เปรียบเทียบความต่าง 4 เทคนิคผ่าตัดแก้ค่าสายตา PRK, LASIK, Femto LASIK, ReLEx SMILE


เปรียบเทียบเลสิก PRK Femto LASIK ReLEx SMILE

HDmall สรุปให้!

ขยาย

ปิด

  • PRK เป็นเทคนิคผ่าตัดแก้ไขค่าสายตาที่มีมานานที่สุด มักใช้ในคนกระจกตาบาง
  • เลสิก (LASIK) เป็นเทคนิคที่ใช้วิธีกรีดแยกชั้นกระจกตา ลักษณะเหมือนการเปิดฝา จากนั้นยิงเลเซอร์ปรับค่าสายตา
  • LASIK ดั้งเดิมจะใช้ใบมีดขนาดจิ๋ว เรียกว่า Microkeratome เป็นเครื่องมือกรีดแยกชั้นกระจกตา บางทีเรียกว่า Blade LASIK
  • Femto LASIK ทำเหมือนเลสิกดั้งเดิมทุกอย่าง ยกเว้นการแยกชั้นกระจกตา จะใช้เลเซอร์ Femtosecond เป็นตัวแยก
  • ReLEx SMILE เป็นเทคนิคปรับค่าสายตาล่าสุด ใช้เลเซอร์ทั้งหมด กรีดเป็นแผลเล็กๆ เพียง 2-5 มม. ทำให้โครงสร้างกระจกตายังแข็งแรงหลังผ่าตัด
  • ด้านล่างมีตารางเทียบความแตกต่างชัดๆ และสามารถดูแพ็กเกจผ่าตัดปรับค่าสายตาหลายแบบ จากหลายคลินิกและ รพ. ได้ที่นี่


ปัจจุบันเทคนิคการผ่าตัดเพื่อแก้ค่าสายตามีหลายแบบ ชื่อที่พบได้บ่อยๆ เช่น เลสิก (LASIK), เฟมโตเลสิก (Femto LASIK), รีเล็ก (ReLEx), PRK เทคนิคเหล่านี้แตกต่างกันอย่างไร มีข้อจำกัดหรือความเสี่ยงอะไรบ้าง ใครเหมาะกับเทคนิคไหน HDmall.co.th หาคำตอบมาให้คุณแล้วในบทความนี้


เลือกหัวข้อที่สนใจเกี่ยวกับเลสิกได้ที่นี่


ข้อมูลเบื้องต้นของเทคนิคผ่าตัดเพื่อแก้ค่าสายตาแต่ละแบบ

เทคนิคผ่าตัดแก้ค่าสายตา 4 แบบ PRK, เลสิก, เฟมโตเลสิก, รีเล็ก หลักๆ แล้ว ขั้นตอนที่มีเหมือนกัน ได้แก่

  • ก่อนเริ่มผ่าตัดแพทย์จะหยอดยาชา เพื่อไม่ให้รู้สึกเจ็บ แต่อาจมีความรู้สึกถูกกดหรือไม่สบายตาได้บ้าง
  • มีการใช้เลเซอร์ยิงปรับแต่งความโค้งของกระจกตาชั้นกลาง เพื่อทำให้ค่าสายตาเป็นปกติ
  • ไม่มีการเย็บแผล แผลจะค่อยๆ สมานตัวเอง
  • ไม่ต้องนอนโรงพยาบาลหลังผ่าตัด สามารถกลับบ้านได้เลย
  • สามารถมองเห็นได้ทันทีหลังผ่าตัด แต่จะค่อยๆ ชัดขึ้นในระยะเวลาแตกต่างกัน

ส่วนรายละเอียดปลีกย่อยที่แตกต่างกันออกไป เช่น เทคนิคการแยกชั้นกระจกตา ขนาดของแผล ซึ่งทำให้ผลข้างเคียง ระยะเวลาพักฟื้น และวิธีดูแลตัวเองหลังผ่าตัดแตกต่างกันออกไป

