อาหารเป็นพิษ เกิดจากเชื้อโรคใดบ้าง รับมืออย่างไร


อาหารเป็นพิษ

เวลาที่รับประทานอาหารในช่วงหน้าร้อนทีไร เคยลองสังเกตบ้างหรือไม่ว่าเรามักจะมีอาการท้องเสียหรือท้องเดินอยู่บ่อยๆ อาการเหล่านี้ส่วนใหญ่เกิดจากอาหารเป็นพิษทั้งนั้น บางรายที่มีอาการท้องเสียมากๆ จะทำให้ร่างกายขาดน้ำและเกลือแร่ ก่อให้เกิดอาการรุนแรงที่อาจถึงขั้นเสียชีวิตได้

โรคอาหารเป็นพิษเกิดจากการรับประทานอาหารหรือเครื่องดื่มที่มีการปนเปื้อนของเชื้อโรค สารเคมี หรือสารพิษ ซึ่งพบได้บ่อยในอาหารที่ไม่สะอาด อาหารสุกๆ ดิบๆ และอาหารที่ปรุงทิ้งไว้เป็นเวลานานๆ โดยไม่ได้นำไปแช่เย็นหรืออุ่นร้อนก่อนรับประทาน  จึงทำให้เชื้อโรคเจริญเติบโตในอาหารได้ดี และเชื้อโรคบางชนิดยังสามารถปล่อยพิษปนเปื้อนในอาหารได้ แม้กระทั่งน้ำดื่มก็ยังสามารถทำให้มีอาการท้องเสียได้เช่นกัน

เชื้อโรคที่ก่อให้เกิดอาหารเป็นพิษนั้น มีทั้งไวรัสและปรสิต อย่างเช่นไวรัสโคโรนา ไวรัสอะดีโน ไวรัสโรตา ไวรัสตับอักเสบเอ อหิวาต์ ลิสทีเรีย ชิเกลลา และพยาธิไกอาร์เดีย รวมถึงเชื้อแบคทีเรียที่มักจะพบในอาหารหรือเครื่องดื่มดังต่อไปนี้

เชื้อโรคที่ทำให้เกิดอาหารเป็นพิษและท้องเสีย

1. อีโคไล (Escherichia coli)

เมื่อเชื้อเข้าสู่ร่างกายแล้วแบ่งตัวในลำไส้ จะมีการผลิตพิษออกมา ทำให้มีอาการถ่ายเป็นน้ำและอาเจียน ปวดท้อง แต่ไม่มีไข้ร่วมด้วย โดยจะมีระยะการฟักตัวเพียง 8 – 18 ชั่วโมง และสามารถหายเองได้ภายใน 1 – 2 วัน ซึ่งพบการปนเปื้อนมากในน้ำดื่ม นม เนยแข็ง เนื้อสัตว์ และผักสลัด

2. สแตฟีโลค็อกคัส ออเรียส (Staphylococcus aureus)

เป็นเชื้อที่ปล่อยพิษออกมาปนเปื้อนในอาหาร และสามารถทนต่อความร้อนได้ดี แม้ว่าจะปรุงอาหารจนสุกแล้วก็ตาม ทำให้มีอาการอาเจียนอย่างรุนแรงและมีอาการหมดแรง ปวดท้อง ท้องเดิน ความดันโลหิตต่ำลง แต่ไม่มีไข้ร่วมด้วย โดยจะมีระยะการฟักตัวเพียง 1 – 8 ชั่วโมง และสามารถหายได้เองภายใน 1 – 2 วัน ซึ่งพบการปนเปื้อนมากในอาหารประเภทนม ผลิตภัณฑ์จากนม ไข่ เนื้อสัตว์ และขนมปัง เป็นต้น

3. บาซิลลัสซีเรียส (Bacillus cereus)

เชื้อแบคทีเรียชนิดนี้จะปล่อยพิษปนเปื้อนไปกับอาหาร เมื่อเข้าสู่ร่างกายแล้วจะแบ่งตัวในลำไส้ โดยผลิตพิษที่แบ่งออกได้อีก 2 ชนิด คือ ชนิดแรกทำให้มีอาการท้องเดินเป็นหลัก ซึ่งมีระยะการฟักตัวเพียง 8 – 16 ชั่วโมง มักพบการปนเปื้อนในเนื้อสัตว์ ข้าว และผัก ส่วนอีกชนิดจะปล่อยพิษที่สามารถทนต่อความร้อนได้ดี ทำให้มีอาการอาเจียนเป็นหลัก ซึ่งมีระยะการฟักตัวเพียง 1 – 8 ชั่วโมง มักพบการปนเปื้อนในข้าวอย่างเช่นกรณีที่นำข้าวผัดเก่ามาอุ่นรับประทานซ้ำ

4. ซัลโมเนลลา (Salmonella)

