รู้จักกับยาฟาวิพิราเวียร์ (Favipiravir) รักษาโควิด-19 ได้จริงหรือ?


HDmall สรุปให้

ขยาย

ปิด

  • ยาฟาวิพิราเวียร์​ (Favipiravir) เป็นยาที่ขึ้นทะเบียนสำหรับใช้รักษาโรคไข้หวัดใหญ่ แต่มีฤทธิ์ต้านไวรัสในกลุ่มอาร์เอนเอไวรัสได้หลายชนิด จึงถูกนำมาใช้รักษาโรคติดเชื้อไวรัสอื่นๆ ด้วย เช่น โรคชิคุนกุนยา โรคปากและเท้าเปื่อย โรคไข้เหลือง รวมไปถึงโรคโควิด-19 ที่กำลังแพร่ระบาดอยู่ในขณะนี้
  • ยาฟาวิพิราเวียร์ จะถูกเปลี่ยนแปลงด้วยเอนไซม์ในร่างกายเป็นฟาวิพิราเวียร์ไรโบซิลไตรฟอสเฟต (Favipiravir ribosyl triphosphate) ซึ่งมีฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์อาร์เอ็นเอพอลิเมอเรส (RNA-dependent RNA polymerase) ที่มีส่วนสำคัญในการเพิ่มจำนวนไวรัส จึงสามารถช่วยยับยั้งการเพิ่มจำนวนไวรัสได้
  • ยาฟาวิพิราเวียร์ จะถูกใช้ในผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงอาการของโรครุนแรง ผู้ป่วยที่มีอาการปอดบวม ปอดอักเสบ ภาวะพร่องออกซิเจน (ออกซิเจนในเลือดต่ำกว่า 96%) หรือมีภาวะลดลงของออกซิเจนในเลือดมากกว่าหรือเท่ากับ 3% ขณะออกแรงจากครั้งแรกที่วัดได้
  • ผู้ที่ต้องการรับยาฟาวิพิราเวียร์นั้น จะต้องเข้าระบบการรักษาก่อน โดยติดต่อที่เบอร์โทรศัพท์ 1330, 1323, 1422, 1442, 1646, 1668, 1669 และ1506 หรือลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์ https://crmsup.nhso.go.th หรือแอดไลน์ @nhso หรือเพจเฟซบุ๊ก เราต้องรอด
  • เปรียบเทียบแพ็กเกจและราคาตรวจโควิด-19 หรือแอดไลน์ @hdmall.support

ฟาวิพิราเวียร์ (Favipiravir) เป็นยาต้านไวรัสที่ถูกนำมาใช้ในการรักษาโรคโควิด-19 (COVID-19)

ในปัจจุบัน องค์การเภสัชกรได้ผลิตยาฟาวิพิราเวียร์เอง มีชื่อทางการค้าว่า “ฟาเวียร์ (FAVIR)” โดยได้รับการขึ้นทะเบียนจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) แล้ว และในเดือนสิงหาคมนี้ จะเริ่มกระจายยาฟาเวียร์เข้าระบบการรักษาผู้ป่วยโควิด-19

ในบทความนี้ HDmall.co.th จะพาไปทำความรู้จักกับยาฟาวิพิราเวียร์ว่า คืออะไร มีแนวทางการใช้อย่างไร ใช้ในเด็กและคนท้องได้หรือไม่ และมีข้อควรระวังอะไรบ้าง

ยาฟาวิพิราเวียร์ คืออะไร?

ยาฟาวิพิราเวียร์​ (Favipiravir) เป็นยาที่ขึ้นทะเบียนสำหรับใช้รักษาโรคไข้หวัดใหญ่

อย่างไรก็ตาม ยาฟาวิพิราเวียร์มีฤทธิ์ต้านไวรัสในกลุ่มอาร์เอนเอไวรัสได้หลายชนิด จึงถูกนำมาใช้รักษาโรคติดเชื้อไวรัสอื่นๆ ด้วย เช่น โรคชิคุนกุนยา โรคปากและเท้าเปื่อย โรคไข้เหลือง รวมไปถึงโรคโควิด-19 ที่กำลังแพร่ระบาดอยู่ในขณะนี้

ยาฟาวิพิราเวียร์ รักษาโรคโควิด-19 ได้จริงหรือไม่?

