ผู้ชายที่อายุ 50 ปีขึ้นไปหลายคน อาจเริ่มมีปัญหาปัสสาวะขัด ปัสสาวะไม่พุ่ง ปัสสาวะบ่อย ปัสสาวะไม่สุด หรือบางรายถึงขั้นปัสสาวะไม่ออก ซึ่งอาการต่างๆ เหล่านี้ อาจเป็นอาการของภาวะต่อมลูกหมากโตที่พบได้บ่อย หรืออาจเป็นสัญญาณของโรคร้ายแรงอย่างมะเร็งต่อมลูกหมากก็ได้
ดังนั้นเมื่อเริ่มมีอาการดังกล่าว จึงไม่ควรคิดเองเออเองว่าตนเป็นโรคอะไร แต่ควรเข้ารับการตรวจจากแพทย์เพื่อให้ทราบผลที่แน่ชัด เพราะหากพบสัญญาณของโรคมะเร็งต่อมลูกหมากตั้งแต่ในระยะแรกๆ แพทย์ก็จะสามารถวางแผนการรักษาให้หายได้
สารบัญ
- มะเร็งต่อมลูกหมากคืออะไร?
- อาการของมะเร็งต่อมลูกหมาก
- ใครควรตรวจมะเร็งต่อมลูกหมาก?
- วิธีการตรวจมะเร็งต่อมลูกหมาก
- 1. การตรวจมะเร็งต่อมลูกหมากทางทวารหนัก (Digital Rectal Examination: DRE)
- 2. การเจาะเลือดเพื่อตรวจสารบ่งชี้มะเร็งต่อมลูกหมาก (Prostatic Specific Antigen Test: PSA)
- 3. การตรวจโดยวิธีอัลตราซาวด์ผ่านเข้าทางทวารหนัก (Transrectal Ultrasound: TRUS)
- 4. การตรวจมะเร็งต่อมลูกหมากด้วยคลื่น MRI (Magnetic Resonance Imaging)
- 5. การตรวจมะเร็งต่อมลูกหมากด้วยเพท/ซีที (PET/CT)
- ควรตรวจมะเร็งต่อมลูกหมากตอนอายุเท่าไร?
- ควรตรวจมะเร็งต่อมลูกหมากบ่อยแค่ไหน?
มะเร็งต่อมลูกหมากคืออะไร?
มะเร็งต่อมลูกหมาก (Prostate Cancer) เกิดจากเซลล์หรือเนื้อเยื่อของต่อมลูกหมากแบ่งตัวผิดปกติจนเป็นเนื้องอกและแพร่กระจายไปยังอวัยวะอื่น เช่น ต่อมน้ำเหลือง กระแสเลือด เป็นต้น มักจะพบในชายอายุ 50 ปีขึ้นไป ในระยะแรกโรคจะไม่แสดงอาการใดๆ จนเซลล์มะเร็งลุกลามแล้วจึงแสดงอาการ
อาการของมะเร็งต่อมลูกหมาก
- ปวดปัสสาวะบ่อย โดยเฉพาะในตอนกลางคืน
- ปัสสาวะไม่พุ่ง หรือปัสสาวะไม่หมด
- รู้สึกปวดเวลาปัสสาวะ หรือปวดเวลาที่หลั่งเมื่อถึงจุดสุดยอด
- อวัยวะเพศไม่ค่อยแข็งตัว
- มีเลือดปนในน้ำเชื้อ หรือปัสสาวะ
ใครควรตรวจมะเร็งต่อมลูกหมาก?
