเป็นพื้นที่เล็กๆ บางรายจะเห็นเป็นเพียงเหงือกแดงเข้มบริเวณที่ฟันคุดอยู่ใต้เหงือก หรือบางรายก็อาจเห็นฟันคุดโผล่ขึ้นมาทั้งซี่ก็ได้
อาการแสดงเมื่อเกิดฟันคุด
หากฟันคุดไม่ได้ไปดัน หรือล้มเอียงเบียดฟันซี่ข้างๆ รวมถึงไม่ได้มีเศษอาหารเข้าไปสะสมจนเกิดปัญหาฟันผุ ผู้ที่มีฟันคุดก็จะไม่ได้รู้สึกถึงความผิดปกติอะไร
แต่หากฟันคุดไปเบียดฟันซี่ข้างๆ เกิดการอักเสบ และผุ ผู้ที่มีฟันคุดก็มักจะมีอาการคันเหงือก ปวดเจ็บบริเวณที่ฟันคุดขึ้น มีอาการฟันผุที่ฟันคุด และฟันซี่ข้างๆ
จะรู้ได้อย่างไรว่าต้องผ่าฟันคุด?
เพราะฟันคุดอาจซ่อน หรือล้มเอียงอยู่ใต้เหงือก ทำให้ยากต่อการเห็นจากภายนอก ทันตแพทย์มักแนะนำให้ผู้เข้ารับการตรวจฟันทุกรายเอกซเรย์ช่องปากด้วย เพื่อหาฟันคุดที่ซ่อนตัวอยู่ใต้เหงือก
หากพบฟันคุดที่มีลักษณะล้ม เก เอียง หรือมีแนวโน้มจะล้มเบียดฟันข้างเคียงในอนาคต ทันตแพทย์ก็มักแนะนำให้ผ่าฟันคุดออกเสีย
ความแตกต่างระหว่างการผ่าฟันคุดบน หรือล่าง
ขั้นตอนการผ่าฟันคุดไม่ว่าจะซี่บน หรือซี่ล่างนั้น โดยพื้นฐานจะมีวิธีการเหมือนกัน ได้แก่
- การเปิดแผ่นเหงือก
- การกรอกระดูกที่คลุมฟันอออก
- การกรอตัดแบ่งฟัน
- การเอาฟันที่กรอตัดออกจากกระดูกเบ้าฟัน
- การเย็บปิดแผล
ส่วนความแตกต่างของการผ่าฟันคุดซี่บน หรือซี่ล่าง คือ
- ความยืดหยุ่น และรูพรุนของขากรรไกร ซึ่งขากรรไกรส่วนบนจะมีความยืดหยุ่น และมีรูพรุนมากกว่า รวมถึงแข็งแรงน้อยกว่า ทำให้ฟันคุดซี่บนสามารถถอน และผ่าง่ายกว่าฟันคุดซี่ล่าง
- ทางเข้าเครื่องมือ การใช้แสงส่องระหว่างผ่าตัด หรือเรียกง่ายๆ ก็คือ ความง่ายในการใช้เครื่องมือช่วยประกอบการผ่าฟันคุด ซึ่งในส่วนนี้ฟันซี่ล่างจะทำได้ง่ายกว่าฟันซี่บน
ข้อปฏิบัติหลังการผ่า และถอนฟันคุด
หลังจากถอนฟันคุดเสร็จเรียบร้อยแล้ว คุณควรทำตามคำแนะนำต่อไปนี้เพื่อดูแลแผลจากการผ่าให้อยู่ในสภาพดี ไม่เสี่ยงติดเชื้อ และฟื้นตัวเร็วขึ้น
- หลังจากผ่าฟันคุดเสร็จ ทันตแพทย์จะให้กัดผ้าก๊อซเพื่อห้ามเลือดบริเวณแผล โดยให้กัดให้แน่น อย่าเคี้ยว หรือพูดในระหว่างกัดผ้า เพื่อให้เลือดหยุดไหลภายใน 1 ชั่วโมงหลังการผ่า และคุณอาจมีลิ่มเลือดปนออกมากับน้ำลายหลังจากผ่าตัดแล้ว 24 ชั่วโมงซึ่งเป็นเรื่องปกติ
- ห้ามบ้วนน้ำ ไม่ว่าจะน้ำลาย หรือบ้วนน้ำล้างปากตลอดวันที่ผ่าตัด หากมีน้ำลาย หรือเลือดในปาก ให้กลืนลงไป
- หากกัดผ้าก๊อซครบ 2 ชั่วโมงหลังการผ่าตัด ให้คายผ้าก๊อซทิ้ง หากยังมีเลือดสดไหลอยู่ ให้กัดผ้าก๊อซแผ่นใหม่ไปอีก 1 ชั่วโมง โดยก่อนใส่ผ้าก๊อซแผ่นใหม่ จะต้องล้างมือให้สะอาดต้องจับผ้าก๊อซ
- รับประทานยาที่แพทย์จ่ายให้อย่างเคร่งครัด เช่น ยาปฏิชีวนะ ยาแก้ปวด
- ในวันต่อมาหลังจากผ่าตัด ให้บ้วนปากหลังจากรับประทานอาหารด้วยน้ำเกลือ
- หากยังมีเลือดไหลภายใน 24 ชั่วโมงหลังผ่า ห้ามอมน้ำแข็งในปากเด็ดขาด แต่ให้ใช้เจล หรือน้ำแข็งประคบที่แก้ม หรือบริเวณขากรรไกรที่ตรงกับบริเวณที่ผ่าฟันคุดแทน
- เมื่อผ่านไป 48 ชั่วโมงหลังจากผ่าตัด หรือถอนฟันคุดแล้ว ให้เปลี่ยนจากประคบเย็น เป็นประคบอุ่นแทน เพื่อลดอาการบวม และรอยช้ำที่พบได้เป็นปกติหลังผ่า หรือถอนฟันคุด แต่โดยทั่วไปในวันที่ 3-4 อาการบวมก็จะลดลง