ยาฟาวิพิราเวียร์มีส่วนช่วยในการรักษาโรคโควิด-19 ได้จริง โดยตัวยาจะถูกเปลี่ยนแปลงด้วยเอนไซม์ในร่างกายเป็นฟาวิพิราเวียร์ไรโบซิลไตรฟอสเฟต (Favipiravir ribosyl triphosphate) ซึ่งมีฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์อาร์เอ็นเอพอลิเมอเรส (RNA-dependent RNA polymerase)

เอนไซม์อาร์เอ็นเอพอลิเมอเรสนั้น เป็นเอ็นไซม์ที่มีส่วนสำคัญในการเพิ่มจำนวนไวรัส การรับประทานยาฟาวิพิราเวียร์จึงสามารถช่วยยับยั้งการเพิ่มจำนวนไวรัสได้

นอกจากนี้ฟาวิพิราเวียร์ไรโบซิลไตรฟอสเฟตยังทำให้เกิดการสร้างพันธุกรรมอาร์เอนเอของไวรัสที่ผิดปกติ และทำให้ไวรัสตายได้อีกด้วย

แนวทางการใช้ยาฟาวิพิราเวียร์ในการรักษาโรคโควิด-19

กรมการแพทย์ ได้อัปเดตแนวทางการใช้ยาฟาวิพิราเวียร์ในการรักษาโรคโควิด-19 ในแนวทางเวชปฏิบัติการวินิจฉัย ดูแลรักษาและป้องกันการติดเชื้อในโรงพยาบาล กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) สําหรับแพทย์และบุคลากรสาธารณสุข ฉบับปรับปรุง วันที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2564 มีรายละเอียดดังนี้

แนวทางการใช้ยาฟาวิพิราเวียร์รักษาโรคโควิด-19 ในผู้ใหญ่

ในกลุ่มผู้ป่วยที่ไม่แสดงอาการ ไม่จำเป็นต้องให้ยาฟาวิพิราเวียร์ เนื่องจากส่วนใหญ่แล้ว สามารถหายได้เอง

แต่สำหรับผู้ที่มีอาการเล็กน้อย แต่ไม่รุนแรง ไม่มีปอดอักเสบ ไม่มีปัจจัยเสี่ยงรวมด้วย ผลจากการถ่ายภาพเอกซเรย์ปอกปกติ แพทย์อาจให้ยาฟาวิพิราเวียร์ โดยขนาดยาขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์

ทั้งนี้หากตรวจพบเชื้อมาเกิน 7 วันแล้ว และผู้ป่วยไม่มีอาการ หรือมีอาการน้อย ก็อาจไม่จำเป็นต้องให้ยาฟาวิพิราเวียร์ เพราะพ้นขีดอันตราย และน่าจะหายได้เองโดยไม่มีภาวะแทรกซ้อน

ส่วนผู้ป่วยที่ไม่มีอาการ หรือมีอาการไม่รุนแรง แต่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเป็นโรครุนแรง หรือมีโรคร่วมสำคัญ ได้แก่

  • มีอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป
  • เป็นโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง (COPD) หรือโรคปอดเรื้อรังอื่นๆ
  • โรคไตเรื้อรัง (CKD)
  • โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคหัวใจแต่กําเนิด โรคหลอดเลือดสมอง
  • โรคเบาหวานที่ควบคุมไม่ได้
  • ภาวะอ้วน (น้ําหนักมากกว่า 90 กก. หรือ BMI ≥30 กก./ตร.ม.)
  • ตับแข็ง
  • ภาวะภูมิคุ้มกันต่ำ และ lymphocyte น้อยกว่า 1,000 เซลล์/ลบ.มม.

