HDmall สรุปให้
ปิด
ปิด
- การตรวจ MRI คือ การตรวจวินิจฉัยโรค โดยใช้สนามแม่เหล็กและคลื่นวิทยุสร้างภาพอวัยวะภายในร่างกายออกมา สามารถตรวจได้เกือบทุกอวัยวะ ยกเว้นปอดและลำไส้บางส่วน เนื่องจากเป็นอวัยวะส่วนที่มีการขยับเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา
- ระหว่างตรวจ MRI เพียงแค่นอนนิ่งๆ อยู่บนเตียงเท่านั้น และการตรวจ MRI ไม่สร้างความรู้สึกเจ็บต่อร่างกายผู้เข้ารับบริการ
- อาการที่ควรตรวจ MRI ในการวินิจฉัย เช่น ปวดศีรษะ ปวดคอเรื้อรัง ปวดร้าวลงแขนหรือแขนอ่อนแรง ปวดร้าวลงขา ปวดเจ็บตามข้อต่อ การบาดเจ็บที่ไขข้อหรือเส้นเอ็น หรือควบคุมการขับถ่ายปัสสาวะ อุจจาระไม่ได้
- การตรวจ MRI แพทย์สามารถดูภาพได้ทันทีหลังตรวจสแกนร่างกายเรียบร้อยแล้ว แต่หลังจากนั้น แพทย์จะต้องนำภาพไปแปรผลวินิจฉัยต่อเสียก่อน
- บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ #HDinsight ได้รับการสปอนเซอร์จากโรงพยาบาลนครธน แพทย์ผู้ให้ข้อมูลไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการโฆษณาหรือการซื้อขายแพ็กเกจ
- ดูรายละเอียด ราคา ตรวจวินิจฉัยอาการปวดหลังเรื้อรัง ด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า MRI
- ดูรายละเอียด ราคา ตรวจวินิจฉัยอาการปวดคอเรื้อรัง ด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า MRI
- สอบถามแอดมินเพิ่มเติมเกี่ยวกับแพ็กเกจได้ที่ไลน์ @HDcoth
การตรวจคัดกรองโรคต่างๆ ในบางครั้งแค่การพูดคุยซักประวัติหรือตรวจดูด้วยตาเปล่ากับแพทย์นั้นอาจไม่เพียงพอ แต่จำเป็นต้องมีการตรวจเชิงลึกมากขึ้น เพื่อช่วยให้การวินิจฉัยแม่นยำกว่าเดิม และหนึ่งในการตรวจคัดกรองโรคเชิงลึกที่ใครหลายคนอาจเคยได้ยินก็คือ “การตรวจ MRI”
หลายคนมักเข้าใจว่า การตรวจ MRI เป็นเรื่องใหญ่พอสมควร แต่ในความจริงแล้วการตรวจ MRI นั้นทั้งง่ายและปลอดภัยกว่าที่หลายคนคิด และยังเป็นการตรวจที่ทำให้แพทย์วินิจฉัยความผิดปกติต่างๆ ได้อย่างละเอียดกว่าเดิมหลายเท่าตัวทีเดียว
HDmall.co.th ร่วมกับ แพทย์หญิงชมสิริ เสกสรรค์วิริยะ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านรังสีวิทยาทั่วไปและภาพวินิจฉัยระบบประสาท ประจำศูนย์รังสีวินิจฉัย โรงพยาบาลนครธน จะพาไปเจาะลึกเกี่ยวกับการตรวจ MRI พร้อมตอบทุกข้อสงสัย ใครควรตรวจ MRI? แล้ว MRI ทำงานอย่างไร? ตรวจร่างกายได้ละเอียดแค่ไหน? ตรวจบ่อยๆ จะกระทบต่อสุขภาพของเราหรือเปล่า?
เลือกหัวข้อที่สนใจได้ที่นี่
- การตรวจ MRI คืออะไร?
- ตรวจ MRI ได้ทุกอวัยวะหรือไม่?
