Orphenadrine (ออร์เฟนาดรีน)

Orphenadrine (ออร์เฟนาดรีน) มีผลด้านการคลายกล้ามเนื้อ ใช้บรรเทาอาการปวดในบางกรณี ยาออร์เฟนาดรีน ผสมพาราเซตามอล เป็นยาในกลุ่มยาคลายกล้ามเนื้อ มีตัวยา 2 ชนิด ได้แก่ ออร์เฟนาดรีนซิเตรท (Orphenadrine citrate) 35 มิลลิกรัม ผสมกับ พาราเซตามอล (Paracetamol) 450 มิลลิกรัม

สรรพคุณของยา Orphenadrine

มีข้อบ่งใช้สำหรับบรรเทาอาการปวดกล้ามเนื้อ เช่น

  • บรรเทาอาการปวดที่เกี่ยวข้องกับกล้ามเนื้อลาย เช่น ปวดแขน ปวดขา ปวดลำตัว หรือปวดหลังเฉียบพลัน
  • บรรเทาอาการปวดไมเกรน หรือโรคปวดศีรษะจากความเครียด (Tension headache) ซึ่งเกิดจากการบีบรัดของกล้ามเนื้อบริเวณศีรษะ และคอ
  • บรรเทาอาการปวดรูมาตอยด์นอกข้อ (Non-articulations rheumatism)

หากปวดศีรษะทั่วไป แนะนำให้ใช้ยากลุ่มบรรเทาอาการปวด เช่น พาราเซตามอล หรือยาในกลุ่ม NSAID เช่น ไอบูโพรเฟน (ibuprofen) นาพรอกเซน (Naproxen) จะเหมาะสมกว่า เพราะยังไม่มีข้อมูลการใช้ยาชนิดนี้ เพื่อรักษาอาการปวดศีรษะทั่วไป แม้จะมีพาราเซตามอลเป็นส่วนประกอบก็ตาม

กลไกการออกฤทธิ์ยา Orphenadrine

การออกฤทธิ์ของยา แบ่งเป็น 2 กลไกตามตัวยาที่ผสมอยู่

ตัวยาออร์เฟนาดรีน (Orphenadrine) ออกฤทธิ์ต่อระบบประสาทส่วนกลาง ทำให้กล้ามเนื้อลายทั่วร่างกาย และกล้ามเนื้อบริเวณรอบศีรษะ คลายตัว ลดอาการตึง และบรรเทาอาการปวดจากการหดเกร็งของกล้ามเนื้อได้ อย่างไรก็ตาม การออกฤทธิ์ของยาออร์เฟนาดรีนค่อนข้างซับซ้อน ปัจจุบันยังไม่สามารถเข้าใจได้ทั้งหมด แต่คาดว่า

  • มีฤทธิ์ต้านโคลิเนอร์จิก (Anticholinergic)
  • มีฤทธิ์เป็นยาชาเฉพาะที่
  • มีฤทธิ์ต้านฮีสตามีน สารที่ทำให้เกิดอาการแพ้ (Antihistamine)

ตัวยาพาราเซตามอล มีฤทธิ์ลดอาการปวด ลดไข้ และต้านการอักเสบ

ผลจากยาสองชนิด ทำให้ถูกใช้เป็นยาคลายกล้ามเนื้อ และบรรเทาอาการปวดในคราวเดียวกันนั่นเอง มีวางจำหน่ายในร้านขายยาแผนปัจจุบันที่มีเภสัชกรชั้นหนึ่งเป็นผู้จ่ายยา เนื่องจากจัดอยู่ในกลุ่มยาอันตราย

วิธีการใช้ยา Orphenadrine อย่างถูกต้อง และปลอดภัย

  • ในไทย วางจำหน่ายในรูปแบบยาเม็ดรับประทาน บรรจุในแผงอะลูมิเนียม แผงละ 10 เม็ด
  • ขนาดการใช้ในผู้ใหญ่ รับประทานครั้งละ 2 เม็ด วันละ 3 ครั้ง ก่อน หรือหลังมื้ออาหารก็ได้
  • เมื่ออาการปวดบรรเทา สามารถหยุดใช้ยาได้ทันที
  • อย่างไรก็ตาม หากเกิดการระคายเคืองกระเพาะอาหาร แนะนำให้รับประทานยาพร้อมมื้ออาหาร

ผลข้างเคียงจากการใช้ยา Orphenadrine

อาการอันไม่พึงประสงค์ของ Orphenadrine ได้แก่ คลื่นไส้ ปากแห้ง มองเห็นภาพไม่ชัด ส่วนอาการที่พบได้น้อย ได้แก่ อาการแพ้ และง่วงซึม

ไม่แนะนำให้ใช้ยาติดต่อกันในระยะยาว เนื่องจากตัวยาพาราเซตามอลเป็นพิษต่อตับ

ผู้ที่ควรระวังการใช้ยา Orphenadrine

ผู้ป่วยที่มีโรคต่อไปนี้ ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาเพื่อความปลอดภัย

  • ผู้ป่วยโรคต้อหิน โดยเฉพาะต้อหินมุมแคบ เนื่องจากกลไกของยาอาจคล้ายกับยาอะโทรปีน (Atropine) ซึ่งทำให้เกิดความดันลูกตาสูงได้
  • ผู้ป่วยโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง (Myasthenia gravis)
  • ผู้ป่วยโรคต่อมลูกหมากโต หรือกระเพาะปัสสาวะส่วนคออุดตัน
  • ผู้ป่วยโรคหัวใจ เช่น หัวใจเต้นผิดจังหวะ หัวใจเต้นเร็วกว่าปกติ หรือโรคหลอดเลือดหัวใจอุดตัน
  • ผู้ที่มีภาวะตับ หรือไตบกพร่อง
  • สตรีมีครรภ์ และสตรีให้นมบุตร

ยาออร์เฟนาดรีนเป็นยาอันตรายที่ต้องใช้ภายใต้การดูแลของแพทย์ หรือเภสัชกร หากอาการปวดไม่ดีขึ้นหลังการใช้ยา หรือยังมีอาการปวดศีรษะเรื้อรังอยู่ อาจเกิดจากสาเหตุอื่นที่ไม่ใช่กล้ามเนื้อผิดปกติ ควรไปพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยหาสาเหตุ และรักษาด้วยวิธีที่เหมาะสม


เปรียบเทียบราคาและแพ็กเกจตรวจสุขภาพ

Scroll to Top