ฉีดฟิลเลอร์คาง ปรับแต่งรูปคางและโครงสร้างใบหน้าให้ดูยาวขึ้น


การฉีดฟิลเลอร์คาง

คางที่ดูสั้นหรือคางรูปตัด สามารถส่งผลทำให้โครงสร้างใบหน้าโดยรวมดูไม่สวยงามอย่างที่คุณต้องการได้ โดยอาจทำให้หน้าดูใหญ่ กรอบหน้าดูชัด หน้าดูไม่เรียวยาว วิธีนี้สามารถแก้ไขได้ด้วยการฉีดสารเติมเต็มมิติให้กับคาง หรือที่เรียกว่า “การฉีดฟิลเลอร์คาง”


เลือกหัวข้อที่สนใจเกี่ยวกับฉีดฟิลเลอร์คาง

  • ฉีดฟิลเลอร์คางคืออะไร?
  • ฉีดฟิลเลอร์คางช่วยอะไรได้บ้าง?
  • ฉีดฟิลเลอร์คางเห็นผลเลยไหม?
  • ฉีดฟิลเลอร์คางเหมาะกับใคร?
  • ฉีดฟิลเลอร์คางไม่เหมาะกับใคร?
  • ฉีดฟิลเลอร์คางเจ็บไหม?
  • ฉีดฟิลเลอร์คางประมาณกี่ซีซี?
  • การเตรียมตัวก่อนฉีดฟิลเลอร์คาง
  • ขั้นตอนการฉีดฟิลเลอร์คาง
  • การดูแลตนเองหลังฉีดฟิลเลอร์คาง
  • ความเสี่ยงที่เกิดขึ้นจากการฉีดฟิลเลอร์คาง

  • ฉีดฟิลเลอร์คางคืออะไร?

    การฉีดฟิลเลอร์คาง (Chin Filler) คือ การฉีดสารเติมเต็มมิติของผิวที่ชื่อว่า “สารไฮยาลูรอนิค แอซิด (Hyaluronic Acid)” หรือเรียกกันสั้นๆ ว่า “สารฟิลเลอร์” ลงไปใต้ผิวบริเวณคาง เพื่อเปลี่ยนแปลงขนาดและมิติของผิวบริเวณดังกล่าวให้ดูมีเนื้อหนา และมีรูปร่างเข้ากับโครงสร้างใบหน้าโดยรวมมากขึ้น

    ฉีดฟิลเลอร์คางช่วยอะไรได้บ้าง?

    การฉีดฟิลเลอร์คางมีประโยชน์ด้านการเปลี่ยนแปลงขนาดและมิติของคาง ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาความงามได้ดังนี้

    • ปรับเนื้อคางให้เสมอกันทั้งหมด แก้ปัญหาคางบุ๋ม
    • ทำให้โครงสร้างใบหน้าดูสมส่วนเท่ากันทั้ง 2 ด้านมากขึ้น
    • ทำให้กรอบหน้าดูอ่อนหวาน และเข้ารูปต่อกันมากขึ้น
    • ทำให้คางดูยาวขึ้น แก้ปัญหาคางสั้นจนใบหน้าดูเล็ก หรือดูสั้น
    • ช่วยอำพรางมิติของรูปกรามที่กว้างหรือปัญหากรามใหญ่
    ฉีดฟิลเลอร์คาง ราคา

    ฉีดฟิลเลอร์คางเห็นผลเลยไหม?

    จากคุณสมบัติของสารไฮยาลูรอนิค แอซิด หลังฉีดฟิลเลอร์คางแล้ว ผู้เข้ารับบริการจะเห็นการเปลี่ยนแปลงของรูปคางทันทีหลังฉีด และจะเห็นผลลัพธ์อย่างเต็มที่ เมื่อผ่านไป 2-4 สัปดาห์

    ฉีดฟิลเลอร์คางเหมาะกับใคร?

    ประโยชน์และแนวทางการฉีดฟิลเลอร์คางเหมาะกับกลุ่มผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับรูปคางและเงื่อนไขในการรับบริการดังต่อไปนี้

    • ผู้ที่อยากเสริมรูปคางให้ดูมีมิติสวยงาม แต่ไม่อยากพึ่งพาวิธีการผ่าตัดเสริมคาง หรือไม่มีเวลาพักฟื้น
    • ผู้ที่มีปัญหาคางบุ๋ม
    • ผู้ที่มีปัญหาคางสั้น
    • ผู้ที่อยากให้ใบหน้าโดยรวมดูเรียวยาวขึ้น หรือเป็นวีเชป
    • ผู้ที่มีปัญหารูปกรามกว้าง กรามใหญ่ สามารถปรับมิติของคางเพื่ออำพรางขนาดของใบหน้าในส่วนนี้ได้

    ฉีดฟิลเลอร์คางไม่เหมาะกับใคร?