- อาการแบบไหนที่ควรตรวจ MRI?
- ความแตกต่างของการตรวจ MRI กับการตรวจแบบอื่น
- การเตรียมตัวก่อนตรวจ MRI
- ตรวจ MRI รอผลตรวจนานไหม?
- ตรวจ MRI ได้บ่อยแค่ไหน?
- ระหว่างตรวจ MRI ต้องทำตัวอย่างไร?
- ตรวจ MRI เจ็บไหม?
- ใส่ข้อเข่าเทียม มีโลหะอยู่ในร่างกาย ตรวจ MRI ได้ไหม?
- มีรอยสักตรวจ MRI ได้ไหม?
- หญิงตั้งครรภ์ตรวจ MRI ได้ไหม?
- ตรวจ MRI ในเด็กได้ไหม?
- ตรวจ MRI ที่ไหนดี?
- บทความที่ HDmall.co.th แนะนำ
การตรวจ MRI คืออะไร?
การตรวจ MRI หรือ “Magnetic Resonance Imaging” คือ การตรวจวินิจฉัยโรค ผ่านการถ่ายภาพเสมือนจริงภายในร่างกายด้วยเครื่องผลิตสนามแม่เหล็กไฟฟ้าและคลื่นความถี่วิทยุ (Radiofrequency) กระตุ้นไฮโดรเจนอะตอมในร่างกาย มีการคายพลังงานออกมา แล้วเครื่อง MRI จะรับสัญญาณแล้วแปลงเป็นภาพอวัยวะภายในที่มีความคมชัด ละเอียดถึงชั้นเนื้อเยื่อในระดับมิลลิเมตร
เครื่อง MRI เป็นเทคโนโลยีที่ถูกใช้อย่างแพร่หลาย เพราะเป็นการตรวจวินิจฉัยโดยให้ความถูกต้องและแม่นยำสูง โดยเฉพาะในส่วนของระบบสมองและกระดูกสันหลัง และยังมีประโยชน์ในการตรวจผู้ป่วยเด็กและสตรีตั้งครรภ์เนื่องจากไม่มีอันตรายจากรังสีที่เกิดจากการใช้เอกซเรย์
ตรวจ MRI ได้ทุกอวัยวะหรือไม่?
การตรวจ MRI สามารถตรวจได้ในทุกอวัยวะและทุกพื้นที่ของร่างกาย ยกเว้นอวัยวะลำไส้กับปอด เนื่องจากเป็นอวัยวะส่วนที่มีการขยับเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา ส่งผลทำให้เกิดภาพรบกวนในระหว่างตรวจ MRI และทำให้รายละเอียดภาพที่ถ่ายออกมาไม่ชัดเจน แปลผลไม่ได้
ตำแหน่งของร่างกายหรืออวัยวะส่วนที่แพทย์นิยมใช้การตรวจ MRI เป็นส่วนหนึ่งในวินิจฉันอย่างละเอียด ได้แก่
- สมอง
- กระดูกสันหลังและไขสันหลัง
- ระบบกล้ามเนื้อและข้อต่อ
- ตับและท่อน้ำดี
- หัวใจและหลอดเลือด
ควรเข้ารับการตรวจ MRI เมื่อมีอาการเหล่านี้
ความผิดปกติที่แพทย์มักแนะนำให้รับการตรวจ MRI เพิ่มเติมจะเป็นกลุ่มอาการหรือโรคที่ต้องดูรายละเอียดของเนื้อเยื่อตามอวัยวะต่างๆ ในเชิงลึก
การตรวจ MRI ยังมีความจำเป็น หากความผิดปกตินั้นๆ ไม่สามารถตรวจหาสาเหตุได้ผ่านการตรวจเอกซเรย์ ทำซีทีสแกน หรือทำอัลตราซาวด์ หรือการตรวจ 3 อย่างนี้ยังให้ข้อมูลในการตรวจวินิจฉัยไม่เพียงพอ ในกรณีนี้ แพทย์ก็จะส่งตัวผู้ป่วยให้รับการตรวจ MRI เพื่อหาข้อมูลความผิดปกติเพิ่มเติมต่อไป
