วิธีใช้ฟ้าทะลายโจรในการรักษาโรคโควิด-19 อย่างถูกต้อง และปลอดภัย


วิธีใช้ยา ฟ้าทะลายโจร รักษาโรคโควิด-19 (COVID-19) คืออะไร? มีขนาดยาเท่าไร? เด็กกินได้ไหม? ต้องรับประทานกี่วัน? รักษาโรคโควิด-19 ได้จริงหรือไม่? มีข้อควรระวัง ข้อห้ามอะไรบ้าง?

HDmall สรุปให้

ขยาย

ปิด

  • สารออกฤทธิ์แอนโดรกราโฟไลด์ (Andrographolide) ที่พบในฟ้าทะลายโจร  สามารถใช้ในการรักษาโควิด-19 ได้ โดยมีสรรพคุณในการการยับยั้งการเพิ่มจำนวนของไวรัสในเซลล์ (virostatic) จึงช่วยระงับไม่ให้อาการรุนแรงขึ้นในผู้ป่วยโควิด-19 ที่ไม่มีอาการ หรืออาการรุนแรงน้อยได้
  • ผู้ที่ต้องการใช้ยาสารสกัดฟ้าทะลายโจร หรือยาผงบดฟ้าทะลายโจร เพื่อรักษาโรคโควิด-19 จะต้องใช้ยาที่ฉลากสินค้าระบุปริมาณแอนโดรกราโฟไลด์เท่านั้น
  • ขนาดยาในผู้ป่วยโควิด-19 ที่ไม่มีอาการแสดง แอนโดรกราโฟไลด์ 60 มิลลิกรัมต่อวัน แบ่งรับประทาน 3 ครั้ง ก่อนอาหารเช้า กลางวัน เย็น ครั้งละ 20 มิลลิกรัม ติดต่อกัน 5 วัน
  • ขนาดยาในผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีอาการไม่รุนแรง และไม่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเป็นโรครุนแรง หรือโรคร่วมสำคัญ แอนโดรกราโฟไลด์ 180 มิลลิกรัมต่อวัน แบ่งรับประทาน 3 ครั้ง ก่อนอาหารเช้า กลางวัน เย็น ครั้งละ 60 มิลลิกรัม ติดต่อกัน 5 วัน
  • ขนาดยาในผู้ที่รับประทานเพื่อเสริมภูมิคุ้มกัน แอนโดรกราโฟไลด์ 10 มิลลิกรัมต่อวัน รับประทานวันละ 1 ครั้ง ก่อนมื้ออาหาร ติดต่อกัน 5 วัน เว้น 2 วัน (ไม่ควรเกิน 12 สัปดาห์)
  • เปรียบเทียบแพ็กเกจและราคาตรวจโควิด-19 หรือแอดไลน์ @hdmall.support

“ฟ้าทะลายโจร” เป็นพืชสมุนไพรไทยที่อยู่คู่กับคนไทยมาอย่างยาวนาน ถูกใช้กันอย่างแพร่หลายในการรักษาโรคต่างๆ และบำรุงสุขภาพ ซึ่งในปัจจุบันได้ถูกนำมาใช้ในการรักษาโรคโควิด-19 (COVID-19) อีกด้วย

ฟ้าทะลายโจรรักษาโรคโควิด-19 ได้จริงหรือไม่? มีวิธีการรับประทานอย่างไร? มีข้อห้าม หรือข้อควรระวังในการใช้อย่างไรบ้าง? HDmall.co.th ได้สรุปข้อมูลมาให้แล้ว

ข้อมูลทั่วไปของฟ้าทะลายโจร

ฟ้าทะลายโจร มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Andrographis paniculata (Burm.f.) และในบางพื้นอาจเรียกด้วยชื่อที่แตกต่างกัน เช่น ฟ้าทะลาย หญ้ากันงู น้ำลายพังพอน เมฆทะลาย หรือฟ้าสะท้าน

ลักษณะเป็นพืชล้มลุก สูงประมาณ 30-60 เซนติเมตร ลำต้นตั้งตรง ใบเดี่ยว สีเขียวเข้ม เป็นมัน มีดอกสีขาวเป็นช่อใหญ่ที่ปลายกิ่ง และซอกใบ ผลเป็นฝักรูปทรงกระบอก และเมล็ดมีขนาดเล็ก

ในปัจจุบัน ฟ้าทะลายโจรได้รับการบรรจุในบัญชียาหลักแห่งชาติ ให้ใช้สำหรับบรรเทาอาการท้องเสียที่ไม่เกิดจากการติดเชื้อ เช่น อุจจาระเป็นมูก หรือมีเลือดปน และบรรเทาอาการโรคหวัด เช่น เจ็บคอ หรือปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ

