ผู้หญิงที่เป็นโรคเซลิแอค (Celiac disease) สามารถมีปัญหาระหว่างการตั้งครรภ์และภาวะแทรกซ้อนได้มากกว่าปกติถึง 2-4 เท่า อย่างไรก็ตามการรับประทานอาหารที่ไม่มีกลูเตนอย่างระมัดระวังระหว่างการตั้งครรภ์ อาจช่วยลดบางปัญหาได้
มีงานวิจัยที่พบว่าผู้หญิงที่เป็นโรคเซลิแอค มีความเสี่ยงในการเกิดภาวะมีบุตรยากหรือแท้งได้หากไม่ได้รับการวินิจฉัยและรักษาอย่างทันท่วงที แต่ปัญหาที่เกี่ยวข้องกับการตั้งครรภ์ในผู้ป่วยโรคเซลิแอคไม่ได้มีเพียงแค่นั้น งานวิจัยยังระบุว่าผู้หญิงที่เป็นโรคเซลิแอค (มักเป็นคนกลุ่มที่ไม่เคยได้รับวินิจฉัยมาเป็นโรคนี้มาก่อน) มีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนระหว่างการตั้งครรภ์ได้มากกว่า 6 ประเภท ซึ่งรวมถึงภาวะแท้งคุกคามหรือภาวะซีดจากการขาดธาตุเหล็กอย่างรุนแรงมากกว่าผู้หญิงทั่วไป นอกจากนั้น ผู้หญิงในกลุ่มนี้ยังมีช่วงเวลาของการตั้งครรภ์เฉลี่ยที่สั้นกว่าและมักคลอดทารกที่มีน้ำหนักตัวน้อย
งานวิจัยพบว่าภาวะแทรกซ้อนของการตั้งครรภ์ส่งผลกระทบต่อผู้หญิงที่เป็นโรคเซลิแอค ประมาณ 2 ใน 3
และสามารถเกิดภาวะแทรกซ้อนระหว่างการตั้งครรภ์ได้ในอัตราที่สูง ซึ่งอ้างอิงจากงานวิจัยเรื่องความผิดปกติในระบบสืบพันธุ์ของผู้หญิงที่เป็นโรคเซลิแอค โดย 65% ของผู้หญิงกลุ่มนี้จะมีความผิดปกติระหว่างการตั้งครรภ์อย่างน้อย 1 อย่าง เมื่อเปรียบเทียบกับผู้หญิงที่ไม่ได้เป็นโรค ซึ่งพบเพียง 31% เท่านั้น
นอกจากนี้งานวิจัยยังระบุเพิ่มเติมอีกว่า
- ภาวะซีดอย่างรุนแรงเป็นภาวะที่พบได้ใน 41% ของผู้หญิงที่เป็นโรคเซลิแอค แต่พบเพียง 2% ในผู้หญิงที่ไม่ได้เป็นโรค
- ภาวะแท้งคุกคามพบได้ 39% ในผู้หญิงที่เป็นโรคและ 9% ในผู้หญิงที่ไม่ได้เป็นโรค
- ภาวะรกลอกตัว ซึ่งเป็นภาวะอันตรายที่รกจะมีการลอกตัวออกจากผนังมดลูก พบได้ในผู้หญิงที่เป็นโรคมากกว่า 18% ในขณะที่พบเพียง 1% ในผู้หญิงที่ไม่ได้เป็นโรค
- ภาวะความดันสูงขณะตั้งครรภ์เกิดได้ใน 10% ของผู้หญิงที่เป็นโรค แต่ไม่พบในกลุ่มผู้หญิงที่ไม่เป็นโรค
- การบีบตัวของมดลูกที่ผิดปกติสามารถพบได้ในผู้หญิงที่เป็นโรค 10% และไม่พบเลยในกลุ่มที่ไม่เป็นโรค
- ทารกเจริญเติบโตน้อยกว่าปกติ (Intrauterine growth restriction) เป็นภาวะที่ทารกเจริญเติบโตในอัตราที่น้อยกว่าปกติ พบได้ในผู้หญิงที่เป็นโรคถึง 6% และไม่พบเลยในผู้หญิงที่ไม่เป็นโรค
มีผู้หญิงในงานวิจัยนี้ถึง 85% ที่ยังไม่เคยได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคเซลิแอค (Celiac disease) ขณะที่มีการตั้งครรภ์มาก่อน และผู้วิจัยเสนอว่าการรับประทานอาหารที่ไม่มีกลูเตนนั้น อาจช่วยลดภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นระหว่างการตั้งครรภ์ได้
