ลิ้นของคุณสามารถเกิดความผิดปกติได้หลายแบบ เช่น เจ็บลิ้น ปวด ลิ้นเป็นแผล บวม รับรสเปลี่ยนไปจากปกติ เปลี่ยนสี เปลี่ยนสัมผัส ปัญหาส่วนมากนั้นมักจะไม่น่ากังวลแต่บางครั้งก็อาจจะเป็นอาการที่เกิดจากโรคประจำตัวที่ต้องได้รับการรักษา คุณสามารถป้องกันปัญหาเกี่ยวกับลิ้นหลายอย่างได้ด้วยการดูแลสุขภาพทางช่องปาก หากคุณมีปัญหาเกี่ยวกับลิ้นแล้ว อาจจะมีวิธีการง่ายๆ บางอย่างที่สามารถช่วยบรรเทาอาการได้
สารบัญ
อาการของปัญหาที่เกี่ยวกับลิ้น
อาการที่คุณอาจจะพบว่าเกี่ยวกับลิ้นเช่น
- เจ็บลิ้น
- ลิ้นเป็นแผล
- สูญเสียการรับรสหรือรับรสเปรี้ยว เข็ม ขม หรือหวานผิดไปจากปกติ
- ขยับลิ้นได้ลำบาก
- ลิ้นบวม
- ลิ้นเปลี่ยนสีหรือมีปื้นสีขาว สีชมพู สีดำหรือน้ำตาลขึ้นที่ลิ้น
- อาการปวดซึ่งอาจจะเกิดทั้งลิ้นหรือเฉพาะบางส่วนก็ได้
- รู้สึกแสบร้อนทั้งลิ้นหรือเฉพาะบางส่วน
- มีปื้นสีแดงหรือขาวและมักจะมีอาการเจ็บ
- ลิ้นดูฟูหรือมีขนมากขึ้น
สาเหตุ
สาเหตุของอาการแสบร้อนที่ลิ้น อาการนี้มักจะเกิดในหญิงวัยหมดประจำเดือน และยังอาจจะเกิดหลังจากสัมผัสกับสารที่ทำให้เกิดการระคายเคืองเช่นควันบุหรี่ อาการที่จำเพาะจะช่วยให้แพทย์สามารถวินิจฉัยสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการดังกล่าวได้ง่ายขึ้น
1. สาเหตุที่ทำให้ลิ้นเปลี่ยนสี
ลิ้นสีชมพูสดนั้นมักจะหมายถึงการขาดธาตุเหล็ก กรดโฟลิกหรือวิตามินบี 12 อาการแพ้กลูเตนนั้นก็อาจจะทำให้เกิดอาการนี้ได้เช่นกัน
ลิ้นสีขาวนั้นมักจะเป็นผลจากการสูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์หรือไม่ดูแลช่องปาก การมีเส้นหรือตุ่มสีขาวนั้นอาจจะเป็นการอักเสบที่เรียกว่า oral lichen planus เชื่อว่าเกิดจากการมีระบบภูมิคุ้มกันที่ผิดปกติซึ่งอาจจะเกิดจากโรคอื่นๆ เช่นโรคตับอักเสบซีหรือภูมิแพ้
2. สาเหตุที่ทำให้สัมผัสของลิ้นเปลี่ยนไป
หากลิ้นดูฟูหรือมีขนมากกว่าปกติ อาจจะเกิดจากการได้รับยาปฏิชีวนะ หรือการฉายแสงที่บริเวณศีรษะและลำคอ อาการนี้ยังอาจจะพบได้หากคุณมีการสัมผัสกับสารที่ทำให้เกิดการระคายเคืองมากเกินไปเช่นกาแฟ น้ำยาบ้วนปากหรือหากสูบบุหรี่
3. สาเหตุที่ทำให้เกิดอาการเจ็บลิ้น
อาการเจ็บที่ลิ้นมักเกิดหลังจากการได้รับบาดเจ็บหรือการติดเชื้อ หากคุณกัดลิ้นตัวเอง คุณอาจจะเกิดแผลซึ่งต้องใช้เวลาหลายวันก่อนจะหายและมักจะทำให้เกิดอาการเจ็บ การติดเชื้อที่ลิ้นนั้นพบได้ไม่ค่อยบ่อย แต่สามารถทำให้เกิดอาการปวดและระคายเคืองได้ ตุ่มรับรสที่อักเสบนั้นอาจจะเกิดหลังจากถูกกัดหรือสัมผัสกับอาหารร้อนๆ และทำให้เกิดการระคายเคือง
แผลร้อนใน เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดอาการเจ็บลิ้นหรือใต้ลิ้น แผลร้อนในเหล่านี้ไม่มีสาเหตุชัดเจน และไม่ได้เกิดจากเชื้อ herpes virus เหมือนโรคเริม ร้อนในอาจเกิดจากการบาดเจ็ฐที่ปาก การใช้ยาสีฟันหรือน้ำยาบ้วนปากที่มีสารที่ทำให้เกิดการถลอก การแพ้อาหารหรือการขาดสารอาหาร ในผู้ป่วยส่วนใหญ่มักไม่ทราบสาเหตุ แต่ก็สามารถหายได้เองโดยไม่ต้องรักษา
อีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดอาการเจ็บที่ลิ้นได้แต่น้อย คือ โรคมะเร็ง ภาวะซีด โรคเริมที่ริมฝีปาก และการระคายเคืองจากการทำฟันหรือใส่เหล็กดัดฟัน
นอกจากนั้นยังอาจจะเกิดจากความผิดปกติทางเส้นประสาทได้ ซึ่งไม่ทราบสาเหตุแน่ชัดแต่อาจจะเกิดจากปัญหาเหล่านี้
- การมีอายุเพิ่มขึ้น
- โรค multiple sclerosis
- โรคเบาหวาน
- เนื้องอก
- การติดเชื้อ
4. สาเหตุที่ทำให้ลิ้นบวม
ลิ้นบวมอาจจะเป็นอาการของโรคต่างๆ เช่น
- Down syndrome
- มะเร็งที่ลิ้น
- Beckwith-Wiedemann syndrome
- ต่อมไทรอยด์ทำงานมากกว่าปกติ
- มะเร็งเม็ดเลือดขาว
- คออักเสบจากการติดเชื้อ
- ซีด
หากลิ้นนั้นบวมอย่างฉับพลัน มักเกิดจากการแพ้ ซึ่งอาจจะทำให้มีอาการหายใจลำบาก และจัดเป็นภาวะฉุกเฉิน หากคุณมีอาการดังกล่าวควรไปพบแพทย์ทันที
5. สาเหตุที่ทำให้ลิ้นเป็นแผล
ส่วนใหญ่แผลที่ลิ้นจะเกิดจากร้อนใน และกัดลิ้นครับ บางส่วนเกิดจากการติดเชื้อและภูมิคุ้มกันผิดปกติ เบื้องต้นลองดื่มน้ำให้เพียงพอ และอาจซื้อยาทาจากร้านขายยาที่มีเภสัชกรคอยให้คำแนะนำ
ถ้าไม่ดีขึ้นหรือมีอาการผิดปกติอื่นๆ เช่น มีไข้ มีผื่น ปวดข้อ คลำได้ก้อนตามตัว แนะนำไปพบแพทย์เพื่อตรวจร่างกาย
การวินิจฉัยโรค
คุณควรไปพบแพทย์เพื่อให้แพทย์วินิจฉัยและวางแผนการรักษาโรคหากความผิดปกติที่ลิ้นนั้นรุนแรง ไม่สามารถอธิบายได้ หรือมีอาการเรื้อรังหลายวันและไม่ดีขึ้น
- มีแผลขนาดใหญ่กว่าที่เคยมี
- มีแผลเป็นซ้ำหรือเป็นบ่อย
- มีอาการปวดซ้ำหรือปวดบ่อย
- มีปัญหาเรื้อรังที่นานกว่า 2 สัปดาห์
- อาการปวดลิ้นที่ไม่ดีขึ้นหลังจากใช้ยาแก้ปวดทั่วไป
- ปัญหาเกี่ยวกับลิ้นที่เกิดร่วมกับการมีไข้สูง
- กินอาหารหรือดื่มน้ำได้ลำบาก
ในระหว่างที่ตรวจ แพทย์จะทำการตรวจลิ้นอย่างละเอียดและสอบถามประวัติเกี่ยวกับลิ้นและอาการที่คุณเป็น เช่น
- คุณมีอาการมานานเท่าไหร่
- คุณมีการรับรสที่เปลี่ยนไปหรือไม่
- คุณมีอาการปวดแบบไหน
- คุณขยับลิ้นได้หรือไม่
- คุณมีปัญหาอื่นๆ ภายในปากหรือไม่
หากแพทย์ไม่สามารถวินิจฉัยจากการตรวจได้ อาจจะต้องมีการส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการเพิ่มเติม ส่วนมากมักจะต้องมีการเก็บตัวอย่างเลือดไปตรวจหรือตัดสาเหตุที่อาจทำให้เกิดอาการดังกล่าวได้ เมื่อได้การวินิจฉัยแล้ว แพทย์ก็จะแนะนำวิธีการรักษาที่จำเพาะต่อคุณ
การรักษาที่บ้าน
คุณสามารถบรรเทา เจ็บลิ้น ลิ้นเป็นแผล หรือป้องกันปัญหาเกี่ยวกับลิ้นได้ด้วยการดูแลสุขภาพในช่องปาก แปรงฟันและใช้ไหมขัดฟันอย่างสม่ำเสมอ และไปพบทันตแพทย์เป็นประจำ
หากคุณมีแผลร้อนในหรือมีแผลที่เกิดจากการบาดเจ็บที่ปาก คุณควรใช้วิธีต่อไปนี้
- หลีกเลี่ยงอาหารร้อนและเผ็ด
- ดื่มเฉพาะน้ำเย็น และรับประทานอาหารที่ย่อยง่าย และเคี้ยวง่ายจนกว่าแผลจะหาย
- คุณอาจจะใช้ยาแก้ปวดทั่วไปเพื่อลดอาการปวด
- ล้างปากด้วยน้ำเกลืออุ่นหรือสารละลายที่ผสมระหว่างน้ำอุ่นกับเบกกิ้งโซดา
- ประคบเย็นที่แผล
- หากคุณยังคงมีอาการไม่ดีขึ้นหลังผ่านไปแล้ว 2-3 สัปดาห์ควรไปพบแพทย์