ตัวอย่างสรรพคุณของฟ้าทะลายโจร

  • รักษาโรคหวัด และโรคไข้หวัดใหญ่ เนื่องจากสารพฤกษศาสตร์ที่พบในฟ้าทลายโจร เช่น สารไดเทอร์ปีนแลคโตน สารฟลาโวนอยด์ มีฤทธิ์บรรเทาอาการหวัด และกระตุ้นการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันได้
  • รักษาอาการอักเสบในร่างกาย เพราะฟ้าทะลายโจรมีคุณสมบัติช่วยยับยั้งการหลั่งสารที่ก่อให้เกิดอาการอักเสบในร่างกาย ต้านอนุมูลอิสระ และการแข็งตัวของเลือด ใช้รักษาอาการอักเสบในร่างกาย
  • แก้อาการท้องเสีย ท้องเดิน และอาหารเป็นพิษ ฟ้าทะลายโจรช่วยขับสารพิษในลำไส้ ลดการระคายเคืองต่อผนังของลำไส้ ช่วยลดการเคลื่อนไหวของลำไส้ ทำให้ระบบขับถ่ายทำงานได้เป็นปกติ
  • รักษาไข้ไทฟอยด์ หรือไข้ลากสาดน้อย การรับประทานสมุนไพรฟ้าทะลายโจรแบบแคปซูล 2 เม็ด 3 เวลาก่อนอาหาร ติดต่อกัน 3 สัปดาห์ จะช่วยทำลายเชื้อไทฟอยด์ที่ฝังตัวอยู่ในเนื้อเยื่อของต่อมน้ำเหลือง หรือผนังลำไส้เล็กได้
  • รักษาโรคงูสวัด การรับประทานฟ้าทะลายโจรแคปซูลประมาณ 2 - 3 เม็ดก่อนอาหาร รับประทานวันละ 3 เวลา ติดต่อกัน 3 สัปดาห์ จะช่วยบรรเทาอาการงูสวัดได้
  • ช่วยรักษาริดสีดวงทวาร รับประทานสมุนไพรฟ้าทะลายโจรครั้งละ 2-3 เม็ดก่อนอาหาร 3 เวลา และก่อนเข้านอน ช่วยให้อาการเลือดออก หรือปวดหน่วงค่อยๆ หายไป และยังทำให้การขับถ่ายดีขึ้นด้วย

สรรพคุณของฟ้าทะลายโจรในการรักษาโรคโควิด-19

สารออกฤทธิ์กลุ่มแอนโดรกราโฟไลด์ (Andrographolide) ที่พบในฟ้าทะลายโจร สามารถใช้ในการรักษาโควิด-19 ได้ เพราะมีสรรพคุณในการการยับยั้งการเพิ่มจำนวนของไวรัสในเซลล์ (virostatic) จึงช่วยระงับไม่ให้อาการรุนแรงขึ้นในผู้ป่วยโควิด-19 ที่ไม่มีอาการ หรืออาการรุนแรงน้อยได้

อย่างไรก็ตาม สารแอนโดรกราโฟไลด์ ไม่มีฤทธิ์ป้องกันการเข้าเซลล์ หรือกำจัดไวรัส จึงไม่สามารถใช้ในการป้องกันการติดเชื้อได้

นอกจากนี้สารอื่นๆ ในฟ้าทะลายโจรยังมีฤทธิ์ลดการอักเสบ ซึ่งมีผลในการลดไข้ลดอาการหวัด ไอ เจ็บคอ และกระตุ้นการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันอีกด้วย

วิธีใช้ฟ้าทะลายโจรแบบใบสดอย่างถูกต้อง และปลอดภัย

การรับประทานฟ้าทะลายโจรแบบใบสด แนะนำให้ใช้สำหรับการรับประทานเพื่อป้องกันการเกิดไข้หวัด และกระตุ้นภูมิคุ้มกัน

วิธีใช้

  • นำใบสดของฟ้าทะลายโจร 2-3 ใบ ใส่แก้ว
  • เติมน้ำเดือดลงจนเกือบเต็มแก้ว
  • ปิดฝาทิ้งไว้ประมาณครึ่งชั่วโมง หรือพอยาอุ่น
  • รินเอาเฉพาะน้ำมาดื่ม
  • รับประทานวันละ 1 ครั้ง ไม่ควรเกิน 3 เดือน หรือ 12 สัปดาห์

วิธีใช้ฟ้าทะลายโจรแบบแคปซูล หรือผงบด ในการรักษาโรคโควิด-19 อย่างถูกต้อง และปลอดภัย