    การฉีดฟิลเลอร์คางยังมีข้อจำกัดที่อาจไม่ตอบโจทย์การเสริมความงามในบางประการได้ เช่น

    • ผู้ที่ต้องการให้ผลลัพธ์คงอยู่ตลอดไป เนื่องจากสารไฮยาลูรอนิค แอซิด เมื่อฉีดไประยะหนึ่งแล้วก็จะค่อยๆ สลายไปเองตามธรรมชาติ รูปคางที่เปลี่ยนไปจึงจะอยู่ได้เพียงประมาณ 8-12 เดือน ขึ้นอยู่กับแบรนด์ฟิลเลอร์ที่แพทย์ใช้ฉีด จากนั้นหากผู้เข้ารับบริการยังอยากให้รูปคางดูยาวอยู่ ก็จำเป็นต้องกลับมาฉีดฟิลเลอร์คางซ้ำ
    • ผู้ที่ต้องการให้คางดูยาวขึ้นมากๆ เพราะการฉีดฟิลเลอร์คางสามารถทำให้คางดูเปลี่ยนแปลงไปได้ในระดับหนึ่ง แต่เมื่อเทียบกับผลลัพธ์จากวิธีผ่าตัดเสริมคาง ก็จะไม่เห็นการเปลี่ยนแปลงของรูปคางที่ชัดเจนได้มากนัก หากผู้เข้ารับบริการต้องการเปลี่ยนแปลงรูปคางให้ดูยาวขึ้นเกินกว่าประสิทธิภาพที่ฟิลเลอร์จะให้ได้ แพทย์อาจแนะนำให้ไปรับบริการผ่าตัดเสริมคางแทน
    • ผู้ที่มีปัญหาเนื้อคางตื้นเกินไป ซึ่งต้องอาศัยความชำนาญจากแพทย์ในการฉีด มิฉะนั้นการกระจายตัวของสารฟิลเลอร์อาจไปทำให้เนื้อคางดูไม่สมส่วนได้
    • ผู้ที่กลัวเข็มฉีดยา เนื่องจากการฉีดฟิลเลอร์เป็นการทำหัตถการโดยใช้เข็มฉีดยา หากผู้เข้ารับบริการกลัวเข็มจริงๆ ก็ควรพิจารณาไตร่ตรองเกี่ยวกับแนวทางการเสริมมิติของคางที่เหมาะกับตนเองอีกครั้ง

    ฉีดฟิลเลอร์คางเจ็บไหม?

    การฉีดฟิลเลอร์คางเป็นการทำหัตถการโดยใช้เข็มฉีดยา แม้จะมีการทายาชาและประคบเย็นให้ก่อนล่วงหน้าในแทบทุกสถานพยาบาล แต่ก็อาจสร้างความรู้สึกระบมเจ็บผิวระหว่างรับบริการได้บ้าง ซึ่งโดยส่วนมากจะอยู่ในระดับที่อดทนได้

    ฉีดฟิลเลอร์คางประมาณกี่ซีซี?

    โดยทั่วไปการฉีดฟิลเลอร์คางจะเริ่มต้นอยู่ที่ประมาณ 1 ซีซีขึ้นไป ทั้งนี้แพทย์จะเป็นผู้ประเมินถึงปริมาณของสารฟิลเลอร์ที่จะฉีดให้ผู้เข้ารับบริการแต่ละท่านอีกครั้ง

    การเตรียมตัวก่อนฉีดฟิลเลอร์คาง

    เพื่อป้องกันผลข้างเคียงและเพื่อให้สารไฮยาลูรอนิค แอซิดทำงานได้อย่างเต็มที่ ผู้เข้ารับบริการควรเตรียมตัวก่อนเดินทางมาฉีดฟิลเลอร์คางที่สถานพยาบาล ดังต่อไปนี้

