Default fallback image

วัคซีนรวม Tdap ป้องกัน 3 โรคร้าย บาดทะยัก คอตีบ และไอกรน สำหรับเด็กโตและผู้ใหญ่

โรคบาดทะยัก คอตีบ และไอกรน เป็นโรคเกิดจากเชื้อแบคทีเรียที่ก่ออันตรายรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต การได้รับวัคซีนจะเปรียบเสมือนเสริมเกราะป้องกัน 3 โรคร้าย ปัจจุบันมีทั้งวัคซีนเดี่ยว และวัคซีนรวมป้องกัน 3 โรคในเข็มเดียวหรือวัคซีน Tdap ที่จะพูดถึงในบทความนี้

วัคซีนรวมบาดทะยัก คอตีบ ไอกรน (Tdap) คืออะไร 

วัคซีนป้องกันโรคบาดทะยัก คอตีบ ไอกรนแบบเข็มรวมหรือวัคซีน Tdap เป็นวัคซีนเชื้อตายทำจากเชื้อไอกรน และพิษของเชื้อคอตีบและบาดทะยัก ซึ่งนำมาทำให้อ่อนฤทธิ์จนก่อโรคไม่ได้ แต่เพียงพอต่อการกระตุ้นภูมิคุ้มกันของร่างกายคนเรา

วัคซีน Tdap มีคุณสมบัติป้องกัน 3 โรคในเข็มเดียว ได้แก่ 

โรคบาดทะยัก (Tetanus, T)
เกิดจากสารพิษจากแบคทีเรีย Clostridium tetani ที่พบทั่วไปในสิ่งแวดล้อม เช่น ดิน ฝุ่น ตะปู ซึ่งเชื้อจะเข้าสู่ร่างกายทางบาดแผล ทำให้กล้ามเนื้อทั่วร่างกายหดเกร็ง ชักกระตุก อาจเกิดอาการขากรรไกรค้าง ทำให้อ้าปาก กลืน หายใจได้ยาก หรือหยุดหายใจจนเป็นเหตุให้เสียชีวิต

โรคคอตีบ (Diphtheria, D)
เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย Corynebacterium diphtheriae จากการหายใจเอาละอองเชื้อในอากาศจากผู้ป่วยที่ไอจามออกมา ตัวเชื้อจะสร้างสารพิษเป็นเนื้อเยื่อหนาในลำคอ เกาะตามทอนซิล คอหอย เพดานปาก และอุดกั้นทางเดินหายใจ อาจร้ายแรงถึงขั้นเสียชีวิต

โรคไอกรน (Pertussis, aP หรือ wP)
เป็นโรคติดเชื้อแบคทีเรีย Bordetella pertussis ในระบบทางเดินหายใจ อาการช่วงแรกคล้ายไข้หวัด มีไข้ต่ำ จาม มีน้ำมูก ถัดมาจะมีอาการไออย่างรุนแรงและควบคุมไม่ได้ ไอต่อเนื่องนานหลายสัปดาห์ ในเด็กเล็กอาจรุนแรงจนระบบหายใจล้มเหลวและเสียชีวิต 

วัคซีนรวมบาดทะยัก คอตีบ ไอกรน (Tdap) มีกี่ประเภท

วัคซีนรวมป้องกันโรคคอตีบ บาดทะยัก ไอกรน มีอยู่หลายประเภท แต่ละประเภทจะมีส่วนประกอบ สูตร และส่วนผสมต่างกันสำหรับใช้กับคนอายุต่างกันไป หลัก ๆ คือ

  • DTaP หรือ DTwP วัคซีนรวมคอตีบ บาดทะยัก ไอกรน ใช้ในทารกอายุ 6 สัปดาห์ขึ้นไปและเด็กอายุไม่เกิน 7 ปี 
  • Tdap วัคซีนรวมคอตีบ บาดทะยัก ไอกรน ใช้ในเด็กอายุ 7 ปีขึ้นไป ผู้ใหญ่ และผู้หญิงตั้งครรภ์
  • Td เป็นวัคซีนรวมบาดทะยัก คอตีบ ใช้ในเด็กโตอายุ 7 ปีขึ้นไป ผู้ใหญ่ และผู้หญิงตั้งครรภ์
  • DT วัคซีนรวมคอตีบ บาดทะยัก ใช้ในทารกอายุ 6 สัปดาห์ขึ้นไปและเด็กอายุไม่เกิน 7 ปี 

