การจัดฟัน เป็นหนึ่งในวิธีรักษาทางทันตกรรมซึ่งเป็นที่นิยมในปัจจุบัน นอกจากจะช่วยแก้ปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพช่องปาก เช่น ฟันซ้อนเก ฟันห่าง ฟันไม่สบกัน ได้แล้ว
การจัดฟันยังอาจช่วยปรับโครงหน้าของผู้จัดฟันให้เข้ารูปได้ด้วย ดังนั้นการจัดฟันจึงช่วยเสริมสร้างความมั่นใจและช่วยปรับปรุงบุคลิกภาพให้ดียิ่งขึ้นได้
การจัดฟันคืออะไร?
การจัดฟันเป็นวิธีช่วยแก้ไขปัญหาฟันที่มีการเรียงตัวผิดปกติ ไม่สมดุล ให้เรียงตัวกันอย่างเหมาะสม สบฟันได้ตามปกติ รวมทั้งตำแหน่งขากรรไกรมีความเหมาะสม ไม่เพียงเท่านั้นการจัดฟันยังเป็นการป้องกันความผิดปกติที่อาจเกิดขึ้นกับช่องปากในอนาคตได้ด้วย
การจัดฟันเป็นการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของฟันด้วยการใช้เครื่องมือภายนอกและภายในช่องปาก เป็นตัวกระตุ้นทำให้เกิดการปรับแต่งโครงสร้างของฟันใหม่อย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยปกติแล้วการเคลื่อนตัวของฟันจะมีอัตรา 1 มิลลิเมตร ต่อ 1 เดือน
ทำไมต้องจัดฟัน?
เนื่องจากฟันของแต่ละคนมีขนาด รูปร่าง และการเรียงตัวที่แตกต่างกัน โดยมีพันธุกรรมเป็นตัวกำหนด บางครั้งฟันอาจเรียงตัวไม่เหมาะสมจนเกิดปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพช่องปาก เช่น ทำความสะอาดฟันลำบาก มีปัญหาเรื่องการบดเคี้ยว
การจัดฟันจะช่วยทำให้สุขภาพช่องปากดีขึ้น ช่วยให้การบดเคี้ยวอาหารมีประสิทธิภาพ รวมถึงช่วยลดอัตราเสี่ยงในการเกิดฟันผุ หรือโรคเหงือกได้ด้วย
นอกจากนี้การจัดฟันยังช่วยแก้ปัญหาช่องปากอื่นๆ ได้อีก เช่น เป็นส่วนหนึ่งของการรักษาโรคปากแหว่งเพดานโหว่ หรือช่วยในเรื่องภาวะหยุดหายใจขณะหลับ
โดยทันตแพทย์จะใส่เครื่องมือในช่องปากเพื่อให้ทางเดินหายใจกว้างขึ้นและไม่ถูกอุดกั้นขณะหลับ เพื่อป้องกันไม่ให้ลิ้น หรือเนื้อเยื่อในลำคอหย่อนลงไปอุดกั้นทางเดินหายใจขณะหลับ
ใครควรจัดฟันบ้าง?
ผู้ที่มีปัญหาฟันเก ฟันซ้อน หรือฟันยื่นจนไม่สบกัน ปัญหาเหล่านี้จะทำให้ฟันสึกกร่อน เสียหาย หรืออาจทำร้ายกล้ามเนื้อและข้อต่อขากรรไกรได้
บางกรณีความผิดปกติดังกล่าวอาจพัฒนาจนส่งผลกระทบต่อรูปร่างของใบหน้า แต่ทั้งนี้ต้องให้ทันตแพทย์เป็นผู้วินิจฉัย โดยประเมินจากประวัติการรักษาทางการแพทย์ หรือทันตกรรม การตรวจในคลินิก ลักษณะการเรียงตัวของฟัน และและฟิล์มเอ็กซเรย์
ปัญหาของฟันที่ทำให้ต้องมีการจัดฟัน?
