คู่มือการส่องกล้องทางเดินอาหาร รู้ครบจบในบทความเดียว


ใครที่เคยเผชิญโรคเกี่ยวกับทางเดินอาหารมาก่อน คงเข้าใจดีถึงความทุกข์ทรมานจากอาการปวดท้อง ท้องอืด เรอเปรี้ยว คลื่นไส้อาเจียน ท้องเสีย หรือท้องผูก ซึ่งหากไม่รีบรักษาให้ถูกวิธีและทันเวลา อาการเหล่านี้ก็จะยังคงติดตัวไปเรื่อยๆ หรืออาจรุนแรงขึ้นจนกลายเป็นโรคที่ร้ายแรงกว่านั้น

การส่องกล้องทางเดินอาหารก็เป็นอีกแนวทางการตรวจเช็กสุขภาพระบบทางเดินอาหาร รวมถึงเพื่อหาต้นตอที่ทำให้เกิดอาการเกี่ยวกับทางเดินอาหารได้ ในบทความนี้จะมาเจาะลึกแนวทางการส่องกล้องทางเดินอาหารที่คุณควรรู้พร้อมๆ กัน


เลือกหัวข้อที่เกี่ยวข้องกับการส่องกล้องทางเดินอาหาร

ขยาย

ปิด


ส่องกล้องทางเดินอาหารคืออะไร?

ส่องกล้องทางเดินอาหาร (Endoscopy) คือ การตรวจภายในที่อวัยวะของระบบทางเดินอาหาร ผ่านการใช้อุปกรณ์ที่ติดตั้งกล้องปล่อยคลื่นอัลตราซาวด์ (Ultrasound) สอดเข้าไปในร่างกายผ่านทางปากหรือทวารหนัก เพื่อหาต้นตอที่ทำให้เกิดอาการเจ็บป่วยหรือโรคที่อาจเกี่ยวข้องกับระบบทางเดินอาหาร

โดยหลังจากสอดกล้องเข้าไปถึงตำแหน่งอวัยวะที่ต้องการแล้ว แพทย์จะปล่อยคลื่นอัลตราซาวด์บริเวณกล้องออกมาซึ่งสามารถแสดงภาพภายในอวัยวะนั้นๆ บนจอภาพได้ และนำไปใช้ในการตรวจวิเคราะห์หารอยโรคต่อไป

นอกจากนี้การส่องกล้องทางเดินอาหารไม่ใช่การทำหัตถการเพื่อ “การตรวจ” เพียงอย่างเดียว แต่ยังเป็นการทำหัตถการเพื่อ “การรักษา” ไปพร้อมๆ กันได้ด้วย

ผู้เข้ารับบริการบางท่านอาจเริ่มต้นการส่องกล้องเพื่อตรวจหาต้นตอของความผิดปกติก่อน จากนั้นจึงค่อยส่องกล้องอีกครั้งเพื่อให้อุปกรณ์พิเศษได้เข้าไปรักษาต้นตอของโรคภายในระบบทางเดินอาหาร หรือแพทย์อาจพิจารณาเป็นการตรวจและรักษาไปในการส่องกล้องครั้งเดียวกันก็ได้ ขึ้นอยู่กับอาการและความผิดปกติที่เกิดขึ้นในแต่ละบุคคล

ส่องกล้องทางเดินอาหารมีกี่แบบ?

ส่องกล้องทางเดินอาหารแบ่งออกเป็น 3 รูปแบบตามบริเวณที่จะส่องกล้องลงไปตรวจ ได้แก่

  1. ส่องกล้องตรวจหลอดอาหาร กระเพาะอาหาร และลำไส้เล็กส่วนต้น (Gastroscope)
  2. ส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่และทวารหนัก (Colonscope)
  3. ส่องกล้องตรวจท่อทางเดินน้ำดีและตับอ่อน (Endoscopic Retrograde Cholangiopancreatography: ERCP)
ส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่ ราคาถูก

ประโยชน์ของการส่องกล้องทางเดินอาหาร

ประโยชน์ที่น่าสนใจและทำให้การส่องกล้องทางเดินอาหารเป็นวิธีรักษาที่นิยมกันในปัจจุบัน ได้แก่

