โรคริดสีดวงทวาร ที่บางคนก็ชอบเรียกกันว่า “ริซซี่” ให้ดูเก๋ไก๋ และอ่อนโยนนิดๆ เพื่อหวังจะกลบความน่ากลัวและคลายความกังวลให้ผู้เป็นโรคนี้ลงได้บ้าง
ปัจจุบันมีรายงานว่า ทั่วโลกมีแนวโน้มผู้ป่วยโรคริดสีดวงทวารเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ แม้โรคนี้จะไม่รุนแรงถึงขั้นทำให้ทุพพลภาพ หรือเสียชีวิต แต่ก็ทำให้คุณภาพชีวิตแย่ลงได้ หากไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง
ริดสีดวงทวารเป็นหนึ่งในโรคที่มีสาเหตุสำคัญจาก “พฤติกรรมการใช้ชีวิตที่ไม่ถูกต้อง” เช่นเดียวกับกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง หรือพูดง่ายๆ ว่า “ใครก็สร้างโรคริดสีดวงทวารขึ้นมาได้”
สารบัญ
รู้จักริดสีดวงทวาร
เกิดจากการโป่งพองของหลอดเลือดขนาดเล็กบริเวณเยื่อบุช่องทวารหนัก รวมถึงมีการหย่อนยานของเนื้อเยื่อเกี่ยวพันกับเยื่อบุช่องทวารหนักด้วย ลักษณะดังกล่าวส่งผลให้เกิดก้อนเนื้อที่ปากทวารหนักยื่นโป่งพองและยื่นออกมา ทั้งนี้เนื้อเยื่อริดสีดวงทวารประกอบด้วยหลอดเลือดดำและเนื้อเยื่อมีความยืดหยุ่นสูง
ชนิดของริดสีดวงทวาร
ริดสีดวงทวารชนิดภายใน
เกิดขึ้นเหนือรูเปิดทวารหนัก 1.5-2 เซนติเมตร หลอดเลือดที่โป่งพองออกนี้จะปกคลุมด้วยเยื่อบุลำไส้ใหญ่ตอนปลายสุดจึงทำให้ไม่สามารถมองเห็น หรือคลำได้ ผู้ป่วยจึงไม่มีอาการเจ็บปวดแต่จะมีเลือดออกเป็นหลัก
ริดสีดวงทวารชนิดภายในสามารถแบ่งโรคได้เป็น 4 ระยะ ดังนี้
- ระยะที่ 1 อาจมีเลือดออกเวลาเบ่งอุจจาระ หรือท้องผูก หัวริดสีดวงทวารยังไม่พ้นยื่นออกมา
- ระยะที่ 2 หัวริดสีดวงทวารยื่นพ้นออกจากปากทวารหนักขณะเบ่งถ่ายอุจจาระ แต่สามารถหดกลับเข้าไปได้เอง อาจมีเลือดออกร่วมด้วย
- ระยะที่ 3 หัวริดสีดวงทวารยื่นพ้นออกจากปากทวารหนักขณะเบ่งถ่ายอุจจาระ ไม่สามารถหดกลับเข้าไปได้เองต้องใช้นิ้วดันกลับเข้าไป
- ระยะที่ 4 หัวริดสีดวงทวารยื่นพ้นออกจากปากทวารหนักตลอดเวลา มีอาการอักเสบ บวมมาก ทำให้ผู้ป่วยนั่งไม่ได้
ริดสีดวงทวารชนิดภายนอก
เกิดขึ้นบริเวณปากรอยย่นของทวารหนักสามารถมองเห็นและคลำได้ หลอดเลือดที่โป่งพองออกจะถูกปกคลุมด้วยผิวหนัง ผู้ป่วยจะมีอาการเจ็บและเลือดออก
อาการของริดสีดวงทวาร
- ถ่ายอุจจาระแล้วมีเลือดสดๆ ไหลออกมาด้วย
- คลำพบก้อนที่ปากทวารหนัก
- โดยทั่วไปจะไม่มีอาการปวด ยกเว้นมีลิ่มเลือดเฉียบพลัน หรือมีการขาดเลือดของริดสีดวงทวาร หรือมีโรคอื่นแทรก
โรคนี้หากเกิดขึ้นกับใครก็ตาม นอกจากสร้างความเจ็บป่วยทางกาย กระทบการใช้ชีวิตประจำวันแล้ว ยังสร้างความอับอายแก่ผู้ป่วยได้มาก ทำให้ไม่อยากไปพบแพทย์เพราะกลัวกระบวนการตรวจและรักษาที่จะตามมา
