หลาย ๆ คนอาจยังไม่ทราบกันว่า อวัยวะที่ใหญ่ที่สุดของร่างกายเราก็คือผิวหนัง ที่ถึงแม้จะดูเป็นแค่ชั้นบาง ๆ แต่จริง ๆ แล้วผิวหนังมีโครงสร้างที่ซับซ้อน แถมยังทำหน้าที่สำคัญมากมายเช่น ป้องกันอันตรายจากภายนอก ควบคุมสมดุลของอุณหภูมิร่างกาย และบทความนี้นี่เองที่จะพาทุกคนมารู้จักกับผิวหนังของเราให้ดีขึ้น
สารบัญ
ผิวหนังของคนเรามีกี่ชั้น ประกอบด้วยอะไรบ้าง
ผิวหนังหนังของคนเราประกอบด้วย 3 ชั้นหลัก ได้แก่ ชั้นหนังกำพร้า (Epidermis) ชั้นหนังแท้ (Dermis) และชั้นไขมัน (Subcutis)
ผิวหนังทั้ง 3 ชั้นนี้มีองค์ประกอบและหน้าที่ที่แตกต่างกัน จึงมีความสำคัญต่อร่างกายต่างกันไปด้วย ดังนี้
1. ผิวหนังชั้นหนังกำพร้า (Epidermis)
เป็นชั้นที่บางที่สุดในบรรดาชั้นผิวหนังทั้ง 3 ชั้น ผิวหนังชั้นกำพร้าเป็นชั้นที่อยู่นอกสุด ได้สัมผัสกับสิ่งแวดล้อมภายนอกร่างกายมากที่สุด จึงเปรียบเสมือนเป็นปราการด่านแรก หากมีอันตรายเข้ามาสู่ร่างกาย
ชั้นหนังกำพร้าจะมีเซลล์ผิวหนัง เรียกว่า เคราติโนไซต์ (Keratinocyte) ผิวหนังในชั้นนี้จะมี 4 ชั้นย่อย แต่บริเวณฝ่ามือหรือฝ่าเท้าจะมี 5 ชั้นย่อย
ชั้นย่อย ๆ แต่ละชั้นต่างก็มีความสำคัญ องค์ประกอบ และโครงสร้างที่ไม่เหมือนกัน ได้แก่
1.1 สตราตัมเบซาเล (Stratum basale)
สตราตัมเบซาเล เป็นหนึ่งในชั้นย่อยของหนังกำพร้าชั้นล่างสุด มีเซลล์ต้นกำเนิด (Stem cell) ที่แบ่งตัวได้ตลอดเวลา เรียงตัวเป็นแถวเดียว
เซลล์ต้นกำเนิดจะทำหน้าที่แบ่งตัว เมื่อถูกสร้างใหม่ เซลล์ก็จะเคลื่อนตัวขึ้นด้านบน ออกสู่สิ่งแวดล้อม และเปลี่ยนหน้าที่ไปตามการเจริญเติบโตของเซลล์
หากเซลล์ในชั้นนี้ได้รับอันตราย จนเซลล์ต้นกำเนิดข้างเคียงแบ่งเซลล์มาช่วยเหลือไม่ได้ จะทำให้กลายเป็นแผลเป็น (Scar) ตามมา
นอกจากจะเป็นที่อยู่ของเซลล์ต้นกำเนิดแล้ว ยังมีเซลล์อีกชนิดหนึ่งซึ่งแทรกด้วย ซึ่งก็คือเซลล์ผลิตเม็ดสี (Melanocyte) ที่ถึงจะมีปริมาณน้อยกว่า แต่มีความสำคัญในการผลิตเม็ดสี (Melanin pigment) โดยจะบรรจุอยู่ในถุงเก็บเม็ดสี (Melanosome)
หลังจากผลิตเม็ดสีแล้ว เซลล์จะส่งต่อเม็ดสีไปยังเซลล์ผิวหนังที่อยู่ชั้นบน เพื่อให้เซลล์ดังกล่าวมีเม็ดสีสะสมอยู่ พร้อมปฏิบัติหน้าที่สำคัญอย่างการดูดซับรังสีจากภายนอก โดยเฉพาะรังสีอัลตราไวโอเลต (Ultraviolet ray หรือ UV ray) ที่อาจทำให้เกิดความผิดปกติต่อสารพันธุกรรมได้