- ฟันหน้ายื่น เป็นสาเหตุที่พบเห็นได้มากที่สุด
- ฟันซ้อน มักเกิดกับผู้ที่มีโครงสร้างกระดูกขากรรไกรเล็ก ทำให้พื้นที่ในช่องปากไม่กว้างพอสำหรับฟัน ส่งผลให้ฟันภายในช่องปากซ้อนทกัน
- ฟันไม่สมมาตรกัน บางคนมีจุดศูนย์กลางของฟันบนและฟันล่างไม่ตรงกันทำให้ฟันทั้งสองแถวไม่สามารถสบกันได้สมบูรณ์จนทำให้ดูเหมือนฟันเก และมีปัญหาด้านการบดเคี้ยว
- ฟันสบลึก ฟันแถวบนเลยหน้าฟันล่างมากเกินไปจนบังฟันล่างมิดอาจกัดโดนเหงือก
- ฟันสบกลับ ฟันแถวบนสบอยู่ข้างหลังฟันล่าง
- ฟันสบเปิดคือ การที่ฟันบนและฟันล่างไม่สบกันแม้จะปิดปากแล้ว ภาวะเช่นนี้มักเกิดมาจากการที่เด็กดูดหัวแม่มือตัวเอง หรือขวดนมมาเป็นเวลานาน ๆ
- ฟันคุด เป็นฟันแท้ที่ไม่สามารถขึ้นสู่ช่องปากได้ หรืออยู่ในตำแหน่งผิดที่ผิดทาง
ควรเริ่มจัดฟันเมื่อไหร่?
การจัดฟันสามารถทำได้ทั้งในเด็ก และผู้ใหญ่ ส่วนใหญ่จะเริ่มที่อายุประมาณ 11 – 13 ปี ซึ่งเป็นช่วงวัยที่ฟันแท้ขึ้นครบแล้ว ส่วนระยะเวลาการจัดฟันขึ้นอยู่กับลักษณะฟันของแต่ละบุคคล
ส่วนใหญ่จะใช้เวลาประมาณ 18 - 24 เดือน ขึ้นอยู่กับสภาพปัญหาและความร่วมมือของผู้ป่วย เช่น การรักษาความสะอาดของเครื่องมือจัดฟันและช่องปาก หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารแข็ง เหนียว และกรอบ เพราะเสี่ยงต่อการทำเครื่องมือจัดฟันหลุดเสียหาย
ควรมาพบทันตแพทย์ตามนัดอย่างสม่ำเสมอเพื่อปรับเครื่องมือจัดฟันให้สอดคล้องกับการเคลื่อนตัวของฟัน
กรณีที่ผู้ต้องการจัดฟันมีอายุมากกว่า 25 ปีขึ้นไป อาจจำเป็นต้องใส่เครื่องมือนานกว่าปกติเพราะการเคลื่อนตัวของฟันจะช้ากว่าผู้มีอายุน้อย อีกทั้งยังมีโอกาสเหงือกร่นมากกว่าด้วย
หลังจัดฟันเสร็จผู้ป่วยกลุ่มนี้ยังต้องใส่รีเทนเนอร์เพื่อช่วยรักษาสภาพฟันที่จัดแล้วให้นานกว่าปกติด้วย
บางคนเข้าใจผิดว่า เมื่อมีอายุมากกว่า 45 ปีขึ้นไปจะไม่สามารถจัดฟันได้ เป็นความเข้าใจที่ผิด ท่านยังสามารถจัดฟันได้ตามปกติแต่อาจจะใช้เวลามากกว่า หากมีข้อสงสัยเพิ่มเติม สามารถปรึกษากับทันตแพทย์ได้
รูปหน้ากับการจัดฟัน
บางครั้งการจัดฟันก็จะทำให้รูปหน้าเปลี่ยนไป ซึ่งเกิดขึ้นได้จากสาเหตุดังต่อไปนี้
