โรคฝีดาษลิง เป็นหนึ่งในโรคที่ได้รับพูดถึงมากขึ้นอย่างรวดเร็ว หลังจากเริ่มพบการระบาดในหลายประเทศ เช่น สเปน อังกฤษ โปรตุเกส แคนาดา เนเธอร์แลนด์ ออสเตรเลีย ฝรั่งเศส เยอรมนี อิตาลี สหรัฐอเมริกา และสิงค์โปร์
แม้โรคฝีดาษลิงจะไม่ได้แพร่ระบาดได้เร็วเท่ากับโรคที่ติดต่อกันผ่านละอองฝอยเป็นหลักอย่างที่หลายคนคุ้นเคย แต่ในสถานการณ์ที่ทั่วโลกเพิ่งจะได้เริ่มลืมตาอ้าปากจากการระบาดใหญ่มา ก็อาจทำให้หลายคนกังวลกับโรคฝีดาษลิงว่าจะมาซ้ำเติมได้ รวมถึงบ้างก็ว่าวัคซีนที่ป้องกันโรคฝีดาษลิงนั้นไม่ได้รับการฉีดมานานแล้วอีกด้วย
เมื่อเกิดความกังวลขึ้น หนึ่งในวิธีตอบสนองที่อาจช่วยคลายความกังวลลงได้บ้างก็คือ การทำความเข้าใจกับปัญหาที่เกิดขึ้นนั่นเอง ในบทความนี้ HDmall.co.th จึงรวบรวมข้อมูลที่ควรรู้เกี่ยวกับโรคฝีดาษลิงมาสรุปแบบเข้าใจง่าย ทั้งข้อมูลทั่วไป การติดต่อ อาการ และความอันตรายของโรคฝีดาษลิง
ที่มาของข้อมูล
ปิด
ปิด
- โรคฝีดาษลิงคืออะไร?
- โรคฝีดาษลิงติดต่อทางไหน?
- ฝีดาษลิงติดต่อกันผ่านทางเพศสัมพันธ์ได้ไหม?
- ฝีดาษลิงจะกลายเป็นการระบาดใหญ่ไหม?
- ฝีดาษลิงอาการเป็นอย่างไร?
- หากสงสัยว่าติดโรคฝีดาษลิงควรทำอย่างไร?
- ติดโรคฝีดาษลิงมีโอกาสเสียชีวิตไหม?
- ใครเสี่ยงเป็นโรคติดฝีดาษลิง?
- โรคฝีดาษลิงต่างจากโรคไข้ฝีดาษยังไง?
- วิธีตรวจหาโรคฝีดาษลิง
- โรคฝีดาษลิงรักษาได้ไหม?
- วิธีป้องกันตัวเองจากโรคฝีดาษลิง
- หากคนใกล้ตัวตรวจพบเชื้อโรคฝีดาษลิงควรปฏิบัติตัวอย่างไร?
โรคฝีดาษลิงคืออะไร?
โรคฝีดาษลิง (Monkeypox) คือ โรคติดต่อที่เกิดจากเชื้อไวรัสกลุ่ม Poxviridae ในสกุลไวรัส Orthopoxโดยมีลิงเป็นพาหะนำโรค แต่ก็ยังพบได้ในสัตว์ชนิดอื่นๆ ได้อีกโดยเฉพาะสัตว์ที่มักใช้ฟันกัดแทะอาหารหรือสิ่งของรอบตัว เช่น กระรอก หนู กระต่าย
เชื้อไวรัสที่ก่อโรคฝีดาษลิงสามารถแบ่งออกได้ 2 สายพันธุ์หลัก ได้แก่
- สายพันธุ์แอฟริกากลาง (Central African)
- สายพันธุ์แอฟริกาตะวันตก (West African)
โรคฝีดาษลิงติดต่อทางไหน?
