งูสวัดในผู้สูงอายุ

งูสวัดในผู้สูงอายุ

ผู้สูงอายุ ถือเป็นกลุ่มผู้ที่เสี่ยงจะเกิดอาการเจ็บป่วยได้มากกว่าคนปกติ เนื่องจากอายุที่มากขึ้น จึงทำให้ระบบภูมิคุ้มกันร่างกายเสื่อมสภาพลง และเสี่ยงต่อการติดเชื้อต่างๆ ทั้งเชื้อแบคทีเรีย เชื้อไวรัส ซึ่งรวมไปถึงเชื้อไวรัสที่ทำให้เกิดโรคงูสวัดด้วย

ความหมายของโรคงูสวัด

โรคงูสวัด (Shingles) เป็นโรคที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัส “วาริเซลลา ซอสเตอร์ (Varicella Zoster Virus: VZV) ซึ่งเป็นเชื้อไวรัสชนิดเดียวที่ก่อโรคอีสุกอีใส

ผู้ที่เคยเป็นโรคอีสุกอีใสในวัยเด็ก หรือเคยรับวัคซีนป้องกันโรคอีสุกอีใสมาก่อนมีแนวโน้มเป็นโรคงูสวัดต่ำ อย่างไรก็ตาม ถึงแม้จะเคยเป็นโรคอีสุกอีใสมาแล้ว

แต่เชื้อไวรัสดังกล่าวก็ยังซ่อนตัวอยู่ในปมประสาท และสามารถกลับมาก่อโรคงูสวัดได้ หากภูมิคุ้มกันร่างกายอ่อนแอลง

อาการหลักๆ ของโรคงูสวัด ได้แก่

  • ผู้ป่วยเริ่มมีไข้ ปวดศรีษะ อ่อนเพลีย จากนั้น 2-3 วันจะมีอาการปวดแสบปวดร้อนบริเวณชายโครง แขน หรือใบหน้า
  • เริ่มมีผื่น ตุ่มน้ำใสขึ้นตามบริเวณที่รู้สึกปวดแสบปวดร้อน
  • จากนั้นตุ่มน้ำจะแตกออก และค่อยๆ แห้งตกสะเก็ดในภายหลัง โดยอาการของงูสวัดจะสร้างความเจ็บปวดกว่าอีสุกอีใสอย่างมาก เพราะเชื้อไม่ได้ทำลายแค่ผิวหนังเท่านั้น แต่ยังทำให้เส้นประสาทอักเสบจึงส่งความรู้สึกที่เจ็บปวดมากกว่าปกติไปยังสมอง ทำให้ผู้ป่วยรู้สึกเจ็บปวดมากนั่นเอง

ตามปกติงูสวัดที่เกิดในช่วงวัยอื่นๆ มักมีอาการไม่รุนแรงนัก โดยอาการป่วยจะหายได้ภายใน 1-2 สัปดาห์ แต่ในกลุ่มผู้สูงอายุส่วนใหญ่จะมีอาการเจ็บปวดรุนแรงกว่า ยาวนานกว่า และมีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนสูงกว่าด้วย

สาเหตุที่ทำให้เกิดโรคงูสวัดในผู้สูงอายุ

ผู้สูงอายุ โดยเฉพาะผู้ที่อายุมากกว่า 50 ปี ถือว่า เสี่ยงเป็นโรคงูสวัดมากกว่าปกติ ด้วยภูมิคุ้มกันร่างกายที่ไม่แข็งแรงเหมือนเดิม รวมถึงอาจเคยมีพฤติกรรมใช้ชีวิตประจำวันอย่างไม่เหมาะสมเป็นเวลานาน เช่น

  • พักผ่อนไม่เพียงพอ
  • เครียด
  • รับประทานอาหารไม่ครบ 5 หมู่
  • บริโภคแอลกอฮอล์เป็นประจำ
  • สูบบุหรี่
  • เคยใช้สารเสพติด
  • ไม่ออกกำลังกาย
  • ไม่รักษาสุขอนามัยร่างกาย
  • อาศัย หรือทำงานอยู่ในสถานที่แออัด

