ไข้ทับระดู หรืออาการเป็นไข้ระหว่างมีประจำเดือน เป็นอาการป่วยที่ผู้หญิงหลายคนกังวล เพราะกลัวว่าอาการจะรุนแรงจนเป็นอุปสรรคต่อการดำเนินชีวิต หรือบางรายอาจเคยได้ยินได้ฟังมาว่า ไข้ทับระดุมีอาการรุนแรงถึงแก่ชีวิตได้
สารบัญ
ความหมายของไข้ทับระดู
ไข้ทับระดูเป็นอาการป่วยที่เกิดขึ้นระหว่างผู้หญิงมีประจำเดือน มีสาเหตุมาจากระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนและโปรเจสเตอโรนเปลี่ยนแปลงไป ทำให้ร่างกายเสียสมดุล และภูมิต้านทานน้อยลงจนมีโอกาสป่วยได้ง่ายขึ้น
นอกจากนี้ไข้ทับระดูยังเกิดจากในขณะที่ผู้หญิงมีประจำเดือน การทำหน้าที่ของเซลล์เม็ดเลือดขาวชนิดต่อสู้เชื้อโรคจะลดน้อยลง เป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน
อาการไข้ทับระดู
อาการของไข้ทับระดูแบ่งออกเป็น 2 แบบ ได้แก่
1. ไข้ทับระดูที่ไม่มีสภาวะโรคอื่นแอบแฝง
อาการทั่วไปจะมีอาการเหมือนเป็นไข้หวัดธรรมดา เช่น ปวดศีรษะ ตัวร้อน มีไข้ ปวดท้องน้อยร่วมกับการมีประจำเดือนตามปกติโดยไม่มีอาการอื่นใดๆ อีก
2. ไข้ทับระดูที่มีสภาวะโรคอื่นแอบแฝง
เป็นไข้ทับระดูที่ค่อนข้างอันตราย เช่น มีไข้ขึ้นสูง ปวดหลัง คลื่นไส้ อาเจียน ร่วมกับอาการปวดท้องน้อย มีตกขาวปนหนองออกมา และมีกลิ่นเหม็น
ไข้ทับระดูแบบนี้ ถ้ามีอาการรุนแรงมากขึ้นในทุกๆ รอบเดือน อาจสันนิษฐานได้ว่า เป็นโรคอุ้งเชิงกรานอักเสบ ซึ่งเกิดจากเชื้อแบคทีเรียชื่อ “คลาไมเดีย (Chlamydia trachomatis)” ซึ่งติดต่อได้จากการมีเพศสัมพันธ์ หรือทำความสะอาดบริเวณอวัยวะเพศไม่ดี
ทั้งนี้หากผู้ติดเชื้อไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้อง เชื้อจะไปทำลายท่อรังไข่ และอวัยวะอื่นๆ ที่อยู่ใกล้เคียง และถ้าปล่อยให้เป็นเรื้อรังจะก่อให้เกิดโรคแทรกซ้อนตามมา นั่นคือ ภาวะมีบุตรยาก เป็นหมัน หรือตั้งครรภ์นอกมดลูก อีกทั้งบางรายอาจถึงขั้นเสียชีวิตได้
อาการท้องเสียตอนมีประจำเดือน
อาการท้องเสียที่เกิดขึ้นระหว่างเป็นไข้ทับระดูไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อจากการรับประทานอาหาร แต่เป็นเพราะฮอร์โมนเอสโตรเจนและฮอร์โมนเซโรโทนินลดลง ซึ่งอาจทำให้เกิดอาการท้องเสียได้ และยังส่งผลให้มีอาการไม่สบายท้องอื่นๆ ด้วย เช่น ท้องอืด แน่นท้อง
การป้องกันอาการท้องเสียตอนมีประจำเดือน
ควรหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่จะกระตุ้นให้มีอาการท้องเสียมากขึ้น เช่น อาหารที่มีรสจัด หวานจัด เผ็ดจัด มันจัด ผลไม้บางชนิด และนม รวมถึงเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ด้วยเช่นกัน อีกทั้งควรหมั่นออกกำลังกายเป็นประจำก็จะช่วยลดอาการเหล่านี้ได้
การรักษาและการป้องกันไข้ทับระดู
วิธีการรักษาและป้องกันไข้ทับระดูที่ไม่มีสภาวะโรคอื่นแอบแฝงกับมีสภาวะโรคอื่นแอบแฝงจะแตกต่างกัน ดังนี้