เป็นเชื้อแบคทีเรียสายพันธุ์ที่อยู่ตระกูลเดียวกับเชื้อไทฟอยด์ เมื่อเชื้อเข้าสู่ร่างกายแล้วแบ่งตัวในลำไส้ จะมีการผลิตพิษออกมา ทำให้มีอาการไข้ต่ำๆ ท้องเดินจากอาหารเป็นพิษ บางครั้งก็อาจมีมูกเลือดปนอยู่บ้าง มีระยะการฟักตัว 8 – 48 ชั่วโมง และสามารถหายได้เองภายใน 2- 5 วัน ส่วนบางรายที่มีอาการเรื้อรังอาจจะต้องใช้เวลา 10 – 14 วัน ซึ่งพบการปนเปื้อนมากในอาหารประเภทนม ผลิตภัณฑ์จากนม ไข่ ไก่ เป็ด และเนื้อวัว

5. คลอสตริเดียมเพอร์ฟรินเจนส์ (Clostridium perfringen)

เชื้อแบคทีเรียชนิดนี้จะปล่อยพิษปนเปื้อนกับอาหาร และเมื่อเข้าสู่ร่างกายจะมีการผลิตพิษออกมา หลังจากที่มีการแบ่งตัวภายในลำไส้ จึงทำให้มีอาการถ่ายเป็นน้ำปวดท้อง แต่ไม่ค่อยอาเจียนและไม่มีไข้ร่วมด้วย โดยมีระยะการฟักตัวประมาณ 8 – 16 ชั่วโมง และสามารถหายได้เองภายใน 24 ชั่วโมง ซึ่งพบการปนเปื้อนมากในอาหารประเภทเนื้อสัตว์และเป็ดไก่

6. คลอสทริเดียมโบทูลินัม (Clostridium botulinum)

เมื่อเชื้อแบคทีเรียชนิดนี้เข้าสู่ร่างกายแล้ว จะทำให้มีอาการปากคอแห้ง มองเห็นเป็นภาพซ้อน อาเจียน ท้องเดิน เส้นประสาทสมองเป็นอัมพาตแล้วลามลงบริเวณส่วนล่างของร่างกาย และเข้าสู่ภาวะการหายใจล้มเหลว  โดยมีระยะการฟักตัวประมาณ 12 – 36 ชั่วโมง หรืออาจจะหลายวัน ซึ่งพบการปนเปื้อนมากในอาหารประเภทเนื้อหรือปลารมควัน ผักผลไม้ที่มีการอัดกระป๋องเองในบ้าน การปนเปื้อนสปอร์ในดิน หรือการถนอมอาหารด้วยวิธีอื่นๆ ที่ไม่ถูกสุขอนามัย

7. วิบริโอพาราฮีโมไลติคัส (Vibrio parahaemolyticus)

เป็นเชื้อแบคทีเรียที่อยู่ในตระกูลเดียวกับเชื้ออหิวาห์ เมื่อเชื้อเข้าสู่ร่างกายแล้วแบ่งตัวในลำไส้ จะทำให้มีการผลิตพิษออกมา ส่งผลให้มีอาการอาหารเป็นพิษ นั่นคืออาการท้องเดิน อาเจียน ปวดท้อง และอาจจะมีไข้ร่วมด้วย บางรายก็อาจจะถ่ายมีมูกเลือดปนในเวลาต่อมา โดยมีระยะการฟักตัว 8 – 24 ชั่วโมง หรือนานถึง 96 ชั่วโมง และสามารถหายได้เองภายใน 3 – 5 วัน ซึ่งพบการปนเปื้อนมากในอาหารประเภทอาหารทะเลสดที่ไม่ผ่านการปรุงสุก หรือมีการปรุงสุกไม่ทั่วถึง

8. แคมไพโลแบคเตอร์เจจูไน (Campylobacter jejuni)

เมื่อเชื้อเข้าสู่ร่างกายไปแบ่งตัวในลำไส้เล็ก และได้มีการรุกล้ำเข้าไปในเยื่อบุลำไส้เล็กจนมีการปล่อยพิษออกมา จะส่งผลให้ลำไส้เล็กเกิดการอักเสบ มีไข้ร่วมด้วย ถ่ายเป็นน้ำที่มีกลิ่นเหม็นมาก และอาจจะถ่ายเป็นเลือดในเวลาต่อมาได้ โดยมีระยะการฟักตัวประมาณ 3 – 5 วัน และสามารถหายได้เองภายใน 5 – 8 วัน

โรคอาหารเป็นพิษนับว่าเป็นโรคอันตรายที่สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน ถึงแม้ว่าจะไม่ใช่โรคเรื้อรังก็ตาม แต่ถ้ามีอาการท้องเดินอย่างรุนแรงแล้วไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที ก็อาจจะทำให้เสียชีวิตได้จากภาวะขาดน้ำและเกลือแร่ของร่างกายอย่างรุนแรง