สำหรับตัวอย่างอาการที่พบได้บ่อยและผู้เข้ารับบริการมักต้องใช้การตรวจ MRI เป็นส่วนหนึ่งในการตรวจวินิจฉัย ได้แก่
1. ปวดศีรษะ ปวดคอ หรือปวดหลังเรื้อรัง
อาการปวดศีรษะหรือปวดคอเรื้อรังพบได้บ่อย โดยเฉพาะในยุคที่เราต้องใช้สายตาทำงานกับหน้าจอเป็นเวลานาน
แต่ขณะเดียวกันก็อาจมีสาเหตุมาจากเนื้องอกที่สมองหรือไขสันหลัง การมีก้อนมะเร็ง การติดเชื้อหรือความผิดปกติที่กระดูกสันหลังหรือระบบประสาทได้เช่นกัน
หากมีอาการแล้วรักษาโดยการกินยาหรือทำกายภาพบำบัดแล้วไม่หาย ก็ควรรีบเดินทางมาตรวจอย่างละเอียดกับแพทย์โดยเร็ว
2. แขนชา ขาชา หรือไร้ความรู้สึกบริเวณอวัยวะบางส่วน
อาการแขนขาชาหรือเกิดอาการไร้ความรู้สึกบริเวณอวัยวะบางส่วนเป็นสัญญาณของหลายโรคที่เป็นอันตรายรุนแรงได้ เช่น ภาวะเส้นเลือดในสมองตีบ โรคกระดูกสันหลังเสื่อม โรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท
โดยโรคหรือภาวะดังกล่าว หากมีอาการชาติดต่อกันยาวนาน อาจพัฒนากลายเป็นอาการอัมพฤกษ์ อัมพาตได้ หากไม่รีบตรวจวินิจฉัยและหาวิธีรักษาโดยด่วน
3. แขนหรือขาอ่อนแรง
อาการแขนหรือขาอ่อนแรง เป็นอาการที่อาจเกิดจากโรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท การมีก้อนเนื้อที่ไขสันหลังหรือกระดูกสันหลัง ภาวะเส้นเลือดในสมองตีบ หรือภาวะสมองขาดเลือด
รวมถึงอาจเกิดจากโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง ซึ่งปัจจุบันโรคนี้ยังไม่มีวิธีรักษาให้หายขาด และทำได้เพียงรักษาไปตามอาการที่เกิดขึ้นเท่านั้น
4. ปวดคอร้าวลงแขน หรือปวดหลังร้าวลงขา
อาการปวดหลังร้าวลงแขนหรือร้าวลงขา มักเกิดจากโรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท สามารถรักษาให้หายได้ แต่จะต้องมีการตรวจวินิจฉัยอย่างละเอียดก่อน
ซึ่งการตรวจ MRI ร่วมกับการวินิจฉัยกับแพทย์จะช่วยหาชิ้นกระดูกหรือหมอนรองกระดูกส่วนที่เป็นต้นตอทำให้เกิดอาการได้ ทำให้แพทย์สามารถวิเคราะห์แนวทางการรักษาที่เหมาะสมต่อไป
5. ปวดเจ็บตามข้อต่อ
อาการปวดเจ็บตามข้อต่อ บ่งบอกถึงอาการบาดเจ็บหรือความเสื่อมของกระดูก ในบางรายที่มีอาการอาจได้ยินเสียงกรอบแกรบบริเวณไขข้อในระหว่างเคลื่อนไหวร่างกายด้วย