ผู้ที่ต้องการใช้ยาสารสกัดฟ้าทะลายโจร หรือยาผงบดฟ้าทะลายโจร เพื่อรักษาโรคโควิด-19 จะต้องใช้ยาที่ฉลากสินค้าระบุ “ปริมาณแอนโดรกราโฟไลด์” เท่านั้น โดยแบ่งวิธีการใช้ออกเป็น 3 กลุ่ม ดังนี้

1.ผู้ป่วยโควิด-19 ที่ไม่มีอาการแสดง

  • ขนาดยา แอนโดรกราโฟไลด์ 60 มิลลิกรัมต่อวัน
  • แบ่งรับประทาน 3 ครั้ง ก่อนอาหารเช้า กลางวัน เย็น ครั้งละ 20 มิลลิกรัม
  • รับประทานติดต่อกัน 5 วัน

2.ผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีอาการไม่รุนแรง และไม่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเป็นโรครุนแรง หรือโรคร่วมสำคัญ

  • ขนาดยา แอนโดรกราโฟไลด์ 180 มิลลิกรัมต่อวัน
  • แบ่งรับประทาน 3 ครั้ง ก่อนอาหารเช้า กลางวัน เย็น ครั้งละ 60 มิลลิกรัม
  • รับประทานติดต่อกัน 5 วัน

3.รับประทานเพื่อเสริมภูมิคุ้มกัน

  • ขนาดยา แอนโดรกราโฟไลด์ 10 มิลลิกรัมต่อวัน
  • รับประทานวันละ 1 ครั้ง ก่อนมื้ออาหาร
  • รับประทานติดต่อกัน 5 วัน เว้น 2 วัน (ไม่ควรเกิน 12 สัปดาห์)

หมายเหตุ: สามารถตรวจสอบปริมาณสารแอนโดรกราโฟไลด์ในผลิตภัณฑ์สมุนไพรฟ้าทะลายโจร ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์โดยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ได้ที่ https://www.fda.moph.go.th/Herbal/SitePages/database_AP.html

วิธีการใช้ฟ้าทะลายโจรเพื่อรักษาโรคโควิด-19 ในเด็ก

การใช้ฟ้าทะลายโจรรักษาโรคโควิด-19 ในเด็ก จะใช้ยาสารสกัดฟ้าทะลายโจร หรือยาผงบดฟ้าทะลายโจร ที่ฉลากสินค้าระบุปริมาณแอนโดรกราโฟไลด์เหมือนกับผู้ใหญ่ โดยมีรายละเอียดดังนี้

  • เด็กเล็ก ยังไม่มีข้อมูลขนาดยาที่เพียงพอที่จะแนะนำให้ใช้ในผู้ป่วยเด็กที่เป็นโควิด-19 รวมทั้งยามีลักษณะเป็นแคปซูลบรรจุผงยาที่ขมมาก เด็กเล็กอาจรับประทานได้ยาก
  • เด็กโต อาจพิจารณาใช้ขนาด 3-3.5 มก./น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/วัน แบ่งให้วันละ 3-4 ครั้ง
  • เด็กที่น้ำหนักตัวตั้งแต่ 50 กิโลกรัมขึ้นไป ให้ใช้ยาในขนาดของผู้ใหญ่

ข้อพึงตระหนักในการใช้ฟ้าทะลายโจรเพื่อรักษาโรคโควิด-19

  • ฟ้าทะลายโจรมีฤทธิ์ในการยับยั้งการเพิ่มจำนวนของไวรัสในเซลล์ แล้วให้ร่างกายกำจัดเอง การใช้ให้ได้ผลดีที่สุด คือ ไม่ควรเกิน 72 ชั่วโมงหลังรับเชื้อ ร่วมกับการพักผ่อนและดูแลสุขภาพให้ดี
  • ไม่สามารถใช้ในการป้องกันการติดเชื้อได้ แต่สามารถใช้ในการกระตุ้นภูมิคุ้มกันให้แข็งแรงได้
  • กรณีที่ใช้รักษาอาการ เช่น ไข้หวัด ไอ เจ็บคอ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับการยับยั้งการเพิ่มจำนวนไวรัส มีคำแนะนำให้ใช้ขนาดยาน้อยกว่านี้

