ยาชา ใช้อย่างไรจึงจะปลอดภัย

ยาชา ใช้อย่างไรจึงจะปลอดภัย

ยาชาจัดเป็นเครื่องมือสำคัญของแพทย์ในการผ่าตัด และเพื่อป้องกันการเกิดความรู้สึกเจ็บปวดต่างๆ ระหว่างรักษาอาการต่างๆ ของผู้ป่วย แต่น้อยคนที่จะรู้จักข้อมูลเชิงลึกของยาชาว่า ออกฤทธิ์อย่างไร มีประโยชน์ในแง่ใดต่อการรักษาผู้ป่วย รวมทั้งมีข้อควรระวังอย่างไรบ้าง

มีคำถามเกี่ยวกับ ยาชา? สอบถามฟรีทาง LINE รับคำตอบได้ทันที ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อความสบายใจของคุณ

ความหมายของยาชา

ยาชา (Local Anesthetics) คือ ยาสำหรับใช้เพื่อให้ผู้ป่วยหมดความรู้สึก ความเจ็บปวด ไม่สามารถรับรู้ถึงการสัมผัส หรืออุณหภูมิร้อนเย็นที่เปลี่ยนไปได้ รวมถึงอาจขยับร่างกายไม่ได้

ตัวยาจะออกฤทธิ์เข้าไปขัดขวางการส่งกระแสประสาทของร่างกายไปยังเยื่อหุ้มประสาทบริเวณที่ให้ยาชา

แพทย์เกือบทุกแผนกจะต้องใช้ยาชาเป็นส่วนหนึ่งในทำหัตถการต่างๆ กับผู้ป่วย เช่น

  • แผนกศัลยกรรม ใช้ยาชาสำหรับเย็บแผล เจาะอวัยวะ ผ่าก้อนเนื้อส่วนเกินออกจากร่างกาย เช่น ฝี ไฝ หูด
  • แผนกศัลยกรรมตกแต่ง ใช้ยาชาสำหรับผ่าศัลยกรรม เช่น ทำจมูก กรีดตา ดูดไขมัน
  • แผนกทันตกรรม ใช้ยาชาสำหรับถอนฟัน ผ่าฟัน การทำศัลยกรรมตกแต่งเหงือก
  • แผนกสูติกรรม ใช้ยาชาสำหรับทำคลอด เย็บแผลคลอด
  • แผนกอายุรกรรม ใช้ยาชาสำหรับการผ่าตัด การเจาะน้ำไขสันหลัง
  • แผนกตา หู คอ จมูก ใช้ยาชาสำหรับการผ่าตัดทุกชนิด เช่น ผ่าตัดตา ทำเลสิก

หลายคนอาจคิดว่า ยาชาที่แพทย์ใช้กันจนถึงปัจจุบันมีแค่รูปแบบฉีด ความจริงแล้วยาชาได้มีการพัฒนาออกมาหลายรูปแบบมากขึ้นเพื่อให้สะดวกต่อการใช้งานของแพทย์แต่ละแผนก เช่น

  • ยาชาแบบหยอด
  • ยาชาแบบพ่นสเปรย์
  • ยาชาแบบทา

ประสิทธิภาพของยาชาแต่ละรูปแบบจะขึ้นอยู่กับบริเวณของร่างกายที่ใช้ โดยยาชาที่ใช้กับภายนอกร่างกายอย่างยาทา ยาหลอด หรือยาพ่น หากใช้บริเวณเนื้อเยื่อของท่อลม (Trachea) ก็สามารถดูดซึมได้เร็วพอๆ กับการฉีดยาชาเข้าหลอดเลือดดำ

ปัจจัยที่มีผลต่อการออกฤทธิ์ของยาชา

ยาชาจะออกฤทธิ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และรวดเร็วขึ้นอยู่กับปัจจัยดังต่อไปนี้