หากไม่รีบตรวจวินิจฉัยและหาวิธีรักษา ไขข้อดังกล่าวก็จะยิ่งอ่อนแอและไม่สามารถรับน้ำหนักร่างกายในระหว่างทำกิจกรรมต่างๆ ได้
ในกรณีร้ายแรง ผู้ป่วยอาจต้องรักษาด้วยวิธีการผ่าตัดเปลี่ยนไขข้อ ซึ่งมีค่าใช้จ่ายสูง และอาจต้องใช้เวลาในการฟื้นฟูสมรรถภาพหลังผ่าตัด
6. บาดเจ็บที่ไขข้อหรือเส้นเอ็น
เกิดอาการบาดเจ็บที่ไขข้อหรือเส้นเอ็น พบได้ในผู้ที่ออกกำลังกายหรือเล่นกีฬาหนักๆ อย่างไม่ถูกวิธี ผิดท่า
เพื่อรักษาอาการบาดเจ็บอย่างตรงจุดและเห็นผลเร็ว แพทย์มักแนะนำให้ผู้ที่บาดเจ็บเข้ารับการตรวจ MRI เพื่อเช็กความเสียหายของร่างกายจากอาการบาดเจ็บเพิ่มเติม
7. กลั้นปัสสาวะหรืออุจจาระไม่ได้หรือถ่ายปัสสาวะไม่ได้ ควบคุมการขับถ่ายไม่ได้
กลั้นปัสสาวะหรืออุจจาระไม่ได้ อีกอาการที่หากตรวจพบ ก็ควรรีบพามาพบแพทย์โดยด่วน เนื่องจากเป็นสัญญาณที่เชื่อมโยงไปถึงความผิดปกติเกี่ยวกับระบบประสาทได้ เช่น ภาวะสมองเสื่อม โรคพาร์กินสัน โรคหลอดเลือดสมอง หรือรอยโรคที่ไขสันหลัง
8. อาการปวดจุกที่ชายโครงหรือช่องท้องรุนแรง
อาการปวดจุกที่ชายโครงหรือช่องท้องอย่างรุนแรง เป็นสัญญาณของโรคมะเร็งที่ตับหรือท่อน้ำดีอุดตัน ในผู้ที่มีก้อนเนื้อที่ตับบางรายยังมักพบอาการตาเหลือง น้ำหนักตัวลดลงอย่างรวดเร็ว ขาบวม ท้องมาน หรือเบื่ออาหารได้
ซึ่งหากมีอาการในกลุ่มเสี่ยงเหล่านี้ แพทย์อาจจะแนะนำให้ตรวจ MRI เพื่อหาก้อนเนื้อหรือสาเหตุของความผิดปกติเพิ่มเติม
การเตรียมตัวก่อนตรวจ MRI
ก่อนตรวจ MRI ผู้เข้ารับบริการไม่จำเป็นต้องเตรียมตัวเป็นพิเศษ ไม่ต้องงดน้ำหรืองดอาหาร นอกเสียจากจะเป็นการตรวจ MRI บริเวณช่องท้อง ผู้เข้ารับบริการจะต้องงดน้ำและงดอาหารเป็นเวลา 6-8 ชั่วโมงก่อนตรวจ
ผู้เข้ารับบริการไม่ควรกินอาหารมื้อใหญ่มาก่อนตรวจ MRI ประมาณ 2 ชั่วโมง เนื่องจากการตรวจ MRI จะเป็นการตรวจในท่านอนราบกับเตียง หากเพิ่งกินอาหารหนักๆ มา ก็อาจทำให้เกิดอาการจุกเสียด แน่นท้อง คลื่นไส้ หรือเกิดโรคกรดไหลย้อนได้
ผู้ที่ทำ MRI บริเวณสมองหรือดวงตา ให้งดการแต่งหน้ามาในวันตรวจ เนื่องจากเครื่องสำอางหลายชนิดมีสารประกอบที่มีโลหะเจือปนอยู่ด้วย และสามารถรบกวนการถ่ายภาพของเครื่อง MRI ได้ รวมถึงอาจทำให้เกิดอาการคัน แสบร้อน หรือระคายเคืองผิวระหว่างที่รับการตรวจ