โรคฝีดาษลิงสามารถแพร่กระจายเข้าสู่ร่างกายมนุษย์ได้อยู่ 2 รูปแบบ ได้แก่
1. แพร่กระจายจากสัตว์สู่คน
ผ่านการสัมผัสของเหลวจากร่างกายสัตว์ที่มีเชื้อไวรัสโรคฝีดาษลิง เช่น เลือด น้ำหนอง น้ำมูก สารคัดหลั่งจากอวัยวะต่างๆ รวมถึงการถูกสัตว์ที่มีเชื้อไวรัสทำร้าย กัด ข่วน จนเกิดแผลตามร่างกาย และการปรุงอาหารจากเนื้อสัตว์ที่มีเชื้อและรับประทานโดยที่เนื้อยังไม่สุก ก็มีความเสี่ยงติดเชื้อโรคฝีดาษลิงเช่นกัน
2. แพร่กระจายจากคนสู่คน
เชื้อไวรัสโรคฝีดาษลิงสามารถแทรกซึมเข้าสู่ร่างกายมนุษย์ได้หลายช่องทาง เช่น
- ผ่านทางแผลตามผิวหนัง รวมถึงผิวที่มีผื่นคัน ผิวหนังที่หลุดลอก
- การสัมผัสละอองสารคัดหลั่งจากทางเดินหายใจของผู้ที่มีเชื้อ เช่น น้ำมูก น้ำลาย ซึ่งนั่นย่อมหมายถึงการรับเชื้อถึงกันผ่านการจูบได้อีกด้วย
- การใส่เสื้อผ้า หรือการใช้ข้าวของเครื่องใช้ร่วมกับผู้ที่มีเชื้อ เช่น ผ้าขนหนู ผ้าปูที่นอน ผ้าห่ม
- การมีเพศสัมพันธ์ ซึ่งในระหว่างนั้น ร่างกายย่อมต้องผลิตสารคัดหลั่งออกมาระหว่างทำกิจกรรมทางเพศ และเป็นอีกช่องทางการส่งต่อเชื้อโรคฝีดาษลิงไปสู่คู่นอนได้
ฝีดาษลิงติดต่อกันผ่านทางเพศสัมพันธ์ได้ไหม?
ฝีดาษลิงสามารถติดต่อจากคนสู่คนได้ผ่านการสัมผัสใกล้ชิด ซึ่งรวมถึงการมีเพศสัมพันธ์ด้วย แต่เป็นเพียงการติดต่อกันผ่านผิวหนังระหว่างมีเพศสสัมพันธ์เป็นหลัก เพราะปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลเพียงพอที่จะระบุว่าฝีดาษลิงสามารถติดต่อกันผ่านทางน้ำอสุจิ หรือสารคัดหลั่งในช่องคลอดได้หรือไม่
ผื่นจากฝีดาษลิงสามารถพบได้บริเวณอวัยวะเพศชายหรือบริเวณปากได้เช่นกัน ซึ่งเป็นอวัยวะที่ใช้ในการมีเพศสัมพันธ์ทั้งสิ้น ดังนั้นไม่ว่าจะเพศสัมพันธ์กับเพศใด หากคู่นอนติดเชื้อฝีดาษลิงแล้ว ก็มีโอกาสติดต่อกันได้เช่นกัน
นอกจากนี้ผื่นของฝีดาษลิงยังอาจดูคล้ายกับโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์บางชนิด เช่น เริม (Herpes) และซิฟิลิส (Syphilis) อีกด้วย
ฝีดาษลิงจะกลายเป็นการระบาดใหญ่ไหม?
โรคฝีดาษลิงมักติดต่อกันผ่านการใกล้ชิดหรือสัมผัสผู้ติดเชื้อ ต่างกับโรคที่ติดต่อกันผ่านละอองฝอยจากการไอหรือจาม ทำให้โอกาสที่ฝีดาษลิงจะเกิดการระบาดใหญ่นั้นไม่สูงนัก
ฝีดาษลิงอาการเป็นอย่างไร?