  • น้ำหนักโมเลกุลของยาชา ยาชาที่มีโมเลกุลเล็กจะสามารถกระจายตัว และซึมผ่านเข้าสู่เยื่อหุ้มประสาทได้ดีกว่ายาชาที่มีโมเลกุลยาขนาดใหญ่
  • การละลายในไขมัน เพราะเยื่อหุ้มประสาทมีส่วนประกอบเป็นไขมัน ยาชาที่สามารถละลายได้ดีในไขมันจึงสามารถออกฤทธิ์ได้แรงกว่ายาที่ละลายในไขมันได้น้อยหลายเท่าตัว
  • การจับตัวกับโปรตีน ยาชาที่จับตัวกับโปรตีนในร่างกายได้ดีจะสามารถออกฤทธิ์อยู่ได้นานขึ้นถึง 2-3 เท่า
  • การแตกตัวเป็นไอออน การออกฤทธิ์เร็ว หรือช้าของยาชาขึ้นอยู่กับค่าความเป็นกรด-เบส (pH) กับค่าการแตกตัว หรือความแรงของกรดอ่อน (pKa) ในตัวยาด้วย ยาชาที่มีค่า pKa ต่ำ และความเป็นเบสสูงมักจะออกฤทธิ์ได้เร็วกว่า
  • การขยายตัวของหลอดเลือด นอกจากยาจะทำให้ผู้ป่วยหมดความรู้สึกแล้ว ยาชายังมีฤทธิ์ขยายหลอดเลือดทำให้สารยาถูกดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดด้วย และเป็นอีกปัจจัยที่ทำให้ยาชาหมดฤทธิ์เร็วดังนั้นแพทย์จึงมักจะผสมยาบีบหลอดเลือดเข้าไปในยาชาด้วย เพื่อให้ยามีการดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดได้น้อยลง และออกฤทธิ์ได้นานขึ้นกว่าเดิม

ชนิดของยาชาที่นิยมใช้

การแบ่งชนิดของยาชาจะมีความหลากหลายมาก หากแบ่งตามชนิดที่แพทย์นิยมใช้ จะได้แก่

  • ยาโนโวเคน (Novocaine) เป็นยาชาที่นิยมใช้กันบ่อย มีราคาถูก ออกฤทธิ์เร็ว และอยู่ได้ประมาณ 1 ชั่วโมงครึ่ง-2 ชั่วโมง
  • ยาลิโดเคน (Lidicaine) เป็นยาชาที่ออกฤทธิ์ไวเช่นกัน โดยจะออกฤทธิ์ภายในเวลา 2-3 นาทีหลังจากฉีดยา จัดเป็นยาชาที่ได้รับความนิยมที่สุดก็ว่าได้ เนื่องจากค่อนข้างปลอดภัย ทำให้เกิดอาการชาได้อย่างแน่นอน นอกจากนี้ยังสามารถใช้เป็นยารักษาอาการหัวใจเต้นผิดจังหวะได้อีกด้วย
  • ยาเตตราเคน (Tetracaine) เป็นยาชาที่ออกฤทธิ์ช้า แต่อยู่ได้นาน มักเป็นยาในรูปแบบยาหยอด หรือยาทาผิวหนัง โดยบริเวณที่นิยมใช้ยาชาตัวนี้ ได้แก่ ดวงตา จมูก ปาก คอ

