ทำหมันหญิง แนวทางลดโอกาสมีน้องได้สำเร็จถึง 99%


การทำหมันหญิง

แนวทางการคุมกำเนิดหรือการป้องกันการตั้งครรภ์นั้นทำได้หลายวิธี ทั้งการสวมถุงยางอนามัย การกินยาคุมกำเนิด การฉีดยาคุมกำเนิด หรือการฝังยาคุมกำเนิด แต่วิธีเหล่านี้ก็จะเป็นการคุมกำเนิดแบบชั่วคราวเท่านั้น หากเกิดการละเลยหรือไม่ใช้อุปกรณ์คุมกำเนิดอย่างรัดกุม ก็มีโอกาสที่จะเกิดการตั้งครรภ์ขึ้นได้

คู่รักหลายคู่ที่ไม่มีแผนการจะมีลูกในอนาคตจึงใช้วิธีการคุมกำเนิดถาวร หรือ “การทำหมัน” เป็นตัวช่วยป้องกันการตั้งครรภ์ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด โดยสามารถเลือกทำได้ทั้งในฝ่ายหญิงและฝ่ายชาย

ในบทความนี้ HDmall.co.th จะพาคุณไปเจาะลึกเกี่ยวกับวิธีการทำหมันหญิงในรูปแบบต่างๆ เพื่อให้คุณผู้หญิงหรือคู่รักที่สนใจอยากคุมกำเนิดแบบถาวรใช้เป็นข้อมูลเพื่อศึกษาก่อนตัดสินใจรับบริการทำหมัน


เลือกหัวข้อเกี่ยวกับการทำหมันหญิงได้ที่นี่

  • การทำหมันหญิงคืออะไร?
  • การทำหมันหญิงจะส่งผลกระทบต่อประจำเดือนหรือการมีเพศสัมพันธ์ด้วยหรือไม่?
  • การทำหมันหญิงมีกี่แบบ?
  • 1. ทำหมันหลังคลอด
  • 2. ทำหมันแห้ง
  • ความเสี่ยงของการทำหมันหญิง

  • การทำหมันหญิงคืออะไร?

    การทำหมันหญิง (Female Sterilization) คือ การคุมกำเนิดเพื่อป้องกันการตั้งครรภ์แบบถาวร ผ่านการใช้อุปกรณ์ทางการแพทย์ ทำให้ท่อนำไข่ซึ่งเป็นส่วนประกอบสำคัญในอวัยวะสืบพันธุ์ของเพศหญิงเกิดการอุดตัน

    การทำหมันหญิงจะส่งผลกระทบต่อประจำเดือนหรือการมีเพศสัมพันธ์ด้วยหรือไม่?

    การทำหมันหญิงเป็นเพียงการป้องกันโอกาสการปฏิสนธิระหว่างไข่กับเชื้ออสุจิเท่านั้น แต่ไม่ได้กระทบในส่วนของกิจกรรมทางเพศหรือการมีรอบประจำเดือนแต่อย่างใด โดยผู้ที่ทำหมันหญิงจะยังมีอารมณ์ความรู้สึกทางเพศอยู่เช่นเดิม รวมถึงมีระดับฮอร์โมนในร่างกาย และมีรอบประจำเดือนอยู่เช่นเดิม

    ทำหมันหญิง ราคา

    การทำหมันหญิงมีกี่แบบ?

    การทำหมันหญิงแบ่งออกได้ 2 รูปแบบ ตามช่วงเวลาที่ลงมือทำหมัน ได้แก่

    1. ทำหมันหลังคลอด

    ทำหมันหลังคลอด (Postpartum tubal sterilization) เรียกได้อีกชื่อว่า “ทำหมันเปียก” คือ การทำหมันหญิงที่จะเกิดขึ้นในระหว่างหรือหลังคลอดบุตรภายในเวลาไม่เกิน 24-72 ชั่วโมง หรือไม่เกิน 7 วันหลังคลอดบุตร

    การทำหมันหลังคลอดเป็นการทำหมันที่แพทย์อาศัยข้อได้เปรียบจากยอดมดลูกที่อยู่สูงระดับสะดือจากการคลอดบุตร ซึ่งจะทำให้คลำพบรังไข่ผ่านบริเวณหน้าท้องได้ง่ายขึ้น และผ่าตัดทำให้ท่อนำไข่อุดตันได้ง่ายกว่า รวมถึงมีแผลหลังผ่าตัดขนาดเล็ก