มาดู 4 เทคนิคผ่าตัดเพื่อแก้ค่าสายตาแต่ละแบบ พร้อมตารางสรุปความต่างชัดๆ ด้านล่าง

ตารางเปรียบเทียบการผ่าตัดรักษาสายตาด้วยเทคนิค PRK, LASIK ดั้งเดิม, Femto LASIK และ ReLEx SMILE

1.PRK

PRK (Photorefractive Keratectomy) เป็นเทคนิคผ่าตัดรักษาสายตาที่เริ่มใช้กันในช่วงทศวรรษ 1980 เหมาะสำหรับผู้ที่กระจกตาบาง เป็นวิธีเดียวที่อนุญาตให้ใช้แก้ปัญหาสายตา สำหรับผู้จะสอบเป็นนักบิน แอร์โฮสเตส ทหาร ตำรวจ

บางคนที่ไม่สามารถทำเลสิกได้ด้วยเหตุผลว่ากระจกตาบางเกินกว่าจะแยกชั้นได้ แพทย์อาจแนะนำให้ทำ PRK แทน

เนื่องจากเป็นการลอกผิวกระจกตาชั้นนอก (Epithelium) ออกไปเลย ทำให้มีลักษณะเหมือนกระจกตาถลอก ดังนั้นหลังยาชาหมดฤทธิ์จะรู้สึกไม่สบายตาได้มากกว่าการทำเลสิกและ ReLEx SMILEโดยมักมีอาการเคืองตา แสบตา ลืมตาไม่ขึ้น มองเห็นไม่ชัด สู้แสงไม่ได้ มีน้ำตาไหล ในช่วง 3-5 วันแรก ถือว่าเป็นปกติ

หลังผ่าตัดแพทย์จะปิดแผลด้วยวัสดุปิดแผลลักษณะเหมือนคอนแทกเลนส์ จากนั้นเนื้อเยื่อผิวกระจกตาที่ถูกนำออกไปจะค่อยๆ งอกกลับคืนมาเอง

2.เลสิก (LASIK)

เลสิกแบบตั้งเดิม หรือแบบมีใบมีด (Blade LASIK) เริ่มใช้ครั้งแรกในปี ค.ศ. 1989

เลสิกต่างจาก PRK ตรงที่กระจกตาส่วน Epithelium ยังได้รับการถนอมไว้ โดยกระจกตาชั้นนี้จะถูกกรีดเปิดออก จากนั้นจึงมีการปรับค่ากระจกตาชั้นกลางด้วยเลเซอร์ แล้วปิด Epithelium ลงดังเดิม (ดูรายละเอียดวิธีผ่าตัดในตารางด้านล่าง)

3.เฟมโตเลสิก (Femto LASIK)

เฟมโตเลสิก (Femto LASIK) หรือที่เรียกว่า เลสิกไร้ใบมีด เริ่มใช้ครั้งแรกประมาณปี ค.ศ. 2001 ต่างจากเลสิกแบบตั้งเดิมตรงวิธีแยกชั้นกระจกตา โดยเฟมโตเลสิกจะใช้วิธียิงเลเซอร์ Femtosecond แทนการใช้ใบมีด ข้อดีคือขณะผ่าตัดจะรู้สึกสบายตามากกว่าทำเลสิกแบบดั้งเดิม

4.ReLEx SMILE

ReLEx SMILE ชื่อเต็มคือ Refractive Lenticule Extraction, Small Incision Lenticule Extraction หรือที่มักเรียกกันสั้นๆ ว่า รีเล็ก เริ่มใช้กันตั้งแต่ปี ค.ศ. 2006

เทคนิคนี้เป็นการผ่าตัดที่พัฒนาต่อจากเลสิก ReLEx SMILE ใช้เลเซอร์ในการผ่าตัดเพียงชนิดเดียว คือ Femtosecond และปัจจุบัน (ธันวาคม 2563) ใช้เฉพาะยี่ห้อ VisuMax ซึ่งเป็นเทคโนโลยีของบริษัท Carl Zeiss Meditec เท่านั้น ในขณะที่การผ่าตัดแก้ปัญหาสายตาอื่นๆ ใช้เลเซอร์ Femtosecond หลากหลายยี่ห้อ

