เหาและโลนเป็นปรสิตกลุ่มหนึ่งที่อาศัยอยู่บนเส้นผมและดูดเลือดมนุษย์เป็นอาหาร เหาและโลนชนิดที่แพร่หลายที่สุด คือ เหาบนหนังศีรษะ โดยเหาตัวเมียสามารถวางไข่บนโคนเส้นผมของมนุษย์ได้มากถึงวันละ 6 ฟอง ไข่เหาจะติดแน่นอยู่บนเส้นผมจากสารชนิดหนึ่งที่หลั่งจากเหาตัวเมีย หลังจากที่วางไข่แล้ว จะใช้เวลาประมาณ 1 สัปดาห์ในการฟักเป็นตัวอ่อน และจะเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว
เหาที่โตเต็มวัยจะมีขนาดเท่ากับเมล็ดงาและมองเห็นได้ยาก เนื่องจากมีสีตั้งแต่สีขาวไปจนถึงสีน้ำตาลเข้ม เหาสามารถดูดเลือดได้วันละ 4-5 ครั้ง โดยใช้ส่วนหนึ่งของปากกัดเข้าไปในผิวหนังและหลั่งสารที่ทำหน้าที่ป้องกันการแข็งตัวเพื่อดูดเลือดอย่างต่อเนื่อง
สาเหตุหลักที่ทำให้เกิดการติดเหา
เหาและโลนเป็นปรสิต การเกิดเหาบนร่างกายได้เพราะติดต่อจากคนอื่นทางใดทางหนึ่ง อาจเป็นการใช้ของร่วมกัน หรืออยู่ใกล้ชิดกับคนที่มีเหา ทำให้ติดเหาได้โดยไม่รู้ตัวแล้วเป็นพาหะทำให้คนอื่นติดเหาได้อีก เหาติดต่อได้จากวิธีต่างๆ เหล่านี้
- การสัมผัสโดยตรง: เหาสามารถแพร่กระจายได้ง่ายเมื่อสัมผัสกับคนที่มีเหา เช่น การกอด หรือเล่นกับเด็กที่มีเหา
- การใช้สิ่งของร่วมกัน: การใช้หวี หมวก หมอน หรือเสื้อผ้าร่วมกับคนที่มีเหา อาจทำให้เหาแพร่กระจาย
- การอยู่ใกล้ชิดกันในพื้นที่แออัด: การอยู่ในพื้นที่ที่มีคนอยู่ใกล้ชิดกัน เช่น โรงเรียน หรือสถานที่ทำงาน สามารถเพิ่มความเสี่ยงในการแพร่กระจายของเหา
การติดเหาสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน แต่มักเกิดขึ้นในเด็กวัยเรียนมากกว่ากว่าช่วงวัยอื่น เพราะพวกเขาอาศัยอยู่ใกล้กันและอาจนอนในเตียงเดียวกัน ปกติแล้วการติดเหาสามารถเกิดขึ้นได้ด้วยสองวิธีเท่านั้น คือ การสัมผัสแบบตัวต่อตัวโดยตรง เช่น การกอดกันหรือเอาหัวชนกันเพื่ออ่านหนังสือเล่มเดียวกัน และอีกวิธีคือการใช้หมวก ผ้าพันคอ หรือของใช้ส่วนตัวร่วมกัน
ส่วนตัวโลนเป็นเหาที่อยู่แถวอวัยวะเพศ มักแพร่กระจายการร่วมเพศ หากพบว่าเด็กคนใดที่เป็นโรคโลน อาจหมายความได้ว่าเด็กคนนั้นตกเป็นเหยื่อของการถูกล่วงละเมิดทางเพศ
แม้การเป็นเหาจะไม่ได้เป็นอันตรายร้ายแรง แต่บางครั้งอาการแพ้ขี้เหาอาจทำให้เกิดอาการคัน โดยการเกาหนังศีรษะอย่างรุนแรงอาจนำไปสู่การทำลายชั้นผิวหนัง และอาจนำไปสู่การติดเชื้อเฉพาะที่ได้ และหากพบเหาที่อาศัยอยู่บนขนตา ก็อาจนำไปสู่การอักเสบของดวงตาและโรคตาแดง
ตำแหน่งที่พบเหาและโลน