1. ไข้ทับระดูที่ไม่มีสภาวะโรคอื่นแอบแฝง
ไข้ทับระดูสามารถรักษาตามอาการได้ทันที ถ้ามีอาการปวดศีรษะ ตัวร้อน และปวดท้องน้อย ก็ให้ใช้ยาแก้ปวดลดไข้ ยาคลายกล้ามเนื้อ หรือยาแก้ปวดประจำเดือนตามปกติ
สามารถดื่มน้ำอุ่นเพื่อขับพิษไข้ ระบายออกมาทางเหงื่อและปัสสาวะ หรือใช้ถุงน้ำร้อนประคบที่ท้องเพื่อให้เลือดประจำเดือนขับออกมาได้คล่องตัวขึ้น
นอกจากนี้ ควรดูแลทำความสะอาดอวัยวะเพศด้วยการเปลี่ยนผ้าอนามัยบ่อยๆ ทุก 4 ชั่วโมง เพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ
2. ไข้ทับระดูที่มีสภาวะโรคอื่นแอบแฝง
หากมีอาการของไข้ทับระดูชนิดนี้ ควรรีบพบแพทย์ทันที เพื่อสอบถามซักประวัติผู้ป่วย ประวัติการใช้ยา รวมถึงประวัติการมีเพศสัมพันธ์
แพทย์อาจะแนะนำให้เข้ารับการตรวจภายในเพื่อตรวจดูตกขาวที่ผิดปกติ หรือเก็บเชื้อจุลินทรีย์จากสารคัดหลั่งที่อยู่ภายในช่องคลอดและปากมดลูก เพื่อตรวจหาชนิดของเชื้อโรค ร่วมกับการตรวจเลือดกับปัสสาวะ ตรวจอัลตราซาวด์ว่าตั้งครรภ์หรือไม่ มาประกอบคำวินิจฉัยโรค
ผู้ป่วยไข้ทับระดูบางรายที่มีอาการรุนแรงมาก อาจต้องใช้วิธีส่องกล้องทางหน้าท้อง หรือสอดกล้องขนาดเล็กเข้าไปเก็บตัวอย่างชิ้นเนื้อเพิ่มเติมด้วย
ควรรับประทานยาตามที่แพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด และผู้ป่วยไข้ทับระดูต้องไปพบแพทย์เพื่อติดตามอาการอย่างต่อเนื่อง รวมถึงงดมีเพศสัมพันธ์จนกว่าจะรักษาหายขาด
หลังหายจากอาหารป่วยในช่วงแรกแล้ว ผู้ชายควรใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์ เป็นการป้องกันไม่ให้โรคแพร่กระจายได้ และไม่ควรเปลี่ยนคู่นอนบ่อยๆ เพื่อลดโอกาสเสี่ยงในการติดโรค
ในกรณีที่ฝ่ายหญิงเข้ารับการรักษาโรคแล้ว ควรพาคู่นอนไปรักษาโรคด้วย เพราะเมื่อหายขาดแล้วจะได้ไม่กลับมาเป็นซ้ำอีก
เป็นไข้ทับระดูสระผมได้ไหม?
หลายคนคงเคยได้ยินความเชื่อที่ว่า เป็นไข้ทับระดูไม่ควรสระผม เพราะจะยิ่งทำให้อาการหนักขึ้น
จริงๆ แล้วการสระผมไม่ใช่ปัจจัยหลักที่ทำให้อาการป่วยทรุดลง เพียงแต่ว่า หากสระผมขณะมีไข้ทับระดูแล้วไม่เป่าให้แห้ง ความชื้นจากเส้นผมอาจทำให้อุณหภูมิร่างกายเย็นลง และทำให้อาการป่วยรุนแรงมากขึ้น
ทางที่ดีหากต้องการสระผม หลังสระเสร็จควรเป่าให้แห้งทันที หรือหากกังวลก็สามารถไปใช้บริการสระผมที่ร้านทำผมแทนได้
ไข้ทับระดูเป็นโรคที่ไม่ร้ายแรง หากได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง และเมื่อหายแล้ว ก็ควรปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในชีวิตประจำวัน เช่น หมั่นออกกำลังกาย รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ดูแลสุขอนามัยส่วนตัว ใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์ จะช่วยให้ห่างไกลจากโรคไข้ทับระดูได้