อาการของโรคฝีดาษลิงอาจแตกต่างกันออกไปตามระยะเวลาที่ติดเชื้อ โดยอาการเริ่มแรกเมื่อติดเชื้อโรคฝีดาษลิง ผู้ป่วยจะ
- มีไข้
- รู้สึกอ่อนเพลีย
- ต่อมน้ำเหลืองโต โดยส่วนมากพบบริเวณต่อมน้ำเหลืองใต้ขากรรไกรล่าง คอ หลังใบหู รักแร้ หรือขาหนีบ
- อาการหนาวสั่น
- ปวดศีรษะ
- เจ็บคอ ไอ
- ปวดหลัง
หลังจากมีไข้ประมาณ 2 วัน ผู้ป่วยจะเริ่มมีผื่นแบนราบขึ้นที่ใบหน้า ก่อนจะขยายพื้นที่ไปยังศีรษะ ดวงตา แขน ฝ่ามือ ขา ฝ่าเท้า และอวัยวะเพศ
หลังจากนั้นผื่นที่แบนราบจะค่อยๆ เปลี่ยนกลายเป็นผื่นนูน เป็นถุงน้ำ และกลายเป็นตุ่มหนองในที่สุด และเมื่อตุ่มหนองแตกออก ผิวที่มีผื่นก็จะค่อยๆ ตกสะเก็ด และลอกออกจากผิวไปเอง
หากสงสัยว่าติดโรคฝีดาษลิงควรทำอย่างไร?
หากคุณสงสัยว่าตัวเองอาจติดโรคฝีดาษลิง มีอาการคล้ายกับที่กล่าวไปข้างต้น หรือใกล้ชิดกับผู้ที่ติดเชื้อ ควรไปพบแพทย์เพื่อขอคำแนะนำทันที โดยแพทย์อาจซักประวัติ หรือตรวจยืนยันผลให้
นอกจากนี้หากทำได้ยังควรกักตัวเองออกห่างจากผู้อื่นชั่วคราว ไม่ใช้ของใช้ร่วมกัน ล้างมือบ่อยๆ และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด
ติดโรคฝีดาษลิงมีโอกาสเสียชีวิตไหม?
โดยส่วนมากอาการของโรคฝีดาษลิงจะไม่ร้ายแรงถึงขั้นทำให้เสียชีวิต แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับความแข็งแรงของสุขภาพผู้ป่วยด้วย หากผู้ป่วยมีโรคประจำตัว มีภูมิคุ้มกันร่างกายอ่อนแอเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว อาการแสดงของโรคฝีดาษลิงก็สามารถรุนแรงขึ้นจนเกิดเป็นโรคแทรกซ้อนอื่นๆ ได้ เช่น
- โรคปอดบวม
- โรคหลอดลมอักเสบ
- ภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด
- โรคไข้สมองอักเสบ
- โรคกระจกตาติดเชื้อจนสูญเสียการมองเห็น
นอกจากนี้ เด็กแรกเกิด และเด็กเล็ก ก็มีโอกาสเสี่ยงจะมีอาการรุนแรงจนถึงขั้นเสียชีวิตได้เช่นกัน
ใครเสี่ยงเป็นโรคติดฝีดาษลิง?
ผู้ที่มีความเสี่ยงจะติดโรคฝีดาษลิง อาจมีดังนี้
- ผู้ที่ทำงานในสวนสัตว์ และจะต้องทำกิจกรรมคลุกคลีกับสัตว์อยู่บ่อยๆ จนเสี่ยงรับเชื้อเข้าร่างกาย
- ผู้ที่ทำงานในร้านขายสัตว์เลี้ยง โดยเฉพาะร้านที่ขายสัตว์ประเภทกระรอก กระต่าย หนู ซึ่งเป็นสัตว์ที่พบเชื้อโรคฝีดาษลิงได้บ่อยๆ
- ผู้ที่อาศัยอยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีลิงหรือสัตว์อื่นๆ อาศัยอยู่ หรือชอบบุกรุกบ้านเรือนประชาชนอยู่บ่อยๆ
- ผู้ที่เดินทางไปยังประเทศที่โรคฝีดาษลิงกำลังระบาดอย่างหนัก เช่น ประเทศในแถบแอฟริกา ก็มีความเสี่ยงจะติดโรคฝีดาษลิงจากประชากรในประเทศนั้นๆ ได้เช่นกัน และอาจนำพาเชื้อมาติดกับคนใกล้ชิดที่ประเทศไทยด้วย
แม้ผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีนฝีดาษแล้วจะลดโอกาสติดเชื้อฝีดาษลิงลงได้มาก แต่อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันผู้ที่อายุน้อยมักจะยังไม่ได้รับวัคซีนฝีดาษ เพราะหลายประเทศทั่วโลกได้หยุดฉีดวัคซีนชนิดนี้ไปตั้งแต่ปี 1980 แล้ว และแม้จะเคยรับวัคซีนไปแล้ว ผู้ที่มีความเสี่ยงสูงก็ยังควรต้องระมัดระวังตัวเองอยู่เช่นกัน
โรคฝีดาษลิงต่างจากโรคไข้ฝีดาษยังไง?
