snoring and obstructive sleep apnea disease faq scaled

ตอบ 7 ข้อสงสัย นอนกรน ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ ภัยใกล้ตัวตอนหลับ!

หลายคนอาจรู้สึกนอนกรนเป็นเรื่องปกติ ใคร ๆ ก็เป็นกัน นอกจากสร้างความรำคาญใจให้คนใกล้ตัวแล้ว ก็อาจไม่ได้อันตรายมากนัก แต่รู้หรือไม่ว่า บางคนอาจนอนกรนแล้วมีภาวะหยุดหายใจขณะหลับร่วมด้วยโดยไม่รู้ตัว และอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้  

วันนี้เรารวบรวมข้อสงสัยเกี่ยวกับอาการนอนกรน และการหยุดหายใจขณะหลับมาฝากกัน จะมีอะไรบ้าง ตามมาดูกันเลย

1. ทำไม “นอนกรน” ไม่ใช่เรื่องปกติ? อันตรายจริงไหม? 

นอนกรนเกิดจากการที่กล้ามเนื้อและเนื้อเยื่อบริเวณทางเดินหายใจส่วนบนหย่อนคล้อย ไม่ว่าจะเป็นลิ้นไก่ เพดานอ่อน คอหอย โคนลิ้น ทำให้ทางเดินหายใจถูกปิดกั้น ลมที่ออกมาเลยเกิดแรงสั่นสะเทือนมากกว่าปกติจนเกิดเป็นเสียงกรน 

นอกจากเสียงกรนแล้ว คนที่นอนกรนจะนอนหลับได้ไม่ต่อเนื่อง นอนไม่เต็มอิ่ม คุณภาพการนอนไม่ดี จนนำไปสู่ปัญหาสุขภาพทางร่างกายและจิตใจ เช่น อ่อนเพลียตลอดวัน สมาธิและความจำไม่ดี อารมณ์แปรปรวน ระบบเผาผลาญทำงานได้ไม่ดี เสี่ยงต่อโรคเรื้อรัง อย่างโรคอ้วนและโรคเบาหวาน

นอกจากนี้ เมื่อมีการอุดกั้นของทางเดินหายใจมาก ๆ จะทำให้หายใจไม่เป็นจังหวะ การหายใจ หยุดเป็นช่วง ๆ ขณะนอนหลับ หรือหายใจเฮือกขึ้นมาตอนหายใจอีกครั้ง ร่วมกับอาการนอนกรน ลักษณะนี้จะเรียกว่า โรคหยุดหายใจขณะหลับชนิดอุดกั้น (OSA) 

หรือคนมักรู้จักในชื่อ ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ ซึ่งส่งผลเสียกับสุขภาพร่างกายในระยะยาว ไม่ว่าจะเป็นโรคความดันโลหิต โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง และอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ 

2. นอนกรนจะมีอาการหยุดหายใจขณะหลับเสมอไปหรือไม่? 

การนอนกรนไม่ได้ส่งผลให้เกิดภาวะหยุดหายใจขณะหลับเสมอไป แต่ถ้ามีอาการนอนกรน แล้วไม่ได้รับการรักษาตามสาเหตุอย่างถูกต้อง ก็อาจทำให้กล้ามเนื้อและเนื้อเยื่อบริเวณทางเดินหายใจหย่อนตัวมากขึ้นเรื่อย ๆ 

ท้ายที่สุดทางเดินหายใจส่วนบนตีบแคบมากขึ้นจนอุดกั้นทางเดินหายใจ จนเป็นสาเหตุหลักของโรคหยุดหายใจขณะหลับชนิดอุดกั้น (OSA) นั่นเอง

3. ใครบ้างเสี่ยงเกิดอาการนอนกรน และภาวะหยุดหายใจขณะหลับ?

นอนกรนและภาวะหยุดหายใจขณะหลับเกิดได้จากหลายปัจจัย โดยเฉพาะคนที่มีปัจจัยเสี่ยงต่อไปนี้