- การเจริญเติบโตของใบหน้า โดยทั่วไปแล้วขนาดของขากรรไกรจะถูกกำหนดโดยพันธุกรรม แต่เมื่อมีการจัดฟันอาจส่งผลกระทบต่อการเจริญเติบโตของใบหน้าได้ โดยจะมีผลเฉพาะในช่วงที่ขากรรไกรไม่โตเต็มที่ (ผู้หญิงใบหน้าจะโตเต็มที่เมื่อมีอายุ 14 – 16 ปี ส่วนผู้ชายคือ 18 ปี) แต่จะยับยั้งการเติบโตของขากรรไกรได้เพียงเล็กน้อยเท่านั้นเพราะหลังจากช่วงวัยรุ่นไปแล้ว ใบหน้าและขากรรไกรจะไม่มีการเจริญเติบโต
- ผลต่อรูปปาก เนื่องจากการจัดฟันจะทำให้ฟันมีการเคลื่อนตำแหน่ง ดังนั้นจึงทำให้มีผลต่อรูปทรงของริมฝีปาก
- ขากรรไกร บางกรณีอาจต้องมีการผ่าตัดขากรรไกร ดังนั้นอาจทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของรูปร่างขากรรไกรได้
ใส่รากฟันเทียม จัดฟันได้หรือไม่?
ปกติทันตแพทย์จะแนะนำให้จัดฟันจนเสร็จเรียบร้อยก่อน แล้วจึงทำรากฟันเทียมภายหลัง เนื่องจากรากฟันเทียมจะยึดติดกับกระดูกภายในช่องปาก ทำให้ไม่สามารถขยับได้ด้วยเครื่องมือการจัดฟัน
แต่หากเกิดอุบัติเหตุกับช่องปาก หรือปัญหาเกี่ยวกับฟัน จนต้องใส่รากฟันเทียมก่อนเริ่มจัดฟัน ทันตแพทย์อาจวินิจฉัยให้จัดฟันได้เป็นบางกรณี เพราะตำแหน่งของรากฟันเทียมอาจมีผลต่อคำวินิจฉัย ดังนี้
- รากฟันเทียมไม่อยู่ในตำแหน่งเคลื่อนที่ของการจัดฟัน กรณีแบบนี้ทันตแพทย์อาจพอมีวิธีที่จะช่วยจัดฟันให้คนไข้ได้ ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของทันตแพทย์เป็นกรณีไป
- บางตำแหน่งอาจใช้เป็นที่ยึดกับเครื่องมือจัดฟันได้ รากฟันเทียมมีความแข็งแรงและไม่สามารถขยับเขยื้อนได้ ทันตแพทย์อาจพิจารณาใช้เป็นแหล่งยึดเพื่อดึงฟันธรรมชาติเข้าสู่ตำแหน่งที่ต้องการได้ แต่กรณีนี้ทันตแพทย์มักเป็นคนวินิจฉัยให้ทำรากฟันเทียมก่อน
- รากฟันเทียมของผู้สูงอายุ ทันตแพทย์อาจใช้รากฟันเทียมเป็นแหล่งยึดเพื่อจัดฟันซี่อื่นๆ ในการจัดฟันได้
แต่อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ทุกกรณีที่จะสามารถจัดฟันได้หลังจากใส่รากฟันเทียม ฉะนั้นก่อนจะเริ่มจัดฟันหรือทำรากฟันเทียม ควรปรึกษาทันตแพทย์เพื่อวางแผนการรักษาร่วมกัน
ใส่ฟันปลอมจัดฟันได้ไหม?
ถ้าใส่ฟันปลอมเพียงแค่ 1-2 ซี่ สามารถจัดฟันได้ตามปกติ โดยถ้าเป็นฟันหน้า ทันตแพทย์จะดัดแปลงตัวซี่ฟันปลอม แล้วหิ้วแขวนไว้บนลวด
ฟันบางจัดฟันได้ไหม?
