มะเร็งปากมดลูก เป็นโรคมะเร็งในผู้หญิงที่พบมากเป็นอันดับ 2 รองจากมะเร็งเต้านม รายงานปีล่าสุดพบว่า ผู้ป่วยด้วยโรคมะเร็งปากมดลูกรายใหม่ราว 9,900 ราย หรือหมายถึงว่า ทุกๆ วันจะพบผู้ป่วยด้วยโรคมะเร็งปากมดลูกรายใหม่สูงถึง 27 คน
มะเร็งปากมดลูกไม่เพียงเป็นมะเร็งชนิดที่พบมากแล้ว มะเร็งปากมดลูกยังคร่าชีวิตผู้หญิงไทยมากเป็นอันดับสองด้วย เฉลี่ยถึงวันละ 14 คน ด้วยเหตุนี้มะเร็งปากมดลูกจึงเป็นโรคที่น่ากลัวไม่น้อย
สารบัญ
- เชื้อไวรัส HPV คืออะไร?
- ความร้ายแรงของเชื้อไวรัส HPV
- อาการผิดปกติ เมื่อติดเชื้อเอชพีวี
- วัคซีนมะเร็งปากมดลูก หรือวัคซีน HPV คืออะไร?
- กำหนดฉีดวัคซีน HPV
- ข้อห้ามในการฉีดวัคซีน HPV
- ก่อนฉีดวัคซีนต้องตรวจว่า เคยติดเชื้อ HPV มาก่อนหรือไม่?
- หากตรวจพบการติดเชื้อ HPV จะสามารถฉีดวัคซีนได้หรือไม่?
- ฉีดวัคซีน HPV แล้วมีสิทธิติดเชื้อ HPV ไหม?
- ฉีดวัคซีน HPV แล้วป้องกันได้กี่ปี?
- ผลข้างเคียงจากการฉีดวัคซีน HPV คืออะไร?
- ฉีดวัคซีน HPV ได้ที่ไหน ราคาเท่าไร
- คำถามที่พบบ่อย
เชื้อไวรัส HPV คืออะไร?
สาเหตุหลักที่ทำให้ป่วยเป็นมะเร็งปากมดลูกนั้นเกิดจากการติดเชื้อไวรัสเอชพีวี (Human Papilloma Virus: HPV) ไม่เพียงแต่ผู้หญิงเท่านั้นที่ติดเชื้อไวรัสเอชพีวีได้ ผู้ชายก็สามารถติดเชื้อชนิดนี้ได้เช่นกันและส่งผลให้เกิดโรคตามมาด้วย
เชื้อเอชพีวี (HPV) เป็นไวรัสที่มีมากกว่า 100 สายพันธุ์ สามารถติดต่อทางเพศสัมพันธ์ รวมถึงการสัมผัสบาดแผลตามเยื่อบุผิวที่ปากมดลูก ปากช่องคลอด ปากทวารหนัก หรือปลายองคชาต และการแพร่เชื้อจากแม่สู่ลูกในขณะคลอด
ปัจจุบันพบว่า มีเชื้อเอชพีวีอย่างน้อย 15 สายพันธุ์ที่ทำให้เกิดโรคมะเร็งได้ โดยสายพันธุ์ที่ถือว่า มีความเสี่ยงสูงในการก่อให้เกิดมะเร็งปากมดลูกคือ 16 และ 18
99.7% ของผู้หญิงที่เป็นมะเร็งปากมดลูก มีสาเหตุมาจากการติดเชื้อไวรัสเอชพีวีนั่นเอง
ความร้ายแรงของเชื้อไวรัส HPV