รังสีอัลตราไวโอเลตเป็นอันตรายต่อชั้นเซลล์ต้นกำเนิด ทำให้เกิดการผ่าเหล่า (Mutation) จนเกิดความผิดปกติต่าง ๆ ตามมามากมาย และหนึ่งในนั้นคือโรคมะเร็งผิวหนัง (Skin cancer) นั่นเอง
ดังนั้น การมีเม็ดสีสะสมอย่างพอดี ๆ ในชั้นเซลล์ จึงจะช่วยป้องกันรังสีอัลตราไวโอเลตที่อาจทำลายผิวหนังลงไปถึงชั้นล่าง ๆ ได้
1.2 สตราตัมสไปโนซัม (Stratum spinosum)
สตราตัมสไปโนซัม เป็นชั้นย่อยของชั้นหนังกำพร้าที่ถัดขึ้นมาจากชั้นสตราตัมเบซาเล เซลล์ผิวหนังในชั้นนี้มีรูปร่างเป็นเหลี่ยมมุม คอยผลิตสารสำหรับการเชื่อมติดเซลล์แต่ละเซลล์ (Intercellular junctions) สารนี้จะทำให้เซลล์ในชั้นหนังกำพร้ายึดติดกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ
1.3 สตราตัมแกรนูโลซัม (Stratum granulosum)
สตราตัมแกรนูโลซัม คือ ชั้นที่อยู่ถัดขึ้นมาจากชั้นสตราตัมสไปโนซัม หน้าที่สำคัญคือการผลิตสารที่ทำหน้าที่ให้ความชุ่มชื้นแก่ผิว เช่น เซราไมด์ (Ceramide) ลอริคริน (Loricrin) และลิพิด (Lipid) ซึ่งถือเป็นสารให้ความชุ่มชื้นตามธรรมชาติ (Natural moisturizing factors)
นอกจากนี้ยังผลิตสารผลัดผิว เพื่อให้ขี้ไคลหลุดออกไปได้ สารทั้งหมดจะผลิตเก็บไว้เป็นถุง (Granules) เตรียมพร้อมส่งออกจากเซลล์ไปสู่ชั้นนอกสุด ซึ่งก็คือชั้นสตราตัมคอร์เนียม (Stratum corneum)
1.4 สตราตัมคอร์เนียม (Stratum corneum)
สตราตัมคอร์เนียม เป็นชั้นนอกสุดของหนังกำพร้า หรือมีอีกชื่อว่า ชั้นขี้ไคล ผิวหนังในชั้นนี้จะหนาเป็นพิเศษ โดยเฉพาะบริเวณฝ่ามือและฝ่าเท้า
ชั้นนี้มีเซลล์ผิวหนังที่ตายแล้ว คงเหลือไว้แค่ซากของผนังของเซลล์ (Cornified envelop) โดยระหว่างซากของเซลล์แต่ละเซลล์จะถูกผสานด้วยไขมัน และสารให้ความชุ่มชื้นตามธรรมชาติ ที่ผลิตจากชั้นสตราตัมกรานูโลซัม (Stratum granulosum)
ผิวหนังชั้นนี้มีความสำคัญในการให้ความชุ่มชื้นแก่ผิวหนัง ดังนั้น หากสตราตัมคอร์เนียมเสียสมดุล จะทำให้เกิดภาวะผิวขาดความชุ่มชื้น ซึ่งเป็นอาการของโรคผิวหนังในหลายโรค
นอกจากนี้ ผิวหนังชั้นนี้ยังทำหน้าที่เป็นเกราะป้องกันอันตรายจากภายนอก เช่น เชื้อโรค สารเคมี หรือแม้แต่มลภาวะในสิ่งแวดล้อมด้วย
1.5 สตราตัมลูซิดัม (Stratum lucidum)