ผู้ที่มีเนื้อฟันบาง หรือเคลือบฟันสึกหลายคนอาจกังวลว่า จะไม่สามารถจัดฟันได้ จริงๆ แล้วสามารถจัดฟันได้ แนะนำให้ไปปรึกษาทันตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญก่อน ปกติแล้วก่อนการจัดฟัน ทันตแพทย์จะรักษาปัญหาของสุขภาพของช่องปากก่อนอยู่แล้ว
ขั้นตอนการจัดฟัน
การจัดฟันในแต่ละครั้งจะใช้เวลานานเป็นปีๆ จึงต้องมีการแบ่งขั้นตอนในการจัดฟัน เพื่อให้ผู้ที่จัดฟันเข้าใจกระบวนการและแผนการจัดฟันในระยะยาว ซึ่งจะแบ่งขั้นตอนหลักๆ ได้อยู่ 3 ขั้นตอน ดังนี้
1. ตรวจสุขภาพก่อนจัดฟัน
ก่อนการจัดฟันต้องมีการตรวจสุขภาพช่องปากและฟันอย่างละเอียด เพื่อรักษาโรคที่มีอยู่ให้เรียบร้อยเสียก่อน (ถ้ามี) เรามักเรียกขั้นตอนนี้ว่า "การเคลียร์ช่องปาก"
ยกตัวอย่าง เช่น ถ้ามีฟันผุต้องอุดเสียก่อน จากนั้นทันตแพทย์จะขูดหินปูน และอาจเคลือบร่องฟันที่มีหลุมลึก เพื่อป้องกันฟันผุในขณะจัดฟัน หากมีโรคเหงือกก็ต้องรีบรักษาก่อน หากมีฟันคุดก็ต้องเอาออก
เมื่อตรวจสุขภาพฟัน และรักษาฟันจนเสร็จเรียบแล้ว ก็จะไปยังขั้นตอนการจัดฟัน
2. การจัดฟัน
หลังจากตรวจสุขภาพฟันและรักษาจนผู้เข้ารับการจัดฟันมีสุขอนามัยช่องปากดีแล้ว ทันตแพทย์จะเริ่มประเมินลักษณะ รูปร่าง การจัดเรียงของฟัน ตรวจดูลักษณะของรากฟัน กระดูกที่รองรับบริเวณรากฟัน และลักษณะโครงสร้างใบหน้าโดยรวม ซึ่งต้องใช้การเอกซเรย์ 360 องศา พิมพ์แบบจำลองฟัน ถ่ายภาพฟันและใบหน้าไว้
จากนั้นจะประเมินว่า ควรใช้เครื่องมือจัดฟันรูปแบบใดซึ่งขึ้นอยู่กับสภาพปัญหาของฟัน ลักษณะกระดูกขากรรไกรของแต่ละคน รวมทั้งความพึงพอใจในเครื่องมือจัดฟันแต่ละประเภท
บางกรณีอาจต้องถอนฟันบางซี่ออกเพื่อให้มีพื้นที่เพียงพอในการจัดเรียงฟัน
จากนั้นทันตแพทย์จะนัดติดเครื่องมือจัดฟันพร้อมทั้งแนะนำวิธีการดูแลฟันหลังจากติดเครื่องมือแล้ว ในระหว่างที่จัดฟันผู้จัดฟันจะต้องได้รับการตรวจทำความสะอาดฟันโดยการขูดหินปูนเป็นระยะ
3. หลังติดเครื่องมือจัดฟัน
หลังจากนั้นทุกๆ เดือน ทันตแพทย์จะนัดปรับเครื่องมือจัดฟัน เพื่อให้แนวฟันค่อยๆ เคลื่อนเข้าในตำแหน่งที่ต้องการ
รูปแบบของการจัดฟันมีอะไรบ้าง
ในปัจจุบันการจัดฟันมีให้เลือกหลายรูปแบบ และยังเป็นทางเลือกให้กับผู้เข้ารับบริการหลากหลายประเภท เช่น
