shingles and vaccine disease faq scaled

รวม 12 เรื่องควรรู้เกี่ยวกับโรคงูสวัด เป็นแล้วตายจริงไหม?

คนไทยมีความเชื่อและข้อสงสัยเกี่ยวกับงูสวัดมากมาย คุ้นหูกันอยู่แน่ ๆ อย่างเช่น งูสวัดพันรอบตัว รักษาไม่หาย โอกาสเสียชีวิตได้สูง วันนี้เลยขอมาเล่าข้อเท็จจริงของโรคงูสวัดผ่านคำถามสั้น ๆ ให้ทุกคนได้อ่านกัน 

สารบัญ

รู้จักโรคงูสวัด โรคเดียวกับอีสุกอีใสไหม

งูสวัด (Shingles) เป็นโรคจากการติดเชื้อไวรัส วาริเซลลา ซอสเตอร์ (Varicella zoster virus: VZV) ซึ่งเป็นไวรัสเดียวกันที่ทำให้เกิดโรคอีสุกอีใสในเด็กหรือคนอายุน้อย แม้ว่าจะหายจากอีสุกอีใสแล้ว แต่ไวรัสชนิดนี้จะเข้าไปซ่อนในปมประสาท โดยไม่แสดงอาการใด ๆ 

เมื่อใดที่ภูมิคุ้มกันอ่อนแอลง ไวรัสชนิดนี้จะทำให้เกิดโรคงูสวัดขึ้น สังเกตได้จากอาการหลัก เช่น คันผิว ปวดแสบปวดร้อน เกิดผื่นแดงและตุ่มน้ำใสขึ้นเรียงกันตามแนวเส้นประสาท ฉะนั้น คนที่เคยเป็นโรคอีสุกอีใสทุกคนต่างมีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคงูสวัดทั้งสิ้น

เรื่องควรรู้ของโรคงูสวัด

การรู้ข้อมูลเกี่ยวกับโรคงูสวัดจะช่วยให้สังเกตอาการ และรับมือกับโรคได้ขึ้น 

1. อาการงูสวัดสังเกตอย่างไร

โรคงูสวัดแบ่งอาการได้เป็น 3 ระยะหลัก

งูสวัดระยะแรก (Pre-eruptive phase)
เชื้อ VZV ที่แฝงตัวอยู่จะกระจายไปตามปมประสาทรับความรู้สึก จะรู้สึกชา เจ็บแปลบ ปวดแสบปวดร้อนผิวข้างใดข้างหนึ่งตามปมประสาท บางคนอาจมีอาการปวดเมื่อยตามตัว คัน ปวดศีรษะ มีไข้ เหนื่อยล้า อ่อนเพลีย และตาไวต่อแสงร่วมด้วย เป็นอาการนำมาก่อน 13 วัน 

ระยะออกผื่นงูสวัด (Acute eruption phase)
หลังจากนั้นเป็นจะเกิดผื่นแดงตามแนวปมประสาทรับความรู้สึก ตามด้วยตุ่มน้ำใส (Vesicle) เป็นกลุ่มเรียงยาวตามแนวปมประสาทข้างใดข้างหนึ่งของลำตัว แผ่นหลัง ขาด้านใน ใบหน้า หรือลำคอ ซึ่งจะต่างกับโรคอีสุกอีใสที่เป็นตุ่มขึ้นทั่วร่างกาย

ระยะงูสวัดฟื้นตัว (Chronic phase)
หลังจากที่มีตุ่มน้ำใสโผล่ขึ้นมา เมื่อเวลาผ่านไปสักพักจะแตกออกเป็นแผล และตกสะเก็ด ผื่นงูสวัดจะค่อย ๆ ยุบตัวลงภายใน 7–15 วัน อาจมีอาการปวดแสบปวดร้อนตามแนวเส้นประสาทต่อเนื่อง (Postherpetic neuralgia) หลงเหลืออยู่

อย่างไรก็ตาม บางคนอาจมีอาการของงูสวัดแบบหลบใน ซึ่งจะก่อให้เกิดอาการคัน ปวดแสบปวดร้อนผิวหนังตามแนวเส้นประสาท แต่จะไม่มีผื่นแดงและตุ่มใสขึ้น

2. ผื่นงูสวัดขึ้นครบรอบแล้วจะเสียชีวิตจริงหรือ?