ผู้สูงอายุที่เป็นโรคเกี่ยวกับภูมิคุ้มกันตนเอง เช่น โรคแพ้ภูมิตนเอง ติดเชื้อไวรัสเอชไอวี หรือกำลังเข้ารับการรักษาโรคมะเร็งจากวิธีทำเคมีบำบัด (Chemotherapy) หรือรังสีรักษา (Radiation therapy) ก็มีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคงูสวัดได้มากกว่าปกติ

แม้ผู้สูงอายุไม่มีโรคประจำตัวก็อย่านิ่งนอนใจเพราะสิ่งสำคัญที่ไม่ควรละเลยคือ การตรวจสุขภาพประจำปีสำหรับผู้หญิงและผู้ชาย รวมทั้งอาจตรวจเพิ่มเติมในด้านอื่นๆ หากมีข้อสงสัย หรือข้อบ่งชี้จากแพทย์เพิ่มเติม

อาการแทรกซ้อนในผู้ป่วยสูงอายุที่เป็นโรคงูสวัด

ในระหว่างเป็นโรคงูสวัด หรือหลังจากผื่นโรคงูสวัดตกสะเก็ดไปแล้ว ผู้ป่วยสูงอายุยังอาจมีอาการแทรกซ้อนบางอย่างอยู่ ซึ่งผู้อยู่ใกล้ชิด หรือผู้ดูแลจะต้องคอยสังเกตให้ดี จะได้รีบรักษาให้หายก่อนอาการจะลุกลามรุนแรง เช่น

  • อาการปวดปลายประสาทหลังจากเป็นโรคงูสวัด (Postherpetic Neuralgia) หลังจากหายจากโรคงูสวัดแล้ว ผู้ป่วยยังอาจมีอาการปวดแสบและแสบร้อน ปวดแปล๊บคล้ายถูกไฟช็อตอยู่ตามผิวหนังที่เคยมีผื่นขึ้น อาการนี้เป็นผลกระทบจากเส้นประสาทถูกทำลายในช่วงที่มีการอักเสบจากโรคงูสวัด แต่มักเกิดขึ้นกับผู้ป่วยสูงอายุที่มีโรคแทรกซ้อนเรื้อรังอยู่แล้ว เช่น โรคปอดอักเสบ โรคเบาหวาน หรือกลุ่มผู้ป่วยที่มีภูมิต้านทานบกพร่อง บางรายอาจปวดนานเป็นเดือน หรือปวดนานเป็นปี ภาวะแทรกซ้อนดังกล่าวพบได้บ่อยร้อยละ 60 ของผู้ป่วยโรคงูสวัดที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป
  • ภาวะแทรกซ้อนที่ดวงตา งูสวัดที่เกิดขึ้นบริเวณใบหน้าอาจส่งผลกระทบต่อดวงตาได้ โดยผู้ป่วยอาจติดเชื้อแบคทีเรียที่ดวงตา ทำให้ดวงตาอักเสบ มีแผลที่กระจกตา ทำให้ผู้ป่วยสูญเสียการมองเห็นได้
  • ภาวะแทรกซ้อนที่หู (Ramsey Hunt Syndrome type II) หากงูสวัดขึ้นบริเวณหูชั้นนอก หรือแก้วหู อาจทำให้ใบหน้าเป็นอัมพาต ปากเบี้ยว หรือไม่สามารถหลับตาข้างนั้นให้สนิทได้ หากเกิดการติดเชื้อบริเวณหูชั้นใน อาจทำให้สูญเสียการได้ยิน
  • ภาวะแทรกซ้อนกับอวัยวะภายใน หากเชื้องูสวัดแพร่กระจายออกนอกแนวเส้นประสาท เชื้อไวรัสอาจกระจายเข้าสู่สมองและอวัยวะภายในอื่นๆ เช่น ปอด ตับ หรือเยื่อหุ้มสมอง ส่งผลให้อวัยวะเหล่านั้นอักเสบ เป็นอันตรายต่อชีวิตได้