ทั้งนี้ ตัวอักษร “a” ในวัคซีน DTaP และ Tdap หมายถึง ชนิดไร้เซลล์ หรือนำเชื้อไอกรนเพียงบางส่วนมาทำวัคซีน (Acellular pertussis) เพื่อลดผลข้างเคียงจากวัคซีน แทนที่จะเป็นเชื้อไอกรนทั้งเซลล์ (Whole cell Pertussis) หรือตัวอักษร “w” ในวัคซีน DTwP

ส่วนตัวอักษรพิมพ์ใหญ่ในวัคซีน (D,T และ P) จะบอกถึงปริมาณส่วนประกอบหรือพิษจากเชื้อในวัคซีนนั้นมีปริมาณสูง เห็นได้จากวัคซีนที่ใช้ในเด็กเล็ก (DTwP และ DTaP) จะสูงกว่าวัคซีนที่ใช้ในเด็กโตและผู้ใหญ่ (Tdap) มากถึง 3–5 เท่า

ใครบ้างควรฉีดวัคซีนรวมบาดทะยัก คอตีบ ไอกรน (Tdap)

วัคซีนรวมป้องกันโรคบาดทะยัก คอตีบ ไอกรนเป็นวัคซีนพื้นฐานที่ให้ฉีดให้ทารกตั้งแต่ พ.ศ. 2520 โดยอาจเป็นวัคซีน DTaP หรือ DTwP ตามแต่ดุลยพินิจของแพทย์ เมื่อเวลาผ่านไป 10 ปี ภูมิคุ้มกันจะเริ่มลดน้อยลง จึงควรฉีดวัคซีน Tdap เป็นเข็มกระตุ้นอีกครั้งทุก ๆ 5–10 ปี 

คำแนะนำในการรับวัคซีน Tdap เป็นเข็มกระตุ้น 

  • ช่วงอายุ 11–18 ปี ควรได้รับวัคซีน Tdap 1 เข็ม แนะนำให้ฉีดในช่วงอายุ 11–12 ปี หากไม่เคยได้รับวัคซีนมาก่อน หรือได้ไม่ครบจำนวนเข็ม ให้ฉีดตั้งแต่อายุ 7 ปี
  • ช่วงอายุ 19–64 ปี ควรได้รับวัคซีน Tdap 1 เข็มอย่างน้อย 1 ครั้งในช่วงชีวิต และควรฉีดวัคซีน Tdap (หรือแทนด้วยวัคซีน Td) ทุก ๆ 10 ปี หรือ 5 ปีหากเกิดอุบัติเหตุร้ายแรง มีแผลติดเชื้อหรือแผลไฟไหม้ 
  • ผู้สูงอายุ 65 ปีขึ้นไป ควรฉีดวัคซีน Tdap 1 เข็ม
  • ผู้หญิงตั้งครรภ์ทุกคนควรได้รับวัคซีน Tdap 1 เข็ม ในช่วงอายุครรภ์ 27–40 สัปดาห์ เพื่อส่งผ่านภูมิคุ้มกันไปสู่ทารกก่อนคลอด 

คำแนะนำสำหรับผู้ใหญ่หรือผู้สูงอายุที่ไม่เคยฉีดวัคซีนมาก่อน

ผู้ใหญ่หรือผู้สูงอายุที่ไม่เคยฉีดวัคซีนมาก่อน ควรฉีดวัคซีนที่มีส่วนประกอบของคอตีบและบาดทะยัก อย่างน้อย 3 เข็ม โดยเข็มที่ 1 เริ่มได้เลย เข็มที่ 2 ห่างจากเข็ม 1 อย่างน้อย 1 เดือน และเข็มที่ 3 ห่างจากเข็ม 2 อย่างน้อย 6 เดือน