ข้อมูลนี้เป็นเพียงความเชื่อเท่านั้น ปกติแล้วผื่นงูสวัดมักเกิดข้างใดข้างหนึ่งของร่างกาย แต่คนที่ระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ อาจเกิดผื่นทั้งซ้ายและขวา หรือทั่วตัวคล้ายอีสุกอีใส ทำให้ดูเหมือนว่างูสวัดกำลังพันรอบตัว 

ส่วนใหญ่โรคงูสวัดไม่ได้เป็นอันตรายถึงชีวิต เพียงแค่คนที่มีระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ เช่น ผู้ป่วยโรคมะเร็ง ผู้ป่วยโรคภูมิคุ้มกัน หรือผู้สูงอายุ อาจเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนรุนแรงจนเสียชีวิตได้ ไม่ได้เกิดจากผื่นที่พันรอบตัวโดยตรง

3. งูสวัดติดต่อคนอื่นได้ไหม?

โรคงูสวัดสามารถติดต่อสู่คนที่ไม่เคยเป็นโรคอีสุกอีใสมาก่อน ผ่านการสัมผัสตุ่มน้ำใสหรือน้ำเหลืองจากแผลของคนที่เป็นงูสวัด หากเป็นคนที่มีภูมิคุ้มกันต่ำมักติดต่อผ่านทางการหายใจ ไอ จามเอาละอองเชื้อไวรัสเข้าไป แต่ส่วนมากแล้ว การแพร่กระจายเชื้อ VZV มักก่อให้เกิดอีสุกอีใสมากกว่าโรคงูสวัด 

4. ผื่นงูสวัดขึ้นตรงไหนได้บ้าง เหมือนอีสุกอีใสไหม?

ผื่นงูสวัดเกิดได้ทุกบริเวณของร่างกาย แต่มักขึ้นตามแนวเส้นประสาท คือ ด้านใดด้านหนึ่งของลำตัว พบบ่อยตรงรอบเอว แผ่นหลัง หรือด้านใดด้านหนึ่งของใบหน้า โดยเฉพาะรอบดวงตาและศีรษะ 

โรคงูสวัดมีความรุนแรงกว่าโรคอีสุกอีใส โดยจะเกิดผื่นแดง ตามมาด้วยตุ่มน้ำใส พาดเป็นแนวยาวตามปมเส้นประสาทที่ไวรัสซ่อนตัว แต่จะไม่กระจายตัวไปทั่วร่างกายเหมือนโรคอีสุกอีใส และยังก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงได้มากกว่าด้วย

เปรียบเทียบราคาโปรวัคซีนงูสวัด วัคซีนอีสุกอีใส

5. โรคงูสวัดเกิดขึ้นกับผู้สูงอายุเท่านั้น?

โรคงูสวัดเกิดกับคนทุกเพศทุกวัยที่เคยเป็นอีสุกอีใสมาก่อน โดยเฉพาะกลุ่มคนต่อไปนี้ 

  • ผู้สูงอายุที่ภูมิคุ้มกันที่ลดลงตามวัย 
  • กลุ่มคนที่มีภูมิคุ้มกันอ่อนแอหรือบกพร่อง และคนที่มีโรคประจำตัว เช่น ผู้ป่วยติดเตียง ผู้ป่วยเอชไอวี  ผู้ป่วยโรคเบาหวาน โรคเอสแอลอี (SLE) และโรคมะเร็ง
  • คนที่พักผ่อนไม่เพียงพอ มีความเครียดทางอารมณ์
  • เด็ก และสตรีมีครรภ์

6. งูสวัดหายเองได้ไหม เป็นกี่วันถึงหาย

โรคงูสวัดสามารถหายเองได้ โดยอาจใช้เวลาราว 3–5 สัปดาห์ตั้งแต่เริ่มมีอาการ แต่หากได้รับยาต้านไวรัส ตั้งแต่ช่วง 3 วันแรกที่มีอาการ อาจช่วยย่นระยะเวลา และหายได้ภายใน 2 สัปดาห์

การรักษาอย่างเหมาะสมจะช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะแทรกซ้อนของโรคงูสวัดด้วย เช่น อาการปวดเรื้อรังตามแนวเส้นประสาทหลังการติดเชื้อ (Postherpetic neuralgia: PHN) ความผิดปกติทางระบบประสาท กรณีงูสวัดขึ้นตาจะทำให้ดวงตาอักเสบ ตาแดง ตาบวม 

7. ทำไมบางคนหายจากงูสวัดแล้ว แต่ยังมีอาการปวดอยู่?