    ด้วยเหตุนี้ ผู้ทำหมันจะได้คลอดบุตรและได้ทำหมันไปด้วยเลยในเวลาใกล้กัน จึงส่งผลให้ช่วงพักฟื้นหลังทำหมันที่โรงพยาบาลเป็นช่วงคาบเกี่ยวกับช่วงพักฟื้นหลังคลอดบุตรพอดี จึงไม่ต้องอยู่โรงพยาบาลนานมากนัก และไม่ต้องกลับมาผ่าตัดพร้อมนอนพักฟื้นซ้ำอีก

    การเตรียมตัวก่อนการทำหมันหลังคลอด

    ก่อนทำหมันหญิงไม่ว่าจะด้วยวิธีการใดก็ตาม ผู้เข้ารับบริการทั้งฝ่ายหญิงและฝ่ายชายควรชั่งใจและปรึกษาแพทย์อย่างละเอียดเกี่ยวกับผลกระทบที่ตามมาหลังการทำหมัน นั่นก็คือ โอกาสมีบุตรที่จะเกิดขึ้นได้น้อยลงถึง 99% รวมถึงโอกาสที่ฝ่ายหญิงจะยังตั้งครรภ์ได้อยู่ประมาณ 1%

    หากผู้เข้ารับบริการเปลี่ยนใจอยากมีบุตรภายหลังทำหมันไปแล้ว ถึงแม้ในปัจจุบันจะมีกระบวนการ “แก้หมัน” เกิดขึ้น แต่ก็จัดเป็นกระบวนการที่มีค่าใช้จ่ายราคาแพง และยังมีโอกาสที่จะแก้หมันไม่สำเร็จได้ จึงควรมีการไตร่ตรองเกี่ยวกับกระบวนทำหมันให้ถี่ถ้วนเสียก่อน และควรเป็นการยินยอมพร้อมใจทั้งฝ่ายหญิงและฝ่ายชาย

    เมื่อถึงช่วงเวลาใกล้คลอด หรือใกล้ช่วงเวลาที่จะเริ่มทำหมันหลังคลอดตามที่วางแผนกับแพทย์เอาไว้ ผู้เข้ารับบริการจะต้องเตรียมสุขภาพให้พร้อมต่อการผ่าตัดอย่างครบถ้วนด้วย เช่น

    • แจ้งโรคประจำตัว ยาประจำตัว อาหารเสริม สมุนไพรเสริมสุขภาพให้แพทย์ทราบอย่างครบถ้วนเสียก่อน
      เนื่องจากหากผู้ที่ต้องการทำหมันที่มีโรคประจำตัวที่ยังควบคุมไม่ได้ หรือมีโอกาสเกิดภาวะบางอย่างหลังคลอดบุตรเสร็จซึ่งจะเป็นอุปสรรคต่อการทำหมัน แพทย์ก็อาจยังไม่พิจารณาทำหมันให้ เช่น ตกเลือด เป็นโรคเบาหวาน โรคโลหิตจาง โรคที่เสี่ยงทำให้เกิดพังผืดในช่องท้อง
    • แพทย์อาจแนะนำรับยาคุมกำเนิดก่อนวันผ่าตัดทำหมัน 1 วัน รวมถึงภายหลังการผ่าตัดจนกว่ารอบประจำเดือนถัดไปจะมาถึง
    • ต้องงดน้ำ งดอาหารอย่างน้อย 6-8 ชั่วโมง
    • ควรปัสสาวะให้เรียบร้อยก่อนเตรียมเข้าห้องผ่าตัด เพื่อลดโอกาสเกิดผลข้างเคียงจากการผ่าตัดกับกระเพาะปัสสาวะ
    • ทำความสะอาดหน้าท้องจนถึงหัวหน่าวให้สะอาด

    ขั้นตอนการทำหมันหลังคลอด

    การทำหมันหลังคลอดจะเป็นการทำหมันด้วยวิธีผ่าตัดเพื่อกำจัดปลายท่อนำไข่ให้ตันทั้ง 2 ด้าน ส่งผลให้เชื้ออสุจิไม่สามารถเข้าไปปฏิสนธิกับไข่ได้อีก โดยจะมีกระบวนการหลักๆ ดังต่อไปนี้