การรักษาและดูแลตัวเองเมื่ออาหารเป็นพิษ

ส่วนใหญ่คนจะคิดถึงยาเป็นอันดับแรก แต่ความจริงอาการของอาหารเป็นพิษจะค่อยๆ ทุเลาลงเมื่อสารพิษถูกกำจัดออกจนหมดทางการขับถ่าย สิ่งสำคัญในการรักษาอาหารเป็นพิษเบื้องต้น คือ ระวังอาการขาดน้ำและแร่ธาตุ ซึ่งอาจทำให้ช็อคจนเสียชีวิตได้ จึงควรให้ความสำคัญกับการสูญเสียน้ำเป็นหลัก ซึ่งทำได้ดังนี้

  • ดื่มน้ำเกลือชงหรือเครื่องดื่มเกลือแร่ เพื่อชดเชยน้ำ แร่ธาตุ และกลูโคส ที่ร่างกายสูญเสียไปจากการขับถ่ายและการอาเจียน โดยควรจิบเรื่อยๆ บ่อยๆ ในระหว่างช่วงที่มีอาการ แนะนำให้ดื่มน้ำโออาร์เอสที่สามารถหาซื้อได้ตามร้านขายยาทั่วไปเมื่อมีอาการ โดยเฉพาะสำหรับผู้ด้อยความสามารถทางร่างกาย เช่นผู้สูงอายุ ผู้ป่วย เพื่อบรรเทาอาการ
  • อาจดื่มผงถ่านชงกับน้ำเพื่อให้สารพิษถูกกำจัดออกจากร่างกายได้เร็วขึ้น โดยผงถ่านสำเร็จรูปสำหรับดื่มสามารถหาซื้อได้ตามร้านขายยาทั่วไป
  • รับประทานเฉพาะอาหารอ่อนที่ย่อยง่าย และรสไม่จัด เช่น โจ๊ก ข้าวต้ม จนกว่าอาการปวดเสียดท้องจะหายไป และเริ่มขับถ่ายเป็นปกติ
  • หากมีการติดเชื้อแบคทีเรียและไม่สามารถหายได้เอง แพทย์อาจให้ยาปฏิชีวนะเพื่อฆ่าเชื้อ รวมถึงให้น้ำเกลือทางเส้นเลือดร่วมด้วย
  • หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอลล์ เครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน น้ำอัดลม รวมไปถึงอาหารที่มีรสจัด และมีไขมันมาก
  • หากอาการไม่ดีขึ้นภายใน 2-3 วัน ควรรีบไปพบแพทย์

เครื่องดื่มโออาร์เอส (ORS)

  • เครื่องดื่มโออาร์เอส เหมาะสำหรับผู้ด้อยความสามารถทางร่างกาย เช่น ผู้สูงอายุ ผู้ที่มีโรคประจำตัว ที่กำลังอยู่ในภาวะขาดน้ำ สามารถหาซื้อได้ทั่วไปตามร้านขายยาหรือร้านค้า
  • วิธีใช้ ละลายผงโออาร์เอสในน้ำดื่ม ซึ่งจะช่วยชดเชยเกลือ กลูโคส และแร่ธาตุอื่นๆ ที่เสียไป จนทำให้เกิดภาวะร่างกายขาดน้ำ
  • สำหรับผู้ที่ไตมีปัญหา เครื่องดื่มโออาร์เอสบางตัวอาจไม่เหมาะสม แนะนำให้สอบถามเภสัชกรก่อนซื้อยามาใช้เอง

เมื่อไหร่จึงควรพบแพทย์

  • เมื่ออาการอาหารเป็นพิษรุนแรงมากขึ้น เช่น สูญเสียน้ำมากเกินไป เนื่องจากการอาเจียน หรือท้องร่วง
  • เมื่ออาการไม่ดีขึ้นภายใน 2–3 วัน
  • มีอาการขาดน้ำอย่างรุนแรง ได้แก่ มึนงง หัวใจเต้นเร็ว ตาพร่ามัว หน้ามืด ปัสสาวะน้อย หรือไม่ปัสสาวะเลย
  • อาหารเป็นพิษขณะตั้งครรภ์
  • มีอายุมากกว่า 60 ปี
  • เด็กทารกหรือเด็กเล็กที่คาดว่า มีอาการอาหารเป็นพิษ
  • มีโรคประจำตัวเรื้อรังอยู่ก่อนแล้ว เช่น โรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง โรคลิ้นหัวใจ โรคเบาหวาน โรคไตเรื้อรัง นอกจากนี้ยังมีบางโรคที่ส่งผลต่อระบบภูมิคุ้มกันทำให้ภูมิคุ้มกันอ่อนแอ เช่น การใช้ยาบางชนิดหรือการเป็นมะเร็ง

