การนอนกรน ไม่ใช่เพียงแค่เสียบุคลิกภาพหรือสร้างความรำคาญให้กับคนที่อยู่ใกล้เท่านั้น แต่อาจสร้างปัญหาสุขภาพมากกว่าที่คิด ไม่ว่าจะเป็น ความดันโลหิต โรคหัวใจ โรคสมอง ตลอดจนบ่งบอกถึงภาวะหยุดหายใจขณะหลับอีกด้วย แล้วอาการกรนแบบไหนที่บ่งบอกถึงอันตราย และเราจะรักษาได้อย่างไร
สารบัญ
อาการนอนกรนคืออะไร?
อาการนอนกรน (Snoring) คือภาวะการเกิดเสียงผิดปกติขณะนอนหลับ ซึ่งเสียงนี้จะเกิดขึ้นเมื่อมีการปิดกั้นของทางเดินหายใจส่วนต้น ทำให้ลมหายใจผ่านลงไปไม่สะดวก ส่งผลให้เกิดการสั่นสะเทือนของอวัยวะในระบบทางเดินหายใจ เช่น เพดานอ่อน ลิ้นไก่ ผนังคอหอย และ ลิ้น เกิดเป็นเสียงกรนขึ้นที่บริเวณลำคอระหว่างหายใจเข้า ซึ่งเป็นอาการร่วมกันระหว่างทางเดินหายใจที่ถูกปิดกั้นและอวัยวะภายในลำคอสั่น โดยมักเกิดขึ้นในช่วงของการหลับลึก และมักกรนดังมากขึ้นเมื่ออยู่ในท่านอนหงาย
โดยเสียงที่เกิดขึ้นจะแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับตำแหน่งของอวัยวะที่เกิดการสั่น เช่น หากเนื้อเยื่ออ่อนบริเวณด้านหลังของโพรงจมูกสั่นจะทำให้เกิดเสียงขึ้นจมูก หรือหากเพดานอ่อนหรือลิ้นไก่สั่นจะทำให้เกิดเสียงดังในลำคอ เป็นต้น
การนอนกรนพบได้ในชายไทยประมาณร้อยละ 40 หญิงไทย ร้อยละ 20 และมักมีอาการหนักขึ้นเมื่ออายุมากขึ้น และคนอ้วนมีโอกาสมีอาการนอนกรนมากกว่าคนทั่วไป ถึง 3 เท่า โดยผู้ที่มีอาการนอนกรนจะเสี่ยงต่อการเกิดโรคต่างๆ เช่น โรคความดันโลหิต โรคหัวใจ โรคสมอง เป็นต้น ในรายที่เป็นมากมีโอกาสเป็นโรคหยุดหายใจขณะหลับตามมา นอกจากนี้ยังสร้างปัญหาให้กับผู้ที่อยู่ใกล้ชิด เช่น สร้างความรำคาญ ทำให้นอนไม่หลับ ส่งผลให้ผู้อยู่ใกล้ชิดพักผ่อนไม่เพียงพอ และยังอาจส่งผลต่อความสัมพันธ์ที่ไม่ราบรื่นอีกด้วย
สาเหตุของอาการนอนกรน
การนอนกรนเกิดจากทางเดินหายใจตอนบนตีบแคบลงหรือถูกปิดกั้น ทำให้ลมหายใจที่ผ่านเข้ามาผ่านช่องที่แคบนี้ เกิดการกระพือ และกลายเป็นเสียงกรนขึ้นดังที่กล่าวมาแล้ว ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุดังต่อไปนี้
- การนอนหงาย และความเหนื่อย เนื่องจาก ขณะนอนหลับ กล้ามเนื้อต่างๆ จะหย่อนตัวหรือคลายตัวลงตามธรรมชาติ ทำให้อวัยวะในช่องทางเดินหายใจ เช่น เพดานอ่อน หรือโคนลิ้น หย่อนลงมาทำให้ทางเดินหายใจตีบแคบลงได้
- ความอ้วน หรือผู้ที่มีค่าดัชนีมวลกาย (BMI) เกินกว่าปกติ ซึ่งโดยปกติไม่ควรมีน้ำหนักเกิน [ 23 x (ส่วนสูงเป็นเมตร) x (ส่วนสูงเป็นเมตร) ] ตลอดจนผู้มีคอหนามาก หรือ ผู้ที่มีต่อมทอนซิลหรือต่อมแอดีนอยด์โต อาจทำให้ไขมันสะสมอยู่ที่เนื้อเยื่อรอบช่องคอมากทำให้ทางเดินหายใจแคบลง
- เป็นภูมิแพ้ ไซนัสอักเสบ ริดสีดวงจมูก หรือผู้ที่มีโครงสร้างของจมูกผิดปกติ สันจมูกเบี้ยวหรือคด อาจทำให้ทางเดินหายใจบริเวณจมูกถูกปิดกั้น
- ดื่มแอลกอฮอล์ สูบบุหรี่ ใช้ยาที่ทำให้เกิดอาการง่วง เช่น ยาแก้แพ้ ยานอนหลับ ยาคลายเครียด อาจทำให้ลิ้นและกล้ามเนื้อที่ลำคอหย่อนคลายตัว และถอยกลับไปปิดกั้นทางเดินหายใจ
- ลิ้นไก่ใหญ่กว่าปกติ โคนลิ้นอ้วน เพดานอ่อนหรือลิ้นไก่ยาว อาจทำให้ทางเดินหายใจหลังจมูกและลำคอตีบแคบลง และเมื่อเพดานอ่อนหรือลิ้นไก่สั่นหรือชนกันจะไปปิดกั้นทางเดินหายใจ
- มีโครงหน้าเล็ก คางเล็ก คางหลุบ อาจทำให้ท่อทางเดินหายใจเปิดแคบลง ซึ่งจะพบค่อนข้างมากในคนแทบทวีปเอเชีย หรือมีลักษณะโครงสร้างกระดูกใบหน้าที่มีคางสั้น ก็อาจส่งผลให้เกิดเสียงกรนเช่นกัน
- ผู้สูงอายุ ผู้หญิงเข้าวัยหมดประจำเดือน หรือเป็นโรคระบบประสาท โรคทางสมอง จะส่งผลให้กล้ามเนื้อจะหย่อนตัวได้ง่ายขึ้น
- กรรมพันธุ์ ผู้ที่มีพ่อแม่ปู่ย่าตายายมีอาการกรน มีโอกาสที่จะนอนกรนสูงกว่าคนทั่วไป
นอนกรน อันตรายหรือไม่?