ทั้งนี้ไวรัส HPV ไม่เพียงทำให้เกิดโรคมะเร็งปากมดลูกเท่านั้น แต่ยังทำให้เกิดโรคอื่นๆ ได้ด้วย
- สำหรับผู้หญิง การติดเชื้อ HPV เป็นสาเหตุทำให้เกิดมะเร็งที่ช่องคลอด ปากช่องคลอด ทวารหนัก มะเร็งบริเวณปาก และลำคอ หูดหงอนไก่ ทั้งยังเชื่อมโยงกับการเกิดโรคหัวใจด้วย
- สำหรับผู้ชาย การติดเชื้อ HPV อาจเป็นสาเหตุทำให้เกิดมะเร็งที่อวัยวะเพศ ทวารหนัก มะเร็งบริเวณปากและลำคอ หูดหงอนไก่
แม้ว่า 90% ของผู้ติดเชื้อไวรัสเอชพีวีที่มีสุขภาพแข็งแรงและมีภูมิคุ้มกันดีจะสามารถกำจัดเชื้อได้เอง แต่ก็มีผู้ป่วยราว 10 % ที่ติดเชื้อเอชพีวีกลุ่มความเสี่ยงสูงซึ่งเชื้อจะไปอาศัยอยู่ในเซลล์ปากมดลูกนานกว่า 6 เดือน
ผู้ป่วยราว 1% ที่หลังจากเชื้อเอชพีวีกลุ่มความเสี่ยงสูงแล้ว เซลล์บริเวณปากมดลูกจะกลายเป็นเซลล์ผิดปกติในระยะก่อนเป็นมะเร็ง จากนั้นจะเกิดเป็นมะเร็งในที่สุด
นอกจากนี้ยังมีรายงานว่า 1 ใน 1,000 ของผู้ที่ติดเชื้อเอชพีวีกลุ่มความเสี่ยงสูง มีโอกาสเป็นมะเร็งปากมดลูกได้หากมีเชื้อเอชพีวีไปอาศัยอยู่ในเซลล์เนื้อเยื่อนานกว่า 10 ปี ขึ้นไป
อาการผิดปกติ เมื่อติดเชื้อเอชพีวี
มะเร็งปากมดลูกส่วนมากจะพบในผู้หญิงวัย 30-55 ปี ผู้ที่มีเชื้อไวรัสชนิดนี้มักจะยังไม่มีอาการแสดงใดๆ เกิดขึ้นนานนับปี นั่นทำให้ผู้ป่วยไม่รู้ตัว และยังสามารถแพร่เชื้อไปสู่ผู้อื่นได้โดยไม่รู้ตัว
กว่าผู้ป่วยจะรู้ตัวว่า มีความผิดปกติเกิดขึ้นกับตนแน่ๆ แล้ว ก็คือ มีอาการเหล่านี้
- เลือดออก
- มีตกขาวผิดปกติ
- อวัยวะเพศแสบร้อน
- มีก้อนเนื้อขนาดใหญ่อุดกั้นบริเวณท่อปัสสาวะ ช่องคลอด หรือทวารหนัก ทำให้มีอาการคันและปวดตามมา
แม้ว่า โรคมะเร็งปากมดลูกจะน่ากลัวและมีความรุนแรง เสี่ยงต่อการเสียชีวิต หากได้รับการรักษาไม่ทันท่วงที แต่ปัจจุบันมีวิธีป้องกัน หรือลดความเสี่ยงการเกิดมะเร็งปากมดลูกที่มีประสิทธิภาพพอสมควรและไม่ยุ่งยาก นั่นคือ การฉีดวัคซีนป้องกันการติดเชื้อ HPV
วัคซีนมะเร็งปากมดลูก หรือวัคซีน HPV คืออะไร?