การรักษาโดยแพทย์

  • แพทย์จะวินิจฉัยอาการ และหาสาเหตุโดยการตรวจอุจจาระ
  • หากผลตรวจพบว่า ผู้ป่วยติดเชื้อแบคทีเรีย แพทย์จะกำหนดให้ผู้ป่วยทานยาปฏิชีวนะ
  • หากมีอาการอย่างอื่นร่วมด้วย เช่น อาเจียน แพทย์จะสั่งยาแก้อาเจียนให้
  • ในบางรายที่มีอาการรุนแรงมาก แพทย์จะแนะนำให้พักรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลประมาณ 1–2 วัน เพื่อสังเกตอาการ และให้น้ำเกลือ

การป้องกันการแพร่เชื้อ

เมื่อมีอาการอาหารเป็นพิษคุณจำเป็นต้องหลีกเลี่ยงการปรุงอาหารสำหรับผู้อื่น และไม่ควรสัมผัสกลุ่มผู้ด้อยความสามารถทางร่างกาย เช่น ผู้สูงอายุ เด็กทารก หรือเด็กเล็ก

แนะนำให้ลางาน หรือลาโรงเรียนอย่างน้อย 48 ชม. หลังจากอาการท้องร่วงครั้งล่าสุด

นอกจากนี้ หากพบว่าคนในครอบครัวมีอาการอาหารเป็นพิษ ควรปฏิบัติตน ดังนี้

  • ตรวจสอบให้แน่ใจว่าทุกคนในครอบครัว (รวมทั้งตัวคุณเองด้วย) ล้างมือด้วยสบู่และน้ำอุ่นเป็นประจำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากเข้าห้องน้ำ และก่อน-หลังการเตรียมอาหาร
  • ทำความสะอาดฝาปิดชักโครก ฝารองนั่ง ปุ่มกดชักโครก อ่างล้างหน้า และก๊อกน้ำอยู่เป็นประจำ
  • ไม่ใช้ผ้าเช็ดตัว ผ้าเช็ดมือ หรือผ้าเช็ดหน้า ร่วมกับผู้อื่น
  • ซักทำความสะอาดเสื้อผ้าผู้ป่วยด้วยการแช่น้ำร้อน และตากแสงแดดจัด

การป้องกันอาหารเป็นพิษ

  • ควรทานอาหารที่สด ใหม่ และปรุงโดยผ่านความร้อน รวมทั้งต้องคำนึงถึงสุขอนามัยในการกิน โดยหลีกเลี่ยงการทานอาหารที่ไม่สะอาด เช่น ผักสดที่ไม่ได้ล้าง อาหารข้างทางที่ทำค้างไว้ หรือดูสกปรก สำหรับอาหารที่เสียง่าย หากทานไม่หมดควรเก็บเข้าตู้เย็น และก่อนทานก็ควรอุ่นด้วยความร้อนใหม่
  • ดูแลความสะอาดและสุขอนามัยของตนเอง รวมถึงสิ่งแวดล้อมรอบข้าง ควรล้างมือก่อนทานอาหาร และหลังเข้าห้องน้ำทุกครั้ง รวมถึงรักษาความสะอาดของที่อยู่อาศัย เพื่อไม่ให้มีเชื้อโรคมาปนเปื้อนในอาหารได้
  • หากต้องเดินทางไปประเทศที่เสี่ยงต่อการเกิดอาหารเป็นพิษ ควรระมัดระวังเรื่องอาหารการกินเป็นพิเศษ และหากเป็นไปได้ ควรฉีดวัคซีนป้องกันเชื้อไปด้วย

วิธีป้องกันภาวะอาหารเป็นพิษที่ดีที่สุด คือ การดูแลสุขอนามัยส่วนบุคคลและความสะอาดระหว่างการจัดเก็บ การจัดเตรียม และการหยิบจับอาหาร เลี่ยงการทานอาหารที่ไม่ได้ปรุงสุก

หากอาการของภาวะอาหารเป็นพิษเกิดขึ้นรุนแรงหรือเรื้อรัง หรือคุณอ่อนไหวต่อการติดเชื้อร้ายแรงต่าง ๆ คุณอาจจำต้องเข้ารับการรักษาเพิ่มเติม ซึ่งอาจมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น ภูมิแพ้อาหารแฝง หรือ โรคทางลำไส้ ซึ่งควรให้แพทย์ในคลินิกหรือโรงพยาบาลเป็นผู้วินิจฉัย ก่อนจะรักษาในขั้นต่อไป


รวมแพ็กเกจตรวจภูมิแพ้อาหารแฝง

รวมแพ็กเกจตรวจมะเร็ง


บทความแนะนำ


ที่มาของข้อมูล

ขยาย

ปิด

@‌hdcoth line chat