อาการกรนจะมีอันตรายหรือไม่ ขึ้นอยู่กับระดับหรือประเภทของการนอนกรน โดยการนอนอย่างปกติจะไม่มีเสียง หรือมีเสียงหายใจตามปกติ หากกรน ก็จะเพียงแค่เสียงเบาๆ แต่หากเสียงกรนดัง อาจเป็นการนอนกรนที่อันตราย โดยสามารถแบ่งอาการกรนออกเป็นทั้งหมด 3 ระดับ ดังนี้ คือ
- กรนธรรมดา (Primary Snoring) เป็นการนอนกรนแบบปกติ คือกรนบ้างแต่ไม่บ่อยและเสียงไม่ดังมาก ซึ่งยังไม่ส่งผลต่อการหายใจในขณะนอนหลับ คือไม่มีภาวะหยุดหายใจขณะหลับร่วมด้วย แต่อาจส่งผลกระทบต่อผู้ใกล้ชิด ที่ได้ยินเสียงกรน ซึ่งอาจก่อให้เกิดความรำคาญหรือนอนไม่หลับ ส่งผลต่อสุขภาพการนอนหลับได้
- ภาวะก้ำกึ่งระหว่างกรนธรรมดาและกรนอันตราย (Upper Airway Resistance Syndrome) เป็นการกรนที่เกิดขึ้นบ่อยกว่าระดับที่ 1 หรือประมาณมากกว่า 3 วันต่อสัปดาห์ โดยการกรนในระดับนี้อาจส่งผลต่อการหายใจระดับน้อยถึงปานกลางขณะหลับ และส่งผลให้รู้สึกง่วงและเหนื่อยในเวลากลางวันได้
- กรนอันตราย (Obstructive Sleep Apnea: OSA) คือการนอนกรนเป็นประจำทุกวันและมีเสียงดัง มักเกิดภาวะหยุดหายในขณะหลับร่วมด้วย และอาจทำให้ทางเดินหายใจถูกปิดกั้นบางส่วนหรือทั้งหมดอยู่ชั่วครู่ ทำให้ออกซิเจนไปเลี้ยงสมองไม่เพียงพอและส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวัน หากไม่รักษามักเกิดอาการอ่อนเพลีย ง่วงมากผิดปกติในเวลากลางวัน สุขภาพจิตเสีย สมาธิและความจำถดถอย หรืออาจเกิดอาการหลับในขณะขับรถได้ ทั้งยังอาจส่งผลให้การเผาผลาญอาหารของร่างกายด้อยประสิทธิภาพลง ทำให้เกิดโรคอ้วนและเบาหวานได้ และในเพศชายมีความเสี่ยงที่ฮอร์โมนเพศชายจะลดลงส่งผลให้เสื่อมสมรรถภาพทางเพศได้ นอกจากนี้ยังส่งผลให้มีความเสี่ยงสูงที่จะเป็นโรคหรือภาวะต่างๆ เช่น ความดันโลหิตสูง โรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันจากการขาดเลือด ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ โรคความดันโลหิตในปอดสูง โรคหลอดเลือดในสมอง
ดังนั้น จะเห็นได้ว่า หากกรนในระดับที่ 1 นั้น ยังไม่น่ากังวลใจนัก หากขยับมาเป็นระดับที่ 2 จะมีผลกระทบต่อชีวิตประจำวันและมีโอกาสเสี่ยงอันตรายบ้าง แต่หากเป็นการกรนในระดับที่ 3 หรือระดับที่มีภาวะหยุดหายใจร่วมด้วย นอกจากส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวันแล้ว ยังส่งผลเสียต่อสุขภาพทั้งสุขภาพกายและสุขภาพจิตอย่างมาก
อาการกรนแบบใดที่ควรพบแพทย์?