วัคซีน HPV ที่ใช้ในปัจจุบันมีทั้งหมด 2 ชนิด ได้แก่
- วัคซีน 2 สายพันธุ์ (Cervarix) สามารถป้องกันเชื้อไวรัสเอชพีวีสายพันธุ์ 16 และ 18 ที่ทำให้เกิดมะเร็งปากมดลูก สามารถฉีดได้ตั้งแต่อายุ 9 ปีขึ้นไป
- วัคซีน 4 สายพันธุ์ (Gardasil) สามารถป้องกันทั้งเชื้อไวรัสเอชพีวีสายพันธุ์ 16, 18 และสายพันธุ์ 6, 11 ที่เป็นสาเหตุของโรคหูดหงอนไก่ และมะเร็งทวารหนักได้ เดิมฉีดได้ในช่วงอายุ 9-26 ปี แต่ปัจจุบันมีการศึกษารับรองว่า สามารถฉีดได้จนถึงอายุ 45 ปีแล้ว ส่วนผู้ชายสามารถฉีดได้ในช่วงอายุ 9-26 ปี
วัคซีนชนิด 2 สายพันธุ์มีประสิทธิภาพในการป้องกันมะเร็งปากมดลูกจากเชื้อ HPV สายพันธุ์ 16 และ 18 ได้มากถึง 70%
ในอนาคตจะมีวัคซีนชนิด 9 สายพันธุ์ (Gardasil 9) ออกมาทดแทนวัคซีน 4 สายพันธุ์ สามารถป้องกันทั้งเชื้อไวรัสเอชพีวีสายพันธุ์ 16,18, 31, 33, 45, 52, 58 และป้องกันหูดหงอนไก่ที่เกิดจากเชื้อเอชพีวีสายพันธุ์ 6,11 ได้รับการอนุมัติให้ใช้ในผู้หญิงอายุ 9-26 ปีและผู้ชายอายุ 9-15 ปี
วัคซีนเหล่านี้ทำจากโปรตีนที่คล้ายไวรัสและไม่ทำให้เกิดการติดเชื้อแบบเดียวกับเชื้อ HPV แต่ละชนิด วัคซีนสามารถกระตุ้นให้ระบบภูมิคุ้มกันสร้างภูมิคุ้มกันออกมาต่อสู้กับโปรตีนเหล่านี้ซึ่งรวมถึงไวรัสที่โปรตีนเลียนแบบมาด้วย และสามารถป้องกันการติดเชื้อ HPV ได้อย่างน้อย 8-10 ปี
กำหนดฉีดวัคซีน HPV
อายุ 9-14 ปี ฉีดวัคซีนเข้ากล้ามเนื้อบริเวณต้นแขน แบบ 2 เข็ม
- ฉีดเข็มแรกทันที
- ฉีดเข็มที่ 2 นับจากเข็มแรก 6-12 เดือน
อายุ 15 ปีขึ้นไป ฉีดวัคซีนเข้ากล้ามเนื้อบริเวณต้นแขน 3 เข็ม ในเดือนที่ 0, 1-2 และ 6
- ฉีดเข็มแรกทันที
- ฉีดเข็มที่ 2 นับจากเข็มแรก 1-2 เดือน
- ฉีดเข็มที่ 3 นับจากเข็มแรก 6 เดือน
วัคซีนจะมีประสิทธิภาพสูงสุดหากฉีดครบตามตาราง หากฉีดตั้งแต่อายุยังน้อย หรือฉีดก่อนการมีเพศสัมพันธ์ครั้งแรก วัคซีนนี้จะช่วยป้องกันได้อย่างเต็มประสิทธิภาพเนื่องจากยังไม่เคยได้รับเชื้อมาก่อน
แต่หากมีเพศสัมพันธ์แล้วก็สามารถฉีดวัคซีน HPV ได้เช่นกัน เพียงแต่ประสิทธิภาพการป้องกันอาจจะลดลง
หากพบว่า มีประวัติเรื่องของการถูกทารุณกรรมทางเพศ หรือถูกทำร้ายร่างกาย ผู้หญิงสามารถฉีดวัคซีนได้จนถึงอายุ 26 ปี และผู้ชายสามารถรับวัคซีนได้จนถึงอายุ 21 ปี หากไม่ได้รับวัคซีนมาก่อนในช่วงอายุที่แนะนำให้ฉีด หรือได้รับวัคซีนไม่ครบ
นอกจากนั้นศูนย์ป้องกันและควบคุมโรคยังแนะนำให้ฉีดวัคซีนในผู้ชายทุกคนที่มีเพศสัมพันธ์กับผู้ชาย ผู้ชายที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่องซึ่งรวมถึงจากการติดเชื้อ HIV จนถึงอายุ 26 ปี
ข้อห้ามในการฉีดวัคซีน HPV
- ผู้หญิงที่แพ้สารประกอบในวัคซีน
- ผู้หญิงที่อยู่ระหว่างตั้งครรภ์
หากมีข้อสงสัยเกี่ยวโรคมะเร็งปากมดลูก แต่ไม่สะดวกไปพบแพทย์ด้วยตนเอง ปัจจุบันมีบริการปรึกษาสูตินรีแพทย์ทางออนไลน์แล้ว เรียกว่า สะดวกสบาย และช่วยไขข้อข้องใจเกี่ยวกับมะเร็งทางนรีเวชได้ภายในระยะเวลาไม่นาน
ก่อนฉีดวัคซีนต้องตรวจว่า เคยติดเชื้อ HPV มาก่อนหรือไม่?