มะเร็งต่อมลูกหมากเป็นโรคที่เกิดกับผู้ชาย ปัจจุบันยังไม่มีใครทราบสาเหตุที่แท้จริงของโรคนี้ จากการศึกษาวิจัยที่ผ่านมาพบว่าผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงต่อไปนี้มีโอกาสเป็นมะเร็งมากกว่าผู้ชายทั่วไป ได้แก่
- ผู้ชายที่อายุมากกว่า 50 ปี
- ผู้ชายที่มีคนในครอบครัวเป็นมะเร็งต่อมลูกหมากมีโอกาสเสี่ยงมากขึ้น เช่น พ่อ พี่ชาย น้องชาย มีประวัติเป็นมะเร็งต่อมลูกหมาก
- ผู้ชายที่สูบบุหรี่เป็นประจำ
- ผู้ชายที่ชอบรับประทานอาหารจำพวกเนื้อสัตว์ที่มีไขมันสูง
- ผู้ชายที่เวลาปัสสาวะรู้สึกติดขัด น้ำปัสสาวะออกไม่สะดวก
- ผู้ชายที่เวลาถ่ายอุจจาระ จะมีปัสสาวะออกมาบ่อยและมากกว่าปกติ
- ผู้ชายที่ปัสสาวะไม่สุด
- ผู้ชายที่ลักษณะสีของปัสสาวะที่ถูกขับออกมามีเลือดหรืออสุจิปนในน้ำปัสสาวะ
- ผู้ชายที่ขณะปัสสาวะรู้สึกแสบ
- ผู้ชายที่มีอาการปวดหลังหรือปวดสะโพกตลอดเวลา
- ผู้ชายที่มีอาการปวดบริเวณท้องน้อยมากเวลาหลั่งน้ำอสุจิ
หากพบว่าตนเองมีอาการหนึ่งในอาการเหล่านี้ ควรเข้ารับการตรวจกับแพทย์เฉพาะทางให้เร็วที่สุด เพื่อตรวจวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งต่อมลูกหมากหรือไม่
วิธีการตรวจมะเร็งต่อมลูกหมาก
โดยทั่วไปการตรวจมะเร็งต่อมลูกหมากมี 5 วิธี ดังนี้
1. การตรวจมะเร็งต่อมลูกหมากทางทวารหนัก (Digital Rectal Examination: DRE)
การตรวจมะเร็งต่อมลูกหมากทางทวารหนัก เป็นการตรวจต่อมลูกหมากผ่านผนังของทวารหนัก เพื่อหาว่ามีก้อนหรือลักษณะผิดปกติของต่อมลูกหมากหรือไม่ วิธีนี้เป็นวิธีที่ง่ายและทราบผลได้เร็ว เพราะสามารถสัมผัสได้ถึงความผิดปกติของต่อมลูกหมากขณะแพทย์ทำหัตถการ
การเตรียมตัวก่อนเข้ารับการตรวจมะเร็งต่อมลูกหมากทางทวารหนัก
เนื่องจากเป็นวิธีการตรวจที่ง่ายและไม่อันตราย ดังนั้นผู้เข้ารับการตรวจแค่นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพออย่างน้อย 6-8 ชั่วโมงก่อนรับการตรวจ
ขั้นตอนการตรวจมะเร็งต่อมลูกหมากทางทวารหนัก
การตรวจมะเร็งต่อมลูกหมากทางทวารหนักมีขั้นตอนดังนี้
- ผู้เข้ารับการตรวจนอนบนเตียงในท่าตะแคง โค้งงอตัว
- แพทย์สวมใส่ถุงมือยาง ทาเจลหรือสารหล่อลื่นบนนิ้วชี้แล้วสอดนิ้วคลำปากทางเข้าไปในช่องทวารหนัก
- หากพบเจอก้อนลักษณะของแข็งมีรอยขรุขระ ผิวไม่เรียบ บวมขึ้นจนยื่นไปเบียดผนังลำไส้ใหญ่ มีความเป็นไปได้สูงที่เกิดภาวะมะเร็งในต่อมลูกหมาก
- หลังการตรวจเสร็จสิ้นลง ผู้เข้ารับการตรวจสามารถกลับบ้าน ทำกิจกรรมอื่นๆ ได้ตามปกติ
2. การเจาะเลือดเพื่อตรวจสารบ่งชี้มะเร็งต่อมลูกหมาก (Prostatic Specific Antigen Test: PSA)