โดยทั่วไป ผู้ที่นอนกรนมักไม่รู้ตัวไม่ได้ยินเสียงกรนของตนเอง จะรู้จากคนใกล้ชิดบอก แต่ก็ยังมีบางคนที่ได้ยินเสียงกรนของตนเองตอนใกล้ตื่น หรือขณะเคลิ้มหลับ แต่ก็เป็นส่วนน้อยมาก ดังนั้น หากได้ข้อมูลจากคนใกล้ชิด ร่วมกับการสังเกตตนเองว่ามีอาการที่บ่งบอกถึงภาวะหยุดหายใจขณะหลับ ควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อหาแนวทางในการรักษาที่เหมาะสมต่อไป
โดยอาการต่างๆ เหล่านั้น ได้แก่
- กรนเสียงดังมาก จนรบกวนผู้ใกล้ชิด
- กรนเสียงดังและเสียงค่อยสลับกันเป็นช่วงๆ แต่โดยรวมจะดังขึ้นเรื่อยๆ
- กรนและมีอาการสะดุ้งเฮือก หายใจแรงเหมือนคนขาดอากาศ หรือมีอาการเหมือนสำลักน้ำลายตนเอง
- เสียงกรนมีลักษณะขาดๆ หายๆ เหมือนคนหายใจติดขัด หายใจไม่สะดวก
- นอนกระสับกระส่ายและมีเหงื่อออก
- ตื่นมาปัสสาวะบ่อย ตอนกลางคืน
- ตื่นนอนมารู้สึกไม่สดชื่น เหมือนนอนไม่พอ ทั้งที่ใช้เวลานอนไม่น้อยกว่าปกติ
- ตื่นนอนมารู้สึกมึนศีรษะต้องนอนต่ออีกเป็นประจำ
- มีอาการวิงเวียน ปวดศีรษะ ง่วงมากผิดปกติ ในเวลากลางวัน
หากพบว่ามีอาการดังที่กล่าวมาหลายข้อ ควรรีบพบแพทย์
การตรวจอาการกรน
แพทย์ที่ควรไปพบเพื่อปรึกษาอาการนอนกรน ควรเป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการนอนหลับโดยเฉพาะ เช่น แพทย์หู คอ จมูก (โสตศอนาสิกวิทยา) แพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคระบบหายใจ (Pulmonologist) หรือแพทย์ระบบสมอง (Neurologist) เป็นต้น โดยควรพาบุคคลใกล้ชิด เช่น สามีภรรยา หรือครอบครัวที่เห็นอาการของผู้นอนกรนไปด้วย
โดยการตรวจวินิจฉัยโรคนอนกรน มีวิธีดังนี้
- เบื้องต้นแพทย์มักตรวจดูสรีระบริเวณ ศีรษะ คอ จมูก และช่องปาก เพื่อประเมินลักษณะทางเดินหายใจส่วนต้น ว่าเป็นสาเหตุของอาการนอนกรนหรือไม่ อย่างไร
- แพทย์อาจขอส่องกล้อง เพื่อดูช่องทางเดินหายใจส่วนบนอย่างละเอียด (Upper Airway Endoscopy) ซึ่งจะทำให้ทราบถึงตำแหน่ง และสาเหตุของการอุดกั้นทางเดินหายใจส่วนบนได้
- ท้ายที่สุด แพทย์มักให้ตรวจสุขภาพการนอนหลับ (Sleep Test หรือ Polysomnography) ซึ่งจะสามารถแยกได้ว่าเป็นนอนกรนระดับใด และสามารถบอกได้ว่ามีภาวะหยุดหายใจขณะหลับมากน้อยเพียงใด เพื่อประเมินความรุนแรงของการหยุดหายใจ ช่วยให้แพทย์วางแผนการรักษาได้ดีขึ้น
- ในกรณีผู้นอนกรนในระดับที่รุนแรง แพทย์อาจใช้วิธีอื่นร่วมด้วย คือ การเอกซเรย์ (X-Rays) การตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT Scan) หรือการตรวจด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) เพื่อตรวจสอบความผิดปกติหรือโครงสร้างของทางเดินหายใจ
รักษาอาการนอนกรนมีกี่วิธี?
การรักษาอาการนอนกรน แบ่งได้ 2 วิธีหลักๆ คือ การรักษาอาการนอนกรนแบบไม่ผ่าตัด และ การรักษาอาการนอนกรนแบบผ่าตัด ซึ่งผู้รับการรักษาสามารถเลือกได้ โดยทั่วไปแพทย์จะแนะนำให้ใช้วิธีแบบไม่ผ่าตัดก่อน หากไม่ดีขึ้น หรือไม่สะดวก ก็สามารถเลือกวิธีผ่าตัดได้
1. การรักษาอาการนอนกรนแบบไม่ผ่าตัด
การรักษานอนกรนแบบวิธีไม่ผ่าตัด มีทั้งการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม และการใช้อุปกรณ์ช่วยดังนี้