โรคฝีดาษลิงเป็นโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัสสกุลเดียวกับโรคไข้ฝีดาษ (Smallpox) นั่นคือ ไวรัส Orthopox ซึ่งทำให้ผู้ป่วย 2 โรคนี้มีอาการเจ็บป่วยคล้ายคลึงกัน นั่นคือ มีไข้ อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ และมีผื่นขึ้นตามตัว
อย่างไรก็ตาม 2 โรคนี้ก็ยังมีความแตกต่างกันอยู่เล็กน้อย
- ผู้ป่วยโรคไข้ฝีดาษจะมีลักษณะผื่นที่ขึ้นตามตัวเป็นผื่นแดง และจะไม่มีอาการต่อมน้ำเหลืองโตเกิดขึ้น ในขณะที่ผู้ป่วยโรคฝีดาษลิงนั้น ผื่นที่ขึ้นบนผิวจะมีลักษณะนูนและเป็นตุ่มน้ำหนอง นอกจากนี้ยังจะเผชิญอาการต่อมน้ำเหลืองโตหลายตำแหน่งในร่างกายด้วย
- โรคไข้ฝีดาษยังแพร่กระจายได้จากคนสู่คนเท่านั้น ไม่เหมือนกับโรคฝีดาษลิงที่มีสัตว์เป็นพาหะนำโลกเคียงคู่ไปกับมนุษย์
อย่างไรก็ตาม โรคไข้ฝีดาษจัดเป็นโรคร้ายที่เคยระบาดอย่างหนักในสมัยโบราณ นับตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา แต่ในปัจจุบันนั้นแทบไม่มีการตรวจพบผู้ป่วยโรคนี้อีกแล้ว ต่างจากโรคฝีดาษลิงที่ยังแพร่ระบาดอย่างหนักอยู่ในหลายพื้นที่ของโลก
วิธีตรวจหาโรคฝีดาษลิง
เนื่องจากอาการของโรคฝีดาษลิงมีความใกล้เคียงกับอาการของโรคอื่นๆ ที่พบได้บ่อยในคนไทย เช่น โรคไข้หวัด โรคอีสุกอีใส ในระยะแรกหากผู้ป่วยยังไม่มีผื่นขึ้นตามตัว แพทย์จะยังแค่สังเกตอาการและจ่ายยาไปตามอาการเจ็บป่วยที่เกิดขึ้นก่อน
แต่หากผู้ป่วยมีผื่นขึ้นเป็นตุ่มน้ำใส ตุ่มหนอง ร่วมกับมีอาการอื่นๆ ที่บ่งบอกถึงสัญญาณโรคฝีดาษลิง แพทย์จะมีการเก็บตัวอย่างผิวหนัง หรือตัวอย่างของเหลวจากตุ่มหนองบนผิวผู้ป่วยเพื่อนำไปตรวจกับกล้องจุลทรรศน์ ร่วมกับตรวจหาแอนติบอดีในเลือด และตรวจด้วยวิธี RT-PCR (Real-Time Polymerase Chain Reaction) เพื่อหาเชื้อไวรัสในร่างกายผู้ป่วยเพิ่มเติม
โรคฝีดาษลิงรักษาได้ไหม?