    1. แพทย์ให้ยาสลบและยาชาเฉพาะที่กับผู้เข้ารับบริการ
    2. แพทย์ทำคลอดบุตรให้ผู้เข้ารับบริการจนเสร็จสิ้นขั้นตอน
    3. แพทย์กรีดเปิดแผลบริเวณใต้สะดือ ตามแนวกลางลำตัว หรือตามแนวขวางต่ำกว่ายอดมดลูก ขึ้นอยู่กับแต่ละเทคนิคที่เลือกใช้
    4. แพทย์หาท่อนำไข่ด้วยอุปกรณ์จับท่อนำไข่ หรือจากการส่องกล้องขนาดเล็ก จนกระทั่งเห็นส่วนปลายของท่อนำไข่ซึ่งจะมีลักษณะคล้ายปากแตร
    5. แพทย์ทำการตัด จี้ไฟฟ้า หนีบ หรือรัดส่วนปลายของท่อนำไข่ด้วยห่วงรัดหรือตัวหนีบขนาดเล็กให้ท่อนำไข่ตันทั้ง 2 ข้าง
    6. แพทย์เย็บปิดแผลให้เรียบร้อย
    การทำหมันหญิง 4 รูปแบบ

    การดูแลตนเองหลังทำหมันหลังคลอด

    • หลังจากผ่าตัดทำหมันหลังคลอดเสร็จแล้ว ผู้เข้ารับบริการต้องหลีกเลี่ยงไม่ให้แผลสัมผัสน้ำหรือความชื้น 7 วัน
    • งดยกของหนัก การทำกิจกรรมที่ต้องใช้แรงหนักๆ อย่างน้อย 7 วันหรือตามที่แพทย์แนะนำ
    • งดมีเพศสัมพันธ์ 1-2 เดือน หรือตามที่แพทย์แนะนำ
    • เดินทางมาตัดไหมหลังผ่าตัดกับแพทย์ ซึ่งโดยปกติจะอยู่ที่ประมาณ 7 วันหลังผ่าตัด
    • หากพบความผิดปกติใดๆ ที่อาจเป็นภาวะแทรกซ้อนจากการผ่าตัด ให้รีบกลับมาพบแพทย์ทันที เช่น เลือดไหลหรือมีน้ำไหลจากแผลไม่หยุด ปวดท้องอย่างหนัก กินยาแก้ปวดแล้วอาการก็ยังไม่ดีขึ้น มีไข้สูง
    ทำหมันหญิง ราคา

    2. ทำหมันแห้ง

    ทำหมันแห้ง (Interval tubal sterilization) คือ การทำหมันหญิงที่จะเกิดขึ้นในช่วงเวลาอื่นซึ่งไม่ได้อยู่ในระยะเวลาหลังคลอดบุตร อาจเป็นช่วงเวลาที่ผู้เข้ารับบริการรู้สึกสะดวกใจในการทำหมัน หรือตามความเหมาะสมของสุขภาพจากการประเมินโดยแพทย์

    การทำหมันแห้งเป็นการทำหมันด้วยวิธีการผ่าตัดเช่นเดียวกับทำหมันหลังคลอด โดยจะผ่าตัดบริเวณเหนือหัวหน่าวซึ่งในปัจจุบันนิยมใช้เป็นเทคนิคการผ่าตัดส่องกล้อง (Laparoscopic Surgery) เพื่อการฟื้นตัวหลังผ่าตัดที่รวดเร็วขึ้น และมีแผลหลังผ่าตัดขนาดเล็กกว่า

    อย่างไรก็ตาม การทำหมันแห้งก็มีจุดด้อยตรงที่แพทย์อาจคลำหาท่อนำไข่ได้ยากกว่าวิธีทำหมันหลังคลอด เนื่องจากขนาดมดลูกที่จะเล็กลงกว่าช่วงตั้งครรภ์ และตำแหน่งของยอดมดลูกจะไม่ได้ยกสูงเหมือนกับช่วงที่เพิ่งคลอดบุตรใหม่ๆ