- ลดน้ำหนัก กรณีที่ผู้รับการรักษามีน้ำหนักเกินค่ามาตรฐาน ควรลดน้ำหนักให้อยู่ในระดับที่แพทย์แนะนำ เนื่องจากผู้ที่มีน้ำหนักเกิน จะมีไขมันมาพอกรอบคอหรือทางเดินหายใจส่วนบน ทำให้ทางเดินหายใจส่วนบนตีบแคบลง เมื่อลดน้ำหนักจะช่วยลดไขมันและทำให้ทางเดินหายใจส่วนบนกว้างขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้ อาการนอนกรนหรือภาวะหยุดหายใจขณะหลับลดลงไป
- ออกกำลังกาย เมื่ออายุมากขึ้น เนื้อเยื่อในทางเดินหายใจส่วนบนจะหย่อนยานไปตามอายุ ทำให้ทางเดินหายใจส่วนบนตีบแคบขึ้น ส่งผลให้มีอาการนอนกรน หรือมีภาวะหยุดหายใจขณะหลับมากขึ้นได้ ซึ่งการออกกำลังกายเป็นประจำอย่างน้อยวันละ 30 นาที สัปดาห์ละ 3 วัน จะช่วยให้เพิ่มความตึงตัวให้กับกล้ามเนื้อบริเวณคอหอย ทำให้มีการหย่อนและอุดกั้นทางเดินหายใจน้อยลง ช่วยป้องกันความหย่อนยานดังกล่าว รวมถึงช่วยควบคุมหรือลดน้ำหนักอีกด้วย โดยควรออกกำลังกายที่ทำให้หัวใจเต้นเร็วขึ้นหายใจเร็วขึ้นอย่างต่อเนื่อง เช่น ว่ายน้ำ เดินเร็ว วิ่ง ขี่จักรยาน เต้นแอโรบิค ฟุตบอล เทนนิส แบดมินตัน ปิงปอง บาสเกตบอล ฯลฯ
- หลีกเลี่ยงแอลกอฮอล์และยาชนิดที่ทำให้ง่วง หลีกเลี่ยง ยานอนหลับ ยากล่อมประสาท ยาแก้แพ้ชนิดง่วง เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่มีฤทธิ์กดประสาทส่วนกลาง เช่น เบียร์ ไวน์ วิสกี้ ฯลฯ เพราะจะทำให้กล้ามเนื้อทางเดินหายใจส่วนบนคลายตัวมากขึ้น และสมองตื่นตัวช้าลง ทำให้มีการอุดกั้นทางเดินหายใจส่วนบนมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้มีอาการนอนกรน หรือภาวะหยุดหายใจขณะหลับมากขึ้น นอกจากนี้เครื่องดื่มแอลกอฮอล์มักมีแคลอรี่สูง จะทำให้อ้วนง่าย ทำให้ทางเดินหายใจส่วนบนแคบลงดังที่กล่าวมาแล้ว
- หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ ควรหลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่หรือสัมผัสควันบุหรี่ ประมาณ 4-6 ชั่วโมง ก่อนนอน เพราะการสูบบุหรี่จะทำให้เนื้อเยื่อในระบบทางเดินหายใจส่วนบนบวม ทำให้มีการอุดกั้นทางเดินหายใจส่วนบนมากขึ้น นอกจากนี้สารนิโคตินอาจกระตุ้นสมองให้ตื่นตัว และนอนไม่หลับ หรือหลับได้ไม่เพราะสมองก็จะได้รับออกซิเจนน้อยลงทำให้ต้องตื่นขึ้นมาเพื่อหายใจเรื่อยๆ
- นอนศีรษะสูง และนอนตะแคง การนอนให้ศีรษะสูงเล็กน้อย ประมาณ 30 องศาจากแนวพื้นราบ จะช่วยลดบวมของเนื้อเยื่อในระบบทางเดินหายใจส่วนบนได้บ้าง และการนอนตะแคง ซึ่งอาจทำได้โดยการใช้หมอนข้างมาหนุนที่หลัง เพื่อป้องกันไม่ให้มีการอุดตันทางเดินหายใจส่วนบนขณะนอนหงาย
- ใช้ยาสเตียรอยด์พ่นจมูก ใช้ยาสเตียรอยด์พ่นจมูกวันละ 1 ครั้งก่อนนอน จะทำให้เยื่อบุจมูกยุบ ทำให้ทางเดินหายใจโล่งขึ้น และยังช่วยหล่อลื่น ส่งผลให้การสะบัดตัวของเพดานอ่อนและลิ้นไก่น้อยลง ทำให้เสียงกรนเบาลงได้
- ดูแลความสะอาดอยู่เสมอ ลองเช็กความสะอาดของเครื่องนอนว่ามีสิ่งสกปรก ฝุ่น หรือแมลงติดอยู่หรือไม่ และทำความสะอาดอย่างสม่ำเสมอ ไม่ว่าจะเป็น หมอน หมอนข้าง ผ้าปูเตียง หรือ ผ้าห่ม เพราะหากมีสิ่งสกปรกหรือเชื้อโรคติดอยู่ อาจทำให้เกิดหอบหืด ภูมิแพ้ได้ ซึ่งจะส่งผลให้ช่องทางเดินหายใจตีบแคบ และเกิดอาการกรนได้