Prostatic Spec ific Antigen หรือ PSA เป็นโปรตีนชนิดหนึ่งที่ผลิตขึ้นจากเซลล์ของต่อมลูกหมาก และสามารถตรวจพบได้จากการเจาะเลือด หากค่า PSA ในเลือดสูงกว่าปกติ อาจบ่งชี้ถึงความผิดปกติเกี่ยวกับต่อมลูกหมากได้
โดยปกติค่า PSA จะอยู่ระหว่าง 0-4 ng/mL แต่หากค่า PSA ในเลือดมากกว่า 4 ng/mL อาจบ่งชี้ถึงมะเร็งต่อมลูกหมากได้ ทั้งนี้ ค่า PSA ที่มากกว่าปกตินี้อาจเกิดจากความผิดปกติอื่นๆ นอกจากมะเร็งต่อมลูกหมากได้เช่นกัน เช่น ต่อมลูกหมากโต หรือต่อมลูกหมากอักเสบ เป็นต้น
ดังนั้นการเจาะเลือดตรวจสารบ่งชี้ PSA เพียงอย่างเดียวจึงไม่สามารถใช้ยืนยันโรคมะเร็งต่อมลูกหมากได้ แต่แพทย์จะใช้เป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาร่วมกับการตรวจวิธีอื่นๆ ต่อไป
การเตรียมตัวก่อนเข้ารับการเจาะเลือดเพื่อตรวจสารบ่งชี้มะเร็งต่อมลูกหมาก
เพื่อให้ผลการตรวจสารบ่งชี้เป็นไปด้วยความแม่นยำที่สุด ผู้เข้ารับบริการอาจต้องเตรียมตัวดังต่อไปนี้
- งดยาบางชนิดที่อาจส่งผลกระทบต่อค่า PSA เช่น กลุ่มยายับยั้งฮอร์โมนเพศ (Antiandrogen) และกลุ่มยายับยั้งการโตของต่อมลูกหมาก ดังนั้นหากรับประทานยาหรืออาหารเสริมใดๆ ควรแจ้งแพทย์ก่อนรับบริการทุกครั้ง
- งดกิจกรรมทางเพศ (ห้ามหลั่งอสุจิ) ก่อนเจาะเลือดตรวจ PSA ไม่น้อยกว่า 48 ชั่วโมง
- งดกิจกรรมที่กระทบกระเทือนต่อต่อมลูกหมากอย่างน้อย 48 ชั่วโมง เช่น การขี่จักรยานวิบาก การขี่จักรยานยนต์ข้ามผาดโผน เป็นต้น
- หากมีการติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ ต้องรออย่างน้อย 6 สัปดาห์หลังการรักษาการติดเชื้อแล้ว
- ไม่จำเป็นต้องงดอาหารมาก่อนแต่อย่างใด
ขั้นตอนการเจาะเลือดเพื่อตรวจสารบ่งชี้มะเร็งต่อมลูกหมาก
การเจาะเลือดเพื่อตรวจสารบ่งชี้มะเร็งต่อมลูกหมากเป็นวิธีที่ง่ายและไม่ซับซ้อน มีขั้นตอนดังต่อไปนี้
- แพทย์หรือพยาบาลทำความสะอาดบริเวณปลายนิ้วหรือแขนที่ต้องการเจาะเลือด
- แพทย์หรือพยาบาลเจาะเลือดเพื่อเก็บตัวอย่างเล็กน้อย
- นำเลือดตัวอย่างไปทดสอบกับแอนติเจนจำเพาะต่อม
- แพทย์หรือพยาบาลทำความสะอาดแผลและปิดด้วยผ้าปิดด้วยพลาสเตอร์
- หลังจากจบการเจาะเลือดแล้ว แพทย์จะให้ผู้รับบริการพัก 15-30 นาที แล้วเตรียมตัวรอฟังผล
หลังการตรวจเสร็จสิ้นลง ผู้เข้ารับการตรวจสามารถกลับบ้าน ทำกิจกรรมอื่นๆ ได้ตามปกติ
3. การตรวจโดยวิธีอัลตราซาวด์ผ่านเข้าทางทวารหนัก (Transrectal Ultrasound: TRUS)
การตรวจอัลตราซาวด์ต่อมลูกหมากผ่านทวารหนัก คือการใช้หัวตรวจอัลตราซาวด์สอดเข้าทางทวารหนัก แล้วปล่อยคลื่นเสียงสะท้อนความถี่สูงเพื่อสร้างภาพต่อมลูกหมากออกมาผ่านจอคอมพิวเตอร์ แพทย์มักตรวจด้วยวิธีนี้ในกรณีที่สงสัยหรือคลำพบว่ามีก้อนเนื้อผิดปกติ