ผู้หญิงที่เป็นโรคเซลิแอค มีความเสี่ยงที่จะต้องผ่าตัดคลอดและคลอดทารกที่มีน้ำหนักน้อย
ยังมีงานวิจัยอื่น ๆ ที่แสดงถึงความเชี่อมโยงระหว่างโรคเซลิแอค กับปัญหาอื่นๆ ของการตั้งครรภ์ เช่น พบว่ามีอุบัติการณ์ของทารกที่มีน้ำหนักตัวน้อยมากกว่าปกติถึง 6 เท่าในผู้หญิงที่เป็นโรค
งานวิจัยจากอิตาลีได้พบว่าผู้หญิงที่เป็นโรคเซลิแอค มักมีการตั้งครรภ์ในระยะเวลาสั้นกว่าปกติประมาณ 2 สัปดาห์ ซึ่งอาจเกี่ยวข้องกับการที่ทารกมีน้ำหนักตัวน้อย และพบว่าในผู้หญิงที่เป็นโรคจะมีอัตราการผ่าตัดคลอดที่มากกว่า ซึ่งจากงานวิจัยล่าสุดระบุว่าทารกที่คลอดโดยการผ่าตัดคลอดอาจมีความเสี่ยงในการเกิดโรคเซลิแอคมากกว่าปกติอย่างมีนัยสำคัญ
อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่งานวิจัยทุกชิ้นที่สนับสนุนการพบภาวะแทรกซ้อนระหว่างการตั้งครรภ์กับโรคเซลิแอค และยังมีงานวิจัยหลายชิ้นที่แสดงว่ามีโรคเซลิแอค (Celiac disease) และปัญหาระหว่างการตั้งครรภ์มีความเชื่อมโยงกันเพียงเล็กน้อย
ภาวะแทรกซ้อนระหว่างการตั้งครรภ์มักเกิดในผู้หญิงที่ไม่ได้รับการวินิจฉัยโรคเซลิแอค (Celiac disease)
งานวิจัยหลายชิ้นได้พบว่า ภาวะแทรกซ้อนที่เกิดขึ้นระหว่างการตั้งครรภ์นั้นมักพบได้มากกว่าในผู้หญิงที่ยังไม่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคเซลิแอค (Celiac disease) และมีการสรุปว่าการรับประทานอาหารที่ไม่มีกลูเตนนั้นอาจช่วยลดปัญหาที่อาจเกิดขึ้นได้ระหว่างการตั้งครรภ์
ตัวอย่างเช่น งานวิจัยจากอินเดียได้ทำการเปรียบเทียบผู้หญิงที่มีประวัติการตั้งครรภ์ที่ปกติกับกลุ่มที่มีปัญหาระหว่างการตั้งครรภ์ เช่นทารกเจริญเติบโตน้อยในครรภ์โดยไม่ทราบสาเหตุ และพบว่ามีผลเลือดที่แสดงถึงโรคเซลิแอค และโรคเซลิแอคระยะ latent ในกลุ่มผู้หญิงที่มีปัญหาระหว่างการตั้งครรภ์ และปัญหาทางการสืบพันธุ์อื่น ๆ
บทความแนะนำ
- เด็กหลอดแก้ว (IVF) การเตรียมตัว ขั้นตอน ความเสี่ยง
- IVF คืออะไร วิธีการทำงาน ข้อดี ข้อเสีย ข้อควรระวัง ราคา
- ACL Injury/ACL Tear ข้อมูลโรค อาการ รักษา
- ความเสี่ยงของการตั้งครรภ์ทันทีหลังเพิ่งแท้งบุตร
- 5 เมนูซูชิ ที่มีประโยชน์ ดีต่อสุขภาพ
ที่มาของข้อมูล
ปิด
ปิด
- Celiac Disease and Pregnancy Problems. Verywell Health. (https://www.verywellhealth.com/celiac-disease-and-pregnancy-problems-562615)
- Pregnant With Celiac: What You Need to Know. WebMD. (https://www.webmd.com/digestive-disorders/celiac-disease/pregnant-with-celiac-disease#1)
- Coeliac disease and pregnancy outcomes. National Center for Biotechnology Information. (https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC4989603/)