รวมถึงผู้ป่วยที่ไม่มีปัจจัยเสี่ยงแต่มีแนวโน้มที่จะมีความรุนแรงของโรคมากขึ้น และผู้ที่ป่วยที่มีปอดบวมเล็กน้อย กรมการแพทย์แนะนำให้เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลอย่างน้อย 14 วัน โดยให้ยาฟาวิพิราเวียร์ เป็นเวลา 5 วัน หรือมากกว่านั้น ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์

ในกรณีที่มีอาการแย่ลง หรือถ่ายภาพปอดรังสีแย่ลง แพทย์อาจพิจารณาให้ใช้ยาคอร์ติโคสเตียรอยด์​ (Corticosteroid) ร่วมด้วย

ส่วนผู้ป่วยที่มีอาการปอดบวมที่มีภาวะพร่องออกซิเจน (Hypoxia) ระดับออกซิเจนในเลือดต่ำกว่า 96% หรือมีภาวะลดลงของออกซิเจนในเลือดมากกว่าหรือเท่ากับ 3% ขณะออกแรงจากครั้งแรกที่วัดได้ หรือภาพรังสีทรวงอกมี Progression ของ Pulmonary infiltrates

แนะนำให้ใช้ยาฟาวิพิราเวียร์ เป็นเวลา 5-10 วัน โดยอาจให้ lopinavir/ritonavir 5-10 วัน หรือยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ร่วมด้วย ขึ้นอยู่กับอาการทางคลินิก และดุลยพินิจของแพทย์

แนวทางการใช้ยาฟาวิพิราเวียร์รักษาโรคโควิด-19 ในเด็ก

ในผู้ป่วยเด็กที่ไม่มีอาการ การจะให้ยาฟาวิพิราเวียร์หรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์

ในผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรง ไม่มีปอดบวม และไม่มีปัจจัยเสี่ยง ได้แก่ อายุน้อยกว่า 1 ปี และภาวะเสี่ยงอื่นๆ เหมือนกับผู้ใหญ่ ให้รักษาตาอาการ และพิจราณาให้ยาฟาวิพิราเวียร์ เป็นเวลา 5 วัน

ในผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรง แต่มีปัจจัยเสี่ยง หรือมีอาการปอดบวม (pneumonia) เล็กน้อย พิจารณาให้ยาฟาวิพิราเวียร์ เป็นเวลา 5 วัน หรือมากกว่านั้น ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์

ในผู้ป่วยที่มีอาการปอดบวม หายใจเร็วกว่าอัตราการหายใจตามกําหนดอายุ หรือมากกว่า...

  • 60 ครั้ง/นาที ในเด็กอายุน้อยกว่า 2 เดือน
  • 50 ครั้ง/นาที ในเด็กอายุ 2-12 เดือน
  • 40 ครั้ง/นาที ในเด็กอายุ 1-5 ปี
  • 30 ครั้ง/นาที ในเด็กอายุมากกว่า 5 ปี

แพทย์พิจารณาให้ยาฟาวิพิราเวียร์ 5-10 วัน โดยอาจพิจารณาให้ร่วมกับ lopinavir/ritonavir เป็นเวลา 5-10 วัน หรือยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ร่วมด้วย

แนวทางการใช้ยาฟาวิพิราเวียร์รักษาโรคโควิด-19 ในเด็ก ในหญิงตั้งครรภ์

จากการศึกษาในสัตว์ทดลอง พบว่า ยาสามารถผ่านรกและขับออกทางน้ำนมได้ อีกทั้งยังมีความเสี่ยงที่จะทำให้ทารกในครรภ์พิการได้ โดยเฉพาะเมื่อได้รับยาในขนาดสูง

การให้ยาฟาวิพิราเวียร์ในหญิงตั้งครรภ์จึงต้องมีการปรึกษากับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ร่วมกับการตัดสินใจของหญิงตั้งครรภ์และคนในครอบครัว

หากแพทย์ประเมินแล้วว่า ผู้ป่วยได้รับประโยชน์จากการใช้ยามากกว่าความเสี่ยง ก็อาจพิจารณาให้ยาฟาวิพิราเวียร์ได้

ขนาดยาฟาวิพิราเวียร์สำหรับรักษาโรคโควิด-19 ในผู้ใหญ่ เป็นอย่างไร?