  • น้ำหนักตัวมากหรือเป็นโรคอ้วนจะทำให้ไขมันสะสมในทางเดินหายใจส่วนบนมากขึ้น เนื้อเยื่อและกล้ามเนื้อบริเวณช่องคอหนากว่าปกติ โดยพบ 60% ของคนที่มีภาวะหยุดหายใจขณะหลับมักมีภาวะอ้วนร่วมด้วย 
  • ผู้ชายมีโอกาสนอนกรนและมีภาวะหยุดหายใจขณะหลับมากกว่าผู้หญิง 610 เท่า เพราะฮอร์โมนเพศหญิงทำให้ช่องทางเดินหายใจมีความตึงตัวได้ดีกว่าหรือกว้างมากกว่า แต่ผู้หญิงจะมีอาการนอนกรนได้มากขึ้นเมื่อเข้าวัยหมดประจำเดือน เพราะร่างกายมีฮอร์โมนเพศหญิงลดลง
  • อายุมากขึ้นทำให้กล้ามเนื้อช่องคอเริ่มหย่อนยาน โดยเฉพาะช่วงอายุ 30 ปีขึ้นไป 
  • ชอบดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยเฉพาะก่อนนอน จะทำให้กล้ามเนื้อและเนื้อเยื่อช่องคอหย่อนคล้อยมากกว่าปกติ 
  • คนที่มีปัญหาเกี่ยวกับช่องจมูก ทำให้ทางเดินหายใจส่วนบนตีบแคบจะยิ่งเกิดได้ง่ายขึ้น เช่น เป็นโรคภูมิแพ้อากาศ มีริดสีดวงจมูก มีสันจมูกคด 
  • คนที่มีต่อมทอมซิลโต ต่อมอะดีนอยด์ หรือลิ้นโตกว่าปกติ ทำให้ไปปิดกั้นทางเดินหายใจส่วนบนมากขึ้น 
  • กรรมพันธุ์ คนที่มีประวัติครอบครัวนอนกรน ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ จะมีโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดโรคมากกว่าคนปกติ

4. รู้ได้อย่างไรว่านอนกรนแบบไหนอันตราย? สังเกตอย่างไร?

แน่นอนว่าอาการนอนกรนเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ในชีวิตประจำวัน เช่น วันที่รู้สึกเหนื่อยล้ามาก ๆ มีการดื่มแอลกอฮอล์ก่อนนอน การนอนในบางท่าอย่างท่านอนหงาย 

แต่การนอนกรนที่อันตรายคือ การนอนกรนที่มีภาวะการหยุดหายใจร่วมด้วย เบื้องต้นสามารถสังเกตได้จากอาการต่าง ๆ ดังนี้ 

  • นอนกรนเสียงดังมากเป็นประจำ หรือสม่ำเสมอทุกวัน
  • เสียงกรนมักขาดหาย หยุดเป็นบางช่วง ไม่สม่ำเสมอ อาจมีลักษณะเหมือนคนหายใจติดขัด มีอาการหายใจเฮือก
  • สะดุ้งตื่นกลางคืนบ่อย และในช่วงที่สะดุ้งตื่นอาจมีอาการเหนื่อยหอบ คล้ายอาการหลังกลั้นหายใจ 
  • มีอาการปวดศีรษะหลังตื่นนอน รู้สึกอ่อนเพลีย ไม่สดชื่น ง่วงนอนระหว่างวัน 
  • มีความต้องการทางเพศลดลง 
  • มีโรคประจำตัวร่วมด้วย เช่น ความดันเลือดสูง โรคหัวใจ เป็นต้น 
  • มีคนสังเกตเห็นว่านอนกรนเสียงดัง แต่หยุดหายใจเป็นช่วง ๆ และหายใจไม่สม่ำเสมอ

5. นอนกรนจำเป็นต้องทำ Sleep test ไหม? เหมาะกับใคร?

การตรวจการนอนหลับหรือ Sleep test เป็นการตรวจการทำงานของระบบต่าง ๆ  ในร่างกายขณะนอนหลับ เพื่อหาสาเหตุและประเมินความรุนแรงของอาการหรือโรคต่าง ๆ เช่น นอนกรน ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ หรือโรคภาวะขากระตุกขณะหลับ  

คนที่นอนกรนไม่จำเป็นต้องเข้ารับการตรวจ Sleep test เสมอไป ปกติแล้วจะแนะนำให้คนที่สงสัยว่าอาจมีภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับเข้ารับการตรวจ เช่น กรนเป็นประจำ กรนทุกท่าที่นอน สะดุ้งตื่นกลางคืนบ่อย ตื่นนอนแล้วมักจะปวดหัว อ่อนเพลีย หรือคอแห้ง 

หรือกรณีที่เคยได้รับการรักษาโรคเฉพาะทางอื่น ๆ ก่อนแล้ว แต่ยังมีอาการนอนกรนอยู่ แพทย์อาจแนะนำให้รับเข้ารับการตรวจ Sleep Test เพื่อวิเคราะห์หาสาเหตุอื่น ๆ ที่อาจเกิดขึ้น

6. นอนกรน รักษาได้ไหม รักษาเหมือนกันทุกคนหรือเปล่า? 