    • แจ้งประวัติด้านสุขภาพกับแพทย์ ประวัติโรคประจำตัว ยาประจำตัวที่กินอยู่ รวมถึงวิตามินเสริม สมุนไพรเสริมสุขภาพ อาหารเสริมทุกชนิด เนื่องจากอาจมีตัวยาบางประเภทที่ต้องงดล่วงหน้าก่อนรับบริการ เช่น ยากลุ่มที่ส่งผลต่อการแข็งตัวของเลือด ยากลุ่มแอสไพริน (Aspirin) ยากลุ่มไอบูโพรเฟน (Ibuprofen) วิตามินอี น้ำมันปลา
    • งดเสริมความงามหรือกิจกรรมที่อาจส่งผลทำให้เกิดแผลที่ผิว โดยเฉพาะผิวคาง เช่น การเลเซอร์ผิว การแวกซ์ ถอน หรือโกนขนใบหน้าและหนวด การสครับผิว การขัดหิว ทำสปาผิว ประมาณ 3-7 วันก่อนรับบริการ
    • งดบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และงดสูบบุหรี่อย่างน้อย 24 ชั่วโมงก่อนรับบริการ
    • งดกินอาหารหมักดอง อาหารรสเค็มประมาณ 2-3 วันก่อนรับบริการ
    ฉีดฟิลเลอร์คาง ราคา

    ขั้นตอนการฉีดฟิลเลอร์คาง

    การฉีดฟิลเลอร์คางมีขั้นตอนไม่ซับซ้อน ใช้เวลาในการทำไม่นาน รายละเอียดหลักๆ มีดังนี้

    1. เริ่มต้นจากการทำความสะอาดผิวคางให้สะอาดก่อน
    2. จากนั้นทางสถานพยาบาลจะทายาชาทิ้งไว้ที่ผิวคางประมาณ 30-45 นาที หรือหากผู้เข้ารับบริการไม่ได้ต้องการรับยาชาแบบทา หรืออยากฉีดฟิลเลอร์เลย ทางแพทย์ก็อาจพิจารณาประคบเย็นเพื่อให้ผิวชาชั่วคราวเท่านั้น
    3. จากนั้นจะเริ่มการฉีดฟิลเลอร์ลงไปที่เนื้อคางทีละจุดตามจำนวนซีซีที่กำหนด

    การดูแลตนเองหลังฉีดฟิลเลอร์คาง

    หลังจากฉีดฟิลเลอร์เสร็จแล้ว ผู้เข้ารับบริการยังต้องมีการดูแลตนเองอย่างเหมาะสม เพื่อให้ผลลัพธ์จากการฉีดฟิลเลอร์คางเกิดผลลัพธ์อย่างที่ต้องการมากที่สุด และลดผลข้างเคียงหลังจากฉีดฟิลเลอร์ เช่น

    • ในช่วง 1-3 วันแรกอาจมีอาการผิวบวมได้บ้าง ให้นอนหมอนสูงประมาณ 2-3 วัน เพื่อลดอาการบวม
    • งดการกด นวด หรือเกาผิวบริเวณคาง
    • งดนั่งเท้าคาง นอนคว่ำ
    • งดนอนตะแคงประมาณ 2-3 วันแรก
    • งดการทาครีมหรือแต่งหน้าใน 48 ชั่วโมงแรกหลังฉีดฟิลเลอร์
    • งดทำกิจกรรมที่ทำให้คางต้องรับน้ำหนักหรือถูกรัดผิว เช่น การใส่หมวกกันน็อค
    • งดบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ งดสูบบุหรี่ งดกินอาหารรสจัด อาหารหมักดอง อาหารที่ต้องนั่งหน้าเตาร้อนๆ เช่น ปิ้งย่าง ต้ม หรือชาบู ประมาณ 2-4 สัปดาห์หลังรับบริการ
    • ดื่มน้ำให้มากๆ
    • ควรงดการทำหัตถการที่ต้องมีการกดผิวบริเวณคางออกไปก่อน หรือปรึกษาแพทย์ก่อนรับบริการ เพราะอาจส่งผลต่อรูปคางที่เปลี่ยนแปลงไปจากการฉีดฟิลเลอร์ได้
    ฉีดฟิลเลอร์คาง ราคา

    ความเสี่ยงที่เกิดขึ้นจากการฉีดฟิลเลอร์คาง

    ความเสี่ยงที่ผู้เข้ารับบริการทุกท่านจะต้องระมัดระวังเป็นอันดับหนึ่ง ก็คือ “สารฟิลเลอร์ปลอม” ซึ่งยังเป็นปัญหาที่ไม่สามารถกำจัดออกไปได้หมดในสถานพยาบาลบางแห่ง