- การใช้เครื่องเป่าลมในทางเดินหายใจส่วนบน (Continuous Positive Airway Pressure: CPAP)เครื่องเป่าลมในทางเดินหายใจส่วนบน หรือ CPAP เป็นเครื่องที่ผลิตแรงดันอากาศให้เพียงพอในการเปิดทางเดินหายใจในขณะหายใจทั้งเข้าและออก ซึ่งเป็นวิธีที่แพทย์มักแนะนำให้ผู้ที่มีภาวะนอนกรนลองใช้ก่อนเลือกพิจารณาการผ่าตัด โดยเครื่อง CPAP จะเป่าลมผ่านทางหน้ากากครอบจมูกหรือปากเข้าไปช่วยถ่างทางเดินหายใจให้กว้างออก (Pneumatic Splint) ทำให้ไม่มีการอัดกั้นทางเดินหายใจ ผู้ใช้อาจรู้สึกอึดอัดบ้างในช่วงแรก แต่จะรู้สึกคุ้นเคยขึ้นเมื่อใช้ไปสักพัก เหมาะสำหรับผู้ที่นอนกรนระดับนอนกรนธรรมดา ระดับภาวะก่ำกึ่งระหว่างกรนธรรมดาและกรนอันตราย และระดับกรนอันตรายที่มีความรุนแรงอยู่ในระดับน้อยถึงปานกลาง
- การใช้เครื่องมือทางทันตกรรม (Oral Appliance) ในบางรายที่ไม่สามารถใช้เครื่อง CPAP ได้ แพทย์จะแนะนำการใช้เครื่องมือทางทันตกรรม ซึ่งจะช่วยยึดขากรรไกรบนและล่างเข้าด้วยกัน และเลื่อนขากรรไกรล่างมาทางด้านหน้า ช่วยป้องกันไม่ให้ลิ้นและขากรรไกรตกลง ซึ่งจะทำให้ทางเดินหายใจส่วนบนกว้างขึ้น เหมาะสำหรับผู้ที่นอนกรนระดับนอนกรนธรรมดา ระดับภาวะก่ำกึ่งระหว่างกรนธรรมดาและกรนอันตราย และระดับกรนอันตรายที่มีความรุนแรงอยู่ในระดับน้อยถึงปานกลาง แต่อุปกรณ์นี้มีข้อจำกัดหลายอย่าง เช่น หากดึงขากรรไกรมากไปอาจทำให้เจ็บกราม หรืออาจส่งผลทำให้การสบฟันผิดไปจากปกติได้
2. การรักษาอาการนอนกรนแบบผ่าตัด
การรักษาอาการนอนกรนด้วยวิธีผ่าตัด มักเกิดขึ้นหลังจากการรักษาด้วยวิธีไม่ผ่าตัดแล้วไม่ได้ผล มีจุดประสงค์เพื่อขยายทางเดินหายใจส่วนบนให้กว้างขึ้น โดยการผ่าตัดเพื่อรักษาอาการกรนนั้น มีหลายวิธี เช่น การฝังพิลลาร์เพดานอ่อน การใช้คลื่นวิทยุจี้ การผ่าตัดต่อมทอลซิล การผ่าตัดตกแต่งเพดานอ่อน การผ่าตัดบริเวณโคนลิ้น การผ่าตัดเลื่อนกรามและขากรรไกร เป็นต้น
ซึ่งวิธีที่เป็นที่นิยมและได้ผลดี มีหลักๆ 2 วิธีคือ
2.1. ฝังพิลลาร์เพดานอ่อนรักษาอาการนอนกรน
การฝังพิลลาร์ (Pillar) เข้าไปในเพดานอ่อน เป็นการรักษาการนอนกรนด้วยการฝังวัสดุทางการแพทย์ลงไปในบริเวณเพดานอ่อน ซึ่งวัสดุทางการแพทย์นี้จะทำมาจากโพลิเอสเตอร์ที่อ่อนนุ่ม มีลักษณะเป็นแท่งเล็กๆ 3 แท่ง มีความยาว 1.8 เซนติเมตร กว้าง 2 มิลลิเมตร โดยเมื่อฝังเข้าไปในเพดานอ่อนด้วยเครื่องมือที่ได้รับการออกแบบมาโดยเฉพาะแล้ว จะไม่ไปตัดหรือทำลายเนื้อเยื่อของเพดานอ่อน
พิลลาร์จะช่วยลดการสั่นสะเทือนหรือการสะบัดตัวของเพดานอ่อน และพยุงไม่ให้เพดานอ่อนมาปิดทางเดินหายใจ และเมื่อฝังพิลลาร์ไปสักระยะหนึ่งแล้ว เนื้อเยื่อของเพดานอ่อนจะตอบสนองต่อแท่งพิลลาร์ เกิดเป็นพังผืด (Fibrosis) ช่วยเพิ่มความแข็งแรงของโครงสร้างของเพดานอ่อนมากขึ้น ส่งผลให้หายใจได้สะดวกขึ้น อาการนอนกรนและภาวะหยุดหายใจขณะหลับน้อยลง โดยไม่รบกวนการพูด การกลืน หรือการทำงานตามปกติของเพดานอ่อน
โดยปกติ หลังผ่าตัดประมาณ 1-2 สัปดาห์ แผลจะหายเป็นปกติ และจะเห็นผลลัพธ์ชัดเจนภายใน 6-12 สัปดาห์ โดยหากต้องการเอาแท่งพิลลาร์ออกหลังจากใส่ไปได้สักระยะหนึ่งแล้ว ก็สามารถทำได้
ฝังพิลลาร์เพดานอ่อนเหมาะกับใคร?
