ต้อหิน (Glaucoma) เป็นโรคที่เกิดจากความดันในลูกตาสูงผิดปกติ ซึ่งเป็นผลจากการระบายน้ำออกของลูกตามีการอุดตันและเสื่อมสภาพ ทำให้เกิดการคั่งของน้ำส่งผลให้ความดันภายในลูกตาเพิ่มขึ้นอย่างช้าๆ จนมีการทำลายขั้วประสาทตา มีผลทำให้ตามัว ลานสายตาแคบลง ถ้าปล่อยทิ้งไว้ไม่เข้ารับการรักษาจะทำให้เกิดภาวะตาบอดถาวรได้
โดยต้อหินสามารถเกิดขึ้นได้กับคนทุกเพศทุกวัย แต่จะเกิดขึ้นบ่อยในผู้สูงอายุ โดยเฉพาะผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไป รวมถึงผู้ที่มีประวัติของคนในครอบครัวเป็นต้อหิน และผู้ที่ป่วยเป็นโรคเบาหวาน
ดังนั้น เพื่อป้องกันและยับยั้งการดำเนินของโรคต้อหิน ส่วนใหญ่จักษุแพทย์จะรักษาด้วยการใช้ยา การเลเซอร์ หรือการผ่าตัด ส่วนการจะเลือกรักษาด้วยวิธีใดนั้น ขึ้นอยู่กับชนิดของต้อหิน ความรุนแรงและอาการของโรค และขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของจักษุแพทย์ วันนี้ HDmall.co.th จึงได้รวบรวมข้อมูลสิ่งที่ควรรู้เกี่ยวกับการผ่าตัดต้อหินมาฝากกัน
สารบัญ
- ผ่าตัดต้อหินคืออะไร?
- ผ่าตัดต้อหินช่วยอะไร?
- ไม่ผ่าตัดต้อหินได้ไหม?
- ใครควรผ่าตัดต้อหิน?
- ใครไม่ควรผ่าตัดต้อหิน?
- การเตรียมตัวก่อนผ่าตัดต้อหิน
- ขั้นตอนการผ่าตัดต้อหิน
- การดูแลตัวเองหลังผ่าตัดต้อหิน
- ผลข้างเคียงของการผ่าตัดต้อหิน
- ผ่าตัดต้อหินอันตรายไหม?
- ภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นหลังจากผ่าตัดต้อหิน
- ผ่าตัดต้อหินพักฟื้นกี่วัน?
ผ่าตัดต้อหินคืออะไร?
การผ่าตัดต้อหิน (Glaucoma Surgery) คือ วิธีช่วยระบายความดันของเหลวภายในดวงตาที่ไปกดทับขั้วประสาทตาที่ทำหน้าในการส่งภาพไปยังประสาทส่วนสมอง และเป็นวิธีการยับยั้งก้อนในบริเวณจอประสาทตาที่เป็นต้อแข็งไม่ให้ไปทำลายวิสัยทัศน์ลานสายตาเพิ่มมากขึ้น โดยจักษุแพทย์จะทำการเปิดช่องทางระบายน้ำภายในลูกตาให้ออกไปสู่เนื้อเยื่อโดยรอบและน้ำจะถูกดูดซึมกลับสู่กระแสโลหิตต่อไป จึงทำให้ความดันลูกตาลดต่ำลง
จักษุแพทย์จะเปิดช่องทางระบายน้ำภายในลูกตาโดยเจาะช่องขนาดเล็กประมาณ 1-1.5 มิลลิเมตร หรือในบางรายจักษุแพทย์อาจพิจารณาใส่ท่อพิเศษ (Glaucoma Drainage Device) ไว้ เพื่อการป้องกันไม่ให้ช่องระบายน้ำอุดตันและช่วยให้น้ำภายในลูกตากระจายสู่เนื้อเยื่อภายนอกได้ดีขึ้น ท่อพิเศษนี้จะวางตัวอยู่บนตาขาว แนบและโค้งไปกับลูกตาโดยมีเยื่อตาปกคลุม และส่วนปลายของท่อจะอยู่ในช่องหน้าลูกตาโดยไม่รบกวนการมองเห็น แต่จะทำการผ่าตัดใส่ท่อเฉพาะรายที่ทำการผ่าตัดแบบมาตราฐานแล้วไม่ได้ผลเท่านั้น
ผ่าตัดต้อหินช่วยอะไร?