    การเตรียมตัวก่อนการทำหมันแห้ง

    กระบวนการเตรียมสุขภาพและร่างกายให้พร้อมต่อการทำหมันแห้ง มีดังต่อไปนี้

    • ไตร่ตรองเกี่ยวกับแผนการมีบุตรในอนาคตอย่างละเอียดและรอบคอบเสียก่อน เพราะหากทำหมันไปแล้วและต้องการมาแก้หมันในภายหลัง โอกาสจะกลับมาตั้งครรภ์อีกครั้งก็อาจยังมีโอกาสน้อยอยู่ดี
    • ต้องมีการตรวจสุขภาพ และซักประวัติด้านสุขภาพกับแพทย์เสียก่อน เพราะหากมีโรคประจำตัวบางชนิด ก็จำเป็นต้องประคองอาการของโรคให้อยู่ในระดับที่ควบคุมได้เท่านั้น มิฉะนั้นแพทย์อาจพิจารณายังไม่ผ่าตัดทำหมันแห้งให้ เช่น โรคหัวใจ โรคความดันโลหิต โรคปอด โรคเบาหวาน โรคที่เสี่ยงทำให้เกิดพังผืดในช่องท้อง
    • ผู้เข้ารับบริการต้องไม่ตั้งครรภ์ในช่วงเวลาที่ทำหมันแห้ง และต้องมีการตรวจยืนยันการตั้งครรภ์ก่อนรับการผ่าตัด
    • นัดหมายวันผ่าตัดให้อยู่ในช่วงหลังมีประจำเดือนเท่านั้น
    • พาญาติมาด้วยในวันผ่าตัด เพื่อช่วยอำนวยความสะดวกในระหว่างพักฟื้นหลังผ่าตัด
    • แพทย์อาจแนะนำรับยาคุมกำเนิดก่อนวันผ่าตัดทำหมันแห้ง 1 วัน รวมถึงภายหลังการผ่าตัดจนกว่ารอบประจำเดือนถัดไปจะมาถึง
    • ต้องงดน้ำ งดอาหาร 6-8 ชั่วโมงก่อนผ่าตัด
    • ควรปัสสาวะให้เรียบร้อยก่อนเตรียมเข้าห้องผ่าตัด เพื่อลดโอกาสเกิดผลข้างเคียงหลังผ่าตัดกับกระเพาะปัสสาวะ
    • ทำความสะอาดหน้าท้องจนถึงหัวหน่าวให้สะอาด

    ขั้นตอนการทำหมันแห้ง

    ขั้นตอนการทำหมันแห้งจะมีความคล้ายคลึงกับการทำหมันหลังคลอด เพียงแต่จะเกิดขึ้นต่างช่วงเวลากันเท่านั้น

    1. โดยในขั้นตอนแรก ผู้เข้ารับบริการจะถูกจัดให้อยู่ในท่านอนหงาย
    2. มีการให้ยาชาระงับความรู้สึกเฉพาะที่ และยาสลบก่อนเริ่มการผ่าตัด
    3. แพทย์จะกรีดแผลตามตำแหน่งที่กำหนดไว้ แล้วใช้กล้องขนาดเล็กส่องหาท่อนำไข่
    4. ทำให้ท่อให้ท่อนำไข่อุดตันผ่านวิธีการตัด จี้ไฟฟ้า หนีบ หรือรัดส่วนปลายของท่อนำไข่ด้วยห่วงรัด หรือตัวหนีบขนาดเล็ก
    5. เย็บปิดแผล เป็นอันเสร็จสิ้น

    การดูแลตนเองหลังทำหมันแห้ง

    การดูแลตนเองหลังทำหมันแห้งจะมีแนวทางเช่นเดียวกับการดูแลตนเองหลังทำหมันหลังคลอด ได้แก่

    • ต้องระมัดระวังไม่ให้แผลสัมผัสน้ำหรือความชื้น 7 วัน
    • งดการยกของหนัก การออกกำลังกาย หรือการทำกิจกรรมที่ใช้แรงมากๆ ประมาณ 7 วัน หรือตามที่แพทย์แนะนำ
    • มาตัดไหมและตรวจความเรียบร้อยของแผลกับแพทย์ตามนัดหมาย
    • งดมีเพศสัมพันธ์ 1-2 เดือนหลังทำหมัน
    • สังเกตอาการแทรกซ้อนหลังผ่าตัด หากพบก็ให้รีบกลับมาพบแพทย์ทันที เช่น มีเลือดหรือน้ำไหลออกมาจากแผล ปวดท้องอย่างรุนแรง และไม่สามารถบรรเทาได้ด้วยยาแก้ปวด มีไข้สูง
    ทำหมันหญิง ราคา

    ความเสี่ยงของการทำหมันหญิง

    แม้การทำหมันหญิงจะช่วยป้องกันโอกาสการตั้งครรภ์ได้เกือบ 100% แต่ก็ยังมีความเสี่ยงหลายอย่างที่อาจเกิดขึ้นได้จากการผ่าตัดทำหมันได้ เช่น