- การรักษาโดยใช้พิลลาร์จะได้ผลดีในผู้ที่มีการอุดกั้นของทางเดินหายใจระดับเพดานอ่อนเท่านั้น
- ผู้ที่มีอายุมากกว่า 18 ปีขึ้นไป
- ผู้ที่มีอาการนอนกรนธรรมดา ไม่มีภาวะหยุดหายใจขณะหลับร่วมด้วย หรือเป็นผู้ที่มีภาวะก้ำกึ่งระหว่างกรนธรรมดาและกรนอันตราย หรือเป็นผู้ที่มีภาวะหยุดหายใจขณะหลับที่มีความรุนแรงน้อย
- อาจใช้เป็นการรักษาร่วมในผู้ที่มีภาวะหยุดหายใจขณะหลับชนิดปานกลางถึงรุนแรง ที่มีการอุดกั้นของทางเดินหายใจระดับเพดานอ่อนร่วมด้วย
ข้อดีของการฝังพิลลาร์เพดานอ่อน
- มั่นใจได้ในความปลอดภัยของวัสดุที่ใช้ผลิตพิลลาร์
- มั่นใจได้ในวิธีการรักษาที่ได้รับการรับรองและผ่านการทดสอบความปลอดภัยจากองค์การอาหารและยาของประเทศสหรัฐอเมริกา
- พบภาวะแทรกซ้อนน้อยมาก
- การรักษาทำผ่านช่องปาก จึงไม่มีบาดแผลใดๆ ที่มองเห็นได้จากภายนอก
- อาการปวดหรือเจ็บแผลหลังผ่าตัดน้อยกว่าวิธีอื่นๆ
- หลังการรักษา สามารถรับประทานอาหาร และทำกิจวัตรประจำวันได้ตามปกติ โดยจะไม่รู้สึกรำคาญหรือระคายเคืองในขณะที่กลืนอาหารหรือพูด
- ผลการวิจัยพบว่าเสียงกรนลดลงอย่างชัดเจน ในผู้รับการรักษาส่วนใหญ่
- เนื่องจากใช้ยาชาเฉพาะที่ โดยทั่วไปผู้รับการรักษาจึงไม่จำเป็นต้องนอนโรงพยาบาล
- การรักษาเสร็จสมบูรณ์ในครั้งเดียวและใช้เวลาไม่นาน
ข้อเสียของการฝังพิลลาร์เพดานอ่อน
- ในการใช้ยาชาเฉพาะที่ อาจมีโอกาสเสี่ยงที่จะเกิดผลข้างเคียง เช่น ใจสั่น หน้ามืด เป็นลม หูอื้อ แต่อาการเหล่านี้มักหายได้เอง
- อาจพบภาวะแทรกซ้อนได้ เช่น เลือดออกจากแผล ซึ่งปกติมักมีปริมาณน้อยและหยุดได้เอง แผลผ่าตัดติดเชื้อ พิลเลอร์หลุด โผล่ สำลักพิลเลอร์ ซึ่งพบได้น้อยมาก และแพทย์สามารถแก้ไขได้
- อาจจะมีไข้ หรือมีอาการบวม หรือรู้สึกรำคาญ คล้ายมีสิ่งแปลกปลอมบริเวณคอ หรือมีเสียงเปลี่ยน ซึ่งอาการเหล่านี้มักหายไปเองภายใน 1 สัปดาห์
- ในกรณีที่ผู้รับการรักษามีการอุดกั้นของระบบทางเดินหายใจส่วนบนตำแหน่งอื่น เช่น จมูก หรือโคนลิ้นร่วมด้วย อาจทำให้ผลการรักษาโดยใช้พิลลาร์อย่างเดียวไม่ได้ผลดีเท่าที่ควร
- ในผู้ที่มีภาวะหยุดหายใจขณะหลับและมีโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ หรือโรคปอดร่วมด้วย จะพบอัตราเสี่ยงของการเกิดภาวะแทรกซ้อนได้สูงขึ้น
ข้อควรระวังของการฝังพิลลาร์เพดานอ่อน
การผ่าตัดชนิดนี้ควรทำเมื่อผู้รับการรักษามีร่างกายแข็งแรงสมบูรณ์ดี ไม่เป็นหวัดหรือมีการติดเชื้อของระบบทางเดินหายใจชนิดเฉียบพลัน
การดูแลตนเองก่อนผ่าตัดฝังพิลลาร์เพดานอ่อน
- พักผ่อนให้เพียงพอ และดูแลรักษาสุขภาพให้แข็งแรงก่อนผ่าตัด
- ระมัดระวังป้องกันตนเองไม่ให้เป็นไข้หวัด หรือการติดเชื้อของระบบทางเดินหายใจส่วนบน ซึ่งอาจทำให้ต้องเลื่อนการผ่าตัดออกไป
- กรณีผู้ที่รับประทานยาบางชนิด เช่น แอสไพริน หรือ ยาต้านการแข็งตัวของเลือด แพทย์จะแจ้งให้หยุดยาก่อนการผ่าตัด
การดูแลตนเองหลังผ่าตัดฝังพิลลาร์เพดานอ่อน