  • ตรวจและรักษาไปพร้อมๆ กันได้ ช่วยประหยัดเวลาในการรักษาโรคลงไปได้
  • แพทย์สามารถเก็บชิ้นเนื้อเพื่อส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการได้เลย
  • เป็นการทำหัตถการขนาดเล็ก พักฟื้นไม่นาน ไม่ต้องผ่าตัดใหญ่
  • ตรวจวินิจฉัยได้ครอบคลุม ไม่จำเป็นต้องมีอาการรุนแรงก็มาตรวจได้ เช่น น้ำหนักไม่ลง ปวดท้อง จุกลิ้นปี่ กลืนอาหารลำบาก
  • ใช้ตรวจระยะของโรคมะเร็งเกี่ยวกับระบบทางเดินอาหารได้ รวมถึงตรวจการแพร่กระจายของเชื้อมะเร็งไปยังอวัยวะใกล้เคียง เพื่อให้หาทางรักษาได้ทันเวลา

ข้อเสียและข้อจำกัดของการส่องกล้องทางเดินอาหาร

แม้จะดูเป็นการตรวจที่ง่าย แต่การส่องกล้องทางเดินอาหารก็ยังมีข้อจำกัดในการให้บริการตรวจอยู่ เช่น

  • ใช้ตรวจอวัยวะส่วนที่มีลมไม่ได้ เช่น บริเวณปอด กระเพาะอาหารโดยตรง เป็นข้อจำกัดของคลื่นอัลตราซาวด์ที่เมื่อสัมผัสกับบริเวณที่มีอากาศ จะทำให้ไม่สามารถสะท้อนคลื่นกลับมาแสดงภาพบนจอได้
  • ใช้ตรวจที่กระดูกไม่ได้ เพราะกระดูกในร่างกายของคนเราจะสะท้อนคลื่นกลับหมด ทำให้ไม่สามารถเห็นรายละเอียดหรือความผิดปกติภายในเนื้อกระดูกได้
  • ต้องมีการเตรียมตัวล่วงหน้า งดน้ำ งดอาหารก่อนมารับบริการหลายชั่วโมง และผู้เข้ารับบริการมักได้รับคำแนะนำให้พาญาติมาด้วย จึงจัดเป็นการทำหัตถการที่มารับบริการตามลำพังไม่ได้
  • มีการวางยาชาและยานอนหลับในระหว่างส่องกล้อง ซึ่งเมื่อตื่นมาก็อาจจะทำให้รู้สึกมึนเบลอ หรือง่วงซึม
  • ทำให้รู้สึกไม่สบายตัว เพราะในหลายสถานพยาบาลจะไม่ได้ให้ผู้เข้ารับบริการกินยานอนหลับ ทำให้จะรู้สึกตัวอยู่ตลอดเวลาในระหว่างส่องกล้อง และผู้เข้ารับบริการอาจต้องช่วยกลืนกล้องลงไปยังทางเดินอาหารด้วย รวมถึงต้องหายใจลึกๆ สม่ำเสมอในระหว่างรับบริการ ต้องนอนงอเข่าเป็นเวลานาน ซึ่งอาจรู้สึกอึดอัดหรือกลัวในระหว่างนั้นได้

ใครควรส่องกล้องทางเดินอาหาร

ผู้ที่มีอาการผิดปกติเกี่ยวกับระบบทางเดินอาหาร และยังไม่สามารถหาวิธีรักษาอาการได้อย่างเหมาะสม จัดเป็นกลุ่มหลักที่เหมาะต่อการส่องกล้องทางเดินอาหาร แต่ทั้งนี้แพทย์จะเป็นผู้ประเมินแนวทางการตรวจและรักษาอย่างเหมาะสมอีกครั้ง โดยตัวอย่างที่แพทย์อาจแนะนำให้เข้ารับบริการส่องกล้องทางเดินอาหาร อาจมีดังนี้

