กัวซาเหมาะกับทุกคนหรือไม่ เจ็บไหม มีอันตรายหรือผลข้างเคียงหรือเปล่า?


กัวซาเหมาะกับทุกคนหรือไม่-คนท้อง ผู้สูงอายุทำได้ไหม-กัวซาเจ็บไหม-มีอันตราย หรือผลข้างเคียงหรือเปล่า

หากคุณกำลังมองหาการรักษาแบบทางเลือกที่ไม่ใช้ยา ไม่ผ่าตัด ไม่เสี่ยงกับเข็ม และความร้อน “กัวซา หรือกวาซา (Gua sha หรือ Skin scraping)” ตามตำรับแพทย์แผนจีนอาจเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจ เพราะนอกจากจะสามารถบำบัดรักษาอาการได้หลายอย่างแล้ว ยังสามารถฟื้นฟูสุขภาพได้อีกด้วย

อย่างไรก็ตาม แม้จะเชื่อว่า การทำกัวซามีประโยชน์มากมาย แต่ไม่ใช่ว่าทุกคนจะสามารถเข้ารับการกัวซาได้ เพราะอาจมีผลข้างเคียงและอาจเกิดอันตรายถึงชีวิตได้


เลือกหัวข้อกัวซาที่สนใจได้ที่นี่

ขยาย

ปิด


กัวซาเหมาะกับทุกคนหรือไม่?

กัวซาแม้จะเป็นศาสตร์การบำบัดที่เรียบง่าย ใช้อุปกรณ์น้อย ทำได้ทุกเวลาและหลายสถานที่ ไม่จำเป็นต้องถอดเสื้อผ้า แต่การทำกัวซาก็มีข้อห้ามและข้อจำกัดเพื่อความปลอดภัยของผู้เข้ารับบำบัดเช่นกัน

ดังนั้นการทำกัวซาจึงไม่ได้เหมาะกับทุกคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับหลอดเลือดและการแข็งตัวของเลือด เลือดออกง่าย ซึ่งห้ามทำกัวซาอย่างเด็ดขาด เนื่องจากการทำกัวซานั้นมีความเกี่ยวพันกับระบบไหลเวียนเลือดนั่นเอง

ทำกัวซา ราคา

ใครบ้างที่ห้ามทำกัวซา คนท้อง ผู้สูงอายุทำได้ไหม?

หญิงตั้งครรภ์และผู้สูงอายุยังคงเป็นกลุ่มแรกๆ ที่ผู้คนนึกถึงว่า สามารถบำบัดด้วยกัวซาได้ไหม เนื่องจากเป็นกลุ่มที่ค่อนข้างเปราะบาง ทั้งด้วยการอยู่ในช่วงที่ฮอร์โมนและร่างกายมีการเปลี่ยนแปลง การบำรุงเลี้ยงทารกในครรภ์ซึ่งต้องระมัดระวังอย่างมากจนกว่าจะครบกำหนดคลอด

ข้อสังเกตนี้สอดคล้องกับหลักแพทย์แผนจีนซึ่งห้ามหญิงตั้งครรภ์ทำกัวซาเพราะอาจทำให้เกิดอันตรายแก่ทารกในครรภ์ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการตั้งครรภ์ในช่วงไตรมาสแรก (1-3 เดือน) เพราะจะเพิ่มความเสี่ยงในการแท้งลูก

ส่วนผู้สูงอายุ แม้ยังไม่มีข้อห้ามที่ชัดเจนแต่แนะนำว่า เบื้องต้นควรพิจารณาว่า ผู้สูงอายุมีอาการอยู่ในกลุ่มโรคและอาการต้องห้ามที่จะกล่าวถึงต่อไปหรือไม่ หรือมีโรคเรื้อรังอื่นๆ ร่วมอีกหรือไม่

หากผู้สูงอายุไม่อยู่ในกลุ่มโรคและอาการต้องห้า สุขภาพแข็งแรงดีก็สามารถทำได้ แต่หากไม่แน่ใจควรปรึกษาแพทย์จีนก่อนเข้ารับการบำบัด