    • โอกาสกลับมาตั้งครรภ์อีกครั้ง แม้ทำหมันสำเร็จไปแล้ว
    • ผู้ที่ทำหมันอยากเปลี่ยนใจกลับมามีบุตรอีกครั้งในภายหลัง
    • อวัยวะใกล้เคียงในช่องท้องอาจได้รับความเสียหายจากการผ่าตัดไปด้วย เช่น กระเพาะปัสสาวะ
    • อาจเกิดท่อนำไข่ฉีกขาดจากการผ่าตัด
    • ภาวะเสียเลือดมากระหว่างการผ่าตัด
    • ห่วงหรือคลิปหนีบท่อนำไข่หลุดหลังจากผ่าตัด
    • ติดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เพราะการทำหมันหญิงไม่ได้ช่วยป้องกันและลดโอกาสติดเชื้อจากโรคติดต่อประเภทนี้ได้ ผู้ที่ทำหมันไปแล้วยังต้องระมัดระวังเกี่ยวกับพฤติกรรมการมีเพศสัมพันธ์ และการรักษาสุขอนามัยทางเพศอยู่เช่นเดิม

    การทำหมันหญิงเป็นการป้องกันโอกาสการตั้งครรภ์ที่ให้ประสิทธิภาพสูง และแทบจะลดโอกาสเกิดการตั้งครรภ์ได้เกือบ 0% เลยทีเดียว ด้วยเหตุนี้ ผู้เข้ารับบริการจึงควรมีการวางแผนครอบครัวหรือแผนการมีบุตรอย่างละเอียดรอบคอบกับคู่ชีวิตเสียก่อน

    มิฉะนั้นการทำหมันไม่ว่าจะในหญิงหรือชายอาจเปลี่ยนจากความสบายใจเป็นฝันร้ายที่ทำให้ความต้องการมีลูกของคุณไม่มีทางเป็นจริงได้

    และเมื่อตัดสินใจทำหมันแล้ว คุณก็ควรเข้ารับบริการทำหมันในสถานพยาบาลที่ได้มาตรฐานเท่านั้น เพื่อลดโอกาสเกิดผลข้างเคียงที่รุนแรงจนเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ในภายหลังการผ่าตัด

    เช็กราคาแพ็กเกจทำหมัน แก้หมัน ผ่านแพ็กเกจเพื่อสุขภาพจาก HDmall.co.th หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ HDmall.co.th


    บทความที่เกี่ยวข้อง


    ที่มาของข้อมูล

    ขยาย

    ปิด

    • American College of Obstetricians and Gynecologists, Postpartum Sterilization (https://www.acog.org/womens-health/faqs/postpartum-sterilization), 5 June 2022.
    • Dawn Stacey, By Tubal Ligation Surgery: Everything You Need to Know (https://www.verywellhealth.com/getting-your-tubes-tied-906939#toc-how-to-prepare), 5 June 2022.
    • The Global Library of Woman’s Medicine, Postpartum Sterilization Procedures (https://www.glowm.com/section-view/heading/Postpartum%20Sterilization%20Procedures/item/145#.YpxzcBNBy59), 5 June 2022.
    • NHS, Female sterilisation (https://www.nhs.uk/conditions/contraception/female-sterilisation/?tabname=which-is-best-for-me), 5 June 2022.
    • คณะอนุกรรมการมาตรฐานวิชาชีพ ราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย, ความรู้เรื่องการทำหมันสตรี (Female sterilization) สำหรับประชาชน (http://www.rtcog.or.th/home/wp-content/uploads/2017/05/articlesfile_663723.pdf), 5 มิถุนายน 2565.
    • คณะอนุกรรมการมาตรฐานวิชาชีพ ราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย, ความรู้เรื่องการทำหมันสตรี (Female sterilization) สำหรับผู้รับบริการ (http://www.rtcog.or.th/home/wp-content/uploads/2017/05/IC-003_ความรู้เรื่องการทำหมันสตรี.pdf), 5 มิถุนายน 2565.
    • นพ.ปกรณ์ จักษุวัชร รศ.พญ.สุปรียา วงศ์ตระหง่าน, การทำหมันหญิง (Female sterilization) (https://w1.med.cmu.ac.th/obgyn/lecturestopics/topic-review/4468/), 5 มิถุนายน 2565.
    • ฝ่ายการพยาบาล คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล, การทำหมันหญิง (https://www.si.mahidol.ac.th/sidoctor/e-pl/admin/article_files/169_1.pdf), 5 มิถุนายน 2565.
    • ภาควิชาสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, Tubal ligation (https://w1.med.cmu.ac.th/obgyn/faculties/student-extern-intern/extern-intern-corner/learning-manual-for-extern/5372/), 5 มิถุนายน 2565.
    @‌hdcoth line chat