zolpidem

Zolpidem (โซลพิเดม)

ยา โซลพิเดม (Zolpidem) ใช้สำหรับรักษาอาการนอนไม่หลับ ผู้ที่มีภาวะนอนหลับยาก หรือมีภาวะสะดุ้งตื่นกลางคืนบ่อยครั้ง ช่วยให้หลับได้เร็วขึ้นและหลับลึกขึ้น ควรใช้ตามคำแนะนำของแพทย์หรือเภสัชกรอย่างเคร่งครัด หากมีข้อสงสัยหรืออาการที่ไม่พึงประสงค์ ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรเพื่อคำแนะนำเพิ่มเติม

สารบัญ

สรรพคุณของยา Zolpidem

  • ช่วยให้นอนหลับได้เร็วขึ้น ลึกขึ้น เป็นยาสำหรับรักษาอาการนอนไม่หลับ ในผู้ใหญ่ ถ้าคุณมีปัญหานอนไม่หลับ ยานี้จะช่วยให้นอนหลับได้เร็วขึ้น ทำให้พักผ่อนได้ดีมากขึ้น
  • รักษาอาการนอนไม่หลับ เป็นยาในกลุ่มยาระงับประสาท-ยานอนหลับ โดยยาจะออกฤทธิ์ที่สมอง ทำให้รู้สึกง่วงนอน

มักจำกัดการใช้ในช่วงระยะเวลาสั้นๆ  1-2 สัปดาห์ หรือน้อยกว่านั้น โดยจะต้องมีการประเมินโรคที่อาจเกิดร่วมหลังจากได้รับยา 7-10 วัน

กลไกการออกฤทธิ์ของยา Zolpidem

Zolpidem ทำงานโดยการเสริมการทำงานของสารสื่อประสาท GABA (gamma-aminobutyric acid) ในสมอง ซึ่งช่วยลดกิจกรรมของสมอง ทำให้รู้สึกผ่อนคลายและหลับได้เร็วขึ้น

วิธีใช้ยา Zolpidem

  • อ่านคำแนะนำในการใช้ยา และข้อมูลยาที่ได้รับจากเภสัชกรก่อนใช้ยา และในทุกครั้งที่มารับยาซ้ำ หากมีคำถามใดๆ ให้สอบถามจากแพทย์ หรือเภสัชกร
  • รับประทานยาในเวลาท้องว่าง หรือตามที่แพทย์สั่ง ปกติจะรับประทาน 1 เม็ดก่อนนอน เนื่องจากยา Zolpidem เป็นยาที่ออกฤทธิ์เร็ว อย่ารับประทานยาพร้อม หรือหลังอาหาร เพราะจะทำให้ประสิทธิภาพของยาลดลง
  • อย่ารับประทานยาหากมีเวลานอนหลับน้อยกว่า 7-8 ชั่วโมง เพราะถ้าจำเป็นต้องตื่นนอนก่อนเวลาดังกล่าว อาจทำให้สูญเสียความทรงจำบางส่วนได้ และอาจส่งผลต่อความปลอดภัยในการทำกิจกรรมใดๆ ที่ต้องอาศัยการตื่นตัว เช่น การขับรถ การทำงานเกี่ยวกับเครื่องจักร

ขนาดยาที่เหมาะสมในแต่ละบุคคล

  • ขนาดยาที่จะได้รับขึ้นอยู่กับเพศ อายุ สภาวะโรคที่กำลังเป็น ยาอื่นที่อาจใช้อยู่ในขณะนี้ และการตอบสนองต่อการรักษา
  • ห้ามเพิ่มขนาดยา หรือรับประทานยาบ่อยกว่าที่แพทย์สั่ง หรือใช้ยาเป็นเวลานานกว่าที่แพทย์สั่ง
  • ห้ามรับประทานยาเกิน 10 มิลลิกรัมต่อวัน
  • ผู้หญิงมักจะได้รับยาในขนาดที่ต่ำกว่าผู้ช้าย เพราะกำจัดยาออกจากร่างกายได้ช้ากว่า
  • ผู้สูงอายุมักจะได้รับยาในขนาดต่ำ เพื่อลดโอกาสเกิดผลข้างเคียงจากยา