ปัจจุบันยังไม่มีวิธีรักษาโรคฝีดาษลิงอย่างเป็นรูปธรรมชัดเจน เมื่อพบผู้ป่วยโรคนี้ แพทย์จะใช้วิธีรักษาผ่านการจ่ายยาต้านเชื้อไวรัส และให้ผู้ป่วยฉีดวัคซีนป้องกันโรคฝีดาษลิงเพื่อลดความรุนแรงของโรค ร่วมกับให้กักตัวแยกจากผู้อื่นเพื่อลดโอกาสแพร่กระจายเชื้อไวรัสเป็นวงกว้าง
วิธีป้องกันตัวเองจากโรคฝีดาษลิง
แนวทางการป้องกันโรคฝีดาษลิง สามารถทำได้ 4 แนวทางหลักๆ ได้แก่
- ฉีดวัคซีนป้องกันโรคฝีดาษลิง ซึ่งเป็นวัคซีนสำหรับป้องกันโรคนี้โดยเฉพาะ สามารถป้องกันโอกาสเกิดโรคฝีดาษลิงได้ 85% อย่างไรก็ตาม วัคซีนชนิดนี้อาจไม่ใช่วัคซีนหลักที่แพทย์แนะนำให้ฉีดมากนัก เนื่องจากโรคฝีดาษลิงไม่ได้เป็นโรคที่พบได้บ่อยในประเทศไทย แต่หากรู้สึกกังวลและอยากรับวัคซีนตัวนี้ ก็ให้ลองปรึกษาแพทย์เพื่อขอคำแนะนำดูก่อน
- รักษาความสะอาดให้กับร่างกายอยู่เสมอ และไม่ใช้สิ่งของร่วมกับผู้อื่น เพราะเราไม่อาจล่วงรู้ได้ว่าใครบ้างที่จะมีเชื้อไวรัสโรคฝีดาษลิงอยู่ในตัว การหมั่นล้างมือ ไม่ใช้ภาชนะข้าวของเครื่องใช้ร่วมกับผู้อื่น หรือหากมีแผลเกิดขึ้นบนผิวหนังก็ให้หมั่นทำความสะอาดและดูแลแผลให้สมานตัวเร็วๆ ก็จะช่วยลดโอกาสติดเชื้อโรคฝีดาษลิงได้
- อยู่ให้ห่างจากสัตว์ที่เป็นพาหะนำโรค โดยเฉพาะลิง กระรอก หนู หรือหากจำเป็นต้องเดินทางไปคลุกคลีอยู่ใกล้กับสัตว์ต่างๆ ก็ให้ระมัดระวังตัว อย่าให้ร่างกายได้สัมผัสสารคัดหลั่ง เลือด หรือสิ่งสกปรกใดๆ จากตัวสัตว์ทั้งนั้น และเมื่อกลับมาจากสถานที่เหล่านั้นก็ให้รีบอาบน้ำทำความสะอาดร่างกาย และนำเสื้อผ้าที่ใส่ไปแช่น้ำยาฆ่าเชื้อด้วย
หากคนใกล้ตัวตรวจพบเชื้อโรคฝีดาษลิงควรปฏิบัติตัวอย่างไร?