- การจัดฟันแบบโลหะธรรมดา มีจุดเด่นอยู่ที่สีสันของยางรัดลวดจัดฟัน และมักเป็นที่นิยมในกลุ่มวัยรุ่น แต่อาจมีข้อเสียคือ ผู้เข้ารับบริการจะต้องมามาพบทันตแพทย์ทุกเดือนเพื่อปรับอุปกรณ์
- การจัดฟันแบบเซรามิก มีจุดเด่นอยู่ที่อุปกรณ์จัดฟันซึ่งมีสีเหมือนเนื้อฟัน เหมาะกับผู้ที่ต้องการจัดฟันทุกเพศ ทุกวัย หรือผู้ที่ต้องการการดัดฟันที่ไม่มีสีฉูดฉาด
- การจัดฟันแบบดามอน มีจุดเด่นอยู่ที่ผู้เข้ารับบริการจะรู้สึกเจ็บน้อยกว่าขณะจัดฟัน และไม่ต้องมาพบทันตแพทย์ทุกเดือนด้วย
- การจัดฟันด้านใน มีจุดเด่นอยู่ที่อุปกรณ์จัดฟันซึ่งมีขนาดเล็กกว่าและจะถูกติดซ่อนอยู่ด้านหลังฟัน ทำให้มองจากภายนอกแล้วไม่เห็นอุปกรณ์จัดฟัน
- การจัดฟันแบบใสถอดได้ มีจุดเด่นตรงอุปกรณ์จัดฟันซึ่งจะครอบตัวฟันลงไปทั้งหมด มีความกลมกลืนไปกับเนื้อฟัน ถอดเข้าออกได้ง่าย ไม่เป็นคราบหินปูน มักเป็นที่นิยมในหมู่ดาราคนดัง
อุปกรณ์จัดฟัน
การจัดฟันจะใช้อุปกรณ์ต่าง ๆ เพื่อดัดแปลงตำแหน่งของฟัน โดยมีอยู่ 5 ชนิดด้วยกัน ดังนี้
1. อุปกรณ์จัดฟันแบบติดแน่น
เป็นอุปกรณ์จัดฟันที่พบได้บ่อยที่สุด เครื่องมือนี้ไม่สามารถถอดออกได้ เนื่องจากส่วนแบร็คเก็ตจะติดอยู่กับฟันแต่ละซี่ เชื่อมหากันด้วยเส้นลวด การจัดฟันเช่นนี้จะทำก็ต่อเมื่อต้องทำการเรียงฟันหลายซี่พร้อมกัน หรือใช้กับการรักษาที่ต้องการความแม่นยำสูง
เมื่อสวมใส่อุปกรณ์ประเภทนี้ ผู้จัดฟันสามารถรับประทานอาหารได้ แต่ควรเลี่ยงการเล่นกีฬาที่ต้องกระทบกระแทกกัน เช่น รักบี้ หากจำเป็นต้องทำกิจกรรมที่มีการกระทบกระแทกจริงๆ ควรสวมใส่ยางกันเหงือกเอาไว้เพื่อความปลอดภัยกับอุปกรณ์ ฟัน และช่องปาก
อีกทั้งควรหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีความแข็ง เหนียว และกรอบ เพราะอาจทำให้เครื่องมือหลุด หรือเสียหายได้
2. อุปกรณ์จัดฟันแบบถอดได้
เป็นเครื่องมือจัดฟันแบบถอดได้ อาจใช้ร่วมกับการจัดฟันติดแน่นก็ได้แล้วแต่แผนการรักษาที่ทันตแพทย์วางไว้ เครื่องมือเหล่านี้มีวัตถุประสงค์การใช้เฉพาะอย่าง เช่น เพื่อเคลื่อนฟันเฉพาะซี่ หรือแก้ไขความผิดปกติเฉพาะอย่าง หรือเพื่อกระตุ้น
หรือปรับปรุงการทำงานของกล้ามเนื้อในผู้ป่วยที่อยู่ในระยะการเจริญเติบโต เพื่อช่วยแก้ไข หรือปรับปรุงความผิดปกติของความสัมพันธ์ของกระดูกขากรรไกรบน และ/หรือขากรรไกรล่าง และการสบฟัน
อุปกรณ์ประเภทนี้จะจำกัดการเคลื่อนที่ตามธรรมชาติของฟัน และสามารถถอดออกเพื่อทำความสะอาดได้