การผ่าตัดต้อหินจะช่วยลดความดันลูกตา โดยการทำให้น้ำในลูกตาระบายออกได้ตามปกติ เพราะความดันลูกตาสูงเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เส้นประสาทตาเกิดความเสื่อมและได้รับความเสียหาย ซึ่งแม้ว่าการผ่าตัดต้อหินไม่สามารถรักษาให้การมองเห็นดีขึ้นได้ แต่ก็เป็นการรักษาแบบการประคับประคองเพื่อช่วยไม่ให้ขั้วประสาทตาถูกทำลายมากขึ้น และเพื่อคงการมองเห็นที่มีอยู่ให้นานที่สุด ซึ่งการรักษาจะขึ้นอยู่กับชนิดของโรคต้อหินและระยะของโรคที่เป็นอยู่ ต้องอาศัยการนัดตรวจตาอย่างต่อเนื่อง และทำการวินิจฉัยโดยจักษุแพทย์
ไม่ผ่าตัดต้อหินได้ไหม?
ผู้ที่จักษุแพทย์มักวินิจฉัยว่ายังไม่ควรผ่าตัดต้อหิน มีดังนี้
- ผู้ที่ยังสามารถควบคุมความดันลูกตาได้ ด้วยการรักษาโดยการใช้ยาหรือการเลเซอร์
- ผู้ที่มีความเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนสูง เช่น ผู้สูงอายุที่มีโรคประจำตัวเบาหวาน หัวใจ ไตวาย ที่ควบคุมอาการของโรคขณะนั้นได้ไม่ดี
- ผู้ที่แพ้ยาซัลฟา (Sulfa) เป็นกลุ่มยาที่ใช้รักษาโรคเกี่ยวกับการติดเชื้อแบคทรีเรียในดวงตา
ใครควรผ่าตัดต้อหิน?
การรักษาต้อหินมีด้วยกันหลายวิธี แต่ละวิธีก็มีความเหมาะสมกับอาการของแต่ละคนแตกต่างกันออกไป โดยผู้ที่จักษุแพทย์อาจพิจารณาให้ผ่าตัด อาจมีดังนี้
- ผู้ที่มีอาการแพ้ยาหยอดตาจนไม่สามารถรักษาด้วยยาหยอดตาและการเลเซอร์ร่วมได้
- ผู้ที่รักษาด้วยยา หรือเลเซอร์แล้วก็ยังไม่สามารถควบคุมความดันลูกตาให้อยู่ในระดับปกติได้
- ผู้ที่มีอาการคลื่นไส้ อาเจียน จากเส้นประสาทตาถูกทำลาย โดยเป็นเส้นประสาทที่เชื่อมระหว่าตากับสมอง
- ผู้ที่ปวดศีรษะและปวดตาอย่างรุนแรงจากความดันลูกตาสูง
- ผู้ที่มองไม่เห็นอย่างฉับพลันในตาข้างใดข้างหนึ่ง เห็นภาพมัวคล้ายเป็นหมอก เวลามองดวงไฟจะเห็นเป็นแสงสีรุ้งรอบดวงไฟ
- ผู้ที่ตาแดงขึ้นอย่างเฉียบพลัน
- ผู้ที่มีอาการกระจกตาบวม หรือมีสีขุ่นร่วมด้วย
- ผู้ที่มีความดันลูกตาสูงกว่า 21 มิลลิเมตรปรอท
- ผู้ที่ลานสายตาแคบลง
ใครไม่ควรผ่าตัดต้อหิน?