การเตรียมตัวก่อนเข้ารับการตรวจโดยวิธีอัลตราซาวด์ผ่านเข้าทางทวารหนัก
- งดอาหาร และน้ำอย่างน้อย 6 ชั่วโมง
- นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพออย่างน้อย 6-8 ชั่วโมง
ขั้นตอนการตรวจอัลตราซาวด์ทางทวารหนัก
- ผู้เข้ารับการตรวจเปลี่ยนชุดสำหรับการตรวจผ่านเครื่องอัลตราซาวด์
- ผู้เข้ารับการตรวจนอนบนเตียงแล้วกางขาออกเพื่อให้แพทย์สอดหัวอุปกรณ์ตรวจมะเร็งต่อมลูกหมากขนาดเล็กเข้าไปในปากช่องทวารหนัก
- เมื่อแพทย์สอดความยาวของเครื่องไปในบริเวณที่ใกล้เคียงกับต่อมลูกหมาก แพทย์จะกดเครื่องให้คลื่นเสียงความถี่สูงไปกระทบกับต่อมลูกหมาก และสะท้อนออกมาเป็นภาพด้วยคอมพิวเตอร์ และแสดงผลในจอแบบเรียลไทม์
- หากพบก้อนเนื้อหรือสิ่งผิดปกติ ก็สามารถตัดชิ้นเนื้อด้วยเข็มขนาดเล็กออกมาเพื่อทำการตรวจวินิจฉัยชิ้นเนื้อต่อได้ด้วยโดยไม่ต้องวางยาสลบ
- รอรับฟังผลจากแพทย์
หลังการตรวจเสร็จสิ้นลง ผู้เข้ารับการตรวจสามารถกลับบ้านและทำกิจกรรมอื่นๆ ได้ตามปกติ
4. การตรวจมะเร็งต่อมลูกหมากด้วยคลื่น MRI (Magnetic Resonance Imaging)
Magnetic Resonance Imaging หรือ MRI คือ เครื่องมือที่ใช้ตรวจหาความผิดปกติของร่างกาย โดยใช้สนามแม่เหล็กสร้างภาพที่มีความละเอียดสูง ช่วยให้แพทย์วินิจฉัยโรคได้ละเอียดยิ่งขึ้น สามารถใช้ได้กับอวัยวะหลายส่วนในร่างกาย เช่น MRI สมอง MRI กระดูกสันหลัง เป็นต้น
การตรวจมะเร็งต่อมลูกหมากด้วยคลื่น MRI จะตรวจเจาะจงไปที่ต่อมลูกหมาก และแพทย์อาจใช้การตรวจแบบอัลตร้าซาวน์ร่วมด้วยเพื่อผลตรวจที่แม่นยำ
การเตรียมตัวก่อนเข้ารับการตรวจมะเร็งต่อมลูกหมากด้วยคลื่น MRI
- ไม่สวมใส่อุปกรณ์ที่มีโลหะเป็นส่วนประกอบ เช่น อุปกรณ์ช่วยฟัง ฟันปลอม นาฬิกา ต่างหู กิ๊บติดผม
- ในกรณีตรวจด้วยคลื่น MRI อย่างเดียวต้องงดอาหารอย่างน้อย 8-12 ชั่วโมง (ดื่มน้ำเปล่าได้ในปริมาณที่ไม่มากกว่าปกติ)
- ในกรณีที่มีการตรวจอัลตราซาวด์ร่วมด้วยต้องงดอาหาร และน้ำอย่างน้อย 6 ชั่วโมง
- นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพออย่างน้อย 6-8 ชั่วโมง
ขั้นตอนการตรวจด้วยคลื่น MRI
- ผู้เข้ารับการตรวจเปลี่ยนชุดสำหรับการตรวจผ่านเครื่อง MRI
- ผู้เข้ารับการตรวจนอนลงบนเครื่องที่มีลักษณะเป็นถาดขนาดยาวตรงกลางของเครื่อง MRI
- เจ้าหน้าที่พยาบาลฉีดสีเข้าร่างกาย เพื่อการตรวจเฉพาะส่วนที่เป็นต่อมลูกหมาก
- เจ้าหน้าที่จะช่วยจัดท่าทางของศีรษะ ลำตัว และแขนให้อยู่ในตำแหน่งที่ถูกต้อง
- แพทย์นำเครื่องจับสัญญาณคลื่นแม่เหล็กมาวางบนร่างกาย ก่อนที่ถาดจะค่อยๆ เลื่อนเข้าไปในตัวเครื่องที่มีลักษณะคล้ายอุโมงค์