  • หญิงตั้งครรภ์ เพราะอาจทำให้เกิดอันตรายแก่ทารกในครรภ์ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการตั้งครรภ์ในช่วงไตรมาสแรก (1-3 เดือน) เพราะจะเพิ่มความเสี่ยงในการแท้งลูก
  • ผู้หญิงที่อยู่ระหว่างการมีประจำเดือน เพราะช่วงเวลานั้นร่ายกายมีการเสียเลือดอยู่ ฮอร์โมนมีการเปลี่ยนแปลง หากทำกัวซาอาจทำให้เกิดอาการหน้ามืด วิงเวียนศีรษะ และเป็นลมได้
  • ผู้ป่วยโรคหัวใจ เพราะอาจทำให้เกิดภาวะฉุกเฉิน เช่น หัวใจวายเฉียบพลันได้
  • ผู้ป่วยโรคหัวใจที่ใส่เครื่องกระตุ้นหัวใจ
  • ผู้ที่ป่วยโรคมะเร็ง เพราะอาจจะทำให้เซลล์มะเร็งแตกตัว แพร่กระจายไปยังเนื้อเยื่อและอวัยวะใกล้เคียงได้
  • ผู้ที่มีโรคประจําตัวที่มีผลต่อผิวหนัง หรือเส้นเลือด
  • ผู้ที่เลือดออกง่าย
  • ผู้ที่เกล็ดเลือดต่ำ เลือดแข็งตัวผิดปกติ
  • ผู้ที่รับประทานยาเกี่ยวกับการเพิ่มความสมบูรณ์ของเม็ดเลือดแดง
  • ผู้ที่รับประทานยายาละลายลิ่มเลือด
  • ผู้ที่มีลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำ
  • ผู้ป่วยโรคไวรัสตับอักเสบบี เอชไอวี และโรคอื่นๆ ที่ติดต่อกันได้ทางเลือด
  • ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง
  • ผู้ที่มีเนื้องอก หรือบาดแผลที่ยังไม่หายสนิท รวมทั้งสิว ฝี หนอง แผลพุพอง
  • ผู้ที่เพิ่งประสบอุบัติเหตุกระดูกหักและยังไม่สมานติดกันดี
  • ผู้ที่มีภาวะกระดูกพรุน
  • ผู้ที่เพิ่งผ่านการผ่าตัดในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา
ทำกัวซา ราคา

นอกจากนี้ยังรวมถึงผู้ที่มีอาการมึนเมา ท้องว่าง หรือกินอิ่มเกินไป ไม่ควรทำกัวซาเพราะอาจทำให้เกิดการวิงเวียนศีรษะ และเป็นลมในระหว่างการทำกัวซาได้

กัวซาเจ็บไหม?

จากร่องรอยผื่นสีแดงเฉดต่างๆ ที่ปรากฏบนร่างกายของผู้ที่ทำกัวซา ทำให้หลายคนอดคิดไม่ได้ว่า กัวซาต้องเจ็บมากๆ แน่

ในความเป็นจริงแล้วรอยต่างๆ ที่เกิดขึ้น แพทย์แผนจีนตีความว่าคือ “พิษ หรืออาการเจ็บป่วยที่สะสมอยู่ในร่างกาย” โดยแบ่งความรุนแรงของอาการตามสีที่เกิดขึ้น เช่น สีชมพูระเรื่อ หมายถึง สุขภาพดี สีแดงหมายถึงมีพิษสะสม สีม่วงเข้มถึงดำ มีพิษสะสมมาก

ถ้ามีพิษน้อย ความเจ็บปวดจะไม่มาก ถ้ามีพิษมากจะมีความรุ็สึกเจ็บราว 1-2 นาที ส่วนระดับความเจ็บปวดที่เกิดขึ้นจากการทำกัวซาจะมาก-น้อยแค่ไหนนั้น ยังสัมพันธ์กับระดับความลึกในการทำกัวซาด้วย ซึ่งแบ่งออกตามระดับพิษสะสม ได้แก่

  • พิษสะสมอยู่ในระดับเซลล์เนื้อเยื่อ จะขูดกัวซาบนชั้นผิวหนัง
  • พิษสะสมอยู่ในระดับล่องกล้ามเนื้อ จะขูดกัวซาด้วยวิธีแซะ เขี่ย ตามล่องกล้ามเนื้อ ตามล่องกระดูก
  • พิษสะสมอยู่ในระดับไขกระดูก จะขูดกัวซาตรงกระดูก

นอกจากนี้ยังขึ้นอยู่กับระดับความอักเสบของบริเวณนั้นๆ ด้วย ยิ่งอักเสบมากก็ยิ่งเจ็บมาก รวมทั้งความไวต่อการสัมผัสเฉพาะบุคคล เพราะแม้ลงน้ำหนักระดับเดียวกัน แต่บางคนเจ็บ บางคนก็ไม่เจ็บ

กัวซามีอันตราย หรือผลข้างเคียงหรือเปล่า?