ให้ยาฟาวิพิราเวียร์ ขนาดยา 200 มิลลิกรัมต่อเม็ด โดยแบ่งเป็น 2 กลุ่ม ดังนี้

  • ผู้ที่มีน้ำหนักตัวน้อยกว่า 90 กิโลกรัม วันที่ 1 ให้ 1,800 มิลลิกรัม (9 เม็ด) วันละ 2 ครั้ง วันต่อมา ให้ 800 มิลลิกรัม (4 เม็ด) วันละ 2 ครั้ง จนกว่าจะหายดี
  • ผู้ที่มีน้ําหนักตัวมากกว่า 90 กิโลกรัม วันที่ 1 ให้ 2,400 มิลลิกรัม (12 เม็ด) วันละ 2 ครั้ง วันต่อมา ให้ 1,000 มิลลิกรัม (5 เม็ด) วันละ 2 ครั้ง

ขนาดยาฟาวิพิราเวียร์สำหรับรักษาโรคโควิด-19 ในเด็ก เป็นอย่างไร?

การให้ยาฟาวิพิราเวียร์ในเด็ก วันที่ 1 ให้ 60 mg/kg/day วันละ 2 ครั้ง และวันต่อมา ให้ 20 mg/kg/day วันละ 2 ครั้ง โดยเจ้าหน้าที่จะเป็นผู้คำนวณปริมาณยาให้

ผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นได้จากการใช้ยาฟาวิพิราเวียร์ มีอะไรบ้าง?

ผลข้างเคียงที่อาจพบได้จากการใช้ยาฟาวิพิราเวียร์ ได้แก่ คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย ตับอักเสบ และเชื้อดื้อยา หากหลังจากรับประทานยาแล้วมีอาการผิดปกติ ควรแจ้งให้แพทย์ทราบ

ข้อควรระวังในการใช้ยาฟาวิพิราเวียร์ มีอะไรบ้าง?

ข้อควรระวังในการใช้ยาฟาวิพิราเวียร์ มีดังนี้

  • การใช้ยาฟาวิพิราเวียร์ในหญิงตั้งครรภ์ อาจทำให้ทารกอวัยวะพิการ (Teratogenic effect) ได้
  • ระวังการเพิ่มระดับกรดยูริก (Uric acid) หากใช้ร่วมกับยาไพราซินาไมด์​ (Pyrazinamide)
  • ระวังภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ (Hypoglycemia) หากใช้ร่วมกับยารีพาไกลไนด์ (Repaglinide) หรือยาไพโอกลิตาโซน (Pioglitazone)
  • ผู้ที่การทำงานของตับบกพร่องในระดับปานกลางถึงรุนแรง ให้ลดขนาดยาลง เป็นวันที่ 1 ให้ 4 เม็ด วันละ 2 ครั้ง วันต่อมา 2 เม็ด วันละ 2 ครั้ง

สามารถรับยาฟาวิพิราเวียร์ได้ที่ไหน?

หากตรวจพบเชื้อโควิด-19 ให้โทรแจ้งโรงพยาบาล หรือสถานพยาบาลที่ขึ้นทะเบียนกับสปสช. เพื่อเข้าระบบ Home Isolation ที่เบอร์โทรศัพท์ 1330, 1323, 1422, 1442, 1646, 1668, 1669 และ1506 หรือลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์ https://crmsup.nhso.go.th หรือแอดไลน์ @nhso หรือเพจเฟซบุ๊ก เราต้องรอด

เมื่อเข้าสู่ระบบแล้ว ผู้ป่วยโควิด-19 จะได้รับการตรวจอาการเพื่อจำแนกระดับผู้ป่วยออกเป็นสีเขียว สีเหลือง และสีแดง เพื่อรับการรักษาอย่างเหมาะสม