โดยทั่วไปสามารถฉีดวัคซีนป้องกันเชื้อ HPV ได้เลย ไม่จำเป็นต้องตรวจภายใน ตรวจหาเชื้อ HPV หรือตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกก่อน โดยเฉพาะผู้ที่ยังไม่เคยมีเพศสัมพันธ์มาก่อน
แต่การตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกก่อน มีประโยชน์ตรงที่หากตรวจพบความความผิดปกติของเซลล์บริเวณช่องคลอด หรือปากมดลูก แพทย์อาจพิจารณาให้เข้ากระบวนการรักษามะเร็งแทนการฉีดวัคซีนป้องกัน
ส่วนกรณีการตรวจหาเชื้อ HPV จากปากมดลูก ผลแสดงการตรวจจะไม่ได้ระบุเฉพาะเจาะจงสายพันธุ์ และหากตรวจพบว่า มีการติดเชื้อ HPV อยู่แล้ว ก็ยังแนะนำให้ฉีดวัคซีนป้องกันเชื้อ HPV อยู่ดี
หากตรวจพบการติดเชื้อ HPV จะสามารถฉีดวัคซีนได้หรือไม่?
หากตรวจพบการติดเชื้อ HPV แล้ว ยังสามารถฉีดวัคซีนได้ แต่วัคซีนนั้นจะป้องกันเฉพาะเชื้อ HPV สายพันธุ์ที่ยังไม่ติดเชื้อเท่านั้น และวัคซีนนี้ก็ไม่สามารถรักษา หรือทำลายเชื้อ HPV สายพันธุ์ที่ตรวจพบแล้วได้
ฉีดวัคซีน HPV แล้วมีสิทธิติดเชื้อ HPV ไหม?
วัคซีน HPV ไม่สามารถป้องกันไวรัส HPV ได้ทุกสายพันธุ์ ดังนั้นแม้จะได้รับวัคซีนครบก็เป็นเพียงแค่การลดความเสี่ยงในการเกิดโรคเท่านั้น ไม่ใช่ป้องกันการเกิดโรค 100%
ดังนั้นควรตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก ด้วยวิธี Pap Smear หรือตรวจด้วยวิธี Thin Prep ตามปกติ
ที่สำคัญถึงจะฉีดวัคซีนแล้วก็อย่าเพิ่งชะล่าใจ ไม่ใช้ถุงยางอนามัยอย่างถูกวิธีเมื่อมีเพศสัมพันธ์ เนื่องจากวัคซีน HPV ทั้งแบบ 2 สายพันธุ์ และ 4 สายพันธุ์ ไม่สามารถป้องกันเชื้อไวรัสเอชพีวีสายพันธุ์อื่นๆ ได้ รวมทั้งไม่สามารถป้องกันโรคทางเพศสัมพันธ์อื่นๆ ได้
ฉีดวัคซีน HPV แล้วป้องกันได้กี่ปี?
ใน 1 คอร์ส ต้องฉีดวัคซีน HPV 3 เข็ม หลังจากนั้นวัคซีนจะช่วยป้องกันการติดเชื้อ HPV สายพันธุ์ที่มีอยู่ในวัคซีนที่เลือกฉีด ซึ่งสามารถช่วยลดโอกาสในการเกิดโรคได้ แต่ไม่ได้ป้องกันการเกิดโรคได้ 100% หลังฉีดวัคซีนแล้วจึงยังควรตรวจภายในตามปกติ
ส่วนระยะเวลาในการป้องกันนั้น ข้อมูลปัจจุบันพบว่า ภายหลังการฉีดวัคซีนเอชพีวี 10 ปี ระดับภูมิคุ้มกันจะยังมีอยู่ในร่างกายตลอดชีวิตโดยไม่ต้องมีการฉีดกระตุ้น แต่ควรติดตามผลข้อมูลทางการแพทย์เป็นระยะๆ
ผลข้างเคียงจากการฉีดวัคซีน HPV คืออะไร?