จุดต่างสำคัญระหว่างเลสิกกับ ReLEx SMILE คือ ReLEx SMILE จะไม่มีการแยกชั้นกระจกตาแล้วเปิดออก ทำให้ลดความเสี่ยงที่จะเกิดกระจกตาเคลื่อนหลังผ่าตัด รวมถึงลดปัญหาตาแห้งซึ่งมักจะเกิดหลังทำเลสิกด้วย

ReLEx เป็นเทคนิคการผ่าตัดปรับค่าสายตาที่รบกวนกระจกตาน้อย ขณะผ่าตัดจะสบายตากว่าทำ PRK หรือ LASIK อีกทั้งโครงสร้างกระจกตายังคงความแข็งแรงไว้มากกว่าด้วย

ปัญหาตาแห้งหลังทำเลสิกเป็นเพราะอะไร ดูแลอย่างไรดี?

หลายคนอาจเคยได้ยินว่า หลังจากทำเลสิกแล้วจะเกิดปัญหาตาแห้ง ที่เป็นอย่างนั้นเนื่องจากเลสิก ไม่ว่าจะเป็นแบบใบมีดหรือไร้ใบมีด จะมีการกรีดเปิดแยกชั้นกระจกตาเป็นวงเกือบรอบ ซึ่งเป็นการตัดเส้นประสาทตาจำนวนมาก การส่งสัญญาณระหว่างกระจกตากับต่อมน้ำตาจึงเกิดปัญหาชั่วคราว ทำให้น้ำตาถูกหลั่งออกมาน้อยกว่าปกติได้

ในขณะที่การทำ ReLEx SMILE จะใช้การเปิดแผลเล็กๆ ขนาด 2-4 มิลลิเมตรเท่านั้น เส้นประสาทตาที่ถูกตัดจึงมีจำนวนน้อยกว่า

การทำเลสิกจึงส่งผลให้ตาแห้งได้มากกว่าการทำ ReLEx  SMILE

อย่างไรก็ตาม เส้นประสาทที่ถูกตัดนี้จะงอกกลับมาใหม่ใน 6 เดือน ถ้าเกิดอาการตาแห้งในระหว่างนี้ให้หยอดน้ำตาเทียม หรือถ้ารู้สึกกังวลใจ ควรขอคำแนะนำจากแพทย์

อาการมองเห็นฟุ้งๆ หลังทำ ReLEx SMILE เกิดจากอะไร เมื่อไหร่ถึงจะหาย?

หลังทำ ReLEx SMILE ผู้รับการผ่าตัดสามารถมองเห็นได้ทันที แต่ภาพจะยังไม่ชัดเจน จะเห็นเป็นฟุ้งๆ ก่อน โดยเฉพาะช่วง 3-5 ชั่วโมงแรกจะฟุ้งเยอะ พอครบ 24 ชั่วโมงจะเห็นชัดขึ้นมาเกินครึ่ง พอ 1 สัปดาห์จึงเห็นชัดเกือบ 100% ในขณะที่หลังทำเลสิกจะเห็นชัดเลยในวันรุ่งขึ้น

อาการมองเห็นภาพฟุ้งเป็นผลมาจากน้ำเกลือ Balanced salt ที่ใช้ในการผ่าตัด ยังคงค้างอยู่ภายในดวงตา

หลังทำ ReLEx SMILE จะเหลือน้ำคงค้างมากกว่าทำเลสิก เพราะแผลเล็กกว่ามากๆ ส่วนการทำเลสิกนั้นมีรอยกรีดเกือบรอบ ทำให้ระบายน้ำออกได้ดีกว่า

สรุปความแตกต่างของเลสิกแต่ละแบบ

ทั้งการทำ PRK ทำเลสิก และ ReLEx SMILE ต่างก็เป็นเทคนิคที่ใช้แก้ไขปัญหาสายตาได้ดี และใช้กันทั่วไปในปัจจุบัน