โดยผู้ที่ต้องกักตัวที่บ้าน จะได้รับเครื่องมือวัดไข้ เครื่องมือวัดค่าออกซิเจนในเลือด และยารักษาโรคที่จำเป็น​ (หากแพทย์พิจารณาแล้วว่า จะต้องใช้ยาฟาวิพิราเวียร์ ก็จะได้รับการจัดสรรด้วย) เพื่อให้ผู้ป่วยดูแลตนเองได้ ในขณะที่ทำ Home Isolation หรือรอเตียง

ยาฟาวิพิราเวียร์ เป็นยาที่ต้องสั่งจ่ายโดยแพทย์ และมีผลข้างเคียงหลายอย่าง เพื่อความปลอดภัยในการใช้ยา ควรปรึกษาแพทย์ หรือเภสัชกรทุกครั้ง

สถานการณ์โรคโควิด-19 ในประเทศไทยยังคงเป็นที่น่ากังวลใจ ในระหว่างนั้น เราควรป้องกันตัวเองให้ดีที่สุด โดยการหลีกเลี่ยงการอยู่ในพื้นที่ชุมชน สวมใส่หน้ากากอนามัยทุกครั้งที่ออกจากบ้าน หมั่นล้างมือเป็นประจำ และฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 เมื่อมีโอกาส

HDmall.co.th ขอเป็นหนึ่งในกำลังใจให้กับคนไทยทุกคน เราจะผ่านวิกฤตการณ์ครั้งนี้ไปด้วยกัน และหวังเป็นอย่างยิ่งว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทั้งในประเทศไทยและทั่วโลกจะจบลงโดยเร็วที่สุด

สำหรับใครที่ต้องการตรวจหาเชื้อโควิด-19 สามารถ เปรียบเทียบแพ็กเกจและราคาตรวจโควิด-19 ล่าสุด ได้ที่นี่ หรือแอดไลน์ @hdmall.support เพื่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ มีจิ๊บใจดีคอยให้บริการทุกวันตั้งแต่เวลา 9 โมงเช้าถึงตีหนึ่ง แอดได้เลยไม่ต้องรอ!

รวมบทความที่เกี่ยวข้องกับวัคซีนโควิด

ที่มาของข้อมูล

กรมการแพทย์,ฉบับปรับปรุง วันที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2564 สําหรับแพทย์และบุคลากรสาธารณสขุ

แนวทางเวชปฏิบัติการวินิจฉัย ดูแลรักษาและป้องกันการติดเชื้อในโรงพยาบาล กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) (https://covid19.dms.go.th/backend/Content/Content_File/Covid_Health/Attach/25640721115923AM_CPG_COVID_v.16.4.n.pdf?fbclid=IwAR33037KhUb8cLmnFmHKc9RJXVWGtEETFRwWRvhv92J8LVzA2Ufof2Jteho), 29 กรกฎาคม 2564.

คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล, รู้จักกับ “ยาฟาวิพิราเวียร์” (https://www.rama.mahidol.ac.th/atrama/issue041/rama-rdu), 29 กรกฎาคม 2564.

คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล, Favipiravir...ความหวังในการรักษาโควิด-19 (COVID-19) (https://pharmacy.mahidol.ac.th/dic/news_week_full.php?id=1558), 29 กรกฎาคม 2564.

โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาด, ยาฟาวิพิราเวียร์กับการรักษาโควิด-19 (https://chulalongkornhospital.go.th/kcmh/line/19-2/), 29 กรกฎาคม 2564.

องค์การเภสัชกรรม, ยาฟาวิพิราเวียร์ (ยาฟาเวียร์) รักษาโควิด-19 ขององค์การเภสัชกรรม ที่ผลิตเอง ได้ทะเบียนจาก อย.แล้ว เดือนสิงหาคมนี้ พร้อมเริ่มกระจายให้กับผู้ป่วย (https://www.gpo.or.th/view/462), 29 กรกฎาคม 2564.

NCBI, Favipiravir: A new and emerging antiviral option in COVID-19 (https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC7467067/), 30 July 2021.

@‌hdcoth line chat