3. เครื่องใช้กระตุ้นเพื่อการจัดฟัน
เป็นอุปกรณ์จัดฟันที่สามารถถอดได้มาเป็นคู่เชื่อมต่อกัน หรือออกแบบมาให้ติดเข้ากับฟันบนและฟันล่าง ทั้งนี้เครื่องใช้กระตุ้นเพื่อการจัดฟันจะใช้เพื่อแก้ปัญหาตำแหน่งของฟันบนกับกระดูกขากรรไกร หรือฟันล่างกับกระดูกขากรรไกรล่าง
ผู้จัดฟันต้องใส่อุปกรณ์ชิ้นนี้ตลอดเวลาและต้องปฏิบัติตามคำแนะนำของทันตแพทย์อย่างเคร่งครัด หากไม่ทำตามอาจทำให้การจัดฟันไม่ประสบผลสำเร็จ อุปกรณ์นี้สามารถถอดออกมาทำความสะอาด หรือถอดออกระหว่างการรับประทานอาหารได้เช่นกัน
4. อุปกรณ์รัดศีรษะ
อุปกรณ์รัดศีรษะใช้เพื่อควบคุมการเจริญเติบโตของกระดูกขากรรไกร
5. รีเทนเนอร์ (Retainer)
อุปกรณ์คงสภาพฟัน หรือรีเทนเนอร์มักถูกใช้ในช่วงท้ายของการจัดฟัน โดยรีเทนเนอร์จะช่วยในการคงตำแหน่งของฟันที่เพิ่งผ่านการจัดมาให้อยู่ตำแหน่งเดิมและทำให้เหงือกรวมถึงกระดูกจัดเรียงตัวให้รองรับตำแหน่งของฟันใหม่ รีเทนเนอร์นี้มีทั้งแบบถอดใส่ได้กับแบบติดถาวร
ทันตแพทย์จะแนะนำให้สวมใส่รีเทนเนอร์ตามระยะเวลาที่กำหนดซึ่งควรปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด เนื่องจากการถอดรีเทนเนอร์เป็นเวลานานๆ อาจทำให้ฟันเคลื่อนจากตำแหน่งที่จัดไปได้
ข้อควรปฏิบัติในระหว่างการจัดฟัน
- หลีกเลี่ยงการเคี้ยวอาหารแข็ง เหนียว และกรอบ เช่น น้ำแข็ง ปลาหมึก ถั่ว ลูกอม และหมากฝรั่ง ฯลฯ
- หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารหวานๆ หรือเครื่องดื่มอัดลม
- ควรรับประทานอาหารที่เคี้ยวง่าย
- การรับประทานผักผลไม้ควรตัดแบ่งออกเป็นชิ้นเล็กๆ แล้วเคี้ยวด้วยฟันกรามข้างหลัง
- ในระยะแรกของการจัดฟันมักจะเจ็บและมีผลข้างเคียงเกิดขึ้นในช่องปาก เช่น กระพุ้งแก้มเป็นแผล อาการจะค่อยๆ ดีขึ้นในช่วงสัปดาห์ที่ 2 ทั้งนี้สามารถบรรเทาอาการระคายเคืองเหล่านี้ด้วยการใช้ขี้ผึ้งที่ได้รับจากทันตแพทย์มาทาปิดไว้ก็จะช่วยทำให้แผลหายเร็วขึ้น
- ถ้าหากมีลวดเส้นเล็กๆ แทงริมฝีปาก หรือแก้ม ให้ใช้ยางลบดินสอเช็ดแอลกอฮอล์ แล้วกดปลายลวดเข้าไป หรือใช้ขี้ผึ้งที่ได้รับจากทันตแพทย์มาหุ้มปลายลวดไว้ ทั้งนี้สามารถไปพบทันตแพทย์เพื่อให้ช่วยตัดปลายลวดที่ทิ่มแก้มออกได้
- แปรงฟันทุกครั้งหลังรับประทานอาหาร และใช้ไหมขัดฟันอย่างน้อยวันละ 1 ครั้ง
- ในระหว่างจัดฟันควรพบทันตแพทย์เพื่อปรับเครื่องมือจัดฟันใหม่ตามนัดอย่างสม่ำเสมอ