อย่างไรก็ตาม เทคนิคเหล่านี้ข้อจำกัดต่างกัน ตั้งแต่ภาวะสายตาสั้น-ยาว-เอียง สูงสุด ที่รักษาได้ ระยะเวลาพักพื้น ค่าใช้จ่าย จึงไม่มีวิธีใดที่ดีที่สุดสำหรับทุกๆ คน ดังนั้นผู้จะรับการผ่าตัดต้องพบจักษุแพทย์ก่อนเพื่อแนะนำแนวทางการรักษาที่เหมาะกับตัวเองโดยเฉพาะ

สิ่งที่แพทย์จะพิจารณาเมื่อคุณสนใจทำ PRK เลสิก หรือ ReLEx SMILE เช่น

  • ค่าสายตา ว่าสายตาสั้น ยาว หรือเอียง มากแค่ไหน โดยก่อนจะผ่าตัดรักษาสายตา ควรมีค่าสายตาคงที่แล้วอย่างน้อยประมาณ 1 ปี
  • อายุ ส่วนใหญ่จะเริ่มผ่าตัดรักษาสายตาได้เมื่ออายุ 20 ปีขึ้นไป เพราะค่าสายตาคงที่แล้ว
  • โรคประจำตัว ควรจะไม่มีโรคเกี่ยวกับกระจกตา เช่น โรคอักเสบเรื้อรังในลูกตา ตาแห้งรุนแรง หรือโรคทางกายที่มีผลต่อการหายของแผล เช่น โรคเอสแอลอี โรคเบาหวาน ฯลฯ
  • ยาที่ใช้อยู่ เนื่องจากยาบางตัวอาจมีผลต่อภาวะตาแห้ง ทำให้มีผลต่อการผ่าตัดได้
  • ลักษณะการดำเนินชีวิต เช่น ถ้าทำงานที่ไม่สามารถพักฟื้นนานได้ เลสิกอาจเป็นทางเลือกที่เหมาะสม เพราะหลังผ่าตัดมักกลับมามองเห็นชัดได้รวดเร็วกว่าเทคนิคอื่นๆ แต่หากเป็นคนที่ชอบเล่นกีฬา ออกกำลังกายเยอะ วิธี PRK หรือ ReLEx SMILE อาจเหมาะสมกว่า เนื่องจากเป็นการเลี่ยงปัญหาผิวกระจกตาเคลื่อนหลังผ่าตัด เป็นต้น

สนใจทำเลสิก หาว่า ทำเลสิกที่ไหนดี พร้อมดูแพ็กเกจราคาพิเศษได้ทาง HDmall.co.th ศูนย์รวมบริการสุขภาพ ทำฟัน ความงาม ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย หาอะไรไม่เจอแอดไลน์ @hdcoth ปรึกษาแอดมินได้ทุกวัน ตั้งแต่เก้าโมงเช้าถึงตีหนึ่ง


บทความที่เกี่ยวข้อง


ที่มาของข้อมูล

ขยาย

ปิด

  • Morris, How long does ReLEx SMILE take? (https://www.grangeeyeconsultants.com/long-relex-smile-take-vp/), 27 December 2020.
  • ศูนย์เลสิครัตนินกิมเบล, ข้อมูลน่ารู้เกี่ยวกับการทำเลสิค (http://www.rutningimbel.com/2018/th/conditions/detail.34.1.0.html#relex), 27 December 2020.
  • NBCI, Quality of life after refractive surgery: ReLEx SMILE vs Femto-LASIK (https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC6440445/), 27 December 2020.
  • NVISION, Can Your Vision be too bad for LASIK? (https://www.nvisioncenters.com/lasik/vision-too-bad/), 27 December 2020.
  • Providence Eye & Laser Specialist, The Evolution of LASIK Technology: A Rock Icon (https://providenceeye.com/blog/the-evolution-of-lasik-technology-a-rock-icon), 27 December 2020.
  • SMILE by Shroff eye, Differences Between ReLEx SmILE and LASIK (http://www.smilerelex.com/relex-smile-vs-lasik), 27 December 2020.
@‌hdcoth line chat