- ห้ามแตะ แคะ กด หรือเอาลิ้นดุนที่แผลผ่าตัดเด็ดขาด
- อย่าเพิ่งออกกำลังกายหนัก แต่สามารถใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติ
- งดสูบบุหรี่ บริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ อาหารรสเผ็ด รสจัดอย่างน้อย 1 สัปดาห์
- ในวันแรกๆ หลังจากผ่าตัด ควรรับประทานอาหารประเภทของเหลว เคี้ยวง่าย และไม่ร้อนเกินไป เช่น ข้าวต้ม โจ๊ก ต้มเลือดหมู
- สามารถแปรงฟันได้ตามปกติในวันต่อมาหลังจากผ่าฟันคุด แต่ให้แปรงเบาๆ ด้วยแปรงผิวนุ่มบริเวณที่เป็นแผลผ่าตัด และห้ามใช้แปรงแคะ แกะ หรือเขี่ยแผลเด็ดขาด
- หากใช้ไหมไม่ละลายในการเย็บแผล ต้องกลับไปให้ทันตแพทย์ตัดไหมให้ภายหลังผ่าตัด 7-10 วัน
และอีกสิ่งสำคัญที่ขาดไม่ได้เลย คือ คุณยังต้องไปเข้ารับการตรวจสุขภาพฟันทุกๆ 6 เดือนด้วย เพื่อให้แน่ใจว่า สุขภาพฟันยังคงเป็นปกติ รวมถึงเข้ารับการขูดหินปูนเพื่อป้องกันฟันผุ และเพื่อตรวจว่า มีฟันคุดซี่อื่นๆ ขึ้นอีกหรือไม่
แผลผ่าฟันคุดต้องใช้เวลากี่วันถึงจะหาย?
การผ่าตัดฟันคุดเป็นกระบวนการผ่าตัดเกี่ยวกับกระดูก และมีการผ่าเหงือกเกิดขึ้น จึงทำให้มีอาการช้ำ บวม และเจ็บปวดแผลได้เป็นปกติ
โดยหลังจากผ่าตัด 3-5 ชั่วโมงหลังจากผ่าตัด เมื่อยาชาหมดฤทธิ์ ผู้ป่วยจะเริ่มรู้สึกปวดเจ็บแผลขึ้น แต่ก็สามารถบรรเทาได้ด้วยการประคบเย็น และรับประทานยาที่สั่งจ่ายโดยทันตแพทย์
หลังจากนั้นในวันที่ 1-3 หลังจากผ่าฟันคุด อาการปวดจะค่อยๆ ทุเลาลง แต่อาจยังมีอาการแก้มบวมเกิดขึ้น และจะค่อยๆ ยุบตัวลงภายใน 1 สัปดาห์
แต่หากหลังวันที่ 3 ผู้ที่ผ่าฟันคุดยังมีอาการเจ็บปวดแผลอยู่ หรือความรุนแรงของอาการมีมากกว่าเดิม นั่นอาจเป็นสัญญาณของอาการกระดูกเบ้าฟันอักเสบ หรืออาการแทรกซ้อนอื่นๆ ซึ่งต้องรีบกลับไปพบทันตแพทย์เพื่อรักษาโดยทันที
ส่วนเหงือกที่ถูกกรีดเปิดเพื่อผ่าเอาฟันคุดออกนั้น แผลจะเริ่มปิดหลังจากผ่านไปประมาณ 5 วัน - 2 สัปดาห์หลังจากผ่า หรือถอนฟันคุด และจะปิดสนิทภายใน 1 เดือนหลังจากนั้น
ปัญหาฟันคุดเป็นปัญหาที่หากพบแล้ว ก็ควรรีบปรึกษาทันตแพทย์เกี่ยวกับวิธีกำจัดฟันซี่นี้ออก เพราะฟันคุดสามารถส่งผลกระทบต่อฟันข้างเคียงทำให้เกิดความเสียหายตามมาได้ด้วย และยังทำให้เกิดอาการเจ็บปวดเหงือกมากในระหว่างที่ฟันซี่นี้ยังอยู่ในช่องปากของคุณ
เปรียบเทียบราคาและแพ็กเกจถอน หรือผ่าฟันคุด จากคลินิกและโรงพยาบาลใกล้คุณ และไม่พลาดทุกอัปเดตเรื่องสุขภาพและโปรโมชั่นเมื่อกดดาวน์โหลดแอป iOS และ Android
ที่มาของข้อมูล
ปิด
ปิด
- ถอนฟันคุดดีไหม ไม่ผ่าฟันคุดได้ไหม?, (https://hdmall.co.th/c/wisdom-tooth-removal).
- Susarla SM, Blaeser BF, Magalnick D. Third molar surgery and associated complications. Oral Maxillofac Surg Clin North Am. 2003 May;15(2):177-86
- ศ.ทพ.ณัฐเมศร์ วงศ์สิริฉัตร, ตำราการผ่าฟันคุด (ฟันกรามล่างซี่ที่สาม) (Lower impacted third molar surgical intervention), กรุงเทพฯ: บริษัท เท็กซ์แอนด์ เจอร์นัล พับลิเคชั่น, 2555