โดยทั่วไปแล้ว มีเหาและโลนที่สามารถพบได้มากที่สุดในร่างกายมนุษย์ 3 ตำแหน่ง ได้แก่
- เหาบนหนังศีรษะ (Head Lice) : เหาบนหนังศีรษะจะเป็นปรสิตถาวร (Obligate Parasite) หรือสิ่งมีชีวิตที่ไม่สามารถอยู่รอดได้หากปราศจากมนุษย์เพื่อทำการอาศัย และไม่สามารถมีชีวิตรอดบนสัตว์มีขนชนิดอื่นๆ ได้เลย เหาสามารถเติบโตได้ทุกที่บนหนังศีรษะ แต่โดยทั่วไปมักพบในบริเวณผมที่หลังคอและผมรอบหูซึ่งเป็นที่ที่อบอุ่นที่สุด
- เหาตามตัว (Body Lice) : เหาตามตัวจะวางไข่บนเสื้อผ้าแทนที่จะวางบนร่างกายโดยตรง และมักจะเข้ามาเกาะบนร่างกายในช่วงต้องการอาหารเท่านั้น เหาชนิดนี้สามารถเป็นพาหะของโรคได้หลายชนิด เช่น โรคไข้รากสาดใหญ่ (Scrub Typhus) โรคไข้กลับ (Relapsing fever) และโรคไข้เทรนช์ (Trench fever)
- โลนตามขนอวัยวะเพศ (Public Lice) : โลน เป็น กลุ่มของเหาชนิดหนึ่งที่มีขาหน้าขนาดใหญ่ จึงทำให้มีลักษณะคล้ายปู โลนเป็นเหาที่มีขนาดเล็กที่สุดและอาศัยอยู่บริเวณขนอวัยวะเพศ ซึ่งจะมีการติดต่อจากคนสู่คนในระหว่างการร่วมเพศ
การรักษาโรคเหา
มีหลายวิธีที่สามารถกำจัดเหาได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น การใช้ผลิตภัณฑ์กำจัดเหาที่มีขายตามท้องตลาด เช่น แชมพูฆ่าเหา วิธีการทางธรรมชาติ เช่น การใช้ใบน้อยหน่า และยาตามใบสั่งแพทย์ ซึ่งล้วนแต่เกี่ยวข้องกับกระบวนการสามขั้นตอน ได้แก่ การฆ่าเหาตัวเต็มวัย การกำจัดไข่ และการทำความสะอาดพื้นที่หรือเสื้อผ้าที่ติดเหาและโลน
นอกจากกำจัดเหาและโลนที่อยู่บนตัวแล้ว ควรมีการดูดฝุ่นในบ้านอย่างละเอียด เพราะอาจมีเส้นผมที่มีไข่เหาร่วงอยู่ ซึ่งอาจทำให้เกิดการติดเหาขึ้นมาใหม่ได้ และควรทำความสะอาดผ้าคลุมเตียง ผ้าห่ม หรือเสื้อผ้าใดๆ ที่สัมผัสกับเหาด้วยน้ำร้อน จนกว่าจะไม่เจอตัวเหาอีก
การป้องกันการติดเหาหรือโลน
ไม่มีผลิตภัณฑ์หรือวิธีการใดที่พิสูจน์ว่าจะสามารถป้องกันการแพร่กระจายของเหาได้อย่างสมบูรณ์ แต่มีบางวิธีที่สามารถทำได้เพื่อลดโอกาสในการติดต่อ เช่น
- หลีกเลี่ยงการสัมผัสแบบตัวต่อตัวกับผู้อื่น
- พยายามอย่าใช้เครื่องใช้สุขอนามัยส่วนบุคคล โดยเฉพาะหวีหรือแปรงร่วมกัน
- พยายามหลีกเลี่ยงบริเวณพื้นที่สาธารณะที่มีการติดต่อได้ง่าย เช่น พื้นที่ล็อคเกอร์ที่ใช้ร่วมกัน ตะขอแขวนเสื้อ และตู้เสื้อผ้าในที่สาธารณะ
โดยรวมแล้ว เหาและโลน เป็นปรสิตที่ติดต่อกันได้ระหว่างคนสู่คน แม้จะไม่ได้เป็นอันตรายมาก แต่ก็อาจสร้างความรำคาญได้ เพราะฉะนั้นจึงควรกำจัดให้หมดสิ้นทันทีที่รู้ตัวว่าติดเหาหรือโลนมา