- ควรพบทันตแพทย์ขูดหินปูนเพื่อทำความสะอาดฟันและตรวจฟันผุทุกๆ 6 เดือน
ผู้ที่จัดฟันจะมีโอกาสเกิดฟันผุมากขึ้น เนื่องจากมีเครื่องมือจัดฟันบดบังอยู่ตลอดทั้งแนวฟันจึงไม่สามารถทำความสะอาดฟันได้อย่างสะอาดหมดจด จนเชื้อแบคทีเรียในช่องปากเกิดการสะสมผสมกับเศษอาหารตกค้างและน้ำลาย เกิดการสร้างแผ่นเหนียวๆ ที่เรียกว่า "คราบจุลินทรีย์" เข้าไปเกาะตัวฟันจนทำให้ชั้นเคลือบฟันถูกทำลายไป สิ่งที่เกิดขึ้นนี้ทำให้ระหว่างการจัดฟันต้องดูแลรักษาฟันมากกว่าเดิม
ดังนั้น หากคิดจะจัดฟันจำเป็นต้องมีวินัยในการดูแลความสะอาดของฟัน เหงือก เครื่องมือจัดฟัน และต้องไปพบทันตแพทย์อย่างสม่ำเสมอ ไม่ใช่จัดฟันตามแฟชั่น หรือจัดฟันตามกระแสเท่านั้น เพราะหากคิดเช่นนี้ นอกจากผู้เข้ารับบริการจะเจ็บตัวและเสียเงินโดยใช่เหตุแล้ว แล้วยังอาจก่อปัญหาทางช่องปากอื่นๆ ตามมาได้
เปรียบเทียบราคาแพ็กเกจจัดฟันแบบต่างๆ
รวมบทความที่เกี่ยวข้องกับการจัดฟัน
- จัดฟันแบบโลหะ คืออะไร จัดนานแค่ไหน ใส่สีได้ไหม? อ่านสรุปที่นี่
- อุปกรณ์จัดฟัน มีอะไรบ้าง? รวมชื่อเครื่องมือทันตกรรมจัดฟัน
- การจัดฟันแบบดามอน คืออะไร ข้อดีข้อเสียเป็นอย่างไร?
- จัดฟันใส Giko ดีไหม? ใช้เวลานานแค่ไหน?
- จัดฟันใส Clear Aligner คืออะไร? ข้อดีข้อเสียเป็นยังไง?
- ลวดจัดฟันมีกี่แบบ แต่ละแบบแตกต่างกันอย่างไร?
ที่มาของข้อมูล
ปิด
ปิด
- Skidmore KJ, Brook KJ, Thomson WM, Harding WJ. Factors influencing treatment time in orthodontic patients. Am J Orthod Dentofacial Orthop. 2006;129(2):230-8. doi:10.1016/j.ajodo.2005.10.003 (https://www.ajodo.org/article/S0889-5406(05)01098-X/fulltext), 20 December 2019.
- Manosudprasit, A., Haghi, A., Allareddy, V., and M. Masoud. Diagnosis and Treatment Planning of Orthodontic Patients with 3-Dimensional Dentofacial Records. American Journal of Orthodontic and Dentofacial Orthopedics. 2017. 151(6):1083-1091. (https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pubmed/28554454), 20 December 2019.
- Corey Whelan, Orthodontic Headgear: Does It Help Improve Teeth? (https://www.healthline.com/health/dental-and-oral-health/headgear), 15 August 2020.