- หลังจากฝังพิลลาร์แล้วสามารถรับประทานอาหารได้ตามปกติ โดยรับประทานอาหารอ่อน เหลว และเย็น เช่น โจ๊กหรือข้าวต้มที่ไม่ร้อนเกินไป หรือไอศกรีม งดอาหารที่แข็ง ร้อน หรือมีรสจัดอย่างน้อย 1 สัปดาห์
- กลั้วคอ ทำความสะอาดบ่อยๆ และแปรงฟันทุกครั้งหลังรับประทานอาหาร
- หลังผ่าตัด 1-2 วัน หลีกเลี่ยงการขากหรือบ้วนเสมหะแรงๆ การล้วงคอ หรือแปรงฟันเข้าไปในช่องปากลึกเกินไป เพราะอาจทำให้มีเลือดออกจากแผลได้
- หลังผ่าตัด 1-2 วัน เพดานอ่อนอาจมีอาการบวมทำให้รู้สึกหายใจอึดอัด ให้นอนศีรษะสูงโดยใช้หมอนหนุน หรือนอนบนที่นอนที่สามารถปรับความเอียงได้ เพื่อให้หายใจได้สะดวกขึ้น
- อมและประคบน้ำแข็งบริเวณคอบ่อยๆ ในช่วงสัปดาห์แรก เพื่อลดอาการบวมที่อาจเกิดขึ้นได้
- ถ้ามีเลือดออกจากช่องปาก ให้นอนพัก ยกศีรษะสูง อมน้ำแข็งในปาก นำเจลประคบเย็นหรือน้ำแข็ง มาประคบบริเวณหน้าผากหรือคอ เพื่อให้เลือดหยุด โดยในการประคบหรืออมน้ำแข็งควรทำประมาณ 10 นาที แล้วพักประมาณ 10 นาที แล้วจึงทำใหม่อีก 10 นาที สลับกันไปเรื่อยๆ
- จะต้องรับประทานยาที่ได้รับจนหมด ไม่ว่าอาการจะดีขึ้นหรือไม่ก็ตาม ได้แก่ ยาแก้อักเสบ (ยาต้านจุลชีพ) ยาแก้ปวด ยาลดบวม และยากลั้วคอ
- เมื่อรู้สึกปวดสามารถรับประทานยาแก้ปวด เช่น พาราเซตามอล ได้
- หากมีอาการผิดปกติ เช่น ปวดแผลมาก เพดานอ่อนบวม หรือมีเลือดออก ควรรีบไปพบแพทย์ทันที
- ไปพบแพทย์ตามนัด ซึ่งโดยทั่วไปแพทย์จะนัดมาดูแผลครั้งแรกประมาณ 1 สัปดาห์หลังผ่าตัด และหลังจากนั้นประมาณ 2-4 สัปดาห์ โดยหากอาการนอนกรน และ/หรือ ภาวะหยุดหายใจขณะหลับไม่ดีขึ้น แพทย์จะแนะนำทางเลือกอื่นๆ ในการรักษาที่เหมาะสมต่อไป
2.2. รักษานอนกรนด้วยคลื่นวิทยุ
การใช้คลื่นความถี่วิทยุเพื่อรักษาอาการนอนกรน หรือมีภาวะหยุดหายใจขณะหลับ เป็นการผ่าตัดเล็กที่นิยมทำมาก โดยแพทย์จะใส่เครื่องมือที่เป็นเข็มชนิดพิเศษแทงเข้าไปในเนื้อเยื่ออ่อน เช่น โคนลิ้น เพดานอ่อน ต่อมทอนซิล หรือเยื่อบุจมูก เพื่อส่งคลื่นความถี่วิทยุ (Radiofrequency) ให้เปลี่ยนเป็นพลังงานความร้อนในเนื้อเยื่อดังกล่าว ซึ่งจะทำให้เกิดการสูญเสียสภาพของเนื้อเยื่อภายใน 1-2 เดือน และหลังจากนั้น จะเกิดเนื้อเยื่อพังผืด ทำให้เกิดการหดและลดปริมาตรของเนื้อเยื่อที่อุดกั้นทางเดินหายใจส่วนบน ส่งผลให้ทางเดินหายใจกว้างขึ้น หายใจได้สะดวกขึ้น ทำให้อาการนอนกรนหรือภาวะหยุดหายใจขณะหลับน้อยลง
ผลของการลดขนาดของเนื้อเยื่อดังกล่าวจะเห็นชัดเจนใน 4-6 สัปดาห์ โดยอาจทำซ้ำได้อีก หากผลยังไม่เป็นที่น่าพอใจ
แพทย์จะนัดตรวจติดตามอาการ ครั้งแรกประมาณ 1 สัปดาห์หลังผ่าตัด และหลังจากนั้น 4 สัปดาห์ แพทย์จะนัดมาเพื่อประเมินผลการรักษา หากอาการต่างๆ เช่น นอนกรนหรือภาวะหยุดหายใจขณะหลับยังไม่ดีขึ้น แพทย์อาจจะพิจารณาการรักษาซ้ำ หรือแนะนำทางเลือกในการรักษาอื่นๆ ที่เหมาะสมกว่าต่อไป
รักษานอนกรนด้วยคลื่นวิทยุเหมาะกับใคร?