- รอตัวเครื่อง MRI ส่งคลื่นวิทยุไปยังระบบคอมพิวเตอร์ เพื่อถ่ายภาพข้อมูลจากการตรวจร่างกายผู้ป่วยแล้วใช้สารทึบรังสี (Contrast Media) เพื่อให้เห็นเซลล์ก้อนมะเร็งในต่อมลูกหมากได้ชัดเจนยิ่งขึ้น
- รอรับฟังผลจากแพทย์
หลังการตรวจเสร็จสิ้นลง ผู้เข้ารับการตรวจสามารถกลับบ้าน ทำกิจกรรมอื่นๆ ได้ตามปกติ
5. การตรวจมะเร็งต่อมลูกหมากด้วยเพท/ซีที (PET/CT)
การตรวจมะเร็งต่อมลูกหมากด้วย เพท/ซีที (PET/CT) คือการตรวจหาแอนติเจนต่อมลูกหมากผ่านเครื่องสร้างภาพเสมือน เป็นการรวมเอาเครื่องสร้างภาพสองแบบที่แตกต่างกันมาทำงานร่วมกัน คือ
- Positron Emission Tomography (PET) คือการเอกซ์เรย์ด้วยโพสิตรอน ทำโดยฉีดสารกัมมันตรังสีรังในปริมาณเล็กน้อยเข้าไปในกระแสเลือด PET Scan จะตรวจจับรังสีที่เกิดจากไอโซโทปรังสีแล้วสร้างภาพขึ้นบนหน้าจอคอมพิวเตอร์ ร่วมกับเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์
- Computed tomography (CT) คือการใช้รังสีเอกซ์ตรวจและสร้างภาพของส่วนร่างกาย โดยจะแสดงให้เห็นอวัยวะของร่างกาย กระดูก และเนื้อเยื่อได้ละเอียดกว่าการใช้รังสีเอกซ์ตามปกติ โดยการตรวจด้วย CT Scan จะฉีดสารเพื่อยกระดับความคมชัดของภาพทางหลอดเลือดดำเพื่อช่วยให้ภาพความคมชัดขึ้น
ทั้ง 2 วิธีดังกล่าวจะทำงานร่วมกันโดย PET Scan จะสร้างภาพเป็นรหัสสีที่แสดงระดับที่แตกต่างกันของเซลล์ที่ผิดปกติ ส่วน CT Scan แสดงตำแหน่งที่แม่นยำของอวัยวะของร่างกาย และสามารถแสดงให้เห็นการเจริญเติบโตของอวัยวะที่ผิดปกติ
เมื่อวางภาพที่ได้จากการสแกนของ CT ลงบนภาพที่ได้จากการแสกนของ PET แพทย์ก็สามารถชี้ชัดลงไปได้ ถึงตำแหน่งที่แน่นอนของเซลล์ที่ผิดปกติ
การเตรียมตัวก่อนเข้ารับการตรวจมะเร็งต่อมลูกหมากด้วยเพท/ซีที (PET/CT)
- แจ้งประวัติการแพ้ยาและนำยาทั้งหมดที่กินประจำให้แพทย์พิจารณาก่อนเข้ารับการตรวจ
- งดรับประทานอาหารก่อนการตรวจอย่างน้อย 6 ชั่วโมง (สามารถดื่มน้ำเปล่าและทานยาที่ทานอยู่ประจำได้ตามปกติ)
- งดการให้สารละลายในเลือดหรือสารอาหารที่มีน้ำตาลเป็นส่วนประกอบอย่างน้อย 6 ชั่วโมงก่อนการตรวจ
- ผู้เป็นโรคเบาหวานสามารถรับประทานอาหารอ่อนๆ ก่อนการตรวจประมาณ 4 ชั่วโมง
- งดการสูบบุหรี่ เครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน เช่น ชา กาแฟ น้ำอัดลม และเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์เป็นส่วนประกอบก่อนวันตรวจ
- ไม่ควรออกกำลังกายหนักๆ ก่อนวันตรวจ
- ไม่ควรใส่เครื่องประดับมาในวันตรวจ
- ไม่ควรพาเด็กหรือสตรีมีครรภ์ไปด้วยในวันตรวจ เพราะผู้เข้ารับการตรวจจะได้รับการฉีดกัมตภาพรังสี อาจเป็นอันตรายต่อเด็กหรือสตรีมีครรภ์