โดยทั่วไปแทบไม่พบว่า กัวซาไม่มีอันตราย หรือผลข้างเคียง นอกจากข้อห้ามและข้อควรระวัง ซึ่งหากละเมิดก็อาจนำมาซึ่งอันตรายได้ เช่นเดียวกับกลุ่มบุคคลที่ไม่แนะนำให้ทำกัวซานั่นเอง

  • ห้ามกัวซาบริเวณสะดือ
  • ไม่ควรขูดกัวซาในเนื้อเยื่อที่อ่อนบาง มีความนุ่ม และไวต่อความรู้สึก เช่น ดวงตา อวัยวะเพศ
  • ไม่ควรขูดกัวซาบริเวณที่เป็นบาดแผลเปิด ฝี หนอง สิว เพราะอาจเสี่ยงต่อการมีเลือดออก การติดเชื้อ
  • ไม่ควรขูดกัวซาบริเวณที่ทำแล้วรู้สึกไม่สบาย
  • ห้ามขูดกัวซาในห้องที่ติดแอร์ มีลมพัด อากาศเย็น เพราะรูขุมขนจะไม่เปิด การระบายความร้อนและเหงื่อออกมาทางผิวหนังจะทำได้ไม่ดี เนื่องจากการขูดกัวซาต้องกระตุ้นให้รูขุมขนเปิด และระบายความร้อน เหงื่อ ซึ่งหมายถึงพิษออกมาทางผิวหนัง

ส่วนผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นหลังจากทำกัวซา มีดังนี้

  • ชั้นผิวหนังมีความบอบช้ำ เกิดรอยแดง หรือห้อเลือด โดยทั่วไปจุด หรือรอยผื่นสีต่างๆ ที่เกิดจากการ กัวซาจะค่อยๆ จางหายไปเองภายใน 3-7 วัน
  • อาจมีเลือดออกได้ สำหรับผู้มีผิวแห้งมาก และไม่ได้ใช้ตัวประสานในการทำกัวซา
  • อาจมีอาการเจ็บปวดกล้ามเนื้อในผู้ที่ไม่ค่อยได้ออกกำลังกาย
  • รู้สึกอ่อนเพลีย ครั่นเนื้อครั่นตัวจากการอักเสบที่เกิดขึ้นในร่างกาย
ทำกัวซา ราคา

ผลข้างเคียงดังกล่าวสามารถรับประทานยาพาราเซตามอลตามขนาดที่แนะนำได้ โดยทั่วไปอาการดังกล่าวจะค่อยๆ ดีขึ้นใน 1-2 วัน

แต่หากอาการไม่ดีขึ้น มีไข้สูง มีอาการอักเสบ บวม แดง แนะนำให้รีบไปพบแพทย์โดยทันที โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ผู้สูงอายุ ไม่ควรใช้ยาบรรเทาอาการเจ็บปวดด้วยตนเอง

หากสนใจเข้ารับการบำบัดด้วยการทำกัวซา สามารถเปรียบเทียบราคาล่าสุดและแพ็กเกจทำกัวซา ได้ที่นี่เลย หรือที่ไลน์ @hdcoth โดยจะมีแอดมินใจดีคอยให้บริการข้อมูล สั่งซื้อแพ็กเกจ และจองคิวนัดหมายทุกวัน ตั้งแต่เวลา 9 โมงเช้าถึงตีหนึ่ง! แอดเลยไม่ต้องรอ


บทความที่เกี่ยวข้อง


ที่มาของข้อมูล

ขยาย

ปิด

  • Claire Sissons, Gua sha: What you need to know (https://www.medicalnewstoday.com/articles/320397), 1 March 2021.
  • Valencia Higuera, Understanding Gua Sha: Benefits and Side Effects (https://www.healthline.com/health/gua-sha), 1 March 2021.
@‌hdcoth line chat