  • อาการคลื่นไส้อาเจียนบ่อยๆ อย่างไม่ทราบสาเหตุ
  • อาการเจ็บคอ คอแห้ง ไอเรื้อรัง อย่างไม่ทราบสาเหตุ
  • อาการจุกเสียดแน่นท้อง
  • อาการแสบท้องบริเวณลำคอหรือลิ้นปี่
  • อาการท้องอืด อาหารไม่ย่อย
  • อาการกรดไหลย้อน และกินยาอย่างต่อเนื่องมาแล้ว แต่ก็ยังไม่หายดี
  • อาการท้องเสียเรื้อรัง
  • อาการท้องผูกสลับท้องเสียติดต่อกัน
  • อาการท้องอืดรวมกับท้องโตขึ้นผิดปกติ
  • อาการเบื่ออาหารและน้ำหนักลง อย่างไม่ทราบสาเหตุ
  • ผู้ที่มีปัญหาอุจจาระเป็นเลือด หรืออุจจาระมีสีคล้ำ หรือเป็นสีแดงสด
  • ผู้ที่แพทย์สงสัยเกี่ยวกับภาวะหรืออาการผิดปกติบางอย่าง และต้องการตรวจเพื่อวินิจฉัย เช่น เนื้องอก นิ่วในท่อน้ำดี โรคดีซ่าน โรคตับ โรคลำไส้อักเสบ ริดสีดวงทวาร ผู้ที่มีแผลในกระเพาะอาหาร เป็นต้น
  • ผู้ที่อายุมากขึ้น โดยอาจอยู่ที่ 50 ปีขึ้นไป และมีความเสี่ยงจะเกิดโรคเกี่ยวกับระบบทางเดินอาหาร แพทย์อาจแนะนำให้ส่องกล้องทางเดินอาหารทุกๆ 3-5 ปี เพื่อป้องกันไว้ก่อน
  • ผู้ที่มีผู้ใกล้ชิดทางสายเลือดเคยเป็นโรคมะเร็งในระบบทางเดินอาาหารมาก่อน เช่น โรคมะเร็งกระเพาะอาหาร โรคมะเร็งลำไส้

การเตรียมตัวก่อนส่องกล้องทางเดินอาหาร

คุณต้องปฏิบัติตามคำแนะนำในการเตรียมตัวล่วงหน้าก่อนเริ่มส่องกล้องทางเดินอาหารอย่างเคร่งครัด เพื่อป้องกันการเกิดภาวะแทรกซ้อนในระหว่างส่องกล้อง ดังนี้

  • แจ้งโรคประจำตัว ประวัติการแพ้ยา ยาประจำตัวที่กำลังกินอยู่ให้แพทย์ทราบทั้งหมด โดยแพทย์อาจขอให้งดยาบางชนิดล่วงหน้าก่อนมาส่องกล้องทางเดินอาหาร เช่น ยาที่มีผลต่อการแข็งตัวของเลือด ยากลุ่มแอสไพริน (Aspirin) ยาแก้อักเสบปวดข้อ (Non-steroidal Antiinflammatory Drugs หรือ NSAIDs)
  • กินได้เฉพาะอาหารอ่อนๆ ก่อนเริ่มส่องกล้อง 12-24 ชั่วโมง โดยแพทย์อาจให้กินอาหารอ่อนที่เป็นของเหลวไม่มีกาก เช่น ข้าวต้ม ซุปเหลว น้ำผึ้งหรือน้ำหวานไม่มีสี โจ๊กเหลว เนื้อปา ไข่
  • กินยาระบายที่แพทย์อาจสั่งจ่ายให้เพื่อระบายของเสียในลำไส้ใหญ่ออกให้หมด
  • งดน้ำ งดอาหาร 6-8 ชั่วโมงก่อนเริ่มส่องกล้องทางเดินอาหาร
  • หากผู้เข้ารับบริการใส่ฟันปลอม ให้ถอดออกก่อนรับบริการ
  • พาญาติหรือคนสนิทมาในวันรับบริการด้วย เพราะหลังจากตรวจเสร็จอาจมีอาการง่วงซึมได้

ขั้นตอนการส่องกล้องทางเดินอาหาร

การส่องกล้องทางเดินอาหารโดยปกติจะใช้เวลา 10-20 นาทีเท่านั้น แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับขั้นตอนการตรวจและรักษาอื่นๆ ที่มีเพิ่มเติมระหว่างการทำหัตถการ ซึ่งอาจกินเวลาเป็น 1-2 ชั่วโมง โดยขั้นตอนหลักๆ ของการส่องกล้องทางเดินอาหาร จะมีดังต่อไปนี้