สตราตัมลูซิดัม คือ ชั้นพิเศษที่เพิ่มขึ้นมาเหนือชั้นสตราตัมเบซาเล (Stratum basale) พบเฉพาะผิวหนังบริเวณฝ่ามือและฝ่าเท้าเท่านั้น โดยทั่วไป ผิวจากชั้นล่างสุดจะเคลื่อนตัวจนถึงชั้นบนสุด ใช้เวลาทั้งสิ้น 28 วัน
นอกจากเซลล์ที่กล่าวมาข้างต้น ผิวหนังชั้นหนังกำพร้ายังมีเซลล์อีก 2 เซลล์ ได้แก่ เซลล์เมอร์เกิล (Merkle’s cell) ทำหน้าที่รับแรงกระทำต่อผิวหนัง (Mechanoreceptor) ก่อให้เกิดความรู้สึกเมื่อมีการสัมผัส และเซลล์แลงเกอร์ฮานส์ (Langerhans cell) เป็นเซลล์คอยดักจับเชื้อโรค ช่วยให้ร่างกายรู้จักกับเชื้อโรค และกำจัดเชื้อโรคที่บุกรุกได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
หน้าที่สำคัญของชั้นหนังกำพร้าอีกอย่างหนึ่งคือ เป็นชั้นที่จะสังเคราะห์วิตามินดี (Vitamin D) ให้แก่ร่างกายได้ เมื่อผิวหนังได้รับแสงแดดในปริมาณที่เหมาะสม
2. ผิวหนังชั้นหนังแท้ (Dermis)
ชั้นหนังแท้ คือชั้นที่หนาเป็นลำดับ 2 จากผิวหนังทั้ง 3 ชั้น อยู่ใต้ชั้นหนังกำพร้า มีชั้นบาง ๆ เรียกว่า เบสเมนต์เมมเบรน (Basement membrane)
ในชั้นเบสเมนต์เมมเบรนประกอบด้วยสารต่าง ๆ มากมาย ทำหน้าที่คล้ายแผ่นกาวสองหน้า เป็นตัวเชื่อมระหว่างชั้นหนังกำพร้ากับชั้นหนังแท้เข้าไว้ด้วยกัน
ชั้นหนังแท้จะแบ่งเป็นชั้นหนังแท้ส่วนบน (Upper dermis หรือ Papillary dermis) กับชั้นหนังแท้ส่วนล่าง (Lower dermis หรือ Reticular dermis) โดยทั้ง 2 ชั้นมีส่วนประกอบ 2 ส่วนหลัก ๆ ได้แก่ ส่วนที่ไม่ใช่เซลล์ และส่วนที่เป็นเซลล์
- ส่วนที่ไม่ใช่เซลล์ ได้แก่ เนื้อเยื่อเกี่ยวพัน (Connective tissue) เช่น คอลลาเจน (Collagen) อิลาสติน (Elastin) สารอินทรีย์อื่น ๆ และอนุพันธ์ของสารอินทรีย์ในช่องว่างระหว่างเซลล์ (Ground substances)
- ส่วนที่เป็นเซลล์ ได้แก่ หลอดเลือดฝอย หลอดเลือดแดง หลอดเลือดดำ ท่อน้ำเหลือง เส้นประสาท กล้ามเนื้อ และเซลล์ต่าง ๆ เช่น เซลล์เม็ดเลือดขาว เซลล์ที่ทำหน้าที่ดักจับเชื้อโรค เพื่อให้ร่างกายรู้จักเชื้อ และกำจัดได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงเซลล์ที่ใช้ในการสร้างเนื้อเยื่อเกี่ยวพัน (Fibroblast)
นอกจากส่วนประกอบที่กล่าวมาข้างต้น ผิวหนังในชั้นนี้ยังเป็นที่อยู่ของอวัยวะต่าง ๆ ของผิวหนัง (Skin appendages) ไม่ว่าจะเป็น เส้นขนหรือเส้นผม (Hair) กล้ามเนื้อเรียบ (Arrector pili muscle) ต่อมไขมัน (Sebaceous glands) ต่อมเหงื่อ (Eccrine gland และ Apocrine gland) ซึ่งอวัยวะต่างๆ ของผิวหนังจะมีสัดส่วนไม่เท่ากันในแต่ละตำแหน่งของร่างกาย