โดยทั่วไป เข็มแรกมักแนะนำให้ฉีดวัคซีน Tdap 1 เข็ม ส่วนเข็มที่ 2 และ 3 จะฉีดวัคซีน Tdap หรือวัคซีน Td ก็ได้เช่นกัน

ใครไม่ควรฉีดวัคซีนรวมบาดทะยัก คอตีบ ไอกรน (Tdap) 

หากมีอาการต่อไปนี้ แนะนำให้แจ้งแพทย์หรือเจ้าหน้าที่ก่อนรับวัคซีน  

  • เป็นโรคกิลเลน บาร์เร่ซินโดรม (Guillain-Barré Syndrome: GBS)
  • เคยได้รับวัคซีน Tdap แล้วมีอาการแพ้ส่วนผสมในวัคซีน หรือแพ้อย่างรุนแรงถึงขั้นเป็นอันตรายต่อชีวิต 
  • หลังได้รับวัคซีนโรคไอกรน (DTP, DTaP หรือ Tdap) แล้วเคยมีอาการโคม่า ระดับความรู้สึกตัวลดลง หรือชักเป็นเวลานาน โดยไม่มีสาเหตุในช่วง 7 วันหลังรับวัคซีนเข็มแรก
  • เคยมีอาการบวมหรือเจ็บปวดรุนแรงหลังรับวัคซีนป้องกันบาดทะยักหรือคอตีบ

วัคซีนรวมบาดทะยัก คอตีบ ไอกรน (Tdap) ฉีดพร้อมวัคซีนอื่นได้ไหม

วัคซีน Tdap ฉีดได้ในทุกช่วงเวลาของปี สามารถฉีดพร้อมกับวัคซีนโควิด–19 และวัคซีนชนิดอื่น ๆ ได้ 

หากป่วยก่อนรับวัคซีนรวมบาดทะยัก คอตีบ ไอกรน (Tdap) ทำอย่างไร

กรณีมีอาการเจ็บป่วย แนะนำให้ปรึกษาแพทย์ก่อนเข้ารับวัคซีน คนที่มีอาการเจ็บป่วยไม่มาก อย่างเป็นหวัดเล็กน้อย ไม่มีไข้ แพทย์อาจให้รับวัคซีนตามกำหนด ส่วนคนที่มีไข้ เจ็บป่วยปานกลางหรือป่วยหนัก แพทย์อาจให้เลื่อนการฉีดวัคซีนออกไปก่อนจนกว่าจะหายดี 

ผลข้างเคียงจากวัคซีนรวมบาดทะยัก คอตีบ ไอกรน (Tdap) 

อาการข้างเคียงจากวัคซีน Tdap ไม่รุนแรง มักมีอาการเพียงไม่กี่วัน โดยอาการพบบ่อย ได้แก่ ปวด บวม แดง คันบริเวณแขนข้างที่ฉีด มีไข้เล็กน้อย ปวดศีรษะ เหนื่อยล้า อ่อนเพลีย ปวดเมื่อยตามตัว คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย ปวดท้อง

อย่างไรก็ตาม วัคซีน Tdap อาจก่อให้เกิดอาการรุนแรง แต่พบได้น้อย เช่น ชักกระตุก ไข้สูง ชัก ไม่รู้สึกตัว และอาการแพ้วัคซีน โดยสังเกตจากอาการหายใจลำบาก หายใจมีเสียงวี้ด เสียงแหบ หอบ ตัวซีด อ่อนเพลีย เวียนศีรษะ หรือหัวใจเต้นเร็ว ซึ่งควรต้องพบแพทย์ทันที 

3 โรคร้ายใกล้ตัว คนทุกวัยเสี่ยงได้ โดยเฉพาะเจ้าตัวเล็กในบ้าน ปรึกษาคุณหมอ พร้อมรับ โปรวัคซีนรวมคอตีบ ไอกรน บาดทะยัก สำหรับเด็กทุกช่วงวัย ในราคาพิเศษที่ HDmall.co.th 

Scroll to Top