แนวทางการปฏิบัติเมื่อคนใกล้ชิดเป็นโรคไข้ฝีดาษลิง มีดังต่อไปนี้
- ให้ผู้ป่วยกักตัวและแยกตัวออกจากบริเวณที่อยู่อาศัยกับผู้อื่นโดยทันที
- นำเสื้อผ้า ข้าวของเครื่องใช้ที่คนใกล้ชิดอาจเผลอใช้ร่วมกับผู้ป่วยไปทำความสะอาด
- งดการสัมผัสตัวผู้ป่วย ไม่ว่าจะเป็นการจับเนื้อต้องตัว การสวมกอด หรือการจูบ ก็ให้งดเว้นอย่างเคร่งครัด
- งดใช้สิ่งของทุกอย่างร่วมกับผู้ป่วย
- ติดต่อทางสถานพยาบาลเพื่อให้ผู้ป่วยเข้ารักษาตัว หากผู้ป่วยเคยมีประวัติการเดินทางไปต่างประเทศหรือสัมผัสสัตว์ชนิดใดๆ ก็ตาม ให้แจ้งข้อมูลส่วนนี้กับแพทย์อย่างครบถ้วนด้วย
- หากในบ้านมีสัตว์เลี้ยง ต้องไม่ให้ผู้ป่วยคลุกคลีกับสัตว์เลี้ยง
- ผู้ที่อยู่ใกล้ชิดต้องเฝ้าดูอาการเจ็บป่วยของตนเองด้วย หากพบว่ามีไข้ อ่อนเพลีย มีผื่นขึ้นตามตัวหรือใบหน้า ให้รีบแจ้งแพทย์เพื่อขอตรวจการติดเชื้อโรคฝีดาษลิงโดยทันที
โรคฝีดาษลิงอาจเป็นโรคที่ไม่ได้แพร่ระบาดอย่างหนักในประเทศไทย แต่ก็จัดเป็นอีกโรคที่จะมองข้ามไปไม่ได้ เนื่องจากในทุกๆ วัน มีชาวต่างชาติจากประเทศที่โรคฝีดาษลิงกำลังระบาดเดินทางเข้ามาในประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง จึงยังมีโอกาสที่โรคจะเกิดการแพร่ระบาดในประเทศไทยได้
การดูแลสุขอนามัยร่างกายให้สะอาดอยู่เสมอ ไม่ใช้ภาชนะสิ่งของร่วมกับผู้อื่น จึงเป็นกิจวัตรที่เราทุกคนจะต้องปฏิบัติกันต่อไปอย่างเข้มงวด และหากคุณจำเป็นต้องพาตัวเองไปอยู่ใกล้กับสัตว์ที่อาจมีเชื้อโรคฝีดาษลิง ก็อย่าได้ประมาทในความน่ารักของมัน จนพาตัวเองลงไปคลุกคลีกับสัตว์มาเกินไปจนเสี่ยงติดเชื้อไวรัสโรคฝีดาษลิงได้
เช็กราคาแพ็กเกจตรวจสุขภาพ แพ็กเกจฉีดวัคซีนสำคัญประจำปี ผ่านเว็บไซต์ HDmall.co.th หรือสอบถามข้อมูลเกี่ยวกับแพ็กเกจสุขภาพที่น่าสนใจได้ที่ไลน์ @hdcoth
บทความที่เกี่ยวข้อง
ที่มาของข้อมูล
ปิด
ปิด
- Centers for Disease Control and Prevention, Monkeypox (https://www.cdc.gov/poxvirus/monkeypox/index.html), 8 July 2022.
- Hindustan times, Monkeypox vs smallpox: Expert on similarities and differences between the two (https://www.hindustantimes.com/lifestyle/health/monkeypox-vs-smallpox-expert-on-similarities-and-differences-between-the-two-101653049390549.html), 8 July 2022.
- MedPark Hospital, โรคฝีดาษลิง (https://www.medparkhospital.com/content/monkeypox), 8 มิถุนายน 2565.
- World Health Organization, โรคฝีดาษวานร (https://www.who.int/thailand/news/feature-stories/detail/monkeypox), 8 มิถุนายน 2565.
- แพทย์หญิงวรฉัตร เรสลี, โรคฝีดาษลิง พบไม่บ่อย แต่อันตรายถึงชีวิต – อาการอย่างไร? ติดต่อทางไหน? (https://www.sikarin.com/health/โรคฝีดาษลิง-พบไม่บ่อย-แต), 8 มิถุนายน 2565.
- โรงพยาบาลพญาไท, โรคฝีดาษลิง หรือ Monkeypox กับการระบาดครั้งใหม่ (https://www.phyathai.com/article_detail/3857/th/โรคฝีดาษลิง_หรือ_Monkeypox_กับการระบาดครั้งใหม่?branch=PYT2), 8 มิถุนายน 2565.
- World health organization, Monkeypox, (https://www.who.int/news-room/questions-and-answers/item/monkeypox?gclid=EAIaIQobChMI8bfYkvDP-AIVi38rCh1hEwXHEAAYASAAE), 10 June 2022.