ปฏิกิริยาที่อาจเกิดขึ้นเมื่อรับประทานยา Zolpidem

  • ยา Zolpidem อาจทำให้เกิดปฏิกิริยาถอนยา (Withdrawal reactions) โดยเฉพาะถ้าใช้เป็นประจำต่อเนื่องในระยะเวลานาน หรือใช้ยาในขนาดสูง ในกรณีนี้อาการถอนยา (Withdrawal symptoms) อาจเกิดขึ้นถ้าคุณหยุดใช้ยาอย่างกระทันหัน
  • มีลักษณะอาการถอนยาคือ คลื่นไส้ อาเจียน หน้าแดง ปวดเกร็งท้อง ตื่นกลัว ตัวสั่น เหงื่อแตก กล้ามเนื้อหดเกร็ง หากมีอาการดังกล่าว ให้แจ้งแพทย์ หรือเภสัชกรทันที
  • เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปฏิกิริยาถอนยา แพทย์อาจค่อยๆ ลดขนาดยาลงก่อนหยุดยา

ภาวะการติดยา Zolpidem

แม้ว่ายา Zolpidem จะสามารถช่วยเหลือผู้ป่วยโรคนอนไม่หลับจำนวนมาก แต่ก็อาจทำให้เกิดการติดยาได้ โดยความเสี่ยงของการติดยาอาจเพิ่มมากขึ้นถ้าคุณใช้สารเสพติด หรือดื่มแอลกอฮอล์ร่วมกับการใช้ยา แนะนำให้รับประทานยาตามขนาดที่แพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด เพื่อลดความเสี่ยงต่อการติดยา

เมื่อไรที่ควรเข้าพบแพทย์

  • เมื่อมีการใช้ยาเป็นเวลานาน จนทำให้ยาอาจออกฤทธิ์ได้ไม่ดีเหมือนเดิม
  • อาการนอนไม่หลับยังคงมีอยู่หลังจากใช้ยาไปแล้ว 7-10 วัน หรืออาการแย่ลง
  • มีอาการข้างเคียงที่พบได้น้อยแต่ร้ายแรง ได้แก่ สูญเสียความทรงจำ สภาพจิตใจ อารมณ์ พฤติกรรมเปลี่ยนแปลงไป เช่น มีอาการซึมเศร้า หรืออาการซึมเศร้าที่เป็นอยู่มีอาการแย่ลง มีความคิดที่ผิดปกติ มีความคิดฆ่าตัวตาย ประสาทหลอน สับสน กระสับกระส่าย มีพฤติกรรมก้าวร้าว วิตกกังวล
  • หลังจากรับประทานยา มีอาการตื่นนอนแล้วออกไปขับรถทั้งๆ ที่ยังไม่ตื่นตัวเต็มที่  (พบได้น้อย) ละเมอขึ้นมาเตรียมอาหาร รับประทานอาหาร หรือมีเพศสัมพันธ์ได้ไม่เต็มที่ ซึ่งผู้ป่วยมักจำเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไม่ได้ ปัญหาที่เกิดขึ้นนี้ถือเป็นเรื่องที่อันตรายทั้งต่อตัวผู้ที่ใช้ยาและผู้อื่น ให้รีบแจ้งแพทย์ทันที โดยความเสี่ยงจะยิ่งเพิ่มขึ้นถ้าดื่มแอลกอฮอล์ หรือใช้ยาตัวอื่นที่ทำให้ง่วงนอนร่วมกับยา Zolpidem
  • หลับระหว่างวัน สมองเบลอ คิดไม่ออก มึนงง สับสน หรือวิตกกังวล

