อาการคัดจมูก น้ำมูกไหล จาม เจ็บคอ คันตา ฯลฯ เมื่ออากาศเปลี่ยน อาจไม่ได้เป็นอาการของไข้หวัด แต่เป็นอาการของโรคภูมิแพ้ทางระบบทางเดินหายใจอย่าง "โรคแพ้อากาศ" ก็ได้ หากสามารถแยกแยะอาการไข้หวัดกับอาการแพ้อากาศได้ ก็จะช่วยให้สามารถควบคุมอาการของโรค และดูแลรักษาได้อย่างเหมาะสม
ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับโรคไข้หวัดกับโรคแพ้อากาศ
คนส่วนมากมักเข้าใจผิดว่า โรคหวัดกับโรคแพ้อากาศเป็นโรคชนิดเดียวกัน เพราะอาการของทั้งสองโรคมีบางส่วนที่คล้ายคลึงกัน แต่ความจริงแล้วทั้งสองโรคแตกต่างกันทั้งสาเหตุของโรค และวิธีการรักษา
หากผู้ป่วยโรคแพ้อากาศเข้าใจผิดคิดว่า ตนเองเป็นไข้หวัดและดูแลด้วยการกินยารักษาอาการหวัด อาการของโรคก็จะไม่ดีขึ้น เพราะส่วนผสมในตัวยารักษาหวัดไม่มีผลในการรักษาโรคแพ้อากาศนั่นเอง
ความแตกต่างระหว่างโรคไข้หวัดกับโรคแพ้อากาศ
โรคไข้หวัด ไม่ว่าจะเป็นไข้หวัดธรรมดา (Common cold) หรือไข้หวัดใหญ่ (Flu) ล้วนเกิดจากการติดเชื้อไวรัส หรือเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งการติดเชื้อแต่ละชนิดก็มีวิธีการรักษาที่แตกต่างกันออกไป
โรคไข้หวัดจากเชื้อไวรัสจะรักษาตามอาการ ร่วมกับพักผ่อน และดื่มน้ำตามมากๆ แต่ถ้าเป็นโรคหวัดที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรียก็ต้องรักษาด้วยยาปฏิชีวนะ หรือยาฆ่าเชื้อ
โรคหวัดสามารถป้องกันได้ด้วยการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่
แตกต่างจากโรคแพ้อากาศ หรือเรียกอีกชื่อว่า “โรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ (Allergic Rhinitis)” ที่เกิดจากระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายไวต่อสารก่อภูมิแพ้รอบข้าง เช่น อากาศร้อน-เย็น ฝุ่น ไรฝุ่น ขนสัตว์ หรือเกสรดอกไม้
เมื่อสูดสารก่อภูมิแพ้เหล่านี้เข้าไปก็จะทำให้เกิดอากาศแพ้ วิธีรักษาเพียงหลีกเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้เหล่านั้น และกินยาแก้แพ้อาการก็จะดีขึ้น
เปรียบเทียบอาการของโรคหวัดกับโรคแพ้อากาศ
ถึงแม้ว่าอาการของโรคหวัดกับโรคแพ้อากาศจะมีบางส่วนที่คล้ายคลึงกัน แต่ก็มีหลายอาการที่ไม่เหมือนกัน และเป็นจุดสังเกตให้เราแยกแยะได้ว่า อาการที่กำลังเกิดขึ้นเป็นอาการของโรคใดได้
อากาศของโรคหวัด
- จาม
- น้ำมูกไหล โดยหากเป็นเชื้อไวรัสน้ำมูกจะใส แต่ถ้าเป็นเชื้อแบคทีเรียน้ำมูกจะมีสีเหลือง
- คัดจมูก
- ไอ
- เจ็บคอ
- เป็นไข้
- มีเสมหะ
- ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ
- ปวดศีรษะ
- อ่อนเพลีย
- ต่อมทอนซิลบวมแดง