นายแพทย์ธีรสันต์ ดันติเตมิท ศัลยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านลำไส้ใหญ่และทวารหนัก โรงพยาบาลพญาไท 2 แนะนำว่า “ผู้ป่วยควรมาพบแพทย์เพื่อหาแนวทางรักษาที่เหมาะสมก่อนะระยะของโรคจะรุนแรงมากยิ่งขึ้น”
ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดริดสีดวงทวาร
- ภาวะท้องผูกเรื้อรัง
- ท้องเสีย ถ่ายอุจจาระบ่อยๆ
- ชอบใช้ยาสวนอุจจาระ หรือยาระบาย
- อุปนิสัยชอบเบ่งอุจจาระเพื่อพยายามขับอุจจาระให้หมด
- อุปนิสัยใช้เวลานั่งถ่ายอุจจาระนาน เช่น เล่นโทรศัพท์มือถือ อ่านหนังสือ
- อาชีพบางอาชีพ เช่น ผู้ที่ต้องยืนนานๆ ผู้ที่ต้องนั่งนานๆ
- คนในครอบครัวมีประวัติเป็นริดสีดวงทวารหนักมาก่อน
- หญิงที่อยู่ระหว่างตั้งครรภ์เพราะมดลูกขยายใหญ่ขึ้นทำให้ขับถ่ายลำบาก เรียกว่า “ริดสีดวงทวารขณะตั้งครรภ์”
- ผู้สูงอายุ กล้ามเนื้อหย่อนยานทำให้เบาะรองเลื่อนลงมาจนยื่นออกทางทวารหนัก
- บุคคลที่มีประวัติคนในครอบครัวเป็นริดสีดวงทวาร
หากคุณมีอาการเข้าข่ายริดสีดวงทวาร แต่ยังไม่มีเวลาไปพบแพทย์ด้วยตนเอง ปัจจุบันมีบริการปรึกษาแพทย์ออนไลน์ให้บริการแล้ว บริการนี้สะดวกสบาย อยู่ที่ไหนก็ใช้บริการได้หมด
หรือหากคุณเป็นผู้หญิง รู้สึกเขินหากต้องคุยกับคุณหมอผู้ชาย หากคุยกับผู้หญิงด้วยกันจะสบายใจกว่า จะเลือกปรึกษากับแพทย์หญิงก็ได้เช่นกัน
การรักษาริดสีดวงทวาร
- การใช้ยาเหน็บทวารหนัก
- การรับประทานยาระบาย หรือยาที่ช่วยให้อุจจาระนุ่ม
- การฉีดยา
- การผ่าตัด
- การใช้ยางรัด
แม้จะมีการรักษาหลายวิธี แต่การจะรักษาด้วยวิธีใดนั้นขึ้นอยู่กับระยะของโรค ข้อจำกัดด้านสุขภาพของผู้ป่วย และดุลยพินิจของแพทย์
การรักษาริดสีดวงทวารชนิดภายใน
แบบไม่ผ่าตัด
มีวิธีรักษา 2 วิธี ได้แก่ การรัดยางและการฉีดยา มีรายละเอียดดังนี้
- การรัดยาง เป็นการรักษาที่ไม่เจ็บมาก แต่จะรู้สึกหน่วงเหมือนปวดท้องถ่ายประมาณ 1-3 วัน วิธีนี้จะช่วยให้ริดสีดวงระยะที่ 2-3 สามารถหดกลับไปยังระยะที่ 1 ได้ หลังจากรัดยางแล้ว ริดสีดวงทวารจะค่อยๆ ฝ่อลงๆ และจะหลุดไปเอง ไม่ต้องเสียเลือด และไม่ต้องเย็บแผล
- การฉีดยา ด้วยยาชนิดเดียวกันกับที่ใช้รักษาเส้นเลือดขอดเป็นการรักษาที่ทำให้เส้นเลือดแข็งและหดไป เพื่อไม่ให้มีเลือดไปเลี้ยงก้อนริดสีดวงทวารได้อีก จากนั้นริดสีดวงทวารจะฝ่อลงๆ และจะหลุดไปเอง
การรักษาทั้งสองวิธีนี้เมื่อนำมาเปรียบเทียบผลการรักษากันพบว่า “การรัดยางได้ผลที่แน่นอนมากกว่า” ยิ่งหากผู้ป่วยเป็นริดสีดวงหลายหัว การฉีดยาอาจได้ผลไม่ทั่วถึง
