eye exam scaled

ตรวจตา ตรวจอะไรบ้าง รวมข้อมูลที่คุณควรรู้ก่อนตรวจสุขภาพตา

ในบรรดาการตรวจสุขภาพ การตรวจสุขภาพตามักเป็นสิ่งที่หลายคนมักมองข้าม เพราะคิดว่าหากไม่มีอาการผิดปกติใดๆ ก็ไม่เป็นไร แต่ความจริงแล้วมีโรคทางตาหลายโรคที่จะไม่แสดงอาการ จนกว่าจะเข้าสู่ระยะรุนแรงแล้ว เมื่อถึงเวลานั้นก็อาจสายเกินกว่าจะรักษาให้เป็นปกติได้

ที่สำคัญการมองเห็นของคุณก็อาจไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป หรือหากเคราะห์ร้ายไปกว่านั้น คุณอาจสูญเสียการมองเห็นไปชั่วคราว หรือถาวรได้ นั่นคือเหตุผลสำคัญที่คุณไม่ควรละเลยการตรวจสุขภาพตา

ผู้ที่ควรตรวจสุขภาพตา

1. ผู้ที่ไม่มีอาการผิดปกติ

คุณควรตรวจตาอย่างสม่ำเสมอ แม้จะไม่มีอาการทางสายตายใดๆ เลยก็ตาม โดยแนะนำให้ตรวจตาตามช่วงอายุดังต่อไปนี้

  1. เด็กแรกเกิดที่มีน้ำหนักปกติ จะได้รับการตรวจร่างกายทั่วไปคร่าวๆ รวมทั้งการตรวจตาโดยจักษุแพทย์
  2. เด็กอายุ 3-5 ปี จะเป็นการตรวจวัดระดับการมองเห็นด้วยแผ่นภาพและตรวจภาวะตาเข หากไม่ได้รับการรักษาตั้งแต่ต้นอาจนำไปสู่ภาวะตาขี้เกียจ (Lazy eye) เป็นปัญหาสุขภาพตาที่พบได้ในเด็กเท่านั้น ปัญหานี้จะทำให้มองเห็นได้ไม่ชัด หากไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้อง ในระยะยาวอาจส่งผลให้ตาบอดได้
  3. อายุ 6-20 ปี ตรวจวัดสายตาสั้น ยาว เอียง ซึ่งเป็นปัญหาที่อาจทำให้เด็กมีอาการตาล้า ปวดศีรษะ และไม่มีสมาธิในการเรียน หากพ่อแม่สังเกตเห็นอาการเหล่านี้ควรพาลูกไปตรวจสายตาตั้งแต่เนิ่นๆ เพื่อไม่เป็นอุปสรรคต่อการเรียนของเด็ก
  4. อายุ 21-40 ปี ควรได้รับการตรวจตาทุก 5-10 ปี
  5. อายุ 40-64 ปี ควรได้รับการตรวจตาทุก 2 ปี เพราะเป็นวัยที่สายตาเริ่มเปลี่ยน อาจต้องใช้แว่นสายตายาว และเสี่ยงเกิดโรคตาต่างๆ ตามอายุที่มากขึ้น เช่น ต้อกระจก ต้อเนื้อ และต้อหิน
  6. อายุ 64 ปีขึ้นไป ควรได้รับการตรวจตาปีละ 1 ครั้ง

2. ผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยง

สำหรับผู้ที่มีความเสี่ยงต่อไปนี้ควรเข้ารับการตรวจตาทันที หรือตรวจเป็นประจำโดยไม่จำเป็นต้องรอให้มีอายุ 40 ปี