- โรคหวัดจากเชื้อไวรัสมักหายเป็นปกติภายใน 1-2 สัปดาห์ ส่วนโรคหวัดจากเชื้อแบคทีเรียจะต้องรักษาด้วยยาปฏิชีวนะ
อาการของโรคแพ้อากาศ
ผู้ป่วยโรคแพ้อากาศมักจะมีอาการแพ้ตลอดทั้งปี โดยอาจมีอาการแพ้เล็กน้อยเป็นช่วงๆ และอาการแพ้จะรุนแรงขึ้นเมื่อถูกกระตุ้นจากสารก่อภูมิแพ้ โดยมีลักษณะอาการดังนี้
- คันจมูก
- จามติดๆ กันหลายครั้ง
- มีน้ำมูกใสๆ หากน้ำมูกเยอะก็อาจมีอาการน้ำมูกไหลลงคอด้วย
- คัดจมูก
- จมูกไม่ได้กลิ่น
- ไอ หรือเจ็บคอเรื้อรัง
- อาจมีอาการหูอื้อ หรือมีเสียงดังในหู
- ปวดศีรษะ
- เสียงเปลี่ยน
- ผื่นลมพิษ
- รอยคล้ำใต้ตา
- เคืองตา
- น้ำตาไหล
หากเป็นโรคแพ้อากาศจะต้องดูแลตัวเองให้ดี โดยการหลีกเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้ที่เป็นสาเหตุ เพราะการปล่อยให้อาการแพ้กำเริบบ่อยๆ จนส่งผลต่อการใช้ชีวิต การนอนหลับ หรือการทำงานก็อาจทำให้มีโรคระบบทางเดินอากาศหายใจอื่นๆ ตามมาได้
ถ้าไม่แน่ใจว่า ตัวเองแพ้สารก่อภูมิแพ้ชนิดใดกันแน่ สามารถปรึกษาแพทย์โรคภูมิแพ้และเข้ารับการตรวจภูมิแพ้ และภาวะแพ้ได้
ปกติแล้ว หากมีอาการไข้ขึ้น น้ำมูกมีสีเหลือง เจ็บคอ มักเป็นอาการของหวัด ส่วนโรคแพ้อากาศนั้นมักจะเกิดในช่วงเช้า หรือค่ำ ซึ่งเป็นเวลาที่อุณหภูมิมีการเปลี่ยนแปลง จะมีอาการจามติดต่อกันและน้ำมูกไหลเป็นหลัก ลักษณะน้ำมูกจะใสเหมือนน้ำ
สิ่งที่ควรทำคือ รักษาสุขภาพร่างกายให้แข็งแรงอยู่เสมอ นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ และหลีกเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้ที่คนส่วนมากมักจะแพ้ เช่น ไรฝุ่น ขนสัตว์ เกสรดอกไม้
ถ้าหากร่างกายไม่แข็งแรง ไม่ว่าจะเป็นโรคหวัด โรคแพ้อากาศ หรือโรคอื่นๆ ก็สามารถเกิดขึ้นได้ทั้งนั้น
ตรวจสอบความถูกต้องโดย พญ.วรรณวนัช เสถียรธรรมมณี
บทความแนะนำ
- Dopamine ประโยชน์ สรรพคุณ ข้อควรระวัง
- 8 วิธีแก้ผื่นคันง่ายๆ ด้วยตัวเองจากวัตถุดิบในบ้าน
- การตรวจดูมูกจากปากช่องคลอด เพื่อบ่งบอกการตั้งครรภ์
- รังแคทำให้ผมร่วงจริงหรือไม่ รักษาอย่างไร
- อาการแพ้ยุง เป็นอย่างไร
ที่มาของข้อมูล
ปิด
ปิด
- Kristeen Moore, Allergic Rhinitis (https://www.healthline.com/health/allergic-rhinitis), 4 July 2020
- James M. Steckelberg, M.D., Cold or allergy: Which is it? (https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/common-cold/expert-answers/common-cold/faq-20057857), 4 July 2020.
- Melinda Ratini, DO, MS, Is It a Common Cold or Allergies? (https://www.webmd.com/cold-and-flu/cold-guide/common-cold-or-allergy-symptoms), 4 July 2020.