แม้ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจะแนะนำว่า ผู้หญิงที่อยู่ในช่วงกำลังตั้งครรภ์ควรหยุดรับประทานยาทุกชนิด แต่ความเจ็บป่วยก็เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ คุณจึงอาจต้องใช้ยาบางชนิด เช่น ยาสามัญประจำบ้าน เพื่อบรรเทาอาการต่างๆ ด้วยตัวเอง
อย่างไรก็ตาม มียาบางชนิดที่ควรหยุดใช้โดยเด็ดขาด (pregnancy category: X) เพราะพบว่า เป็นอันตรายต่อแม่และทารก และมีโทษมากกว่าประโยชน์ที่จะได้รับจากการรักษา
สารบัญ
หากกำลังจะตั้งครรภ์ หรืออยู่ระหว่างตั้งครรภ์ ตัวอย่างยาที่ควรหยุดใช้มีอะไรบ้าง?
ยาเสพติดทุกชนิด แอลกอฮอล์ ยาคุมกำเนิดชนิดเม็ดทุกชนิด กลุ่มยาระบบทางเดินอาหาร กลุ่มยาฆ่าเชื้อ กลุ่มยาแก้ปวดอักเสบ (non-steroidal anti-inflammatory drugs; NSAIDs)
กลุ่มยากดภูมิคุ้มกัน กลุ่มยาระบบผิวหนัง กลุ่มยาระบบหัวใจและหมุนเวียนโลหิต กลุ่มยาระบบประสาท ยารักษาโรค SLE
รายละเอียดของยาในแต่ละกลุ่ม ที่ควรหยุดใช้หากกำลังจะตั้งตั้งครรภ์ หรืออยู่ระหว่างตั้งครรภ์
กลุ่มยาระบบทางเดินอาหาร
ได้แก่ ไมโสพรอสทอล (misoprostol)
กลุ่มยาฆ่าเชื้อ
ได้แก่ เมทโทรนิดาโซล (metronidazole) กริซิโอฟัลวิน (Griseofulvin) TMP/SMX แบคทริม (Bactrim)
กลุ่มยาแก้ปวดอักเสบ (non-steroidal anti-inflammatory drugs; NSAIDs)
ได้แก่ ไดโคลฟีแนก(diclofenac) ไอบูโพรเฟน (ibuprofen) เซเลค็อกซิป (celecoxib) ในไตรมาสที่สาม
- Ibuprofen อาจส่งผลต่อการตกไข่ในผู้หญิง และทำให้เยื่อบุโพรงมดลูกมีสภาพไม่เหมาะสมแก่การฝังตัวของตัวอ่อน คุณผู้หญิงจึงควรงดใช้ยาตัวนี้โดยเฉพาะอย่างยิ่งในไตรมาสที่สาม
กลุ่มยากดภูมิคุ้มกัน
ได้แก่ เมทโทเทรกเสด (methotrexate)
กลุ่มยาระบบผิวหนัง
ได้แก่ ยารักษาสิวบางชนิด เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมนในช่วงที่มีการตั้งครรภ์ อาจทำให้เกิดสิวบริเวณต่างๆ มากกว่าปกติ หากเป็นสิวในระหว่างตั้งครรภ์ สามารถรักษาได้โดยใช้ยาทาภายนอก เช่น Benzoyl peroxide gel ยาต้านแบคทีเรียชนิดทาภายนอก เช่น Clindamycin gel หรือ Erythromycin gel
ส่วนยาที่ควรหลีกเลี่ยงเด็ดขาด ได้แก่ Tetracycline หรือ Isotretinoin รวมถึงยา Retin-A เนื่องจากอาจเพิ่มความเสี่ยงทำให้ทารกเกิดความผิดปกติแต่กำเนิด
หากคุณกำลังรับประทานยาในกลุ่มนี้อยู่ให้หยุดยาอย่างน้อย 1 เดือน ก่อนพยายามจะตั้งครรภ์ และควรงดใช้ยาดังกล่าวในระหว่างตั้งครรภ์
กลุ่มยาระบบหัวใจและหมุนเวียนโลหิต
ได้แก่ ยาลดไขมัน (กลุ่ม statins) วาฟาริน (warfarin)
