หลายคนมักรู้จักสมองเสื่อม (Dementia) ว่าเป็นโรคที่ทำให้คนหลงลืม สูญเสียความจำ และเกิดกับคนสูงวัย แต่ความเป็นจริงแล้ว สมองเสื่อมเกิดได้กับคนทุกช่วงวัย อาการมีหลากหลายระยะ และยังมีเรื่องราวอีกมากมายให้ทำความเข้าใจกัน
สารบัญ
ภาวะสมองเสื่อม คืออะไร
โรคสมองเสื่อมหรือภาวะสมองเสื่อม (Dementia) เป็นคำกว้าง ๆ เรียกกลุ่มอาการที่เป็นผลจากการทำงานของระบบประสาทและสมองเสื่อมถอยลง เนื่องจากมีการสูญเสียเซลล์สมอง หรือเซลล์สมองมีจำนวนลดลง
ส่งผลให้เกิดความบกพร่องในการจดจำ การคิด การตัดสินใจ จนรบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน รวมถึงยังเกิดการเปลี่ยนแปลงด้านพฤติกรรม บุคลิกภาพ และอารมณ์ได้ด้วย ปกติแล้ว มักเกิดในผู้สูงวัยอายุ 65–70 ปีขึ้นไป แต่ก็พบในคนอายุน้อยได้ หากมีปัจจัยเสี่ยงที่มีผลกระทบต่อสุขภาพสมอง
สาเหตุและปัจจัยเพิ่มเสี่ยงภาวะสมองเสื่อม
ภาวะสมองเสื่อมเกิดได้จากหลายสาเหตุและปัจจัย เช่น
- การเสื่อมของระบบประสาทและสมอง (Neurodegeneration) มักพบมากในผู้สูงวัยอายุมากกว่า 65 ปี เช่น โรคอัลไซเมอร์ (Alzheimer’s disease) กลุ่มอาการพาร์กินสัน โรคสมองส่วนหน้าเสื่อม (Frontotemporal dementia)
- โรคทางระบบประสาท เช่น โรคมะเร็งหรือเนื้องอกในสมอง ภาวะเลือดคั่งในสมองหรือเยื่อหุ้มสมอง และภาวะน้ำเกินในโพรงสมอง (Normal pressure hydrocephalus)
- สุขภาพหัวใจไม่ดี เป็นโรคเกี่ยวข้องกับหลอดเลือด เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคไขมันในเลือดสูง โรคเบาหวาน โรคไขมันในเลือดสูง โรคตับหรือไตเรื้อรัง โรคหัวใจ หรือโรคหลอดเลือดสมอง
- ติดเชื้อในระบบประสาทส่วนกลาง ติดเชื้อที่มีผลต่อสมอง ทั้งเชื้อไวรัสและแบคทีเรีย เช่น โรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ โรคสมองอักเสบ โรคซิฟิลิส โรคไวรัสสมองอักเสบ โรคเอดส์
- ได้รับบาดเจ็บที่ศีรษะ สามารถเพิ่มความเสี่ยงของภาวะสมองเสื่อมหากเกิดขึ้นซ้ำ ๆ หรือเป็นรุนแรง รวมถึงสมองได้รับบาดเจ็บ เช่น ชักซ้ำติดต่อกันนาน สมองขาดออกซิเจน น้ำตาลในเลือดต่ำเป็นเวลานาน หรือเคยประสบอุบัติเหตุทางสมอง
- ฮอร์โมนผิดปกติ เช่น ต่อมไทรอยด์ทำงานผิดปกติ
- โรคทางจิตเวช เช่น ภาวะซึมเศร้า (Depression) และโรคอารมณ์สองขั้ว (Bipolar disorder)
- พันธุกรรม คนที่มีสมาชิกในครอบครัวเป็นโรคสมองเสื่อม โดยเฉพาะญาติสายตรง จะมีแนวโน้มที่จะเกิดภาวะสมองเสื่อมได้เอง
- โรคทางพันธุกรรมบางโรค เช่น ดาวน์ซินโดรม (Down’s syndrome) ที่มักจะมีความผิดปกติในการสะสมโปรตีนบางชนิด ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการเกิดโรคอัลไซเมอร์
- ใช้ยาบางชนิดที่ส่งผลต่อการทำงานของสมอง เช่น ยาเสพติด หรือยาที่มีฤทธิ์ต้านโคลิเนอจิก (Anticholinergic drugs)
- ขาดวิตามินบี 12 โดยเฉพาะคนที่มีปัญหาการดูดซึมบกพร่อง เช่น เคยผ่าตัดกระเพาะอาหาร หรือเป็นมังสวิรัติ
- สูบบุหรี่จัดหรือการดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ ยิ่งเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะสมองเสื่อม
- ได้รับมลภาวะทางอากาศ อย่าง PM 2.5
- ไม่ออกกำลังกาย ขยับตัวน้อย ไม่ค่อยเคลื่อนไหวร่างกาย
- มีภาวะหูตึงหรือมองเห็นได้ไม่ดี
- มีพฤติกรรมเก็บตัว ไม่พบปะผู้คน