หากผู้เข้ารับบริการมีอาการกลัวที่แคบจนกระทบต่อการนอนอยู่ในห้องตรวจ ให้แจ้งแพทย์เสียก่อน โดยแพทย์อาจพิจารณาให้ยาคลายกังวล แต่จะต้องมีการงดอาหารและงดน้ำก่อนประมาณ 4-6 ชั่วโมง หรืออาจให้ญาติเข้าไปนั่งเป็นเพื่อนในห้องตรวจ หรือย้ายผู้เข้ารับบริการไปตรวจ MRI ในเครื่องตรวจพิเศษ (Open MRI) ที่มีขนาดกว้างขึ้นเพื่อลดความวิตกกังวล
ก่อนเข้าห้องตรวจ MRI ผู้เข้ารับบริการจะต้องเปลี่ยนชุดเป็นชุดสำหรับตรวจ MRI และต้องถอดเครื่องประดับ กุญแจ โทรศัพท์มือถือ ฟันปลอม อุปกรณ์จัดฟัน อุปกรณ์อื่นๆ ในร่างกายที่มีส่วนประกอบของโลหะออกเสียก่อน
ผู้ที่ใส่คอนแทคเลนส์ก็ควรถอดคอนแทคเลนส์ออกก่อนตรวจ เนื่องจากคอนแทคเลนส์ที่มีสีอาจจะมีสารประกอบที่เป็นโลหะเจือปนอยู่ด้วย
ตรวจ MRI รอผลตรวจนานไหม?
โดยปกติการตรวจ MRI แพทย์จะสามารถดูภาพได้ทันทีหลังตรวจสแกนร่างกายผู้เข้ารับบริการเรียบร้อยแล้ว
แต่หลังจากนั้น แพทย์จะต้องนำภาพไปแปรผล ตรวจวินิจฉัยหาสาเหตุของความผิดปกติที่เกิดขึ้นต่อก่อน ซึ่งในส่วนนี้อาจต้องใช้เวลา ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของรอยโรคที่เกิดขึ้น รวมถึงเงื่อนไขและกระบวนการส่งผลตรวจของแต่ละสถานพยาบาล
ตรวจ MRI ได้บ่อยแค่ไหน?
การตรวจ MRI ไม่มีข้อจำกัดในความถี่ของการตรวจ เนื่องจากเป็นการตรวจที่ใช้สนามแม่เหล็กไฟฟ้า ไม่มีการใช้รังสีต่ำ จึงปลอดภัยต่อสุขภาพ ไม่กระทบต่อเนื้อเยื่อในร่างกาย ผู้เข้ารับบริการสามารถตรวจกี่ครั้งก็ได้ ขึ้นอยู่กับคำแนะนำจากแพทย์
ระหว่างตรวจ MRI ต้องทำตัวอย่างไร?
โดยทั่วไปในระหว่างการตรวจ MRI ผู้เข้ารับบริการเพียงแค่นอนนิ่งๆ อยู่บนเตียงเท่านั้น ยกเว้นแต่การตรวจ MRI บริเวณช่องท้องที่แพทย์อาจให้ผู้เข้ารับบริการกลั้นหายใจเป็นจังหวะร่วมด้วย
ผู้เข้ารับบริการสามารถขยับร่างกายได้บ้างในระหว่างนอนตรวจ MRI แต่จะต้องไม่ทำให้อวัยวะส่วนที่ต้องการถ่ายภาพด้วยเครื่อง MRI ขยับไปด้วย เช่น หากตรวจ MRI ที่ช่องท้อง ก็สามารถขยับแขนหรือขาได้ แต่ต้องไม่ให้บริเวณท้องขยับไปด้วย มิฉะนั้นจะส่งผลทำให้ภาพถ่ายที่ออกมาไม่ชัดเจนได้
ตรวจ MRI เจ็บไหม?