ผลกระทบหลังจากหยุดใช้ยา

เมื่อหยุดใช้ยาอาจมีอาการนอนไม่หลับในช่วงไม่กี่คืนแรก หรือเรียกว่า รีบาวด์ อินซอมเนีย (Rebound insomnia) ซึ่งเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นได้ และอาการมักจะดีขึ้นหลังผ่านไป 1-2 คืน แต่ถ้ายังคงมีอาการนอนไม่หลับอย่างต่อเนื่องให้ไปพบแพทย์ทันที

ผลข้างเคียงของยา Zolpidem

  • อาจเกิดอาการเวียนศีรษะจากยา Zolpidem ได้ ถ้าอาการไม่ดีขึ้น หรืออาการแย่ลง ให้แจ้งแพทย์หรือเภสัชกรทันที
  • ยาอาจทำให้มีอาการง่วงนอนระหว่างวัน หากมีอาการให้แจ้งแพทย์ประจำตัวเพื่อปรับขนาดยา
  • อาการข้างเคียงที่กล่าวไว้ข้างต้นไม่ใช่อาการข้างเคียงทั้งหมดที่อาจเกิดขึ้นได้ ดังนั้นถ้าคุณมีอาการผิดปกติใดๆ ที่ไม่ได้กล่าวไว้ข้างต้น ให้ปรึกษาแพทย์ หรือเภสัชกร

ผลข้างเคียงของยา Zolpidem ในผู้ป่วยเด็ก และผู้สูงอายุ

  • ไม่แนะนำให้ใช้ยาในผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี เนื่องจากผู้ป่วยเด็กอาจมีโอกาสเกิดผลข้างเคียงจากยามากขึ้น โดยเฉพาะอาการวิงเวียนศีรษะ และอาการประสาทหลอน
  • ผู้สูงอายุอาจมีโอกาสเกิดผลข้างเคียงจากยามากขึ้น โดยเฉพาะอาการวิงเวียนศีรษะ สับสน การทรงตัวผิดปกติ และง่วงนอนมากผิดปกติ ซึ่งผลข้างเคียงเหล่านี้จะทำให้ผู้สูงอายุมีความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุหกล้มมากขึ้น

ข้อควรระวังในการใช้ยา Zolpidem

การแพ้ยา Zolpidem

ปฏิกิริยาการแพ้ยา (พบได้น้อย) ได้แก่ ผื่น คัน บวม (โดยเฉพาะที่หน้า ลิ้น คอ) กลืนยาก เวียนศีรษะรุนแรง หายใจลำบาก อย่างไรก็ตามถ้าเกิดอาการใดๆ ของการแพ้ยาให้รีบไปพบแพทย์ทันที

โรคที่ต้องแจ้งให้แพทย์ทราบก่อนใช้ยา Zolpidem

ก่อนการใช้ยา Zolpidem ให้แจ้งแพทย์ หรือเภสัชกรทราบเกี่ยวกับโรค และประวัติทางการแพทย์ดังต่อไปนี้

  • ป่วยเป็นโรคไต โรคตับ
  • มีอารมณ์ หรือสภาพจิตใจที่เปลี่ยนแปลง เช่น ซึมเศร้า มีความคิดฆ่าตัวตาย
  • มีประวัติส่วนตัว หรือประวัติครอบครัวที่ใช้สารเสพติด หรือติดแอลกอฮอล์
  • มีประวัติส่วนตัว หรือประวัติครอบครัวมีอาการละเมอทำกิจกรรมต่างๆ
  • มีปัญหาการหายใจ หรือปัญหาที่ปอด เช่น โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง (Chronic Obstructive Pulmonary Disease: COPD) และภาวะหยุดหายใจขณะหลับ
  • เป็นโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงชนิดร้าย (Myasthenia gravis)