  • ผู้เข้ารับบริการจะได้รับยาชาแบบพ่นก่อนในกรณีที่ใส่กล้องทางปาก อาจมีการให้ยานอนหลับร่วมด้วย
  • เจ้าหน้าที่จะจัดท่าให้ผู้เข้ารับบริการนอนตะแคงซ้าย งอเข่าขึ้นจนชิดออก
  • เมื่อจัดท่าเรียบร้อยแล้ว แพทย์จะเริ่มใส่กล้องที่สามารถงอและยืดหยุ่นได้เข้าไปทางปากหรือทางทวารหนัก ลงไปถึงตำแหน่งที่ต้องการตรวจหรือรักษา

ความรู้สึกระหว่างส่องกล้องทางเดินอาหาร เจ็บหรือไม่?

เนื่องจากมีการให้ยาชาก่อนให้บริการ ผู้รับบริการจะไม่รู้สึกเจ็บ แต่อาจรู้สึกแน่นตัว อยากอุจจาระ หรืออึดอัดท้องได้ ให้พยายามหายใจเข้าออกสม่ำเสมอไว้ อย่าเกร็ง หากรู้สึกอึดอัดจนทนไม่ไหวให้แจ้งแพทย์

หลังจากส่องกล้องทางเดินอาหารเสร็จแล้ว โดยปกติทางสถานพยาบาลจะให้ผู้เข้ารับบริการพักฟื้นในห้องพักฟื้นประมาณ 1-2 ชั่วโมงเพื่อเฝ้าดูอาการหลังส่องกล้อง

หากผู้เข้ารับบริการไม่มีอาการใดๆ เกิดขึ้น ก็สามารถกลับบ้านได้ หรืออาจได้ฟังผลตรวจได้ในวันเดียวกัน ขึ้นอยู่กับระยะเวลาในการวิเคราะห์ผลตรวจของแต่ละสถานพยาบาล

การดูแลตัวเองหลังส่องกล้องทางเดินอาหาร

สำหรับแนวทางการปฏิบัติตัวหลังจากกลับไปพักที่บ้าน เพื่อให้ร่างกายได้ปรับสภาพหลังจากส่องกล้องทางเดินอาหารเสร็จแล้ว และกลับไปใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติ คุณควรดูแลตนเองหลังต่อไปนี้

  • หากยาชายังไม่หมดฤทธิ์ อย่าเพิ่งดื่มน้ำ และในช่วงแรกๆ หลังยาชาหมดฤทธิ์ให้ค่อยๆ จิบน้ำก่อน อย่าเพิ่งดื่มทีเดียวเยอะๆ เพราะอาจสำลักได้
  • คุณอาจเผชิญอาการท้องอืด มีแก๊ส ปวดมวนๆ หรือไม่สบายท้องได้บ้างในระยะเวลาหนึ่ง
  • กินอาหารได้ตามปกติ แต่ควรเป็นอาหารอ่อนๆ รสไม่จัด ไม่เผ็ด ประมาณ 2-3 วัน
  • งดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ประมาณ 24 ชั่วโมงหลังส่องกล้อง
  • ดื่มน้ำอุ่นหรือยาอม หากมีอาการเจ็บคอเกิดขึ้น แต่โดยปกติอาการจะเกิดขึ้นประมาณ 1-3 วัน
  • งดออกกำลังกายและยกของหนักประมาณ 1-2 วัน
  • งดขับขี่พาหนะ เข้าใกล้เครื่องจักร สารเคมี หรือกิจกรรมที่เสี่ยงเกิดอุบัติเหตุ 24 ชั่วโมงหลังรับบริการ
เช็กราคาส่องกล้องตรวจทางเดินอาหาร

อาการแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นได้

หากคุณเผชิญอาการข้างเคียงที่รุนแรงดังต่อไปนี้ คุณควรรีบกลับมาพบแพทย์โดยทันที เพราะอาจสัญญาณของอาการแทรกซ้อนที่เป็นอันตรายได้ เช่น