การตรวจ MRI ไม่สร้างความรู้สึกเจ็บใดๆ ต่อร่างกายผู้เข้ารับบริการทั้งสิ้น เพียงแต่ผู้เข้ารับบริการอาจรู้สึกเมื่อยได้บ้าง เนื่องจากในระหว่างตรวจ MRI ผู้เข้ารับบริการจะต้องนอนนิ่งๆ อยู่บนเตียงภายในห้องตรวจเป็นระยะเวลาโดยทั่วไปประมาณ 40-60 นาที
ในผู้ที่มีอาการกลัวที่แคบบางท่าน อาจรู้สึกกังวลต่อการตรวจ MRI ได้ เนื่องจากลักษณะเครื่อง MRI เป็นอุโมงค์ที่เจาะรูอยู่ตรงกลางคล้ายกับลูกโดนัท และผู้เข้ารับบริการจะต้องลงไปนอนบนเตียงที่อยู่ตรงกึ่งกลางของเครื่อง
แต่ผู้เข้ารับบริการสามารถแจ้งความกังวลในส่วนนี้กับแพทย์ได้ โดยแพทย์จะจัดยาคลายกังวลให้ก่อนเข้าตรวจ และอาจอนุญาตให้ญาติเข้าไปนั่งในห้องตรวจเป็นเพื่อนได้
ใส่ข้อเข่าเทียม มีโลหะอยู่ในร่างกาย ตรวจ MRI ได้ไหม?
“โลหะ” เป็นอีกปัจจัยที่ส่งผลทำให้เกิดภาพรบกวนในระหว่างการตรวจ MRI ได้ ดังนั้นผู้ที่ต้องการตรวจ MRI และมีอุปกรณ์เสริมภายในร่างกายที่เป็นโลหะ เช่น ขดลวด ข้อเทียม อุปกรณ์จัดฟันโลหะ รวมถึงเครื่องประดับต่างๆ ที่เป็นโลหะ จำเป็นจะต้องถอดอุปกรณ์เหล่านั้นออกเสียก่อน
หรือหากผู้เข้ารับบริการเพิ่งใส่อุปกรณ์เหล่านั้นเข้าร่างกายได้ไม่นาน ให้ลองตรวจเช็กรุ่นอุปกรณ์เสริมในร่างกายที่มีส่วนผสมของโลหะกับแพทย์เสียก่อน เนื่องจากในยุคปัจจุบัน ได้มีการพัฒนาอุปกรณ์เสริมภายในร่างกายที่เป็นโลหะให้สามารถรบกวนคลื่นพลังงานจากเครื่อง MRI ได้น้อยลงแล้ว
ดังนั้นถึงแม้จะมีอุปกรณ์เสริมอยู่ในร่างกาย ผู้เข้ารับบริการก็อาจยังสามารถตรวจ MRI ได้ตามปกติ
นอกจากอุปกรณ์ที่เป็นโลหะ ผู้ที่มีอุปกรณ์เสริมอิเล็กทรอนิกส์อยู่ในร่างกาย เช่น เครื่องกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจ (Pacemaker Implantation) ก็ควรปรึกษาแพทย์เพื่อปรับอุปกรณ์ให้อยู่ในโหมดที่สามารถผ่านการตรวจด้วยเครื่อง MRI ได้ เพื่อจะได้ไม่เป็นอุปสรรคต่อการตรวจคัดกรองโรคเพิ่มเติม
มีรอยสักตรวจ MRI ได้ไหม?
ผู้ที่ต้องตรวจ MRI และมีรอยสักอยู่ตามร่างกายอาจรู้สึกแสบร้อนผิวในระหว่างการตรวจได้ โดยเฉพาะหากจำเป็นต้องตรวจ MRI ตรงบริเวณที่มีรอยสัก
เนื่องจากหมึกที่ใช้สักตามร่างกายมักมีส่วนประกอบของโลหะผสมอยู่ คลื่นพลังงานจากเครื่อง MRI จึงอาจไปกระตุ้นทำให้เกิดความร้อนบริเวณที่มีรอยสักได้
หญิงตั้งครรภ์ตรวจ MRI ได้ไหม?