ข้อห้ามในการใช้ฟ้าทะลายโจร

  • ห้ามใช้ในผู้ที่มีอาการแพ้ฟ้าทะลายโจร เช่น เกิดผื่น ลมพิษ หน้าบวม
  • ห้ามใช้ในหญิงตั้งครรภ์ และหญิงให้นมบุตร เนื่องจากอาจทำให้เกิดความผิดปกติกับทารกได้
  • ไม่ควรใช้ในผู้ป่วยโรคตับและโรคไต
  • ไม่ควรรับประทานติดต่อกันเกิน 3 เดือน ในผู้ที่รับประทานเพื่อป้องกัน และเกิน 2 สัปดาห์ ในผู้ที่รับประทานเพื่อรักษา เพราะส่งผลกระทบต่อตับได้

ข้อควรระวังในการใช้ฟ้าทะลายโจร

  • ฟ้าทะลายโจรเป็นสมุนไพรรสขมจัด มีฤทธิ์เย็น อาจทำให้แขนขา มีอาการชาหรืออ่อนแรง รู้สึกหนาวเย็นภายใน
  • สารออกฤทธิ์ในฟ้าทะลายโจรสามารถทำอันตรกิริยาระหว่างยาหลายชนิด ผู้ที่กำลังรับประทานยา อาหารเสริม หรือสมุนไพรอื่นๆ อยู่ ควรปรึกษาแพทย์ก่อนรับประทาน
  • ควรระวังการใช้ร่วมกับยาต้านการแข็งตัวของเลือด (anticoagulants) และยาต้านเกล็ดเลือด (antiplatelets)
  • ควรระวังการใช้ร่วมกับยาลดความดัน (antihypertensives) เพราะอาจเกิดการเสริมฤทธิ์ ทำให้เกิดอาการหน้ามืดได้
  • ควรระวังการใช้ร่วมกับยาที่กระบวนการเมทาบอลิซึมผ่านเอนไซม์ Cytochrome P450 (CYP) เนื่องจากฟ้าทะลายโจรมีฤทธิ์ยับยั้ง CYP1A2, CYP2C9 และ CYP3A

รายชื่อยาที่ทำอันตรกิริยาระหว่างยากับฟ้าทะลายโจร

ฟ้าทะลายโจรมีฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ CYP1A2, CYP2C9, CYP3A4, CYP3A5 และ CYP3A7

การรับประทานฟ้าทะลายโจรร่วมกับยาที่ออกฤทธิ์กับเอนไซม์กลุ่มนี้อาจทำให้เกิดอันตรกิริยาระหว่างยา หรือที่เรียกง่ายๆ ว่า "ยาตีกัน" ได้

เพื่อความปลอดภัย ผู้ที่กำลังรับประทานยากลุ่มนี้จึงควรปรึกษาแพทย์ หรือเภสัชกรก่อนใช้ฟ้าทะลายโจร ได้แก่

รายชื่อยาที่ออกฤทธิ์กับเอนไซม์ CYP1A2

  • Antipsychrotics/Antidepressants ได้แก่ Clozapine, Fluvoxamine, Imipramine และ Olanzapine
  • Antibiotics ได้แก่ Ciprofloxacin
  • Miscellaneous ได้แก่ Caffeine, Theophylline และ Warfarin

รายชื่อยาที่ออกฤทธิ์กับเอนไซม์ CYP2C9

  • NSAIDs ได้แก่ Diclofenac, Ibuprofen, Meloxicam, S-naproxen และ Celecoxib
  • Sulfonylureas ได้แก Glyburide, Glibenclamide, Glipizide และ Glimepiride
  • Angiotensin II blockers ได้แก่ Losartan และ Irbesartan
  • Miscellaneous ได้แก่ Phenytoin, Rosiglitazone, Tamoxifen, S-warfarin, Amitriptyline และ Fluoxetine

รายชื่อยาที่ออกฤทธิ์กับเอนไซม์ CYP3A4, CYP3A5 และ CYP3A7

  • Macrolide antibiotics ได้แก่ Clarithromycin และ Erythromycin
  • HMG CoA reductase inhibitors ได้แก่ Atorvastatin, Simvastatin และ Lovastatin
  • Steroid 6 beta-OH ได้แก่ Estradiol, Hydrocortisone, Progesterone และ Testosterone
  • Miscellaneous ได้แก่ Cafergot, Caffeine, Dapsone, Dextromethorphan, Ondansetron และ Propanolol

ผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นจากการรับประทานฟ้าทะลายโจร

