เคลียร์ชัดๆ ปัจจัยเสี่ยงมะเร็งเต้านม


HDmall สรุปให้!

  • มะเร็งเต้านมเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับต้นๆ ของหญิงไทย ยิ่งตรวจพบเร็วยิ่งป้องกันรักษาได้เร็ว
  • อายุเกิน 50 ปี คนในครอบครัวเคยเป็นมะเร็งเต้านม ใช้ฮอร์โมนและยาคุมกำเนิดนานกว่า 5 ปี ดื่มเหล้าสูบบุหรี่เป็นประจำ มีความเสี่ยงสูง
  • ควรตรวจคัดกรองเป็นประจำเพื่อป้องกันและลดความรุนแรงของมะเร็งที่อาจเกิดขึ้น
  • กดดูแพ็กเกจ ตรวจมะเร็งเต้านม เปรียบเทียบราคา พร้อมจองได้ทันที ทาง HDmall

ปัจจุบัน สาเหตุของการเกิดมะเร็งเต้านมยังไม่เป็นที่แน่ชัด แต่เราสามารถป้องกันได้โดยสังเกตตัวเองว่าอยู่ในกลุ่มเสี่ยงหรือไม่ รวมถึงการเข้ารับการตรวจคัดกรองเป็นประจำทุกปี เพราะยิ่งพบได้เร็ว โอกาสการป้องกันโรคหรือลดความรุนแรงก็มีมากขึ้นตามไปด้วย

ปัจจัยเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งเต้านม

ความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งเต้านมเกิดจากหลายปัจจัยร่วมกัน อย่างไรก็ตาม การเข้าข่ายอยู่ในปัจจัยเสี่ยงไม่ได้หมายความว่าคุณจะต้องเป็นมะเร็งเต้านม เพียงแต่อยู่ในกลุ่มที่มีโอกาสเกิดมะเร็งเต้านมได้ ดังนั้นจึงควรเข้ารับการตรวจตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมเป็นประจำทุกปี เพื่อการป้องกันการเกิดโรคตั้งแต่เนิ่นๆ

สำหรับปัจจัยเสี่ยงจะแบ่งออกเป็นความเสี่ยงที่ควบคุมไม่ได้ และความเสี่ยงที่ควบคุมได้ ดังนี้

ปัจจัยเสี่ยงที่ควบคุมไม่ได้

  • อายุที่มากขึ้น ส่วนใหญ่มักตรวจพบในผู้ที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป
  • การเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรม การเปลี่ยนแปลงของยีนบางตัว เช่น BRCA1 และ BRCA2 ทำให้เกิดความเสี่ยงสูงที่จะเป็นมะเร็งเต้านมและมะเร็งรังไข่
  • มีประจำเดือนก่อนอายุ 12 ปี และหมดประจำเดือนหลังอายุ 55 ปี ทำให้ร่างกายได้รับฮอร์โมนนานขึ้น เพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งเต้านม
  • มีประวัติคนในครอบครัวเป็นมะเร็งเต้านมหรือมะเร็งรังไข่ ไม่ว่าจะเป็นผู้หญิงหรือผู้ชายก็ตาม เพราะผู้ชายก็มีโอกาสเป็นมะเร็งเต้านมได้เช่นกัน
  • เคยเป็นมะเร็งเต้านมมาก่อนหรือเป็นโรคเกี่ยวกับเต้านมที่ไม่ใช่มะเร็ง
  • เคยรับการรักษาโดยใช้รังสีบำบัดบริเวณหน้าอก เช่น การรักษามะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดฮอดจ์กิน ก่อนอายุ 30 ปี มีความเสี่ยงที่จะเป็นมะเร็งเต้านมในภายหลัง

ปัจจัยเสี่ยงที่หลีกเลี่ยงหรือควบคุมได้

  • ไม่เคลื่อนไหวร่างกายมากนัก หรือไม่ออกกำลังกาย
  • มีภาวะอ้วน หรือเป็นโรคเบาหวาน โดยเฉพาะในวัยหลังหมดประจำเดือน
  • การบำบัดด้วยฮอร์โมนทดแทนบางประเภททั้งฮอร์โมนเอสโตรเจนและโปรเจสเตอโรน รวมถึงยาคุมกำเนิดนานกว่า 5 ปี
  • ตั้งครรภ์ครั้งแรกหลังอายุ 30 ปี ไม่ได้ให้นมลูก หรือไม่เคยตั้งครรภ์มาก่อน
  • ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ สูบบุหรี่

ทำอย่างไรเมื่ออยู่ในกลุ่มเสี่ยง?

การอยู่ในกลุ่มเสี่ยงไม่ได้หมายความว่าจะต้องเป็นโรคมะเร็งเต้านมเสมอไป เพียงแต่มีโอกาสสูงกว่าคนอื่นๆ เท่านั้น จึงควรสำรวจร่างกายเป็นประจำด้วยการคลำเต้านมตามวิธี 3 นิ้วสัมผัสที่สามารถทำได้ด้วยตัวเอง หรือให้แพทย์คลำเต้านมให้ และควรรีบพบแพทย์ทันทีหากพบความผิดปกติใดๆ เช่น มีก้อนบริเวณเต้านมหรือรักแร้ เพราะยิ่งตรวจพบได้เร็ว ก่อนมะเร็งลุกลาม ก็มีโอกาสหายมากขึ้นตามไปด้วย

ที่มา

Honestdocs, มะเร็งเต้านมคืออะไร (https://www.hd.co.th/what-is-breast-cancer), 15 สิงหาคม 2563.

Centers for Disease Control and Prevention, What Are the Risk Factors for Breast Cancer?

(https://www.cdc.gov/cancer/breast/basic_info/risk_factors.htm#:~:text=The%20risk%20for%20breast%20cancer,of%20breast%20and%20ovarian%20cancer.)

@‌hdcoth line chat