ผู้ที่จักษุแพทย์มักวินิจฉัยว่ายังไม่ควรผ่าตัดต้อหิน มีดังนี้
- ผู้ที่ยังสามารถควบคุมความดันลูกตาได้ ด้วยการรักษาโดยการใช้ยาหรือการเลเซอร์
- ผู้ที่มีความเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนสูง เช่น ผู้สูงอายุที่มีโรคประจำตัวเบาหวาน หัวใจ ไตวาย ที่ควบคุมอาการของโรคขณะนั้นได้ไม่ดี
- ผู้ที่แพ้ยาซัลฟา (Sulfa) เป็นกลุ่มยาที่ใช้รักษาโรคเกี่ยวกับการติดเชื้อแบคทรีเรียในดวงตา
การเตรียมตัวก่อนผ่าตัดต้อหิน
- หากรับประทานยาห้ามการแข็งตัวของเลือดหรือยาละลายลิ่มเลือด เช่น Aspirin ต้องแจ้งให้จักษุแพทย์ทราบ เพราะจักษุแพทย์อาจให้งดยาก่อนผ่าตัดอย่างน้อย 7 วัน
- หากมีภาวะเลือดจาง ควรแจ้งให้แพทย์ทราบเพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้น
- งดน้ำและอาหารอย่างน้อย 6 ชั่วโมงก่อนผ่าตัด ในกรณีที่มีการดมยาสลบ แต่หากไม่ใช้ยาสลบ ไม่ต้องงดน้ำและอาหาร
- ในวันผ่าตัด งดการแต่งหน้าทุกบริเวณของใบหน้า
- ล้างหน้าและสระผมให้สะอาดก่อนมาที่โรงพยาบาล เนื่องจากหลังผ่าตัดจะต้องปิดตาและหลีกเลี่ยงการถูกน้ำ
- ในวันผ่าตัดต้อหิน ให้ญาติหรือผู้ติดตามพามาด้วย เพราะหลังผ่าตัดผู้เข้ารับการผ่าตัดจะได้รับการปิดตาข้างที่ผ่า
- ในวันผ่าตัด ให้นำยาที่รับประทานประจำมาด้วย เช่น ยาโรคความดัน เบาหวาน โรคหัวใจ และปรึกษากับจักษุแพทย์ว่าสามารถรับประทานยาได้ตามปกติไหม
- สามารถใช้ยาหยอดตา หรือรับประทานยารักษาโรคต้อหินตามปกติจนถึงวันผ่าตัด
- ผู้เข้ารับการรักษาที่มีอาการกังวลหรือเครียดมากสามารถแจ้งเจ้าหน้าที่ได้ อาจจะมียาแก้ปวดและยาลดความวิตกกังวลให้รับประทานก่อนเข้าห้องผ่าตัด ซึ่งขึ้นอยู่กับจักษุแพทย์ที่ทำการรักษา
ขั้นตอนการผ่าตัดต้อหิน
รายละเอียดขั้นตอนการผ่าตัดต้อหิน อาจมีความแตกต่างกันออกไปตามแต่ละโรงพยาบาล แต่โดยทั่วไปมักมีขั้นตอนหลักๆ ดังต่อไปนี้
- ผู้เข้ารับการผ่าตัดจะได้รับการหยอดยาเพื่อหดม่านตา และยาฆ่าเชื้อก่อนเข้าห้องผ่าตัด 1-2 ชั่วโมง
- ก่อนผ่าตัด ผู้เข้ารับการผ่าตัดจะได้รับยาชาเฉพาะที่ หรือบางรายอาจต้องดมยาสลบ
- จักษุแพทย์เปิดช่องทางระบายน้ำภายในลูกตาด้านหน้าที่เชื่อมต่อกับเยื่อบุตาขาวบริเวณด้านนอกลูกตา โดยเจาะช่องขนาดเล็กประมาณ 1-1.5 มิลลิเมตร
- ในบางรายจักษุแพทย์อาจพิจารณาใส่ท่อพิเศษ ไว้ด้วยเพื่อระบายน้ำออกจากช่องม่านตา
- เย็บปิดเยื่อบุตาด้วยไหม
การดูแลตัวเองหลังผ่าตัดต้อหิน
