แม้ว่าเทรนด์แต่งงานช้า อยู่ด้วยกัน 2 คน ไม่ค่อยมีลูก จะมาแรงมากขึ้นในยุคนี้ แต่ยังมีอีกหลายคู่ที่พยายามและเฝ้ารอว่าเจ้าตัวเล็กจะมาเกิด
พยายามหลายครั้งเข้าแต่ไม่ได้ผลชักไม่ค่อยดี หรือว่าจะเป็นเพราะร่างกายมีปัญหา ที่เรียกกันว่า “ภาวะมีบุตรยาก” อยากให้ชัวร์ควรเข้าตรวจกับแพทย์เฉพาะทางให้สบายใจ หรือหาข้อมูลเบื้องต้นก่อนได้ด้านล่าง
สารบัญ
เมื่อไหร่ถึงควรตรวจภาวะเจริญพันธุ์ หรือปรึกษาคุณหมอเรื่องมีบุตรยาก?
- สำหรับคนที่อายุไม่ถึง 35 ปี มีเพศสัมพันธ์สม่ำเสมอ โดยไม่ได้คุมกำเนิด ในระยะ 12 เดือน แล้วยังไม่มีบุตร
- สำหรับคนที่อายุ 35 ปีขึ้นไป มีเพศสัมพันธ์สม่ำเสมอ โดยไม่ได้คุมกำเนิด ในระยะ 6 เดือน แล้วยังไม่มีบุตร
ถ้าเข้าเกณฑ์ทั้ง 2 ข้อด้านบน หรือเคยปฏิสนธิแต่ภายหลังแท้งโดยธรรมชาติ จะถือว่าอยู่ในภาวะ มีบุตรยาก ซึ่งหากต้องการมีบุตรก็ควรเข้ารับการตรวจเพื่อหาสาเหตุต่อไป จะได้แก้ให้ตรงจุด
โดยที่สาเหตุอาจเกิดจากฝ่ายชาย ฝ่ายหญิง หรือทั้ง 2 ฝ่ายก็ได้ ดังนั้นจึงควรเข้ารับการตรวจทั้งคู่
ตรวจภาวะมีบุตรยาก ตรวจอะไรบ้าง?
สำหรับผู้หญิง จะเน้นการตรวจมดลูก ท่อนำไข่ ฮอร์โมนเพศ เพื่อดูว่าแต่ละส่วนที่เกี่ยวข้องกับการปฏิสนธิและฝังตัวของตัวอ่อนนี้ทำงานได้ปกติหรือไม่ มีการอุดตัน หรือภาวะใดที่ไม่เอื้อให้เกิดการฝังตัวอ่อนหรือเปล่า
วิธีการตรวจภาวะมีบุตรยาก สำหรับผู้หญิง เช่น
- ใช้กล้องขนาดเล็กตรวจภายในมดลูก
- ตรวจอัลตราซาวด์ช่องคลอด เพื่อหาความผิดปกติในถุงน้ำรังไข่ เนื้องอกรังไข่ เนื้องอกในมดลูกหรือเยื่อบุโพรงมดลูก หรือก้อนเนื้อภายในอุ้งเชิงกราน
- ตรวจฮอร์โมนจากเลือด
สำหรับผู้ชายจะเน้นการตรวจน้ำเชื้อ อาจจะใช้ชื่อว่า ตรวจความสมบูรณ์ของเชื้ออสุจิ (Semen analysis) หรือ ตรวจสเปิร์ม เป็นสิ่งเดียวกัน
สิ่งที่แพทย์จะตรวจ ได้แก่
- ปริมาณตัวอสุจิในน้ำเชื้อ
- ความเร็วในการเคลื่อนไหวอสุจิ
- ขนาด รูปร่าง ความสมบูรณ์ของอสุจิ
ในการตรวจน้ำเชื้อ ผู้รับการตรวจอาจต้องเตรียมตัวล่วงหน้า เช่น งดมีเพศสัมพันธ์และหลั่งอสุจิอย่างน้อย 2-3 วันก่อนรับการตรวจ แต่ไม่ควรเกิน 7 วัน งดดื่มแอลกอฮอล์และยาเสพติดทุกชนิด พักผ่อนให้เพียงพอ ที่สำคัญคือขณะเก็บตัวอย่างน้ำอสุจิ จะต้องล้างมือและอวัยวะเพศให้สะอาดด้วยสบู่ และไม่ลืมล้างมือให้แห้งก่อนเก็บด้วย
ปัจจัยที่มีผลต่อภาวะมีบุตรยาก
นอกจากความสมบูรณ์ของอวัยวะสืบพันธุ์แล้ว ยังมีปัจจัยอื่นๆ ที่ทำให้มีบุตรยากได้เช่นกัน เช่น
- อายุ ผู้หญิงที่อายุ 30 ปีขึ้นไป หรือ ผู้ชายที่อายุ 40 ปีขึ้นไป
- ภาวะน้ำหนักเกิน ทั้งในผู้ชายและผู้หญิง
- พฤติกรรมสูบบุหรี่จัด ดื่มเครื่องดื่มแอลกฮอล์เป็นประจำ เสพสารเสพติด
- การรับประทานยาบางชนิดหรือรับการรักษาด้วยเคมีบำบัด
- ความเครียด
ทางเลือกสำหรับผู้มีภาวะมีบุตรยาก
ผู้ที่อยากมีบุตร แม้ว่ารับการตรวจภาวะมีบุตรยากแล้วพบความผิดปกติใดๆ ก็ไม่ได้หมายความว่าต้องเป็นข่าวร้ายไปเสียทั้งหมด เพราะยิ่งรู้สาเหตุที่แท้จริงก็จะยิ่งทำให้การรักษานั้นเป็นไปได้อย่างดีขึ้น
ที่สำคัญ ปัจจุบันมีแนวทางการรักษาผู้มีบุตรยากหลายวิธี เช่น ทำ IVF, IUI, ICSI, IMSI รวมไปถึงในผู้หญิงที่ต้องการมีบุตรแต่ยังไม่ต้องการมีทันทีตอนนี้ ก็ยังสามารถฝากไข่ แช่แข็งไข่ ไว้ก่อนได้ด้วย แล้วค่อยใช้เทคโนโลยีผสมเทียมช่วยเรื่องการปฏิสนธิ เพื่อจะได้มีบุตรในเวลาที่พร้อมภายหลัง