การรักษาอาการนอนกรน หรือนอนกรนร่วมกับมีภาวะการหยุดหายใจขณะนอนหลับ จะขึ้นอยู่กับสาเหตุและความรุนแรงของอาการนอนกรน การรักษามีอยู่หลายวิธีดังนี้ 

การรักษาจากสาเหตุที่ทำให้เกิดการนอนกรน
คนที่มีโรคประจำตัวเกี่ยวข้องกับระบบทางเดินหายใจ และส่งผลให้เกิดอาการนอนกรน เช่น โรคภูมิแพ้เรื้อรัง เยื่อบุโพรงจมูกอักเสบ ไซนัสอักเสบ แพทย์จะแนะนำให้รักษาโรคที่เป็นต้นเหตุก่อน

การใช้อุปกรณ์ช่วยรักษาอาการนอนกรน
อุปกรณ์ที่ช่วยรักษาอาการนอนกรนมีอยู่หลายแบบ เหมาะกับความรุนแรงของอาการแตกต่างกัน จำเป็นต้องปรึกษาแพทย์ และตรวจการนอนหลับหรือ Sleep test ประเมินอาการก่อน เช่น

  • การใช้เครื่องอัดอากาศแรงดันบวก (CPAP) เป็นเครื่องเป่าลมเข้าทางจมูกและปาก ช่วยให้เกิดแรงดันที่เหมาะสม เพื่อเปิดทางเดินหายใจขณะหลับ เหมาะกับคนที่มีอาการปานกลางถึงรุนแรง
  • ที่ครอบฟันแก้กรน (Oral appliance) เป็นเครื่องมือทางทันตกรรมที่ช่วยเปิดทางเดินหายใจให้กว้างขึ้น โดยจัดตำแหน่งของลิ้น ขากรรไกร และเนื้อเยื่อในลำคอไม่ให้ไปอุดกั้นทางเดินหายใจขณะหลับ เหมาะกับคนที่มีอาการเล็กน้อยถึงปานกลาง

การรักษาด้วยการผ่าตัด
การผ่าตัดแก้ไขทางเดินหายใจส่วนที่ตีบแคบหรือหย่อนให้กว้างขึ้น หรือผ่าตัดเอาสิ่งที่กีดขวางทางเดินหายใจออก เช่น 

  • การใช้คลื่นความถี่วิทยุจี้เยื่อบุจมูก (Radiofrequency) เพื่อรักษาเยื่อบุจมูกบวมหรืออักเสบ 
  • การผ่าตัดเลื่อนกรามหรือขากรรไกรมาด้านหน้า (Maxillo-mandibular advancement: MMA) เพื่อให้ทางเดินหายใจกว้างขึ้น
  • การผ่าตัดตกแต่งลิ้นไก่และเพดานอ่อน (Uvulopalatopharyngoplasty: UPPP) สำหรับคนที่มีเพดานหย่อนหรือลิ้นไก่ยาวกว่าปกติ 
  • การผ่าตัดช่องจมูกและหลังโพรงจมูก เช่น การผ่าตัดแก้ไขผนังกั้นช่องจมูกคด การผ่าตัดริดสีดวงจมูก การผ่าตัดต่อมทอนซิลหรือต่อมอะดีนอยด์

7. อุปกรณ์แก้นอนกรน ช่วยได้จริงไหม? รักษาหายขาดไหม?

การรักษาอาการนอนกรนนั้น จำเป็นต้องทราบก่อนว่า เสียงกรนที่เกิดขึ้นในแต่ละคนนั้น มีที่มาหรือสาเหตุมาจากอะไร เช่น เสียงกรนเกิดจากเพดานอ่อนหย่อน หรือระบบทางเดินหายใจถูกรบกวนจากโรคภูมิแพ้เรื้อรัง 

อุปกรณ์แก้นอนกรนที่ขายกันทั่วไป เช่น คลิปหนีบจมูกแก้นอนกรน สายรัดคางแก้นอนกรน หรือนาฬิกาลดการนอนกรน บางครั้งอาจแค่ช่วยลดเสียงกรนลงในบางคน ทำให้เข้าใจว่าช่วยรักษาอาการนอนกรนได้ 

แท้จริงแล้วปัญหาสุขภาพยังคงมีอยู่ การใช้อุปกรณ์แก้นอนกรนโดยไม่รู้สาเหตุก่อน จึงไม่ได้เป็นการรักษาที่ต้นตอ และไม่ได้ช่วยให้อาการนอนกรนหายขาด 

การรู้ถึงสาเหตุได้ จำเป็นต้องไปหาแพทย์ด้านการนอนกรนหรือความผิดปกติด้านการนอน เพื่อตรวจหาสาเหตุก่อน แล้วถึงวางแผนการรักษาให้เหมาะกับปัญหาการนอนแต่ละคนมากที่สุด 

“เสียงกรน” ไม่ใช่แค่ส่งผลกระทบกับคนใกล้ตัว แต่อาจเป็นสัญญาณบอกว่าร่างกายมีบางอย่างผิดปกติ ถ้าสงสัยว่ามีอาการนอนกรน สะดุ้งตื่นบ่อย รู้สึกนอนไม่เต็มอิ่มเวลาตื่น รีบมาพบแพทย์เฉพาะทาง เพื่อหาสาเหตุและรักษาอย่างตรงจุด

อย่าปล่อยให้นอนกรน กลายเป็นปัญหารักษายาก HDmall.co.th มีแพ็กเกจดูแลทุกปัญหาการนอน เปรียบเทียบราคา ดูแพ็กเกจตรวจรักษานอนกรน

Scroll to Top