    ทางที่ดีหากต้องการฉีดฟิลเลอร์ไม่ว่าที่ส่วนใดของใบหน้าก็ตาม คุณก็ควรรับบริการในสถานพยาบาลที่มีชื่อเสียง ได้มาตรฐาน หรือได้รับการยอมรับจากผู้เข้ารับบริการเป็นวงกว้างจะปลอดภัยที่สุด

    ความเสี่ยงอีกอย่างที่สำคัญไม่แพ้กัน ก็คือ “รูปคางที่อาจดูไม่สวยงามหรือสมส่วน”

    เพราะการฉีดฟิลเลอร์จะพึ่งพาศาสตร์ความชำนาญด้านการแพทย์อย่างเดียวไม่ได้ แต่แพทย์ผู้ฉีดจะต้องเข้าใจในการปั้นโครงสร้างของเนื้อคางเหมือนกับการปั้นรูปปั้นศิลปะร่วมด้วย มิฉะนั้นรูปคางของผู้เข้ารับบริการก็อาจดูเบี้ยว ไม่สมส่วน หรือดูไม่เข้ากับรูปหน้าได้

    ก่อนรับบริการ คุณควรศึกษาหรืออ่านรีวิวผู้เข้ารับริการในสถานพยาบาลนั้นๆ เสียก่อน เพื่อให้แน่ใจว่า สถานพยาบาลแห่งนั้นมีความชำนาญทั้งในการฉีดฟิลเลอร์และปั้นรูปคางควบคู่กันได้อย่างมีประสิทธิภาพ

    การฉีดฟิลเลอร์คางยังอาจสร้างผลข้างเคียงหลังฉีดที่ไม่คาดคิดได้เช่นกัน หากคุณเผชิญกับอาการเหล่านี้ ก็ให้รีบกลับมาพบแพทย์โดยด่วน

    • คันระคายเคืองผิว
    • ผิวเป็นผื่นแดง
    • ผิวบริเวณที่ฉีดกลายเป็นก้อนแข็ง
    • พบบาดแผลซึ่งจากการใช้เข็มฉีด
    • คางเบี้ยว
    • การมองเห็นแย่ลง

    ใจความสำคัญที่จะทำให้การฉีดฟิลเลอร์คางเห็นประสิทธิภาพผลชัดเจน คือ ความชำนาญของแพทย์ในการปั้นแต่งโครงสร้างใบหน้าอย่างเหมาะสมและเข้ารูปที่สุด มิใช่เชี่ยวชาญในส่วนของการกะปริมาณสารฟิลเลอร์ หรือการฉีดฟิลเลอร์ที่เบามือเพียงอย่างเดียว

    เช็กราคาแพ็กเกจฉีดฟิลเลอร์กับสถานพยาบาลใกล้บ้านคุณหรือที่คุณสนใจผ่านเว็บไซต์ HDmall.co.th หรือหากอยากสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม ก็สามารถพูดคุยกับเจ้าหน้าที่แอดมินได้ผ่านทางไลน์ @hdcoth


    บทความที่เกี่ยวข้อง


    ที่มาของข้อมูล

    ขยาย

    ปิด

    • A. Joshua Zimm, M.D., P.C. Facial Plastic & Reconstructive Surgery, How to Prepare for Filler Injections (http://www.drjoshuazimm.com/blog-preparation-for-filler-injections.html), 1 June 2022.
    • Vsquareclinic, ฉีดฟิลเลอร์คางบวมกี่วัน ? หลังฉีดมีวิธีดูแลตัวเองอย่างไรเพื่อให้ฟิลเลอร์เข้าที่เร็วขึ้น (https://www.vsquareclinic.com/tips/how-long-does-swelling-filler-chin/), 1 June 2022.
    • Zia Sherrell, What to know about chin filler (https://www.medicalnewstoday.com/articles/chin-filler), 1 June 2022.
    • นายแพทย์วาสนภ วชิรมน, รู้จัก ‘โบท็อกซ์’ และ ‘ฟิลเลอร์’ ก่อนจะไปฉีด (https://www.rama.mahidol.ac.th/th/knowledge_awareness_health/29oct2020-1440), 1 มิถุนายน 2565.
    @‌hdcoth line chat