สำหรับยารักษาโรคความดันโลหิตสูง หากคุณมีภาวะความดันโลหิตสูง (Hypertension) อยู่แล้วและตั้งใจจะตั้งครรภ์ ควรปรึกษาแพทย์ก่อน โดยแพทย์อาจแนะนำให้ออกกำลังกาย ลดน้ำหนัก ควบคุมอาหาร เพื่อให้ความดันโลหิตอยู่ในระดับที่น่าพอใจก่อน
จากนั้นจึงจะสามารถตั้งครรภ์ได้ เนื่องจากมีงานวิจัยพบว่า ผู้หญิงที่มีภาวะความดันโลหิตสูงเรื้อรัง มีความเสี่ยงต่อภาวะครรภ์เป็นพิษ (Preeclampsia) ได้สูงกว่าปกติ
นอกจากนี้ยาหลายตัวที่ใช้รักษาโรคความดันโลหิตสูง เช่น ACE inhibitors ยังอาจไม่ปลอดภัยหากรับประทานในขณะตั้งครรภ์ อย่างไรก็ตาม ยังมียาลดความดันโลหิตสูงที่สามารถใช้ได้ขณะตั้งครรภ์
ดังนั้นคุณจึงควรมีการฝากครรภ์และติดตามประเมินผลโดยแพทย์อย่างต่อเนื่อง
กลุ่มยาระบบประสาท
ได้แก่ ไตรอะโซแลม (triazolam) ทีมาซีแปม (temazepam)
มีงานวิจัยพบว่า ผู้หญิงมักมีอาการปวดศีรษะไมเกรนหลังจากการตั้งครรภ์ และผู้ที่เป็นไมเกรนอยู่แล้วก็มักมีอาการบ่อยขึ้น หรือปวดศีรษะรุนแรงขึ้น เนื่องจากความแปรปรวนของฮอร์โมนและความวิตกกังวลจากการตั้งครรภ์
แต่การใช้ยาเพื่อรักษาอาการไมเกรนบางชนิดยังไม่มีการยืนยันว่า ปลอดภัยและสามารถใช้ได้ในขณะตั้งครรภ์ เช่น
- ยา Ergotamine (Cafergot): ห้ามใช้ขณะตั้งครรภ์
- ยา Imitrex (ยาฉีด): ผู้ที่กำลังตั้งครรภ์จึงควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาชนิดนี้
- ยา Propranolol: ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาชนิดนี้ในช่วงก่อนตั้งครรภ์
ส่วนยารักษาไมเกรนที่สามารถใช้ได้ภายใต้การควบคุมของแพทย์ ได้แก่ ยา Acetaminophen ยากลุ่ม Narcotics
ยารักษาโรค SLE
โรค Systemic Lupus Erythematosus (SLE) เป็นโรคความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกันที่อาจส่งผลกระทบต่อการตั้งครรภ์ หากมีอาการรุนแรงระหว่างตั้งครรภ์ อาจเสี่ยงต่อการเกิดภาวะครรภ์เป็นพิษ ภาวะคลอดก่อนกำหนด และภาวะแท้งบุตร
การรักษาโรค SLE ในบางครั้งต้องใช้ยาสเตียรอยด์ปริมาณสูง เช่น prednisolone ที่อาจเป็นอันตรายหากใช้ในช่วงก่อน หรือระหว่างตั้งครรภ์
ดังนั้นผู้ป่วยโรค SLE จึงควรปรึกษาแพทย์ก่อนว่าจะตั้งครรภ์ได้หรือไม่ เพราะผู้ป่วยโรค SLE หลายคนที่ควบคุมอาการได้ ก็สามารถตั้งครรภ์และคลอดทารกที่สมบูรณ์แข็งแรงได้ตามปกติ
สิ่งสำคัญที่ผู้หญิงซึ่งกำลังเริ่มตั้งครรภ์ หรืออยู่ในช่วงกำลังตั้งครรภ์ ควรปฏิบัติคือ การฝากครรภ์ให้เร็วที่สุด เพื่อรับการตรวจและดูแลอย่างใกล้ชิดจากแพทย์
ไม่ควรหาซื้อยามาใช้ด้วยตนเองอย่างเด็ดขาด ควรใช้ยาตามคำแนะนำของแพทย์และเภสัชกรอย่างเคร่งครัดเท่านั้น
ตรวจสอบความถูกต้องโดย พญ. ภกญ. เพ็ญพิไล สุตันทวงษ์