ผลของยา Zolpidem คงอยู่ได้หลายวัน

ผลของยาอาจยังคงอยู่แม้ว่าคุณจะตื่นนอนในวันถัดไปแล้วก็ตาม ถ้าคุณมีเวลานอนไม่ถึง 7-8 ชั่วโมง หรือกำลังใช้ยาอื่นที่ทำให้ง่วงนอน คุณจะมีโอกาสเกิดผลข้างเคียงจากยามากกว่าปกติ เช่น

  • คุณอาจรู้สึกตื่นตัว แต่ไม่สามารถคิด หรือตัดสินใจได้ดีพอในขณะขับรถ
  • คุณอาจมีอาการเวียนศีรษะ หรือตาพร่ามัว มองเห็นภาพซ้อนได้
  • เครื่องดื่มแอลกอฮอล์จะทำให้คุณมีอาการวิงเวียนมากขึ้น และเพิ่มความเสี่ยงต่อการหกล้มได้

ควรรออย่างน้อย 8 ชั่วโมงหลังจากการรับประทานยาก่อนการขับรถอีกครั้ง และห้ามขับรถ หรือทำงานเกี่ยวกับเครื่องจักร หรือทำกิจกรรมใดๆ ที่ต้องอาศัยการตื่นตัว จนกว่าคุณจะทำกิจกรรมดังกล่าวได้อย่างปลอดภัย

ยา Zolpidem กับหญิงตั้งครรภ์ และหญิงให้นมบุตร

ผู้ป่วยที่วางแผนจะตั้งครรภ์ กำลังตั้งครรภ์ ให้นมบุตรหรือวางแผนจะให้นมบุตร ต้องแจ้งแพทย์ผู้ทำการรักษาก่อนการใช้ยา โดยจะต้องปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับความเสี่ยง และประโยชน์ที่จะได้รับจากยาขณะตั้งครรภ์ เนื่องจากพบว่าการใช้ยาในผู้ที่ตั้งครรภ์ในไตรมาส 3 ส่งผลให้ทารกแรกเกิด มีภาวะหายใจผิดปกติ นอนหลับมากผิดปกติ อ่อนเพลีย และมีภาวะอ่อนล้า

หากกำลังใช้ยาควรสังเกตุอาการลูกน้อยอย่างใกล้ชิดว่า มีอาการภาวะหายใจผิดปกติ นอนหลับมากผิดปกติ อ่อนเพลีย และอ่อนล้าหรือไม่ หากลูกมีอาการดังกล่าว ให้รีบแจ้งแพทย์ผู้รักษาทันที

การใช้ยา Zolpidem กับยาอื่น

การเกิดปฏิกิริยาระหว่างยา (Drug interactions) อาจเปลี่ยนแปลงการออกฤทธิ์ของยา หรือเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดผลข้างเคียงร้ายแรง ข้อมูลที่ระบุนี้ไม่ได้ครอบคลุมการเกิดปฏิกิริยาระหว่างยาที่อาจเกิดขึ้นได้ทั้งหมด ดังนั้นคุณต้องแจ้งแพทย์และเภสัชกรทราบทุกครั้งว่า กำลังรับประทานยา อาหารเสริม หรือสมุนไพรใดอยู่ในขณะนี้

ผลิตภัณฑ์ที่อาจเกิดปฏิกิริยากับยา Zolpidem

  • โซเดียมออกซิเบท (Sodium oxybate)
  • อิมมิพราไมน์ (Imipramine)
  • คลอโพรมาซิน (Chlorpromazine)
  • ฮาโลเพอริดอล (Haloperidol)

ยาที่ส่งต่อการกำจัดยา Zolpidem ออกจากร่างกาย

หรืออาจส่งผลต่อการออกฤทธิ์ของยา Zolpidem

  • ยาฆ่าเชื้อรากลุ่ม Azole antifungals (Ketoconazole)
  • ไรแฟมพิซิน (Rifampicin)
  • สมุนไพรรักษาอาการซึมเศร้า St.John’s Wort (SJW)