โดยทั่วไป หนังแท้ในส่วนที่ไม่ใช่เซลล์จะช่วยเพิ่มความแข็งแรงแก่ผิว ทำให้ผิวยืดหยุ่นและคงรูปได้
ส่วนหลอดเลือดกับระบบน้ำเหลืองจะคอยให้อาหารและขับถ่ายของเสีย อีกทั้งยังเป็นทางลำเลียงเม็ดเลือดขาวมาต่อสู้กับเชื้อโรคเมื่อเกิดการติดเชื้อ สำหรับเส้นประสาทและกล้ามเนื้อ จะใช้ในการตอบสนองต่อสิ่งเร้าจากสิ่งแวดล้อม
อวัยวะต่าง ๆ ของผิวหนังต่างก็มีหน้าที่เฉพาะเจาะจง ถ้าขาดองค์ประกอบใดองค์ประกอบหนึ่งไป หรือมีองค์ประกอบบางส่วนมากเกิน จะทำให้ขาดความสมดุล และการทำงานของผิวหนังบางอย่างบกพร่องไป
ซึ่งจะนำมาสู่โรคทางผิวหนังมากมาย และหากชั้นหนังแท้ได้รับบาดเจ็บ ก็จะทำให้กลายเป็นแผลเป็นตามมาในที่สุด
3. ชั้นไขมัน (Subcutis)
ชั้นนี้คือชั้นล่างสุด และเป็นชั้นที่หนาที่สุดจากผิวหนังทั้ง 3 ชั้น แต่ผิวหนังบางตำแหน่งในชั้นไขมันอาจจะบางกว่าชั้นหนังแท้ได้
ชั้นไขมัน เป็นชั้นที่ประกอบไปด้วยเซลล์ไขมัน (Adipocyte หรือ Fat cell) เป็นส่วนใหญ่ มีระบบหลอดเลือดและน้ำเหลืองสำหรับให้อาหารและขับถ่ายของเสีย
ชั้นไขมันมีหน้าที่หลักในการให้ความอบอุ่นแก่ร่างกาย โดยทำหน้าที่เป็นเสมือนฉนวนความร้อน ป้องกันอุณหภูมิจากภายนอกที่เปลี่ยนแปลง
นอกจากนี้ ยังเป็นแหล่งพลังงานสำรองของร่างกาย ช่วยลดแรงกระแทกที่เกิดจากแรงกระทำจากสิ่งแวดล้อม อีกทั้งยังผลิตฮอร์โมนบางชนิดที่ช่วยรักษาสมดุลและควบคุมการทำงานของร่างกายอีกด้วย
อวัยวะอื่น ๆ ที่มีโครงสร้างใกล้เคียงกับผิวหนัง ได้แก่ ขน ผม เล็บ ริมฝีปาก อวัยวะเพศ และเยื่อบุต่าง ๆ ของร่างกาย (Mucosa) เช่น เยื่อบุตา (Conjunctiva) หรือเยื่อบุในช่องปาก (Oral mucosa)
ผิวหนังเป็นอวัยวะที่มีความซับซ้อน ทั้งด้านโครงสร้างและการทำงาน ผิวหนังแต่ละชั้นจะมีหน้าที่แตกต่างกันออกไปตามโครงสร้างและส่วนประกอบ
ไม่ว่าจะเป็นการป้องกันอันตรายจากสิ่งแวดล้อม รังสี เชื้อโรค การควบคุมอุณหภูมิ การรับสัมผัสความรู้สึก หรือแม้แต่การสร้างวิตามิน และการควบคุมการทำงานของฮอร์โมนบางชนิดล้วนเป็นหน้าที่ของผิวหนังทั้งสิ้น
ดังนั้น การดูแลผิวหนังอย่างถูกต้องเหมาะสมจึงเป็นสิ่งสำคัญ เพราะจะเป็นอีกทางหนึ่งที่ช่วยให้สุขภาพแข็งแรง
เขียนบทความและตรวจสอบความถูกต้องโดย ทีมแพทย์ HD