ฟ้าทะลายโจร อาจทำให้เกิดผลข้างเคียง (พบได้น้อย) ดังนี้

  • อาจทำให้เกิดอาการเบื่ออาหาร มวนท้อง ท้องเดิน คลื่นไส้อาเจียน วิงเวียนศีรษะ ใจสั่น อ่อนเพลีย กรณีที่มีอาการมาก เมื่อหยุดยาก็จะหายเป็นปรกติ
  • เกิดอาการแพ้ เช่น ผื่น ลมพิษ หน้าบวม ให้หยุดยาและรับประทานยาแก้แพ้ ควรไปพบแพทย์ทันที และห้ามใช้ยานี้อีก
  • ถ้ามีอาการหน้ามืด เวียนศีรษะ ความดันต่ำ ให้นั่งหรือนอนพัก อาการจะดีขึ้นใน 30 นาที

การนำฟ้าทะลายโจรมาใช้ในการรักษาโรคโควิด-19 จะต้องใช้ยาฟ้าทลายโจรที่ระบุปริมาณของแอนโดรกราโฟไลด์ ซึ่งเป็นสารที่ใช้ในการยับยั้งการเพิ่มจำนวนของไวรัสในเซลล์อย่างชัดเจน เพื่อที่จะได้รับประทานยาในปริมาณที่เหมาะสม และเห็นผล

สำหรับผู้ที่สนใจรับประทานฟ้าทะลายโจร ทั้งในด้านเสริมภูมิคุ้มกันและรักษาโรค ควรศึกษาข้อมูล วิธีการใช้ และข้อควรระวังอย่างละเอียดก่อน เพื่อป้องกันการเกิดผลข้างเคียงที่เป็นอันตรายได้ แนะนำให้สอบถามแพทย์ หรือเภสัชกรก่อนใช้ยาทุกครั้ง

หากสนใจเข้ารับการตรวจหาเชื้อโควิด-19 สามารถ เปรียบเทียบราคาล่าสุดและแพ็กเกจตรวจหาเชื้อโควิด-19 ได้ที่นี่เลย หรือติดตามข่าวสารวัคซีนโควิดในไทยที่ไลน์ @hdmall.support มีแอดมินใจดีคอยให้บริการข้อมูล สั่งซื้อแพ็กเกจ และจองคิวนัดหมายทุกวัน ตั้งแต่เวลา 9 โมงเช้าถึงตีหนึ่ง แอดเลยไม่ต้องรอ!

รวมบทความที่เกี่ยวข้องกับวัคซีนโควิด

ที่มาของข้อมูล

กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก, คำแนะนำการใช้ฟ้าทะลายโจร สำหรับสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ 2019 (https://thaicam.go.th/wp-content/uploads/2021/04/คำแนะนำการใช้ฟ้าทะลายโจร-บุคลากรทางการแพทย์_24042564.pdf), 21 กรกฎาคม 2564.

กรมสุขภาพจิต, ฉลาดกิน ฟ้าทะลายโจรสู้โรค ป้องกันโควิด-19 (https://dmh.go.th/news/view.asp?id=2334), 21 กรกฎาคม 2564.

กลุ่มวิจัยสถาบันมะเร็งแห่งชาติ, ฟ้าทะลายโจร (https://www.nci.go.th/en/research/researhdivision/research_informationfarthalai.html), 21 กรกฎาคม 2564.

คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดลหน่วยแพทย์ทางเลือก, สรรพคุณ ฟ้าทะลายโจร (https://med.mahidol.ac.th/altern_med/th/km/19jun2020-1729), 21 กรกฎาคม 2564.

บัญชียาจากสมุนไพร ในบัญชียาหลักแห่งชาติ (พ.ศ.2556) คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร, ยาฟ้าทะลายโจร (http://pharmacy.su.ac.th/herbmed/drug/text/drug.php?drugID=56), 21 กรกฎาคม 2564.

ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิง สยมพร ศิรินาวิน, นายแพทย์ กุลธนิต วนรัตน์, เภสัชกร วราวุธ เสริมสินสิริ และเภสัชกร วรสุดา ยูงทอง, ข้อควรรู้เกี่ยวกับการใช้ “สารแอนโดรกราโฟไลด์” ในผลิตภัณฑ์ “ฟ้าทะลายโจร” เพื่อ “การรักษาโควิด-19” (https://thaicam.go.th/wp-content/uploads/2021/07/ข้อควรรู้เกี่ยวกับ-การใช้-สารแอนโดรกราโฟไลด์-ในผลิตภัณฑ์-ฟ้าทะลายโจร.pdf), 21 กรกฎาคม 2564.

สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กองผลิตภัณฑ์สมุนไพร, ทะเบียนสมุนไพรสารสกัดฟ้าทะลายโจรที่มีการแสดงปริมาณแอนโดรกราโฟไลด์ (Andrographolide) ​(https://www.fda.moph.go.th/Herbal/SitePages/database_AP.html), 21 กรกฎาคม 2564.

@‌hdcoth line chat