ยาที่อาจส่งผลข้างเคียงร้ายแรงเมื่อใช้ร่วมกับยา Zolpidem

ความเสี่ยงต่อการเกิดผลข้างเคียงร้ายแรง (เช่น หายใจช้า หายใจตื้น เวียนศีรษะรุนแรง ง่วงนอนอย่างมาก) อาจเพิ่มขึ้นถ้าใช้ยาร่วมกับผลิตภัณฑ์ดังต่อไปนี้

  • ผลิตภัณฑ์ที่ทำให้มีอาการง่วงนอน หรือมีปัญหาในการหายใจ เช่น ยาระงับปวดกลุ่มโอปิออยด์ (Opioid Analgesics) เช่น โคเดอีน (Codeine) ไฮโดรโคโดน (Hydrocodone)
  • ยาอื่นเพื่อช่วยให้นอนหลับหรือสำหรับรักษาอาการวิตกกังวล เช่น อัลปราโซแลม (Alprazolam) ลอราซีแพม (Lorazepam) โซพิโคลน (Zopiclone)
  • ยาคลายกล้ามเนื้อ
  • ยาต้านฮิสตามีน (Antihistamine) เช่น เซทิริซีน (Cetirizine) ไดเฟนไฮดรามีน (Diphenhydramine)

อย่าลืมอ่านฉลากยาทุกชนิดก่อนใช้ (เช่น ยาแก้แพ้ หรือยาแก้หวัด แก้ไข) เพราะอาจประกอบด้วยตัวยาที่ทำให้ง่วงนอน ดังนั้นให้สอบถามเภสัชกรเกี่ยวกับการใช้ยาเหล่านี้อย่างปลอดภัย

การได้รับยา Zolpidem เกินขนาด

หากมีใครก็ตามที่ได้รับยา Zolpidem เกินขนาดจนทำให้เกิดอาการร้ายแรง เช่น หมดสติ หรือหายใจลำบาก ให้รีบเรียกรถพยาบาลทันที โทร 1669

อาการของการได้รับยาเกินขนาดอาจได้แก่ หายใจช้า ความดันต่ำ หรือหลับลึกจนไม่สามารถปลุกให้ตื่นได้

หากลืมรับประทานยา Zolpidem

ถ้าคุณลืมรับประทานยา อย่ารับประทานยาจนกว่าจะมีเวลาในการนอนนาน 7-8 ชั่วโมงอีกครั้ง

การเก็บรักษายา Zolpidem

  • เก็บรักษายาที่อุณหภูมิห้อง ห่างจากแสงแดง และความชื้น
  • ไม่เก็บยาในห้องอาบน้ำ
  • เก็บยาทุกชนิดให้ห่างจากมือเด็ก และสัตว์เลี้ยง
  • ไม่เทยาทิ้งในห้องน้ำ หรือในท่อระบายน้ำ ให้ทิ้งผลิตภัณฑ์ยาอย่างเหมาะสมเมื่อยาหมดอายุ หรือเมื่อไม่จำเป็นต้องใช้ยาอีก

เมื่อคุณอายุมากขึ้น รูปแบบการนอนหลับ (Sleep pattern) อาจเปลี่ยนแปลงตามธรรมชาติ และการนอนหลับอาจถูกขัดจังหวะหลายครั้งตลอดการนอนหลับ สามารถขอคำปรึกษาจากแพทย์ หรือเภสัชกร เกี่ยวกับวิธีในการเพิ่มคุณภาพการนอนหลับโดยไม่ใช้ยา เช่น การหลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน และแอลกอฮอล์ในช่วงใกล้เวลาเข้านอน หลีกเลี่ยงการนอนหลับกลางวัน และเข้านอนในเวลาเดียวกันของทุกวัน

Scroll to Top