สมองเสื่อมมีกี่ระยะ อาการเป็นแบบไหน
คนที่เป็นโรคสมองเสื่อมมักมีปัญหาในหลายด้าน ไม่เฉพาะแค่ความทรงจำเท่านั้น ยังประสบปัญหาเกี่ยวกับการใช้สมาธิและความใส่ใจ การสื่อสาร การใช้เหตุผล การตัดสินใจ การรับรู้ และการแก้ปัญหา ซึ่งอาการในแต่ละคนอาจต่างกันออกไปได้
จริง ๆ แล้วภาวะสมองเสื่อม แบ่งอาการได้เป็น 4 ระยะ ได้แก่
1. ระยะเริ่มต้น
ระยะเริ่มต้นความจำเสื่อมเล็กน้อย คนรอบตัวอาจสังเกตอาการไม่ได้ เพราะผู้ป่วยยังใช้ชีวิตปกติ ดูแลตนเองขั้นพื้นฐานได้ เช่น การรับประทานอาหาร การแต่งตัว การอาบน้ำ แต่ทำสิ่งที่ซับซ้อนไม่ค่อยได้ และอาจเกิดความผิดปกติทางอารมณ์ หงุดหงิดง่าย มีภาวะซึมเศร้า
2. ระยะกลาง
ระยะถัดมาจะเริ่มสูญเสียความทรงจำมากขึ้น จำได้แต่เหตุการณ์ในอดีต เริ่มสูญเสียทักษะในการดูแลตัวเองขั้นพื้นฐาน มีปัญหาด้านความเข้าใจ การเรียนรู้ และการตัดสินใจบางประการ อาจมีอาการหูแว่ว เห็นภาพหลอน แยกตัวออกจากสังคม คนใกล้ตัวเริ่มสังเกตเห็นความผิดปกติได้
3. ระยะรุนแรง
อาการรุนแรงมากขึ้น สูญเสียความสามารถทางสมองเป็นอย่างมาก จำได้แต่เหตุการณ์ในอดีต ไม่สามารถจดจำบุคคลและสถานที่ได้ หลงทาง มีปัญหาในการดูแลตัวเอง เช่น กลั้นปัสสาวะหรืออุจจาระไม่ได้ ทำให้ต้องมีคนดูแลใกล้ชิด แต่ยังทำตามคำสั่งง่าย ๆ ได้
4. ระยะติดเตียง หรือระยะสุดท้าย
สูญเสียความสามารถทางสมองโดยสิ้นเชิง ดูแลตนเองไม่ได้ พูดไม่เป็นภาษา ใช้ชีวิตด้วยตนเองไม่ได้ และเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ เช่น ขาดสารอาหาร ติดเชื้อในระบบต่าง ๆ หรือเกิดแผลกดทับ
สัญญาณเตือนภาวะสมองเสื่อมเริ่มต้น สังเกตอย่างไร
หากมีปัจจัยเสี่ยงของโรค หรือพบอาการต่อไปนี้ ควรเข้ารับการตรวจคัดกรองภาวะสมองเสื่อม เพราะการตรวจเจอโรคในระยะแรก ๆ จะยิ่งส่งผลดีต่อการรักษา
ผู้ป่วยภาวะสมองเสื่อมมักมีอาการเหล่านี้
- หลงลืมบ่อย ลืมว่าเพิ่งเกิดอะไรไปเมื่อสักครู่นี้ เช่น ถามคำถามเดิม ๆ ซ้ำ ๆ ทั้งที่เคยคุยไปแล้ว ลืมว่าของที่เพิ่งวาง
- สูญเสียความทรงจำระยะสั้น สับสนเวลา ลืมทางเดิม ๆ สถานที่คุ้นเคย ชื่อคน วันสำคัญ หรือวันนัดหมาย หลงทาง จำทางไม่ได้ ขับรถไม่คล่อง
- เรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ได้ไม่ดี สมาธิไม่ดี จดจ่อได้ไม่นาน
- มีปัญหาด้านการสื่อสาร เช่น เรียกชื่อสิ่งของไม่ถูก พูดไม่จบประโยค
- ไม่อยากทำสิ่งที่เคยทำ อย่างงานอดิเรกที่ชอบ ไม่อยากพบปะใคร
- เซื่องซึม ร้องไห้บ่อย หงุดหงิดง่าย อารมณ์เสียบ่อยขึ้น ขี้กังวล
- เห็นภาพหลอน หูแว่ว เชื่อในสิ่งที่ไม่ควรเชื่อ
ภาวะสมองเสื่อมมักจะกลับมาเป็นเหมือนเดิมได้ยาก วิธีที่ดีที่สุด คือ การเริ่มต้นดูแลสุขภาพของตัวเอง ทั้งออกกำลังกาย รับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ พักผ่อนให้เพียงพอ ไม่ดื่มแอลกอฮอล์ ไม่สูบบุหรี่
นอกจากนี้ ควรควบคุมระดับความดันโลหิต น้ำตาล และไขมันในเลือดให้เป็นปกติ และตรวจสุขภาพอย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงของโรค ควรเข้ารับการตรวจคัดกรองตั้งแต่เนิ่น ๆ
สมองเสื่อมป้องกันได้ยาก ตรวจคัดกรองลดความเสี่ยงง่ายกว่า ลองดู โปรตรวจคัดกรองโรคสมอง จากโรงพยาบาลใกล้บ้าน HDmall.co.th รวบรวมไว้ให้แล้ว จองเลย คุ้มค่าทุกบาททุกสตางค์