ชนิดของยาชาเมื่อแบ่งตามสูตรทางเคมี

สามารถแบ่งได้ 2 กลุ่มใหญ่ๆ

1. ยาชากลุ่ม Aminoamides

เป็นกลุ่มยาชาที่ได้รับความนิยมมากขึ้นในปัจจุบัน ได้แก่

  • ยาลิโดเคน เป็นยาชาที่ได้รับความนิยมมากที่สุดก็ว่าได้ เพราะออกฤทธิ์ไว ปลอดภัย มีหลายรูปแบบ อีกทั้งสามารถใช้ได้ทั้งกับผู้ป่วยทารก และผู้ใหญ่
  • ยาไดบูเคน (Dibucaine) เป็นยาชาที่ใช้ในกรณีเกิดบาดแผลฉีกขาด แผลถูกไฟไหม้ ถูกแดดเผา ถูกของมีคมบาด รวมถึงอาการเจ็บปวดจากโรคริดสีดวงทวาร
  • ยาไพรโลเคน (Prilocaine) เป็นยาชาที่มีพิษต่อร่างกายน้อย แต่อาจต้องรอประมาณ 2-4 นาที ยาจึงจะออกฤทธิ์
  • ยาเมพิวาเคน (Mepivacaine) เป็นยาชาที่ออกฤทธิ์เร็ว มีผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือดน้อย จึงทำให้ฤทธิ์ยาอยู่ได้นาน สามารถใช้ได้กับผู้ป่วยที่มีอาการข้างเคียงจากยาบีบหลอดเลือดง่ายด้วย
  • ยาบิวพิวาเคน (Bupivacaine) เป็นยาชาที่มีฤทธิ์แรงกว่ายาลิโดเคนถึง 4 เท่า รวมถึงมีระยะเวลาการออกฤทธิ์ที่นาน ทั้งยังช่วยลดอาการปวดหลังการผ่าตัดได้อีกด้วย
  • ยาอีทิโดเคน (Etidocaine) เป็นยาชาอีกชนิดที่มีฤทธิ์แรงกว่ายาลิโดเคน 4 เท่า และยังออกฤทธิ์ได้นาน จึงนิยมใช้ในการผ่าตัดที่ใช้เวลานาน
  • ยาโรพิวาเคน (Ropivacaine) เป็นยาชาที่เป็นพิษต่อหัวใจน้อย ออกฤทธิ์ได้นาน มักถูกใช้สำหรับลดอาการเจ็บปวดขณะเจ็บคลอด และภาวะเจ็บปวดเรื้อรังอื่นๆ ด้วย

2. ยาชากลุ่ม Aminoesters

เป็นยาชากลุ่มที่ได้รับความนิยมน้อยลงในปัจจุบัน เนื่องจากทำให้เกิดอาการแพ้ยาชาได้ง่าย เช่น

มีคำถามเกี่ยวกับ ยาชา? สอบถามฟรีทาง LINE รับคำตอบได้ทันที ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อความสบายใจของคุณ

  • ยาโคเคน (Cocaine) เป็นยาชาที่มีฤทธิ์เป็นยาเสพติดชนิดหนึ่ง แต่ก็ยังสามารถใช้ทำให้หลอดเลือดหดตัวสำหรับการผ่าตัดทางหู คอ จมูกได้
  • ยาโปรเคน (Procaine) เป็นยาชาที่ออกฤทธิ์ได้สั้น อีกทั้งไม่สามารถเก็บยาไว้ได้นาน ถึงแม้จะเป็นพิษต่อร่างกายน้อยมากก็ตาม จึงทำให้แพทย์ไม่ค่อยนิยมใช้ยาตัวนี้มากนักในปัจจุบัน
  • ยาคลอโรโพเคน (Chloroprocaine) เป็นยาชาที่ออกฤทธิ์ได้เร็ว เป็นพิษต่อร่างกายน้อย แต่มีข้อเสีย คือ ต้องใส่สารที่ทำให้ยาคงตัวอยู่ได้นานเพิ่มเติม ซึ่งมีผลทำให้กล้ามเนื้อหลังของผู้ป่วยแข็งเกร็งได้
  • ยาเตตราเคน มีคุณสมบัติอย่างที่กล่าวไปข้างต้นว่า ออกฤทธิ์ช้า แต่อยู่ได้นาน อย่างไรก็ตาม ยาตัวนี้มีพิษต่อร่างกายมาก จึงทำให้ความนิยมในการใช้ยานี้เริ่มลดลง
  • ยาเบนโซเคน (Benzocaine) เป็นยาชาที่มีคุณสมบัติละลายน้ำได้ไม่ดี จึงทำให้ผู้ป่วยเกิดความระคายเคืองหลังจากฉีดได้