  • คุณอาจมีเลือดปนอยู่ในน้ำลายได้บ้างเล็กน้อย แต่หากพบว่ามีเลือดออกมาปนกับน้ำลายเยอะผิดปกติ หรืออาเจียนเป็นเลือด ให้รีบกลับมาพบแพทย์
  • ปวดท้องอย่างรุนแรง
  • ปวดเจ็บหน้าอก
  • มีไข้สูง
  • มีลิ่มเลือดสด หรือมีเลือดออกมากทางทวารหนัก
  • มีผื่นแดงขึ้นตามตัว หรือตัวบวม

อย่าปล่อยให้ตนเองต้องเผชิญกับอาการน่ารำคาญและแสนทุกข์ทรมานจากความผิดปกติเกี่ยวกับทางเดินอาหาร และรีบเข้าปรึกษาแพทย์ตั้งแต่เนิ่นๆ เพื่อจะได้หาทางรักษาได้อย่างเหมาะสมต่อไป เช็กราคาบริการส่องกล้องทางเดินอาหารผ่านแพ็กเกจของเว็บไซต์ HDmall.co.th

หรือหากคุณยังไม่อยากส่องกล้องทางเดินอาหาร HDmall.co.th มีแพ็กเกจตรวจสุขภาพจากสถานพยาบาลชื่อดังและได้มาตรฐานหลายแห่ง เพื่อให้คุณได้ตรวจเช็กความสมบูรณ์แบบองค์รวมของสุขภาพเสียก่อน หากมีข้อสงสัย อยากทราบราคาแพ็กเกจเพิ่มเติม สามารถแอดไลน์สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ไลน์ @hdcoth


บทความที่เกี่ยวข้อง


ที่มาของข้อมูล

ขยาย

ปิด

  • Brian Krans, Endoscopy (https://www.healthline.com/health/endoscopy#risks), 17 March 2021.
  • คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดลศูนย์ส่องกล้องระบบทางเดินอาหารและห้องปฏิบัติการประสาททางเดินอาหารและการเคลื่อนไหว, การตรวจระบบทางเดินอาหารโดยการส่องกล้องที่ติดอัลตราซาวนด์ (endoscopic ultrasound; EUS) (https://www.rama.mahidol.ac.th/giendoscopy_center/th/eus), 17 มีนาคม 2565.
  • นพ. อภิชาติ สุรเมธากุล, ส่องกล้องตรวจกระเพาะอาหาร เจ็บหรือไม่ ควรเตรียมตัวอย่างไร (https://thainakarin.co.th/gastroscopy-gastrointestinalcenter-doctor/), 17 มีนาคม 2565.
  • โรงพยาบาลนครธน, ส่องกล้องทางเดินอาหารส่วนบน ส่องกล้องตรวจกระเพาะอาหาร (https://www.nakornthon.com/article/detail/การตรวจส่องกล้องทางเดินอาหารส่วนบน-esophagogastroduodenoscopy-egd), 17 มีนาคม 2565.
  • โรงพยาบาลยันฮี, การส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่และทวารหนัก (https://th.yanhee.net/หัตถการ/การส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่และทวารหนัก/), 17 มีนาคม 2565.
  • ศูนย์ส่องกล้องทางเดินอาหาร มหาวิทยาลัยมหิดล, การส่องกล้องตรวจหลอดอาหาร กระเพาะอาหาร และลำไส้เล็กส่วนต้น (https://www.si.mahidol.ac.th/office_d/adm/Gi_scope/egd.html), 17 มีนาคม 2565.
  • ศูนย์ส่องกล้องทางเดินอาหาร มหาวิทยาลัยมหิดล, การส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่และทวารหนัก (https://www.si.mahidol.ac.th/office_d/adm/Gi_scope/colono.html), 17 มีนาคม 2565.
  • ศูนย์ส่องกล้องทางเดินอาหาร มหาวิทยาลัยมหิดล, การส่องกล้องตรวจรักษาท่อทางเดินน้ำดีและตับอ่อน (https://www.si.mahidol.ac.th/office_d/adm/Gi_scope/ercp.html), 17 มีนาคม 2565.
@‌hdcoth line chat