คนที่เคยป่วยเป็นงูสวัดอาจมีภาวะปวดประสาทเรื้อรังหลังติดเชื้อ (PHN) ที่เกิดจากความเสียหายต่อเส้นประสาท ทำให้รู้สึกปวดแสบปวดร้อน อาจปวดนานเป็นเดือนหรือปี แม้ว่าอาการงูสวัดจะหายแล้ว ก็ต้องใช้เวลาในการฟื้นตัวของเส้นประสาท 

8. เป็นงูสวัดแล้ว จะไม่เป็นซ้ำอีกใช่ไหม?

งูสวัดอาจกลับมาเป็นซ้ำได้ในบางคน โดยเฉพาะคนที่มีระบบภูมิคุ้มกันต่ำ แม้ว่าอาการจะหายไปแล้ว แต่เชื้อไวรัสยังคงซ่อนอยู่ในร่างกาย และอาจฟื้นตัวขึ้นมาใหม่ได้เมื่อภูมิคุ้มกันลดลง

9. เคยฉีดวัคซีนอีสุกอีใสแล้ว ต้องฉีดวัคซีนงูสวัดอีกไหม?

วัคซีนอีสุกอีใสและวัคซีนงูสวัดเป็นวัคซีนคนละชนิด มีจุดประสงค์ที่ฉีดต่างกัน วัคซีนอีสุกอีใสจะช่วยป้องกันการติดเชื้อไวรัส VZV ครั้งแรกเท่านั้น ส่วนวัคซีนงูสวัดจะช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคงูสวัดในคนที่เคยติดเชื้อไวรัสมาแล้ว หากอายุอยู่ในเกณฑ์เสี่ยงหรือเป็นกลุ่มเสี่ยงก็ควรฉีดวัคซีนงูสวัดไว้ 

10. ใครบ้างที่ควรฉีดวัคซีนงูสวัด?

เพื่อลดความเสี่ยงการเกิดโรค และลดการเกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรง แนะนำให้ฉีดในผู้สูงอายุมากกว่า 60 ปี ทั้งที่เคยเป็นและไม่เคยเป็นโรคงูสวัด หรือโรคอีสุกอีใสมาก่อน และผู้ใหญ่อายุ 5059 ปีที่เคยเป็นโรคอีสุกอีใสหรือโรคงูสวัดมาก่อน

11. ฉีดวัคซีนงูสวัดแล้วมีผลข้างเคียงไหม?

การฉีดวัคซีนงูสวัดอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงเช่นเดียวกับวัคซีนชนิดอื่น ส่วนใหญ่ไม่รุนแรง และหายเองได้ เช่น อาการปวด บวม แดงบริเวณที่ฉีด เป็นไข้ หรือปวดศีรษะ เป็นต้น

12. งูสวัดสามารถรักษาให้หายขาดได้ไหม?

โรคงูสวัดสามารถใช้ยาต้านไวรัสรักษาอาการให้ทุเลาลงได้ แต่ยังไม่มีวิธีกำจัดเชื้อให้ออกไปจากร่างกายได้ทั้งหมด เชื้อยังกลับเข้าไปซ่อนภายในร่างกายเหมือนเดิมได้ การดูแลสุขภาพให้ระบบภูมิคุ้มกันทำงานได้ตามปกติ  และเข้ารับการฉีดวัคซีนงูสวัดตามเกณฑ์ จึงเป็นเรื่องที่สำคัญอย่างมาก 

เคยเป็นอีสุกอีใส กันไว้ดีกว่าแก้ ดูโปรวัคซีนงูสวัด จากรพ.และคลินิกใกล้บ้านที่ HDmall.co.th

Scroll to Top