ผลข้างเคียงจากการใช้ยาชา

ยาชาจัดเป็นยาที่ต้องใช้ผ่านแพทย์เท่านั้น เพื่อความปลอดภัยและไม่ส่งผลข้างเคียงต่อผู้ป่วย เพราะยังมีโอกาสที่ผู้ป่วยบางรายจะเกิดอาการแพ้ยาชาได้ เช่น

  • ปวดศีรษะ
  • ตาลอย
  • หูอื้อ
  • รู้สึกขมปาก
  • ริมฝีปาก และลิ้นชา
  • กล้ามเนื้อใบหน้ากระตุก
  • คลื่นไส้อาเจียน
  • หน้ามืดคล้ายจะหมดสติ
  • ใจสั่น
  • กล้ามเนื้อบิดเกร็ง

ผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นมักเป็นผลข้างเคียงที่เกิดเฉพาะที่ มีผู้ป่วยเพียงส่วนน้อยทีเกิดผลข้างเคียงทั้งระบบ ซึ่งหากอาการแพ้ยาชารุนแรงมาก ผู้ป่วยก็อาจไม่รู้สึกตัวเลย หัวใจเต้นช้าลง หรือหัวใจล้มเหลว เลือดเป็นกรดสูง และเสียชีวิตได้

แพทย์ผู้จ่ายยาชาจะต้องสังเกตอาการผู้ป่วยในระหว่างใช้ยาชาให้ดีว่า มีอาการผิดปกติใดเกิดขึ้นระหว่างใช้ยาชาหรือไม่ ผู้ป่วยสามารถพูดคุยโต้ตอบกับคนรอบข้างได้หรือเปล่า หรือหากสามารถพูดตอบได้ ผู้ป่วยมีอาการปากเบี้ยว หรือปากกระตุกหรือไม่

โดยปกติ ก่อนให้ยาชาผู้ป่วย แพทย์จะสอบถามประวัติการแพ้ยา ประเมินบาดแผล และโรคประจำตัวของผู้ป่วย รวมถึงพิจารณาขนาดเข็มฉีดยา ปริมาณยาชาที่จะใช้ ความเร็วในการฉีดยาเข้าร่างกาย ตำแหน่งของร่างกายที่จะฉีดยาชาให้ก่อนอยู่แล้ว เพื่อไม่ให้เกิดผลข้างเคียงร้ายแรง

เนื่องจากยาชาสามารถเปลี่ยนเป็นยาพิษต่อร่างกายได้หากฉีดเกินขนาด หรือหากแพทย์ฉีดเข้าเส้นเลือดได้ไม่แม่นยำมากพอ จนส่งผลกระทบต่อระบบต่างๆ ของร่างกาย เช่น

  • ผลกระทบต่อระบบประสาทส่วนกลาง ผู้ป่วยจะมีอาการมึนงง ตาลอย เห็นภาพซ้อน มีเสียงดังในหู ง่วงนอน มีอาการสั่น หรือกระตุกตามมา และอาจกลายเป็นอาการชักทั้งตัวได้ ผู้ป่วยบางรายอาจหยุดหายใจ และหมดสติลง ซึ่งต้องรีบนำตัวส่งโรงพยาบาลโดยด่วน
  • ผลกระทบต่อระบบไหลเวียนโลหิต อัตราการเต้นของหัวใจผู้ป่วยอาจเกิดความผิดปกติได้ หรืออาจส่งผลให้ระบบไหลเวียนโลหิตล้มเหลวจนไม่สามารถรับยาชาได้อีก

