การตรวจอัลตราซาวด์ (Ultrasound) เป็นการใช้คลื่นเสียงความถี่สูงในการตรวจหาความผิดปกติในเต้านม โดยส่งคลื่นเสียงไปกระทบกับเนื้อเยื่อต่างๆ และสะท้อนผลกลับมาแสดงภาพที่เครื่องตรวจ ทำให้แยกแยะได้ว่าส่วนไหนเป็นเนื้อเยื่อปกติ ก้อนเนื้อ หรือถุงน้ำ แต่ไม่สามารถตรวจหาหินปูนได้เหมือนวิธีแมมโมแกรมหรือดิจิทัลแมมโมแกรม
การตรวจอัลตราซาวด์ เป็นการตรวจภายนอก โดยแพทย์จะทาเจลหล่อลื่นบริเวณเต้านม ก่อนใช้หัวตรวจ ทรานสดิวเซอร์ (Transducer) เคลื่อนไปมาบนผิวหนัง เพื่อส่งและรับคลื่นเสียงความถี่สูงแล้วส่งภาพไปยังจอมอนิเตอร์ แพทย์จะบันทึกภาพไว้
ตรวจอัลตราซาวด์เต้านม เหมาะกับใคร?
วิธีนี้เหมาะกับผู้ที่เต้านมมีความหนาแน่นมาก และผู้ที่อายุน้อยกว่า 25 ปีแต่ยังไม่สามารถตรวจหาหินปูนได้ เป็นการช่วยทำให้แพทย์เห็นเนื้อเยื่อบริเวณเต้านม รวมถึงผู้หญิงตั้งครรภ์ อยู่ระหว่างให้นมบุตร และผู้ที่ผ่านการเสริมหน้าอกมาด้วย
วิธีเตรียมตัวก่อนทำ
วิธีการเตรียมตัวก่อนเข้ารับการตรวจอัลตราซาวด์ มีดังนี้
- ไม่ต้องอดอาหารและสามารถดื่มน้ำได้ตามปกติ
- ไม่ทาโลชั่น ครีม แป้ง หรือโรลออนบริเวณรักแร้และเต้านม
- ใส่เสื้อผ้าตามที่สถานพยาบาลกำหนด
- หากผ่านการเสริมหน้าอกมาก่อน หรือมีความผิดปกติ เช่น คลำพบก้อนเนื้อ ควรแจ้งให้แพทย์ทราบก่อนตรวจ
ตรวจอัลตราซาวด์ Vs ตรวจแมมโมแกรม
การตรวจอัลตราซาวด์ เป็นการส่งคลื่นเสียงความถี่สูงเข้าไปในเต้านม คลื่นเสียงจะสะท้อนกลับมาที่เครื่องและแสดงความแตกต่างของเนื้อเยื่อที่ตรวจพบว่าผิดปกติหรือไม่ และสิ่งผิดปกติที่พบเป็นถุงน้ำหรือก้อนเนื้อ แต่ไม่สามารถตรวจหาจุดหินปูนในเต้านมได้แบบวิธีแมมโมแกรม
ขณะที่การตรวจแมมโมแกรมและดิจิทัลแมมโมแกรม ต่างก็ใช้รังสีเพื่อสร้างภาพของเต้านม ต่างกันแค่การตรวจแมมโมแกรมเป็นการใช้ฟิล์ม ส่วนดิจิทัลแมมโมแกรมในโปรแกรมดิจิทัลช่วยเพิ่มความคมชัดของภาพให้เห็นมุมมองมากขึ้น
ทั้งนี้ สถานพยาบาลหลายแห่งมักตรวจอัลตราซาวด์คู่ไปกับการตรวจแมมโมแกรม เพื่อให้การวินิจฉัยชัดเจนและแม่นยำมากขึ้น