การตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปี เป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการดูแลสุขภาพที่ช่วยให้เราเตรียมรับมือกับโรคที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตได้ เพราะเป็นการตรวจคัดกรองโรคเบื้องต้น และประเมินความเสี่ยงของโรคที่อาจแฝงอยู่ในร่างกาย แต่ยังไม่ปรากฏอาการผิดปกติ เช่น ความดันโลหิตสูง หรือเบาหวาน
อย่างไรก็ตาม แต่ละโรงพยาบาลมีโปรแกรมการตรวจสุขภาพที่หลากหลาย สำหรับคนในแต่ละช่วงอายุ หรือสำหรับผู้หญิง หรือผู้ชายโดยเฉพาะ ทำให้หลายคนอาจสับสน หรือไม่แน่ใจว่า ควรเตรียมตัวก่อนเข้ารับการตรวจสุขภาพอย่างไร วันนี้เรามีคำตอบมาฝากกัน
การเตรียมตัวก่อนเข้ารับการตรวจสุขภาพโดยทั่วไป
ไม่ว่าจะเป็นการตรวจสุขภาพแบบใด ควรเตรียมตัวก่อนเข้ารับการตรวจสุขภาพ ดังนี้
- ควรนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ อย่างน้อย 6 ชั่วโมงก่อนเเข้ารับการตรวจ เพราะอาจทำให้ผลการตรวจผิดปกติได้ โดยเฉพาะความดันโลหิต หรืออัตราการเต้นของหัวใจ
- ในกรณีที่มีการตรวจระดับน้ำตาลในเลือด ควรงดรับประทานอาหารและเครื่องดื่ม อย่างน้อย 8-10 ชั่วโมงก่อนเข้ารับการตรวจ (สามารถจิบน้ำได้)
- ในกรณีที่มีการตรวจระดับไขมันในเลือด เช่น คอเลสเตอรอล ไตรกลีเซอไรด์ HDL หรือ LDL ควรงดรับประทานอาหาร และเครื่องดื่ม อย่างน้อย 10-12 ชั่วโมงก่อนเข้ารับการตรวจ โดยเฉพาะอาหารที่มีไขมันสูง (สามารถจิบน้ำได้)
- หากมีโรคประจำตัว หรือมียารักษาโรคประจำตัวที่รับประทานเป็นประจำ ควรแจ้งให้เจ้าหน้าที่ทราบ สอบถามเพิ่มเติมว่า จำเป็นต้องงดรับประทานยาหรือไม่ และควรนำยาไปด้วยในวันที่เข้ารับการตรวจ
- ในกรณีที่มีการตรวจตาและสมรรถภาพการมองเห็น ไม่ควรตรวจในช่วงที่มีภาวะเจ็บป่วยของดวงตา เช่น ตาแดง ตาอักเสบ ตาบวม หรือตรวจตาหลังทำงานที่ใช้สายตา และหากมีการสวมแว่นสายตา ให้นำแว่นมาตรวจเช็กด้วย
- ในกรณีที่มีการตรวจสมรรถภาพการได้ยิน ควรตรวจหลังจากหลีกเลี่ยงเสียงดังมาแล้วอย่างน้อย 16 ชั่วโมง
- ในกรณีที่มีการตรวจสมรรถภาพปอด ให้งดรับประทานอาหารอย่างน้อย 1 ชั่วโมง งดสูบบุหรี่อย่างน้อย 2 ชั่วโมง งดการใช้ยาขยายหลอดลมอย่างน้อย 2 ชั่วโมง ถอดฟันปลอมให้เรียบร้อย และห้ามเคี้ยวหมากฝรั่ง หรืออมลูกอมขณะตรวจ
- หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์ การรับประทานของหวาน หรือน้ำหวาน อย่างน้อย 24 ชั่วโมงก่อนเข้ารับการตรวจ เพราะอาจมีผลต่อการตรวจปัสสาวะได้
- ควรสวมใส่เสื้อผ้าที่ถอดง่าย หลีกเลี่ยงการใส่ชุดชั้นในที่เป็นโครงเหล็ก และงดการใส่เครื่องประดับที่เป็นโลหะ เพราะอาจต้องเปลี่ยนเสื้อผ้าก่อนเข้ารับการตรวจเอกซเรย์
การเตรียมตัวตรวจสุขภาพเพิ่มเติมในผู้หญิง
การตรวจสุขภาพในผู้หญิง ไม่แนะนำให้ตรวจในช่วง 7 วันก่อน และหลังมีประจำเดือน อย่างไรก็ตาม หากตรวจสุขภาพในช่วงมีประจำเดือน ควรแจ้งให้แพทย์ทราบเพื่องดการตรวจปัสสาวะ
ส่วนผู้หญิงที่กำลังตั้งครรภ์ หรือสงสัยว่ากำลังตั้งครรภ์ ควรแจ้งให้แพทย์ทราบเพื่องดการตรวจเอกซเรย์ เพราะอาจส่งผลกระทบต่อทารกในครรภ์ได้
นอกจากนี้การตรวจสุขภาพในผู้หญิงมักมีการตรวจคัดกรองโรคมะเร็งที่พบบ่อยในผู้หญิงอย่างมะเร็งเต้านม หรือมะเร็งปากมดลูกเพิ่มเติมด้วย จึงต้องมีการเตรียมตัวเพิ่มเติม ดังนี้
- หากมีการตรวจภายใน หรือตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก ควรงดการมีเพศสัมพันธ์ การใช้สารหล่อลื่น ผลิตภัณฑ์สเปรย์ แป้ง ครีม หรือยาสอด รวมถึงงดการสวนอวัยวะเพศด้วยน้ำ หรือของเหลวอื่นทุกชนิด ก่อนเข้ารับการตรวจ 48 ชั่วโมง
- หากมีการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านม ห้ามทาแป้งฝุ่น โลชั่น หรือผลิตภัณฑ์ระงับกลิ่นกาย บริเวณเต้านม และรักแร้
การตรวจสุขภาพ เป็นเพียงการตรวจคัดกรองโรคเบื้องต้น หากต้องการตรวจวินิจฉัยโรคอย่างละเอียดอาจต้องรับการตรวจเพิ่มเติม และแม้ว่าผลการตรวจสุขภาพจะเป็นปกติ ผู้เข้ารับการตรวจก็ควรดูแลสุขภาพอยู่เสมอ โดยการพักผ่อนให้เพียงพอ ออกกำลังกาย และรับประทานอาหารที่มีประโยชน์
เปรียบเทียบราคาและแพ็กเกจโปรแกรมตรวจสุขภาพ
ที่มาของข้อมูล
- NHS, Can I eat and drink before having a blood test? (https://www.nhs.uk/common-health-questions/operations-tests-and-procedures/can-i-eat-and-drink-before-having-a-blood-test/)
- Healthline, Physical Examination (https://www.healthline.com/health/physical-examination#preparation), 20 January 2020.
- Rama.mahidol.ac.th, การตรวจสุขภาพประจำปี (https://www.rama.mahidol.ac.th/ramachannel/home/article/การตรวจสุขภาพประจำปี/).