ผลข้างเคียงจากการรับวัคซีน HPV นั้นมีน้อยมาก แต่ก็ใช่ว่าจะไม่มีเลย โดยอาจมีอาการเจ็บ บวม หรือแดงบริเวณที่ฉีดวัคซีน เป็นไข้ อาการเหล่านี้อาจเกิดขึ้นชั่วคราวและสามารถหายเองได้
นอกจากนี้อาจทำให้เกิดอาการหน้ามืด เป็นลมหลังจากได้รับวัคซีน แต่ก็ถือว่า มีโอกาสน้อยมาก อย่างไรก็ดี คุณสามารถลดความเสี่ยงที่จะเป็นลมได้โดยการนั่งพักประมาณ 15-20 นาทีหลังจากการรับวัคซีน
ฉีดวัคซีน HPV ได้ที่ไหน ราคาเท่าไร
ปัจจุบันมีการรณรงค์ให้ทั้งผู้หญิงและผู้ชายมาฉีดวัคซีน HPV กันมากยิ่งขึ้นเพราะเป็นวัคซีนที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันไวรัส HPV สูง ทำให้โรงพยาบาลรัฐและเอกชนรวมทั้งคลินิกที่ได้มาตรฐาน มีบริการฉีดวัคซีน HPV อย่างแพร่หลาย
สำหรับค่าวัคซีน HPV อยู่ที่เข็มละประมาณ 2,000 บาท ขึ้นอยู่กับชนิดของวัคซีนและค่าบริการทางการแพทย์ของแต่ละโรงพยาบาล
คำถามที่พบบ่อย
1. วัคซีนป้องกัน HPV 4 สายพันธุ์ หากผู้ชายฉีดจะสามารถป้องกันการเกิดมะเร็งองคชาต (Penile cancer) ด้วยหรือไม่?
คำตอบ วัคซีน HPV 4 สายพันธุ์ (Gardasil) ไม่ได้ป้องกันการเกิดมะเร็งองคชาต 100% แต่สามารถป้องกันการติดเชื้อ HPV สายพันธุ์ที่ทำให้เกิดมะเร็งองคชาตได้
เนื่องจากวัคซีนดังกล่าวสามารถป้องกันการติดเชื้อ HPV สายพันธุ์ 6, 11, 16 และ 18 ซึ่งจากสถิติมะเร็งองคชาตประมาณ 31% มีสาเหตุจากการติดเชื้อ HPV สายพันธุ์ 16 หรือ 18
2. หากกำลังรับประทานยาปฏิชีวนะ หรือยาฆ่าเชื้ออยู่ จะมีผลต่อประสิทธิภาพของวัคซีน HPV หรือไม่?
คำตอบ ยาปฏิชีวนะไม่มีผลต่อประสิทธิภาพของวัคซีน HPV
3. หลังฉีดวัคซีน HPV สามารถบริจาคเลือดได้หรือไม่?
คำตอบ อ้างอิงข้อมูลจากสภากาชาดไทย หลังรับวัคซีน HPV สามารถบริจาคเลือดได้ หากไม่มีอาการข้างเคียงจากการได้รับวัคซีน ส่วนวัคซีนอื่นๆ จะต้องสอบถามแพทย์ก่อน
อย่างไรก็ดี แม้ว่าจะฉีดวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูกครบคอร์สแล้ว แต่เมื่อถึงวัยที่ต้องตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกก็ไม่ควรละเลย เนื่องจากวัคซีนที่ฉีดไปอาจไม่ครอบคลุมเชื้อไวรัส HPV ที่ก่อโรคทุกสายพันธุ์ รวมทั้งเชื้อไวรัสอาจมีการกลายพันธุ์ หรือพัฒนาไปได้โดยที่เราไม่รู้