  • เด็กที่คลอดก่อนกำหนด และมีน้ำหนักตัวน้อยกว่า 1,500 กรัม หรืออายุครรภ์น้อยกว่า 28 สัปดาห์ ควรรับการตรวจจากจักษุแพทย์ภายในช่วงที่ตรวจได้ หรืออายุ 4-6 สัปดาห์
  • ผู้ที่มีอาการทางตาต่างๆ เช่น ปวดตา ตาแดง ตามัว เห็นภาพซ้อน น้ำตาไหล ปวดกระบอกตา หรือปวดศีรษะบ่อยๆ
  • หากคนในครอบครัวเคยเป็นโรคต้อหิน หรือตาบอดไปข้างหนึ่งโดยไม่ทราบสาเหตุ ควรตรวจความดันลูกตาและประสาทตาตั้งแต่อายุ 35 ปีขึ้นไป เนื่องจากต้อหินเป็นโรคที่สามารถถ่ายทอดทางพันธุกรรมได้
  • ผู้ป่วยโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง และโรคเกี่ยวกับไทรอยด์ ควรรับการตรวจตาตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด
  • ผู้ที่ทำงานใช้สายตามาก 
  • ผู้ที่ใส่คอนแทคเลนส์
  • ผู้มีปัจจัยเสี่ยงต่อจอตาฉีกขาด เช่น เคยได้รับอุบัติเหตุที่ดวงตา เคยได้รับการผ่าตัดตามาแล้ว มีสายตาสั้นบาง  เป็นต้น
  • ผู้ที่มีโรคประจำตัว และต้องใช้ยาที่มีผลต่อดวงตาเป็นประจำ เช่น ยารักษาวัณโรคในกลุ่มอีแทมบูทอล (Ethambutol) ยารักษาโรคเนื้อเยื่อเกี่ยวพันอย่างคลอโรควิน (Chloroquine) ยาในกลุ่มสเตียรอยด์สำหรับรักษาโรคไต เป็นต้น

นอกจากนี้ผู้มีอายุ 40 ปีขึ้นไป ควรได้รับการตรวจคัดกรองตาแม้จะไม่มีความเสี่ยงใดๆ เนื่องจากโรคตาที่พบบ่อย หรือการเปลี่ยนแปลงของสายตามักเกิดขึ้นในช่วงวัยดังกล่าว หรือหากป่วยด้วยโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดสมอง ก็ควรเข้ารับการตรวจสุขภาพตาด้วยเช่นกัน

การเตรียมตัวก่อนตรวจตา

  • หลีกเลี่ยงการเสริมสวย หรือแต่งหน้าบริเวณดวงตา เช่น การติดขนตาปลอม การใช้อายไลน์เนอร์เขียนขอบตา
  • นำแว่นสายตา หรือคอนแทคเลนส์ที่คุณใช้อยู่ไปด้วย เพื่อให้แพทย์บอกได้ว่า คุณควรเปลี่ยนแว่น หรือคอนแทคเลนส์ใหม่ให้เหมาะกับสายตาหรือไม่ อีกทั้งยังสามารถเปรียบเทียบค่าการวัดสายตาขณะใส่แว่นและไม่ใส่ได้ด้วย
  • แจ้งให้แพทย์ทราบถึงโรคประจำตัว ประวัติการรักษาโรคต่างๆ และยารักษาโรคทุกชนิดที่กำลังใช้อยู่ เพราะอาจเป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อสายตา หรือสุขภาพตาได้
  • ควรเตรียมแว่นกันแดด และหมวกปีกกว้างมาใส่ตอนกลับบ้าน เพราะในขั้นตอนการตรวจ แพทย์จะหยดยาหยอดตาเพื่อขยายรูม่านตาซึ่งจะส่งผลให้ดวงตาเปิดรับแสงอย่างเต็มที่ทำให้ตาพร่ามัว เห็นภาพ 3 มิติได้ หากเป็นไปได้ควรมีญาติมาช่วยพากลับบ้านเพื่อความปลอดภัย