- ผู้ที่มีอาการนอนกรนธรรมดา ไม่มีภาวะหยุดหายใจขณะหลับร่วมด้วย หรือเป็นผู้ที่มีภาวะก้ำกึ่งระหว่างกรนธรรมดาและกรนอันตราย หรือเป็นผู้ที่มีภาวะหยุดหายใจขณะหลับที่มีความรุนแรงน้อย
- นิยมใช้ร่วมกับกับการผ่าตัดตกแต่งเพดานอ่อนลิ้นไก่และผนังคอ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษา
ข้อดีของการรักษานอนกรนด้วยคลื่นวิทยุ
- เป็นวิธีที่ง่าย และได้ผลดี
- โอกาสเกิดผลข้างเคียงน้อย
- เกิดการบาดเจ็บต่อเนื้อเยื่อรอบๆ น้อย
- อาการปวดหรือเจ็บแผลหลังผ่าตัดไม่มาก
- เนื่องจากสามารถใช้ยาชาเฉพาะที่ได้ โดยทั่วไปผู้รับการรักษาจึงไม่จำเป็นต้องนอนโรงพยาบาล
- การรักษาทำผ่านช่องปาก จึงไม่มีบาดแผลใดๆ ที่มองเห็นได้จากภายนอก
- ผลลัพธ์การรักษามักเห็นได้ใน 4-6 สัปดาห์
- แต่ถ้าผลยังไม่เป็นที่น่าพอใจ สามารถทำซ้ำได้อีก
ข้อเสียของการรักษานอนกรนด้วยคลื่นวิทยุ
- ในการใช้ยาชาเฉพาะที่ อาจมีโอกาสเสี่ยงที่จะเกิดผลข้างเคียง เช่น ใจสั่น หน้ามืด เป็นลม หูอื้อ แต่อาการเหล่านี้มักหายได้เอง
- อาการอาจกลับมาเป็นอีกได้ หากน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นและเมื่ออายุมากขึ้น
- อาจพบภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นจากการผ่าตัดได้ เช่น เลือดออกจากแผล ซึ่งปกติมักมีปริมาณน้อยและหยุดได้เอง
- อาจพบอาการไม่พึงประสงค์จากอาการบวมที่เกิดจากการผ่าตัด เช่น หายใจลำบาก หรือ กลืนไม่สะดวก ซึ่งมักเป็นไม่มากและไม่เกิน 1 สัปดาห์
- ผู้ที่มีภาวะหยุดหายใจขณะหลับและมีโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง หรือ มีโรคหัวใจหรือโรคปอดร่วมด้วย จะมีอัตราเสี่ยงของการเกิดภาวะแทรกซ้อนได้สูงขึ้น
ข้อควรระวังของการรักษานอนกรนด้วยคลื่นวิทยุ
การผ่าตัดชนิดนี้ควรทำเมื่อผู้รับการรักษามีร่างกายแข็งแรงสมบูรณ์ดี ไม่เป็นหวัดหรือมีการติดเชื้อของระบบทางเดินหายใจชนิดเฉียบพลัน
การดูแลตนเองก่อนผ่าตัดรักษานอนกรนด้วยคลื่นวิทยุ
- พักผ่อนให้เพียงพอ และดูแลรักษาสุขภาพให้แข็งแรงก่อนผ่าตัด
- ระมัดระวังป้องกันตนเองไม่ให้เป็นไข้หวัด หรือการติดเชื้อของระบบทางเดินหายใจส่วนบน ซึ่งอาจทำให้ต้องเลื่อนการผ่าตัดออกไป
- กรณีผู้ที่รับประทานยาบางชนิด เช่น แอสไพริน หรือ ยาต้านการแข็งตัวของเลือด แพทย์จะแจ้งให้หยุดยาก่อนการผ่าตัด
การดูแลตนเองหลังผ่าตัดรักษานอนกรนด้วยคลื่นวิทยุ
- รับประทานอาหารอ่อน เหลว และเย็น เช่น โจ๊กหรือข้าวต้มที่ไม่ร้อนเกินไป หรือไอศกรีม งดอาหารที่แข็งหรือร้อน หรือมีรสจัดอย่างน้อย 1 สัปดาห์หลังผ่าตัด
- รักษาความสะอาดในช่องปาก บ้วนปากและแปรงฟันทุกครั้งหลังรับประทานอาหาร
- รับประทานยาตามแพทย์สั่ง โดยผู้รับการรักษาอาจมีอาการเจ็บคอ ราว 1-2 สัปดาห์ ซึ่งมักเป็นผลจากการผ่าตัดอื่นที่ทำร่วมด้วย จึงจำเป็นต้องรับประทานยาที่จำเป็น เช่น ยาแก้ปวด ยาแก้อักเสบ และ ยาลดบวมกลุ่มสเตียรอยด์ ร่วมด้วย
- หลีกเลี่ยงการขับเสมหะ และระวังไม่แปรงฟันเข้าไปในช่องปากลึกเกินไป เพราะอาจทำให้มีเลือดออกจากแผลได้
- ในช่วงสัปดาห์แรก ทางเดินหายใจมักจะบวมขึ้น ทำให้รู้สึกหายใจไม่สะดวก ให้นอนศีรษะสูงโดยใช้หมอนหนุน หรือนอนบนที่นอนที่สามารถปรับความเอียงได้ เพื่อให้หายใจได้สะดวกขึ้น
- อมและประคบน้ำแข็งบริเวณคอบ่อยๆ ในช่วงสัปดาห์แรก เพื่อลดอาการบวมที่อาจเกิดขึ้นได้
- ถ้ามีเลือดออกจากช่องปาก ให้นอนพัก ยกศีรษะสูง อมน้ำแข็งในปาก นำเจลประคบเย็นหรือน้ำแข็ง มาประคบบริเวณคอ เพื่อให้เลือดหยุด
- งดเล่นกีฬาที่หักโหมหรือยกของหนัก
- โดยมากเป็นการรักษาร่วมกับการผ่าตัดบริเวณเพดานอ่อน ลิ้นไก่ หรือการรักษาในจมูก ดังนั้น แพทย์จึงมักให้นอนพักในโรงพยาบาล หลังผ่าตัด 1-2 คืน เพื่อเฝ้าระวัง และสังเกตอาการ
- หากมีอาการรุนแรงใดๆ ควรรีบไปพบแพทย์ทันที
ปัญหานอนกรนนั้น ไม่ใช่เรื่องเล็กๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีภาวะหยุดหายใจขณะหลับร่วมด้วย ควรรีบพบแพทย์ อย่าปล่อยทิ้งไว้ เพราะเกิดผลเสียต่อสุขภาพอย่างแน่นอน