หลังการผ่าตัดต้อหิน ผู้รับการผ่าตัดต้องปิดตาข้างที่ผ่าตัดจนถึงวันนัดพบจักษุแพทย์ เพื่อตรวจเช็กและทำความสะอาดดวงตา นอกจากนี้ในระหว่างที่ตายังไม่หายสนิท ผู้รับการผ่าตัดยังควรดูแลตัวเองตามที่จักษุแพทย์แนะนำอย่างเคร่งครัด ดังนี้
- ห้ามเปิดผ้าปิดตาเองหลังผ่าตัด และถ้าผ้าปิดแผลเปียกควรแจ้งพยาบาลทันที
- เมื่อจักษุแพทย์ให้เปิดผ้าปิดตาแล้ว ผู้รับการผ่าตัดจะได้รับยาหยอดตาและยาป้ายตาเพื่อลดการอักเสบและป้องกันการติดเชื้อกลับไปหยอดที่บ้าน ซึ่งผู้รับการผ่าตัดต้องหยอดและป้ายตาอย่างสม่ำเสมอตามที่จักษุแพทย์กำหนดอย่างเคร่งครัด หรือจนกว่าแพทย์จะสั่งให้หยุดยา
- ห้ามใช้มือสัมผัสบริเวณดวงตาที่ผ่าตัดต้อหินเด็ดขาด ไม่ว่าจะเป็นการจับ แคะ ขยี้ เกา
- ห้ามให้น้ำ และฝุ่นละอองเข้ามาในบริเวณดวงตาที่ผ่าตัดต้อหินอย่างน้อย 1-2 สัปดาห์
- หยอดยาตามแผนการรักษา หากต้องหยอดยาตาหลายตัวในเวลาเดียวกัน ควรหยอดห่างกันอย่างน้อย 5 นาที
- ใส่แว่นกันแดดทุกครั้งเมื่อออกจากบ้าน
- ไม่ควรทำกิจกรรมที่ต้องออกแรงเบ่งมากๆ เช่น ยกของหนัก ไอหรือจามแรงๆ และระวังอย่าให้มีอาการท้องผูกเพราะอาจทำให้มีเลือดออกได้
- จะมีแผ่นพลาสติกครอบตาหลังผ่าตัด โดยให้ครอบเวลานอนหลับ และครอบอย่างน้อย 1-2 สัปดาห์ หลังทำผ่าตัดเพื่อป้องกันการขยี้ตา
- ในกรณีที่งดยาละลายลิ่มเลือดก่อนทำผ่าตัด สามารถรับประทานยาต่อได้หลังทำผ่าตัดไปแล้วอย่างน้อย 3 วัน หรือตามคำสังแพทย์
- หลีกเลี่ยงการใส่คอนแทคเลนส์
- งดขับขี่ยานพาหนะจนกว่าตาจะหายดี
- งดอ่านหนังสือ ดูโทรทัศน์ เล่นโทรศัพท์ และคอมพิวเตอร์
- ห้ามนอนตะแคงข้างที่ผ่าตัด
- ถ้ามีอาการต่อไปนี้ ต้องมาพบจักษุแพทย์ก่อนวันนัด ได้แก่ ปวดตามาก เคืองตา มีน้ำตาไหลมาก ตาแดง การมองเห็นลดลง
ผลข้างเคียงของการผ่าตัดต้อหิน
หลังผ่าตัดต้อหิน เมื่อส่องกระจกดูจะพบมีก้อนนูนบริเวณเยื่อบุตา ห้ามแคะหรือแกะ เพราะเป็นสิ่งที่จักษุแพทย์ทำขึ้น ไม่ใช่อาการผิดปกติ แต่อาจมีผลข้างเคียงต่างๆ ซึ่งทางจักษุแพทย์จะมีนัดติดตามอาการ ดังนี้
- ภาวะความดันตาสูงชั่วคราวใน 1-6 อาทิตย์แรกหลังผ่าตัด จักษุแพทย์จะให้ยาหยอดตาเฉพาะที่เพื่อลดความดันตา เมื่อความดันตาลดลง จักษุแพทย์จะพิจารณาหยุดยาลดความดันตา
- ตาแห้งเพิ่มขึ้น
- กลอกตาเข้าด้านในได้จำกัด
- มีความสามารถในการเพ่งลดลง (Decreased Accommodation)
- การเปลี่ยนแปลงของระดับการมองเห็นชั่วคราว
- การขยายตัวของม่านตา (Mydriasis)
- จุดรับภาพตรงกลางบวม
ผ่าตัดต้อหินอันตรายไหม?