รายละเอียดการตรวจตา

การตรวจตาถือว่า ทำได้ง่ายและรวดเร็ว มีขั้นตอนการตรวจทั่วไป ดังนี้

  • ซักประวัติโดยจักษุแพทย์ เป็นการสอบถามถึงอาการของตาและสุขภาพทั่วไปรวมถึงประวัติสุขภาพของคนในครอบครัว ยารักษาโรคที่ใช้อยู่ และถามว่า มีปัญหาทางสายตาหรือไม่
  • ตรวจสายตา หรือความสามารถในการมองเห็น (Visual acuity test) คุณจะต้องอ่านป้ายที่มีตัวอักษร หรือตัวเลขต่างๆ จากระยะมาตรฐาน 6 เมตร เพื่อดูว่า มองเห็นได้ดีแค่ไหน ระหว่างการทดสอบจะต้องปิดตาไว้หนึ่งข้างแล้วใช้อีกข้างที่เหลือมองดู
  • ตรวจวัดค่าสายตา เป็นการให้อ่านป้ายที่มีตัวอักษร หรือตัวเลขผ่านอุปกรณ์วัดสายตา (Phoropter) ซึ่งจะให้ค่าตัวเลขที่กำหนดความสั้น ยาว และเอียงของสายตาอย่างถูกต้อง แพทย์จะแนะนำให้นำค่าที่ได้ไปตัดแว่นสายตา หากมีปัญหาทางสายตาในระดับที่รบกวนการมองเห็น
  • ตรวจลานสายตา ตรวจบริเวณที่มองเห็นด้านบน ล่าง ซ้าย และขวา เป็นการตรวจประเมินว่า มีลานสายตากว้าง หรือแคบ มากน้อยเพียงใด
  • ตรวจความโค้งของกระจกตา หากมีความผิดปกติ จะทำให้มีภาวะสายตาเอียงได้
  • ตรวจคัดกรองตาบอดสี หากคุณมีปัญหาในการแยกสี คุณอาจได้รับการตรวจตาบอดสีด้วยเช่นกัน ซึ่งทำได้โดยการดูแผ่นป้ายที่มีจุดสีหลายๆ สี แล้วระบุว่า สีที่ชี้ คือ สีอะไร
  • ตรวจม่านตา แพทย์จะใช้ไฟส่องตาเพื่อดูว่า ม่านตาตอบสนองต่อแสงเป็นปกติหรือไม่ หากม่านตาหดเล็กลงเมื่อเจอแสงจะถือว่า ปกติ แต่หากม่านตาขยายใหญ่ หรือไม่ตอบสนอง หมายความว่าอาจมีความผิดปกติของดวงตา
  • ตรวจการมองเห็นด้านข้าง ผู้ป่วยที่มีการมองเห็นด้านข้างผิดปกติมักไม่รู้ตัวเอง และเป็นสัญญาณความผิดปกติที่บ่งบอกถึงโรคต้อหินได้
  • ตรวจการเคลื่อนไหวของดวงตา เพื่อประเมินว่า กล้ามเนื้อตาทำงานเป็นปกติหรือไม่
  • ตรวจความดันลูกตา ความดันในลูกตาที่เพิ่มสูงขึ้นอาจบ่งบอกถึงความเสี่ยงโรคต้อหินได้ หากพบว่ามีความดันลูกตาผิดปกติ แพทย์จะตรวจเพิ่มเติมอย่างละเอียดเพื่อหาว่า เป็นโรคต้อหินหรือไม่
  • ตรวจส่วนหน้าของตา เป็นการตรวจด้วยกล้องกล้องจุลทรรศน์ตรวจนัยน์ตาชนิดลำแสงแคบ (Slit lamp) โดยจะช่วยในการตรวจดูเปลือกตา กระจกตา ม่านตา และเลนส์ตา การตรวจวิธีนี้จะทำให้ทราบว่า เป็นโรคต้อกระจก มีแผล หรือรอยถลอกที่กระจกตาหรือไม่
  • ตรวจจอประสาทตาและเส้นประสาทตา แพทย์จะหยดยาขยายรูม่านตาของคุณ เพื่อตรวจดูว่า ประสาทตาและเส้นประสาทตาเป็นปกติหรือไม่

ตรวจตา ใช้สิทธิประกันสังคมได้หรือไม่

การตรวจตารวมอยู่เป็นหนึ่งในรายการตรวจสุขภาพประจำปี ซึ่งสำนักงานประกันสังคมระบุว่าสามารถใช้สิทธิประกันสังคมได้ หากตรวจพบความผิดปกติก็สามารถใช้สิทธิประกันสังคมในการรักษาได้เช่นกัน

การตรวจตานั้นไม่ได้มีขั้นตอนยุ่งยาก ทั้งยังสะดวกรวดเร็ว ช่วยลดความเสี่ยงจากโรคทางตาหลายๆ โรค รวมทั้งช่วยป้องกันภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงอย่างการสูญเสียการมองเห็นทั้งชั่วคราว และถาวรได้ดี

คุณจึงไม่ควรมองข้ามการตรวจสุขภาพตาเช่นเดียวกับการตรวจภาพชนิดอื่นๆ เพื่อให้ดวงตาของคุณอยู่กับคุณไปได้อีกนาน และยังมีสุขภาพดวงตาที่ดีอีกด้วย

Scroll to Top