ขั้นตอนการตรวจมะเร็งต่อมลูกหมากด้วยด้วยเพท/ซีที (PET/CT)
- ผู้เข้ารับการตรวจเปลี่ยนชุดสำหรับตรวจของโรงพยาบาล
- เจ้าหน้าที่พยาบาลฉีดสารกัมมันตภาพรังสี Ga-68 PSMA (Gallium-68 prostate-specific membrane antigen) ซึ่งสารสำหรับตรวจหามะเร็งต่อมลูกหมากโดยเฉพาะ และยาขับปัสสาวะเข้าทางหลอดเลือดดํา หลังฉีดผู้รับบริการควรนอนพักนิ่งๆ ในห้องที่จัด เป็นเวลาประมาณ 1 ชั่วโมง เพื่อให้สาร Ga-68 PSMA เข้าไปจับบริเวณของรอยโรคที่มีความผิดปกติ เมื่อผู้เข้ารับการตรวจเข้าเครื่องสแกนเครื่องจะสามารถจับภาพรอยโรคได้
- เมื่อครบ 1 ชั่วโมงหลังฉีดสารเภสัชรังสี ผู้เข้ารับการตรวจต้องปัสสาวะให้เรียบร้อยก่อนเข้าห้องตรวจ
- ผู้เข้ารับการตรวจเข้าห้องตรวจและนอนบนเครื่องสแกนคอมพิวเตอร์เพท/ซีที (PET/CT) ใช้เวลาในห้องตรวจประมาณ 30 นาที ระหว่างการตรวจแพทย์และพยาบาลจะดูแลผู้เข้ารับการตรวจผ่านทางจอรับภาพโดยกล้องวงจรปิด ผู้เข้ารับการตรวจสามารถติดต่อกับแพทย์และพยาบาลที่ควบคุมเครื่องได้ผ่านทางไมโครโฟนที่ติดอยู่กับเครื่อง
- เมื่อทําการตรวจเสร็จ ผู้เข้ารับการตรวจควรปัสสาวะอีกครั้งเพื่อขับสารกัมมันตภาพรังสีออกจากร่างกาย
การดูแลตัวเองหลังเข้ารับการตรวจมะเร็งต่อมลูกหมากด้วยเพท/ซีที (PET/CT)
- ในช่วง 6 ชั่วโมง หลังการตรวจผู้เข้ารับการตรวจควรดื่มนํ้ามากๆ และปัสสาวะบ่อยๆ เพื่อช่วยลดปริมาณกัมมันตภาพรังสีที่อยู่ในร่างกาย
- กัมมันตภาพรังสีอยู่ในร่างกายของผู้เข้ารับการตรวจจะสลายหมดภายในวันที่ตรวจ
- หลีกเลี่ยงไม่อยู่ใกล้เด็กและสตรีตั้งครรภ์อย่างน้อย 12 ชั่วโมง
การตรวจด้วยวิธี เพท/ซีที (PET/CT) เป็นการตรวจที่มีความปลอดภัยสูงและยังไม่มีรายงานพบผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นจากการตรวจนี้เลย
ควรตรวจมะเร็งต่อมลูกหมากตอนอายุเท่าไร?
ผู้ชายทุกคนที่มีอายุมากกว่า 40 ปีขึ้นไปควรเข้ารับการตรวจเพื่อคัดกรองมะเร็งต่อมลูกหมาก
ควรตรวจมะเร็งต่อมลูกหมากบ่อยแค่ไหน?
เมื่อมีอายุ 40 ปีขึ้นไป ควรเข้ารับการตรวจมะเร็งต่อมลูกหมาก พร้อมปรึกษากับแพทย์ว่าควรตรวจบ่อยแค่ไหนจึงจะเหมาะสมกับแต่ละคน แต่เมื่ออายุ 50 ปีขึ้นไป แพทย์มักแนะนำให้ตรวจมะเร็งต่อมลูกหมากอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง
มะเร็งต่อมลูกหมากเป็นโรคร้ายที่มักตรวจพบกับผู้ชายที่อายุ 60 ปีขึ้นไป โดยอาจเริ่มมีความผิดปกติตั้งแต่อายุ 40 ปีขึ้นไปโดยไม่รู้ตัว เพราะผู้ชายช่วงอายุนี้ส่วนใหญ่มักมีอาการต่อมลูกหมากโต ซึ่งมีอาการคล้ายกับมะเร็งต่อมลูกหมาก โดยหากพบความผิดปกติหรือเชื้อมะเร็งต่อมลูกหมากก่อนสามารถรักษาได้ทันท่วงที และมีโอกาสรักษาหายขาด