แบบผ่าตัด
- การผ่าตัดมาตรฐาน ผ่าเอาก้อนเนื้อออกไปแล้วเย็บปิดปากแผล วิธีนี้ใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมงขึ้นไป นอนโรงพยาบาล 1-2 วัน และพักฟื้นที่บ้านประมาณ 1 สัปดาห์ ไม่ต้องแช่ก้นในด่างทับทิม หรือน้ำอุ่น สามารถใช้น้ำล้างได้ตามปกติ และงดออกกำลังกาย
- รักษาด้วยเลเซอร์ ต้องเจาะเข้าไปที่บริเวณข้างแผลเพื่อเลเซอร์เข้าไปทำลายริดสีดวง ขนาดรอยเจาะประมาณ 2-3 มิลลิเมตร วิธีนี้ไม่ต้องเย็บแผล หลังผ่าตัดสามารถเคลื่อนไหวได้ตามปกติ ไม่ต้องพักฟื้นนาน และไม่ต้องแช่ก้นในด่างทับทิม หรือน้ำอุ่น
- เครื่องมือเย็บอัตโนมัติ ต้องทำโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพราะตำแหน่งที่ต้องตัดใกล้กับช่องคลอด วิธีนี้ใช้เวลาน้อยและหลังผ่าตัดใช้เวลาพักฟื้นน้อยแค่ 2-3 วัน ผู้ป่วยจะฟื้นตัวได้เร็ว
- การเย็บหลอดเลือดริดสีดวง วิธีนี้เจ็บน้อย แต่ต้องบล็กหลังและดมยาสลบก่อนผ่าตัด เนื่องจากต้องเปิดแผลเข้าไปแล้วเย็บหลอดเลือดที่หล่อเลี้ยงริดสีดวงเพื่อให้หด หรือฝ่อลง
หลังผ่าตัดริดสีดวงทวารแล้ว หรืออยู่ในช่วงพักฟื้นหลังผ่าตัด ผู้ป่วยสามารถรับประทานอาหารได้ทุกชนิด โดยช่วงแรกจะเน้นอาหารอ่อนๆ น้ำมากๆ เพื่อให้ย่อยง่าย ขับถ่ายง่าย
จากนั้นจะเน้นอาหารเสริมจำพวกไฟเบอร์ หรือเส้นใยอาหารจากพืช ดื่มน้ำมากๆ เพื่อป้องกันไม่ให้ท้องผูกหลังการผ่าตัด
การรักษาริดสีดวงทวารชนิดภายนอก
ส่วนมากจะหายเองได้ ไม่อันตรายมาก อาการที่พบบ่อยคือ ก้นเรียบอยู่แล้ว แต่เมื่อเบ่งก็เจ็บก้นและเกิดอาการอักเสบขึ้นมาเรียกว่า “ริดสีดวงภายนอกอักเสบ”
อาการแบบนี้สามารถเกิดได้กับทุกคนที่ติดนิสัยชอบเบ่งอุจจาระ ขับถ่ายยาก ท้องผูกบ่อย ไม่ค่อยรับประทานผักและผลไม้ ดื่มน้ำน้อย
หากอาการไม่รุนแรงนัก ริดสีดวงทวารสามารถหายไปเองได้ แต่หากไม่สามารถหายเองได้ต้องไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัย
เมื่อก้อนเนื้อเติบโตมากขึ้นจำเป็นต้องผ่าตัดออกโดยแพทย์ที่มีความชำนาญเฉพาะโรคทวารหนักเท่านั้น ไม่มีวิธีอื่น เพราะหากปล่อยทิ้งไว้ เมื่อถ่ายบ่อยๆ จะยิ่งเจ็บมากขึ้น
อย่างไรก็ดี หากสงสัยว่าตนเองอาจเป็นริดสีดวงทวาร ผู้ป่วยสามารถมาพบแพทย์ได้ตั้งแต่เนิ่นๆ ไม่จำเป็นต้องรอให้ก้อนเนื้อโตมากก่อนแล้วจึงค่อยมา
อาการไม่พึงประสงค์หลังผ่าตัด เมื่อมีอาการต่อไปนี้ต้องรีบมาพบแพทย์
หลังผ่าตัดอาจพบอาการไม่พึงประสงค์ซึ่งเกิดขึ้นไม่บ่อย ดังนี้
- ปัสสาวะไม่ออก
- ติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ
- แผลผ่าตัดมีเลือดออกมาก
- กั้นอุจจาระไม่ได้
- ถ่ายไม่ออก เนื่องจากรูก้นอาจตีบตันได้หลังการผ่าตัด แต่ก็มีโอกาสน้อย
ทั้งนี้แพทย์จะแจ้งให้ผู้ป่วยทราบหากมีอาการไม่พึงประสงค์หลังการผ่าตัดทันที และควรปรึกษาแพทย์หากสงสัยว่า มีอาการไม่พึงประสงค์หลังผ่าตัด
แผลหลังผ่าตัดจะเปิดอยู่ 3 – 5 วัน อาจพบว่า มีมูกไหลออกจากแผลได้ หากรู้สึกแน่นบริเวณก้นสามารถแช่ก้นได้โดยใช้น้ำอุ่นที่สะอาดตามที่ต้องการ
อย่างไรก็ดี หากมีอาการต่อไปนี้ต้องรีบมาพบแพทย์
- ถ่ายเป็นลิ่มเลือดปริมาณมาก แต่ไม่ค่อยมีอุจจาระออกมา
- เจ็บแผลมาก ปวดตลอดเวลา โดยอาการไม่ดีขึ้น
- มีหนอง หรือน้ำเหลือง ออกมาในปริมาณมาก
- มีไข้สูงโดยไม่ทราบสาเหตุ
แค่ปรับพฤติกรรมก็ป้องกันริดสีดวงทวารหนักได้
- ดื่มน้ำสะอาดให้พอเหมาะ หากดื่มน้ำน้อยเกินไปจะทำให้ขับถ่ายลำบาก เพราะร่างกายจะดูดน้ำในกากอาหารกลับขึ้นไปใช้ใหม่นั่นเอง ส่งผลให้ท้องผูก และมีของเสียสะสมในร่างกายเพิ่มมากขึ้น
- รับประทานผักและผลไม้สดให้มากขึ้น ช่วยเพิ่มเส้นใยให้กากอาหารทำให้ขับถ่ายได้ง่ายขึ้น หากรับประทานแต่เนื้อสัตว์ซึ่งมีกากใยน้อยจะทำให้การเคลื่อนตัวของอาหารภายในลำไส้ช้าลง เกิดการหมักหมมภายในลำไส้ และขับถ่ายยากขึ้น
- หลีกเลี่ยงการดื่มชา กาแฟ เนื่องจากสารแทนนินในชาและคาเฟอีนในกาแฟมีฤทธิ์ทำให้ขับถ่ายยากขึ้น หรือท้องผูก ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสภาพร่างกายของแต่ละคน
- หลีกเลี่ยงอาหารรสจัดทั้งเปรี้ยวจัดและเผ็ดจัด นอกจากทำให้เกิดการระคายเคืองในระบบทางเดินอาหารแล้ว ยังส่งผลต่อการขับถ่ายด้วย
- ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เลี่ยงพฤติกรรมเนือยนิ่ง พยายามขยับร่างกาย ลุกขึ้นยืน เดินบ่อยๆ ออกกำลังกายอย่างเหมาะสมและสม่ำเสมอ เพื่อให้ลำไส้เคลื่อนไหวและบีบให้อุจจาระเคลื่อนตัวได้ง่ายขึ้น
- พักผ่อนให้เพียงพอ
- หลีกเลี่ยงความเครียด
หากคุณ หรือคนใกล้ตัว มีพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่จัดอยู่ในกลุ่มเสี่ยงต่อการเป็นโรคริดสีดวงทวาร ควรรีบปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิตตั้งแต่วันนี้ ถ้าไม่อยากให้ “ริซซี่” มาเยือน
แต่หากมีอาการต้องสงสัยว่าอาจเข้าข่ายโรคนี้แล้ว ควรรีบไปปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง หรือติดต่อคลินิกโรคลำไส้ใหญ่และทวารหนัก (ผ่าตัดลำไส้และอื่น) โรงพยาบาลพญาไท 2 ซึ่งมีทีมแพทย์พร้อมให้บริการรักษาโรคริดสีดวงทวารแบบครบวงจร เจ็บน้อย ปลอดภัย ฟื้นตัวไว และไม่เสี่ยง