หญิงตั้งครรภ์สามารถตรวจ MRI ได้เช่นเดียวกับกลุ่มคนทั่วไป หากไม่เร่งด่วนควรรอให้พ้นอายุครรภ์ช่วง 3 เดือนแรกไปก่อน ในตามทฤษฎีแล้ว การตรวจ MRI อาจไปกระทบต่อพัฒนาการได้ยินของทารกในครรภ์ได้ แต่ในการศึกษาในปัจจุบันยังไม่พบผลกระทบที่ชัดเจน
ตรวจ MRI ในเด็กได้ไหม?
เด็กสามารถตรวจ MRI ได้ แต่เนื่องด้วยช่วงวัยที่อาจซุกซนและตื่นกลัวในระหว่างอยู่ในเครื่องตรวจ MRI แพทย์จึงอาจให้ยาสลบกับเด็กก่อนเข้ารับการตรวจ
ตรวจ MRI ที่ไหนดี?
หากมีอาการผิดปกติเกิดขึ้นกับร่างกาย และสนใจอยากตรวจ MRI ที่สถานพยาบาล ผู้เข้ารับบริการสามารถนัดหมายกับทางสถานพยาบาลที่สะดวกเดินทางไป เพื่อขอตรวจ MRI ได้
แต่โดยทั่วไป ทางสถานพยาบาลจะยังไม่ให้ผู้เข้ารับบริการตรวจ MRI ในทันทีที่เดินทางมาถึง แต่แพทย์จะซักประวัติและอาการผิดปกติที่เกิดขึ้นอย่างละเอียดเสียก่อน หากแพทย์ประเมินถึงความผิดปกติที่ควรตรวจ MRI ก็จะส่งตัวผู้เข้ารับบริการไปรับการตรวจ MRI ต่อไป
หากคุณกำลังมองหาโรงพยาบาลเพื่อตรวจ MRI แต่ยังไม่รู้ว่าจะเลือกตรวจ MRI ที่ไหนดี HDmall.co.th ขอแนะนำ ศูนย์รังสีวินิจฉัย โรงพยาบาลนครธน
โรงพยาบาลนครธนมีแพทย์เฉพาะทางด้านรังสีวิทยาที่พร้อมดูแลผู้เข้ารับบริการทุกท่านที่จำเป็นต้องรับการตรวจวินิจฉัยอาการผิดปกติด้วยเครื่อง MRI พร้อมบริการวิเคราะห์ผลตรวจด้วยความเชี่ยวชาญ เพื่อให้สามารถวางแผนการรักษาหลังตรวจวินิจฉัยได้อย่างตรงจุด
นอกจากนี้ โรงพยาบาลนครธนยังมี ศูนย์รังสีวินิจฉัย ที่ให้บริการด้านการตรวจด้านรังสีวินิจฉัยโดยเฉพาะ มีการนำเข้าเทคโนโลยีการตรวจที่ทันสมัยและครอบคลุม เพื่อให้สามารถใช้ในการตรวจหาสาเหตุของความผิดปกติต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพและแม่นยำ
รับบริการตรวจวินิจฉัยความผิดปกติของร่างกายด้วยการตรวจ MRI ที่โรงพยาบาลนครธน เพื่อสัมผัสประสบการณ์การตรวจวินิจฉัยที่ทั้งง่ายและปลอดภัยกว่าที่คุณคาดคิด พร้อมรับบริการทางการแพทย์ที่เต็มไปด้วยความใส่ใจและชำนาญ
- ดูรายละเอียด ราคา ตรวจวินิจฉัยอาการปวดหลังเรื้อรัง ด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า MRI
- ดูรายละเอียด ราคา ตรวจวินิจฉัยอาการปวดคอเรื้อรัง ด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า MRI
หรือสอบถามแพ็กเกจรายละเอียดการตรวจคัดกรองโรคด้วย MRI ที่โรงพยาบาลนครธนผ่านทางไลน์ @HDcoth