หากมีความกังวลใจเกี่ยวกับการใช้ยาอาจปรึกษาแพทย์ผู้ดูแลก่อนเริ่มทำหัตถการทุกครั้ง หรือหากไม่มีเวลาไปพบแพทย์ ปัจจุบันหลายแห่งก็มีบริการปรึกษาแพทย์ออนไลน์ (วีดีโอคอล) เช่นกัน หรือจะโทรศัพท์ขอคำปรึกษาเบื้องต้นจากแพทย์ก่อนก็ได้

กลุ่มผู้ที่ต้องระมัดระวังในการใช้ยาชา 

คือ กลุ่มผู้ที่ป่วยเป็นโรคเกี่ยวกับระบบไหลเวียนโลหิต หรือกำลังใช้ยาห้ามการแข็งตัวของเลือด (Anticoagulant therapy) เพราะยาชาสามารถส่งผลให้ผู้ป่วยมีอาการเลือดหยุดยาก หรือมีอาการข้างเคียงบางอย่างตามมาหลังรับยาชาได้ เช่น

  • ผู้ป่วยโรคตับ
  • ผู้ป่วยโรคไต
  • ผู้ป่วยโรคความดันโลหิต
  • ผู้ป่วยโรคหัวใจ
  • ผู้ป่วยโรคเลือดไหลไม่หยุด (Hemopholia)
  • ผู้ป่วยโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว
  • ผู้ป่วยที่ต้องใช้ยาสเตียรอยด์ (Steroid)
  • ผู้ป่วยที่ใช้ยารักษาภาวะซึมเศร้า เช่น ยากลุ่ม Tricyclic antidepressants หรือยากลุ่ม MAOIs (Monoamine oxidase inhibitors)

ผลกระทบที่อาจตามมาซึ่งไม่เกี่ยวกับฤทธิ์ของยาชา

ผู้ป่วยมีอาการกลัวเข็มฉีดยาจนดิ้นขณะแพทย์ฉีดยาชาให้ เพราะยาชาส่วนมากมักยังอยู่ในรูปของการฉีดมากกว่ารูปแบบอื่น จึงทำให้ผู้ป่วยเด็ก ผู้ป่วยที่มีความผิดปกติทางสมอง ผู้ป่วยที่วิตกกังวลเกี่ยวกับเข็มฉีดยา จึงอาจเกิดอาการบาดเจ็บจากเข็มฉีดยาหักได้

กรณีเช่นนี้แพทย์อาจพิจารณาวางยาสลบให้ผู้ป่วยกลุ่มเหล่านี้ก่อนฉีดยาชาให้

การใช้ยาชาเพื่อรักษาอาการบาดเจ็บต่างๆ ควรอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ เพราะต้องมีการพิจารณาหลายๆ ปัจจัยในการใช้ยาชนิดนี้เพื่อความปลอดภัยต่อตัวผู้ป่วย

หากเกิดอาการบาดเจ็บ หรือรู้สึกปวดแสบร่างกายจนอยากได้ยาชามาบรรเทาอาการเจ็บปวด ไม่ควรหาซื้อยาชามาฉีดเอง เพราะสามารถส่งผลข้างเคียงที่เป็นอันตรายได้ แต่ควรไปพบแพทย์เพื่อที่จะได้รับการรักษาที่เหมาะสม และปลอดภัยต่อไป


ตรวจสอบความถูกต้องโดย นพ. พิสุทธิ์ พงษ์ชัยกุล

มีคำถามเกี่ยวกับ ยาชา? สอบถามฟรีทาง LINE รับคำตอบได้ทันที ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อความสบายใจของคุณ

หากคุณติดตั้ง LINE บนคอมพิวเตอร์ของคุณแล้ว ระบบจะเปิดบัญชีทางการ LINE ของ Jib AI ผู้ช่วยสุขภาพ โดยอัตโนมัติ

หากคุณยังไม่ได้ติดตั้ง LINE บนเดสก์ท็อป โปรดสแกน QR โค้ดด้วย LINE บนโทรศัพท์มือถือของคุณเพื่อเริ่มแชทกับ Jib AI ผู้ช่วยสุขภาพ