โดยทั่วไปการผ่าตัดต้อหินจะไม่เป็นอันตรายต่อดวงตา เพราะเป็นการผ่าตัดแผลเล็ก จึงมีการบาดเจ็บต่อเนื้อเยื่อในตา และอัตราการติดเชื้อภายในดวงตาต่ำ หลังการผ่าตัดต้อหินเสร็จ จะมีเพียงรอยแผลเล็กๆ
อย่างไรก็ตาม ผู้รับการผ่าตัดควรหมั่นสังเกตและดูแลตัวเองตามที่จักษุแพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด เพื่อลดโอกาสเกิดอาการแทรกซ้อนอื่นๆ ที่อาจอันตรายต่อดวงตาได้
ภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นหลังจากผ่าตัดต้อหิน
อาการแทรกซ้อนที่อาจพบได้จากการผ่าตัดต้อหิน มีดังต่อไปนี้
- เกิดลิ่มเลือดภายในช่องหน้าลูกตา
- พังผืดบริเวณมุมตาที่เป็นจุดระบายน้ำหล่อเลี้ยงลูกตาอุดตัน
- มีภาวะแทรกซ้อนติดเชื้อ
- มีภาวะความดันตาต่ำเกินไป (Hypotony)
- มีอาการของโรคต้อกระจก
- มีเลือดออกในลูกตาระหว่างและหลังการผ่าตัด
- การเกิดแผลเป็นบนผิวลูกตา
- ลิ้นเปิดปิดของอุปกรณ์ไม่ทำงานหรือทำงานไม่ดี
- การเห็นภาพซ้อน ภาวะตาเข การสูญเสียการมองเห็น
ในบางกรณีต้องมีการผ่าตัดซ้ำเพื่อแก้ไข เช่น การเอาอุปกรณ์เดิมออกหรือการใส่อุปกรณ์ระบายน้ำชิ้นใหม่เพิ่มเข้าไปในตา ดังนั้นหากมีอาการผิดปกติใดๆ ควรรีบแจ้งกับจักษุแพทย์ทันที
ผ่าตัดต้อหินพักฟื้นกี่วัน?
การผ่าตัดต้อหินโดยทั่วไปจะใช้ระยะเวลาในการพักฟื้นประมาณ 1-2 สัปดาห์ จักษุแพทย์จะทำการนัดเพื่อตรวจเช็กสภาพดวงตาหลังจากได้รับการผ่าตัด แล้วจะทำการพิจารณาสภาพดวงตาของผู้รับการผ่าตัดเป็นระยะตามอาการ และหากผู้เข้ารับการผ่าตัดปฏิบัติตามคำแนะนำของจักษุแพทย์ จะช่วยทำให้การพักฟื้นดวงตาหายเป็นปกติได้เร็วขึ้น
โดยสรุปแล้ว การผ่าตัดต้อหินอาจเหมาะกับผู้ที่รักษาด้วยวิธีอื่นแล้วไม่ได้ผล สามารถช่วยถนอมสายตาและประสาทตาไม่ให้เสื่อมมากขึ้น รวมถึงลดโอกาสตาบอดได้ด้วย ผู้ที่จักษุแพทย์วินิจฉัยให้ผ่าตัดจะต้องการเตรียมตัว และดูแลตัวเองหลังผ่าตัดอย่างเอาใจใส่ เพื่อลดโอกาสเกิดอาการแทรกซ้อนให้มากที่สุด