ความรุนแรงของโรคงูสวัดจะเพิ่มขึ้น ตามอายุที่มากขึ้น โดยเฉพาะผู้ที่มีอายุมากกว่า 50 ปีขึ้นไป ยิ่งมีความเสี่ยงที่จะเกิดโรคสูงขึ้น ดังนั้นหากอยู่ในกลุ่มเสี่ยง หรือมีคนใกล้ชิดอยู่ในกลุ่มเสี่ยงดังกล่าว แนะนำให้ดูแลสุขภาพ รักษาร่างกายให้แข็งแรง

ส่วนอีกวิธีหนึ่งที่มีประสิทธิภาพนั่นคือ การฉีดวัคซันป้องกันงูสวัด ซึ่งสามารถฉีดได้ตามโรงพยาบาลทั่วไป โดยแนะนำให้ผู้ที่มีอายุมากกว่า 60 ปีฉีดวัคซีนนี้

แม้วัคซีนจะไม่ได้ป้องกันการเกิดโรคได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ช่วยลดโอกาสเสี่ยงที่เกิดโรคงูสวัดได้ถึง 50% และลดการเกิดอาการปวดปลายประสาทจากงูสวัดได้ถึง 66%

การรักษาโรคงูสวัดในผู้ป่วยสูงอายุ

การรักษาโรคงูสวัดในผู้ป่วยสูงอายุจะไม่แตกต่างไปจากผู้ป่วยวัยอื่นมากนัก นั่นคือ แพทย์จะจ่ายยารักษาอาการของโรคงูสวัดให้ ร่วมกับแนะนำวิธีดูแลตนเองอย่างเหมาะสมให้กับผู้ป่วย

ตัวอย่างยาที่แพทย์มักจ่ายเพื่อบรรเทาอาการโรคงูสวัด ได้แก่

ส่วนวิธีการดูแลตนเองหลักๆ ที่ผู้ป่วยควรปฏิบัติตาม ได้แก่

  • หมั่นทำความสะอาดแผลให้แห้ง อย่าปล่อยให้แผลอับชื้น
  • ปิดแผลให้เรียบร้อย เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อไวรัสไปสู่ผู้อื่น รวมถึงหลีกเลี่ยงการสัมผัสตัวกับผู้อื่น
  • ไม่เกา หรือแกะแผลเด็ดขาด เพราะจะทำให้แผลเสี่ยงติดเชื้อ
  • ประคบเย็นหากรู้สึกเจ็บแสบแผล
  • ทาโลชั่นคาลามายล์เพื่อสร้างความชุ่มชื้นให้แผล
  • สวมใส่เสื้อผ้าที่ทำจากผ้าใยธรรมชาติ และขนาดสบายตัว
  • หลีกเลี่ยงภาวะเครียด หรือวิตกกังวล เพราะภาวะอารมณ์นี้ คือ ตัวการที่ทำให้เกิดอาการเจ็บแสบแผลมากขึ้น
  • พักผ่อนให้เพียงพอ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์

วิธีป้องกันโรคงูสวัดในผู้สูงอายุ

วิธีป้องกันโรคงูสวัดในผู้คนทุกวัยที่ดีที่สุดคือ การรับวัคซีนป้องกันโรคงูสวัด โดยแนะนำให้ผู้สูงอายุที่อายุมากกว่า 50 ปีเข้ารับการฉีดทุกคน เพื่อลดความเสี่ยงการเกิดโรคนี้

วัคซีนป้องกันโรคงูสวัดอาจไม่ได้ช่วยป้องกันโรคได้ 100% แต่ก็ช่วยลดโอกาสเป็นโรคได้ถึง 50% และยังช่วยบรรเทาอาการขณะเป็นโรคนี้ไม่ให้ร้ายแรงจนเกิดความทุกข์ทรมานมาก

หากมีคนในครอบครัวเป็นผู้สูงอายุ โดยเฉพาะผู้ที่อายุ 50 ปีขึ้นไป ต้องหมั่นดูแลและเตือนให้สมาชิกในครอบครัวรักษาสุขภาพให้แข็งแรงให้ดี หรือรีบไปรับวัคซีนป้องกันโรคงูสวัดที่โรงพยาบาล


ตรวจสอบความถูกต้องโดย นพ. ธนู โกมลไสย

Scroll to Top